กรุยทางสร้างบุญบารมีด้วยการสวดมนต์
การสวดมนต์เริ่มต้นตั้งแต่พุทธกาล แต่ในครั้งนั้นยังไม่มีการบันทึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นลายลักษณ์อักษร หรือเป็นตัวหนังสืออย่างพระไตรปิฎกในปัจจุบัน ใช้วิธีการท่องจำที่เรียกว่า “ มุขปาฐะ ” เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนอะไรไว้ พระภิกษุก็จะท่องจำแล้วจึงบอกต่อๆ กันจนกระจายไปทั่วทั้งแผ่นดิน
การสวดมนต์คือ การสาธยายธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้ ถือเป็นการทบทวนบ่อยๆ เพื่อป้องกันการลืมเลือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นหัวข้อธรรมที่สำคัญๆ ก็ยิ่งต้องท่องจำจนขึ้นใจ ส่วนหัวข้อธรรมที่นานๆ ใช้ครั้ง ก็ต้องแบ่งหน้าที่กันว่า พระภิกษุรูปใดจะท่องจำหัวข้อธรรมเรื่องอะไร
ธรรมเรื่องหลักๆ เช่น คุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หรือเรื่องการพิจารณาขันธ์ 5 ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นเรื่องธรรมดาต่างๆนั้น จะต้องทบทวนเป็นประจำ จึงรวบรวมมาเป็นบทสวดมนต์ทำวัตรที่เราใช้สวดกันในปัจจุบัน ถ้ายังเป็นเด็กก็ให้ท่องบทสวดสั้นๆ ว่า “ อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา .... ” คือ ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ ชาวพุทธโดยทั่วไปส่วนใหญ่ สวดมนต์เป็นตั้งแต่ยังเด็กๆ แล้ว การสวดมนต์ทำวัตรเช้าและทำวัตรเย็นนั้น เป็นการสวดเพื่อรำลึกนึกถึงพระรัตนตรัย ซึ่งผู้สวดจะได้รับประโยชน์นานัปการเลยทีเดียว เราพบว่าหลายคนที่เรียนดี เรียนเก่งนั้นมีเคล็ดลับโดยการนั่งสมาธิ การสวดมนต์ ถือว่าเป็นการเตรียมใจให้พร้อมเบื้องต้น สำหรับการทำสมาธิก็ว่าได้ หากพิเคราะห์วิถีชาวพุทธที่ประกอบด้วยทาน ศีล ภาวนา คำว่า “ ภาวนา ” ครอบคลุมทั้งการสวดมนต์ นั่งสมาธิ เพราะฉะนั้นการสวดมนต์ถือเป็นการภาวนาอย่างหนึ่ง อานิสงส์ประการแรกคือ ทำให้ใจสงบ เป็นสมาธิ พอใจสงบเป็นสมาธิแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ได้ผลดี และประสบความสำเร็จ ประการต่อมา ทำให้เป็นทางมาแห่งบุญ หมายความว่า การสวดมนต์นี้ได้บุญ ท่านเรียกว่า “ ภาวนามัย ” คือ บุญที่เกิดจากการทำภาวนา
สวดมนต์ทำให้เทวดาลงรักษา
ใครก็ตามที่สวดมนต์บ่อยๆ หากต้องพบเหตุการณ์ร้ายๆ ก็แคล้วคลาดไป แล้วสิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้น ท่านว่าเทวดาจะลงรักษา เพราะเทวดาและนางฟ้าล้วนอยากได้บุญ แต่ท่านเหล่านั้นอยู่ในภาวะเป็นกายละเอียด อยู่ในช่วงเสวยบุญ ทำบุญด้วยตัวเองไม่สะดวก
ดังนั้น เมื่ออยากได้บุญ เหล่าเทวดานางฟ้า จะดูว่าในโลกนี้มีใครที่เป็นคนดีแล้วทำความดีบ้างเขาก็จะลงรักษา เมื่อคนนั้นไปทำความดี เทวดา นางฟ้า ก็จะได้ส่วนบุญนั้นด้วย ในฐานะเป็นผู้สนับสนุน ลองทบทวนดูก็ได้ว่า ตอนที่เราเป็นเด็ก มีหลายครั้งหลายหนที่ดูเหมือนว่า เราไม่น่าจะรอดชีวิตมาได้ จนถึงปัจจุบัน เช่น อาจจะเคยมีเหตุการณ์ ที่ทำให้เรารู้สึกได้ว่า เราน่าจะโดนรถชนไปแล้ว เราน่าจะตกต้นไม้ไปแล้ว เราน่าจะตกบันไดไปแล้ว แต่เราก็รอดมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ ความจริงไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่เป็นเพราะบุญในตัวเราที่มีอยู่ ทำให้เทวดานางฟ้าลงรักษา เราจึงอยู่รอดปลอดภัยมาถึงปัจจุบัน
อาตมภาพเคยเจอเหตุการณ์ที่เด็กกลิ้งตกบันได ท่าทางหัวจะปักพื้นแน่แล้วจู่ๆ คอเสื้อก็ไปเกี่ยวกับตะปู ตัวเลยห้อยต่องแต่ง แล้วก็รอดมาได้ หรือเด็กบางคนที่ปีนต้นไม้ จะไปเก็บผลสุกที่ปลายสุดกิ่งไม้ ซึ่งกิ่งไม้นั้นเล็กนิดเดียว พอลมพัดก็เอนไปเอียงมา ทำท่าจะหัก แต่สุดท้ายเขาก็รอดมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ อย่างนี้เรียกว่า “ แคล้วคลาด ”
สวดมนต์สั้นหรือยาว ได้บุญมากน้อยต่างกันหรือไม่?
