การปล่อยใจตามเสียงของผู้นำ
นับเป็นเรื่องธรรมดามากที่ผู้ฝึกปฏิบัติสมาธิใหม่ทุกคนจะยังไม่สามารถประคับประคอง หว่านล้อม น้อมนำ หรือควบคุมความคิดของตนเองได้ ทั้งนี้เพราะยังไม่แม่น และยังไม่มั่นคงในตำแหน่งที่ตั้งของใจ คือ จุดศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด จึงทำให้เมื่อลงมือปฏิบัติสมาธิทีไร ใจของผู้ฝึกใหม่จะมีปกติไม่ยอมอยู่กับที่ไม่มั่นคงทุกที และเพราะว่าใจไม่อยู่กับที่หรือไม่มั่นคงนี่เองที่เป็นเหตุให้ใจมักเผลอวิ่งตามเรื่องราวของความคิดที่ผ่านเข้ามาออกไปภายนอกที่ตั้งได้เรื่อยๆ เพราะธรรมชาติของใจหากไม่ตั้งอยู่ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด ย่อมมีแต่จะคิดวนไปวนมาในเรื่องราวต่างๆ ที่ล้วนผ่านเข้ามาเพื่อชักนำใจให้หลุดออกจากที่ตั้งทั้งสิ้น เป็นเหตุให้บางคนแม้นั่งสมาธิเป็นเวลานานแต่ใจกลับสับสนอลหม่านกับเรื่องร้อยแปด ใจไม่สงบ ไม่เป็นสมาธิเลย หรือไม่ก็เป็นบ้าง คือ สามารถนำใจไปวางที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดได้บ้างเป็นครั้งคราว ครั้งละนิดๆ หน่อยๆ นับได้เพียงชั่วนาทีหรือวินาที ซึ่งเมื่อเทียบกับเวลาที่ลงนั่งทั้งหมดแล้วแทบจะถือว่าไม่ได้เป็นสมาธิเลย เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุให้ผู้ฝึกใหม่พากันท้อทอย หมดแรงหมดกำลังใจ พากันเห็นสมาธิเป็นของยาก หรือเห็นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ “ เสียงของผู้นำสมาธิ” จึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้ฝึกปฏิบัติใหม่ เพราะผู้ฝึกใหม่ย่อมติด ย่อมพอใจ ย่อมชอบที่จะปล่อยใจไปตามเสียงต่างๆ ไปตามเรื่องราวต่างๆ ที่มาจากภายนอกอยู่แล้วเป็นปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเวลาหลับตา เพราะเมื่อตาปิดภาพต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความคิดย่อมเป็นไปไม่ได้ เวลานี้นี่เองที่หูจะเข้ามาทำหน้าที่แทน คือ นำเสียงที่ได้ยินมาแปลงเป็นความคิด เป็นภาพพจน์ เข้ามาสู่กระแสใจของผู้ฝึกได้
โดยเหตุนี้ จึงแทนที่จะปล่อยให้หูของผู้ฝึกใหม่ได้ยินเสียงอื่นๆ เสียงต่างๆ ที่อาจนำมาซึ่งภาพ และความคิดที่ไม่เกิดผลดี ที่เป็นโทษหรือรบกวนความสงบของผู้ฝึกใหม่ เทคนิคการใช้เสียงของผู้ที่มีกำลังใจมากกว่า มีประสบการณ์การทำสมาธิที่ดีกว่าหนักแน่นมั่นคงกว่ามาน้อมนำในขณะหลับตาจึงเป็นสิ่งจำเป็น
จากหนังสือ DOU MD 204 สมาธิ 4
เทคนิคการทำสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย