ความเป็นมา อนุสติ 6

วันที่ 24 กค. พ.ศ.2558

 

 

 ความเป็นมา  อนุสติ 6

            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอนุสติไว้เพื่อเป็นแนวปฏิบัติอันจะเป็นประโยชน์ แก่การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานแก่บุคคลทั้งหลาย ดังพุทธพจน์ที่ว่า

“    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

ธรรมอย่างหนึ่งคืออะไร คือพุทธานุสติ… ธัมมานุสติ… สังฆานุสติ… สีลานุสติ… จาคานุสติ… เทวตานุสติ… อานาปานสติ… มรณสติ… กายคตาสติ… อุปสมานุสติ

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานฯ”1)

 

            ในอนุสติ 10 ประการนั้น การเจริญอนุสติ 6 ประการ คือ การระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ศีล การบริจาค และเทวดา ท่านเรียกชื่อว่า อนุสติฏฐาน หรือ ที่ตั้งของอนุสติ2)

           อนุสติทั้ง 6 ประการนี้ จัดเป็นอารมณ์กัมมัฏฐานด้วยเหตุผลหลายประการ3) คือ

1.เป็นแนวทางที่ใช้สำหรับทำจิตให้มีความยินดีในเมื่อจิตตกเป็นเหยื่อของความทุกข์ และเพื่อที่จะก่อให้เกิดวิปัสสนาเมื่อปฏิบัติก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป

2.เป็นเครื่องป้องกันอันตรายต่างๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อนักปฏิบัติธรรมอยู่ในที่เปลี่ยว เช่น ในป่า หรือป่าช้า เป็นต้น โดยอนุสติ 3 อย่างแรก ท่านแนะนำให้เจริญเพื่อคุ้มครองตนเองในเวลาที่มีความกลัวหรือสิ่งร้ายใดๆ เกิดขึ้น

3.เป็นกัมมัฏฐานที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีศรัทธาแรงกล้า และส่งเสริมศรัทธาให้มีขึ้น สำหรับผู้ที่ไม่มีศรัทธามาก่อน

 

            อนุสติทั้ง 6 ประการนี้ท่านกล่าวไว้ในมหานามสูตรว่า เป็นข้อปฏิบัติของพระอริยสาวกที่บรรลุมรรคผลแล้ว ข้อปฏิบัตินี้จะทำให้เป็นผู้รู้อรรถ รู้ธรรม จิตตั้งมั่น และอยู่อย่างเป็นสุข ดังที่ตรัสไว้ว่า

“    ดูก่อนมหานามะ อริยสาวกผู้ได้บรรลุผลทราบชัดพระศาสนาแล้ว ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นส่วนมาก คือ อริยสาวกในพระศาสนานี้ ย่อมระลึกถึงพระตถาคตเนืองๆ ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่น ยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดูก่อน มหานามะ สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระตถาคตเนืองๆ… สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว ก็อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภพระตถาคต ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม เมื่อปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อมีใจประกอบด้วยปีติกายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น”4)

 

ในอนุสติฏฐานสูตร ได้กล่าวถึงคุณของการเจริญอนุสติ 6 ซึ่งมีเนื้อความคล้ายกับที่ปรากฏในกัจจานสูตร มีเนื้อความดังนี้

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระตถาคต สมัยนั้น จิตของพระอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความอยาก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่าความอยากนี้ เป็นชื่อของเบญจกามคุณ สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำพุทธานุสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยประการฉะนี้”5)

 

            จากพุทธพจน์ดังกล่าวทำให้เห็นว่า อนุสติทั้ง 6 ประการนี้เป็นข้อปฏิบัติของพระอริย-สาวกเพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์ และช่วยให้ได้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูงยิ่งๆ ขึ้นไป อย่างไรก็ดี อนุสติเหล่านี้ก็ย่อมเป็นธรรมจำเป็นสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติอีกด้วย เพราะอนุสติเหล่านี้จะทำให้จิตบริสุทธิ์และส่งเสริมคุณธรรมให้เกิดขึ้น พัฒนาคุณสมบัติอื่นๆ ในเบื้องต้น และนำไปสู่ความบริสุทธิ์แห่งจิตและความรู้แจ้งในขณะที่ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป

 

------------------------------------------------------------------------

1) พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต พระไตรปิฎกภาษาไทย 45 เล่ม เล่ม 20 ข้อ 178-180 หน้า 32.
2) ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค, มก. เล่ม 16 ข้อ 423 หน้า 420.
3) พระ ดร. พี วชิรญาณมหาเถระ, สมาธิในพระพุทธศาสนา, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย หน้า 148.
4) อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต, มก. เล่ม 36 ข้อ 281 หน้า 529.
5) อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต, มก. เล่ม 36 ข้อ 296 หน้า 587.

 สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010633150736491 Mins