ในการสวดมนต์นั้น เราไม่ถึงต้องขนาดกำหนดว่าควรสวดมนต์สั้นยาวแค่ไหน ได้ผลเท่าไร แต่ให้นึกถึงว่า ควรสวดอย่างสม่ำเสมอด้วยใจที่สงบ คือระหว่างสวดมนต์ก็ทำใจนิ่งๆ เป็นสมาธิ ระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าไปด้วย อาจระลึกนึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ที่เราเคารพเป็นพิเศษ นึกภาพท่านได้ง่าย ก็นึกให้เห็นองค์ท่านใสๆ อยู่ที่กลางท้องของเรา ถ้าสวดมนต์บ่อยๆ แล้วเราจะรู้หลัก เมื่อสวดแล้วใจจะสงบ พอสงบแล้วผลดีเกิด บุญเกิด ยิ่งใจสงบมากเท่าไร บุญก็ยิ่งเกิดมาเป็นตามส่วน
ยกตัวอย่างเด็กๆ สวดบูชาพระรัตนตรัยบทสั้นๆ ว่า “ อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา .... ” อย่างนี้ถือเป็นบันไดขั้นแรกของการทำใจให้สงบ เมื่อโตขึ้นอีกหน่อยก็ให้สวด “ นะโม ตัสสะ .... ” แถมเข้าไปด้วย แล้วถ้าโตขึ้นอีกนิดก็แถมบทสวด “ อิติปิโส ภะคะวา .... ” ไม่นานก็จะท่องได้คล่องไปโดยปริยาย
การสวดมนต์ถือเป็นบันไดขั้นแรกในการทำจิตใจให้สงบ เมื่อสวดแล้วได้บุญและแคล้วคลาด อีกทั้งยังเป็นการทบทวนคำสอนที่สำคัญๆ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ต้องถึงขนาดที่ว่าระหว่างสวดมนต์ ต้องคิดคำสอนไปด้วย แต่ให้เน้นหลักทำใจให้สงบ ระหว่างสวดมนต์เป็นสมาธิ ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ในระดับที่ลึกกว่า คือ ด้วยใจที่นิ่งและมีความซาบซึ้ง เพราะการที่ใจนิ่งแล้วสวดมนต์นั่นเอง ความเคารพบูชา ซาบซึ้งในพระรัตนตรัย จะเกิดได้อย่างเต็มที่
หลังจากนั้น ระหว่างที่เรามีเวลาว่าง ก็ให้หยิบหนังสือสวดมนต์ พร้อมบทแปลมาพลิกดูบ้าง จะได้รู้ว่าบทสวดมนต์ ที่เราสวดไปนั้นมีเนื้อหาความหมายว่าอย่างไร ถือเป็นการทบทวนธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกทางหนึ่งด้วย
สวดมนต์โดยไม่รู้ความหมายได้ประโยชน์หรือไม่
ในระหว่างที่เราสวดมนต์ แม้ว่าเราจะไม่ทราบความหมาย ของบทสวดนั้น ก็อย่าไปคิดว่าสวดอะไรไปก็ไม่รู้ หรือคิดไปว่าการที่เราไปฟังพระสวดทั้งที่ไม่รู้ความหมายนั้นไม่ได้ประโยชน์ ความจริงแล้วการฟังพระท่านสวดมนต์ ไม่ว่าจะในงานสวดพระอภิธรรมก็ตาม ถวายภัตตาหารพระภิกษุก็ตาม แม้เราไม่รู้ความหมาย แต่เราก็รู้ว่า ที่ท่านสวดคือการบูชาพระรัตนตรัย แล้วมีนัยความหมายที่ดี ให้เราตั้งใจฟังคำสวดโดยทำใจนิ่งๆ สงบๆ เพียงเท่านี้บุญก็เกิดขึ้นอย่างมหาศาลแล้ว
พระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านเปรียบไว้ว่า การทำใจให้สงบแม้เพียงช่วงสั้นๆ เพียงแค่ “ ช้างกระพือหู งูแลบลิ้น ” อานิสงส์มหาศาลยิ่งกว่าสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร ลองคิดดูว่าช้างกระพือหูนั้นแป๊บเดียว ยิ่งถ้างูแลบลิ้นนั้นใช้เวลาไม่ถึง 1 วินาที ใจสงบแค่นั้นบุญยังเกิดมหาศาล เพราะฉะนั้นในขณะที่พระท่านกำลังสวดมนต์ใช้เวลาเป็นสิบๆนาที หากเราทำสมาธิแล้วฟังด้วยใจที่สงบ ตั้งใจฟัง ไม่พูดคุยกัน เราย่อมได้บุญมหาศาล
ดังนั้น เมื่อมีพระมาเจริญพุทธมนต์ที่บ้านก็ตาม เข้าไปร่วมงานศพฟังพระท่านสวดพระอภิธรรมก็ตาม ไม่ว่าจะมีการสวดมนต์ในงานใดก็ตาม ขอให้ตั้งใจฟัง พนมมือแล้วหลับตา ทำใจนิ่งๆ อยู่ที่กลางท้องของเรา ที่จุดศูย์กลางกายฐานที่7 เหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ ให้สบายๆ สงบๆ แล้วฟังเสียงพระเจริญพระพุทธมนต์ ระลึกถึงพระรัตนตรัยเป็นที่ตั้ง ปฏิบัติอย่างถูกหลักวิชา บุญกุศลจะเกิดขึ้นกับเราอย่างมหาศาล
เคยมีเหตุเกิดมาแล้วในอดีต มีพระภิกษุท่านสาธยายธรรมขณะนั้นเองมีค้างคาวอยู่ท้ายวัดได้ฟังธรรม ทั้งๆที่ค้างคาวฟังไม่รู้เรื่องแต่เมื่อฟังแล้วใจเกิดความรู้สึกซาบซึ้ง ฟังแล้วรู้สึกสบาย ฟังแล้วมีความสุข อานิสงส์ของการฟังพระภิกษุสาธยายธรรมนั้น หนุนนำให้เมื่อตายจากค้างคาวไปเกิดเป็นเทวดา แค่ฟังแล้วส่งใจไปตามกระแสเสียงสวดมนต์ของพระท่าน บุญยังส่งให้เป็นเทพบุตร เพราะฉะนั้นอย่าดูเบาเรื่องการสวดมนต์ ยิ่งถ้าเราสวดเองด้วยแล้ว ยิ่งได้บุญทับทวีคูณ
เหตุใดเราจึงสวดมนต์เป็นภาษาบาลี
ภาษาบาลีเป็นภาษาที่คงไว้ซึ่งพุทธพจน์ เป็นภาษาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ในการสั่งสอนธรรม แล้วภาษาบาลีเวลาสวดแล้วจังหวะจะเชื่อมต่อกันอย่างราบรื่น ทำให้ใจเป็นสมาธิกว่าภาษาอื่นๆ เพราะฉะนั้นเราจึงเน้นสวดมนต์ด้วยภาษาบาลีเป็นหลัก บางท่านถามว่าสวดบทแปลสลับกับภาษาบาลีดีหรือไม่ ตอบว่าถ้าบทสวดสั้นๆ ก็ได้ แต่ถ้าเป็นบทสวดยาวๆ สวดบาลียาวไปเลยจะดีกว่า เพราะพอสวดคำแปลด้วย บางบทมีการเอื้อนจะทำให้จังหวะไม่เหมือนกัน เกิดอาการติดขัดได้
ดังนั้น เราควรเน้นสวดภาษาบาลีเป็นหลัก ยกเว้นบางบทที่อยากจะให้รู้จริงถึงความหมายสั้นๆ ไม่กี่นาที ก็ให้แถมบทแปลไปด้วยก็ได้ แต่โดยภาพรวมทั้งหมด ถ้าสวดเป็นภาษาบาลีจะดีกว่า ซึ่งไม่เกี่ยวกับความขลัง แต่เกี่ยวกับความราบรื่นของใจ ที่สงบและเป็นสมาธิ อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะสวดบทแปลหรือไม่แปล “ สวดก็ย่อมดีกว่าไม่สวด ”
-----------------------------------------------------------------
หนังสือเล่ม "เพราะไม่รู้สินะ" โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ
"จะทนทุกข์ไปทำไม ในเมื่อคุณสามารถลิขิตชีวิตตนเองได้ เพียงเปลี่ยนวิธีคิด ลองมองโลกในอีกมุมที่ต่างไป ลองเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต คุณอาจได้คำตอบว่า ความสุขนั้นหาได้ง่ายๆ ถ้าคุณคิดได้และคิดเป็น"
วางแผงจำหน่ายแล้วที่
ซีเอ็ดบุ๊ค
https://www.se-ed.com/product-search/เพราะไม่รู้สินะ.aspx?keyword=เพราะไม่รู้สินะ&search=name
ร้านนายอินทร์
https://www.naiin.com/product/detail/141416/เพราะไม่รู้สินะ
Book Smile
http://www.booksmile.co.th/ศาสนา-ปรัชญา/เพราะไม่รู้สินะ.html