ลักษณะของการท่องด้วยวาจา

วันที่ 30 กค. พ.ศ.2558

ลักษณะของการท่องด้วยวาจา

            การเจริญท่องบ่นครั้งแรกในหมวดๆ หนึ่งนั้น ผู้เจริญจะต้องท่องบ่นโดยความเป็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ประการเดียว ไม่ต้องพิจารณาโดยความเห็นสี เป็นปฏิกูล เป็นปฐวีธาตุ อาโปธาตุ แต่อย่างใด ฝ่ายอาจารย์ผู้สอนก็ไม่ต้องสอนให้พิจารณาถึงสี ถึงความปฏิกูล ถึงธาตุแต่อย่างใด เพียงแต่สอนให้ท่องบ่นพิจารณาโดยความเป็นขน ผม เล็บ ฟัน หนังอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้มีความเข้าใจผิดเกิดขึ้น หมายความว่า ถ้าสอนให้ ท่องบ่นโดยความเป็นสีแล้ว ขณะที่ทำการท่องบ่นพิจารณาโดยความเป็นสีอยู่นั้น หากวัณณนิมิต คือ สีของอวัยวะนั้นปรากฏขึ้น ผู้เจริญก็ไม่มีความเข้าใจผิด เพราะตรงกับคำสอนของอาจารย์ แต่หากวัณณนิมิตไม่ปรากฏดังที่สอน คงปรากฏแต่ปฏิกูลนิมิต คือ ความเป็นปฏิกูล หรือ ธาตุนิมิต คือ ความเป็นปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เช่นนี้ ผู้เจริญก็จะเข้าใจผิดว่า การเจริญนี้ ผิดไปเสียแล้ว เพราะนิมิตที่ปรากฏไม่ตรงกับคำสอน จะทำให้การสอนนั้นกลับกลายเป็นโทษไป ถ้าอาจารย์เพียงแต่สอนให้ท่องบ่นพิจารณาเพียงความเป็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ประการเดียว เมื่อวัณณนิมิตปรากฏก็ดี ปฏิกูลนิมิตปรากฏก็ดี ธาตุนิมิตปรากฏก็ดี ผู้เจริญก็ไม่มีความเข้าใจผิด ครั้นถึงเวลาสอบอารมณ์ อาจารย์ก็มีโอกาสชี้แจงสนับสนุนให้แก่ผู้เจริญได้ เช่น ถ้าวัณณนิมิตปรากฏ ก็บอกว่าดีมาก เพราะผู้เจริญมีบุญบารมีที่เกี่ยวกับการ เจริญวัณณกสิณมาแต่ภพก่อนๆ ฉะนั้น วัณณนิมิตจึงปรากฏ เป็นอันได้ชื่อว่า วัณณกัมมัฏฐาน เป็นกัมมัฏฐานที่เหมาะสมสำหรับผู้นั้น ดังนั้น ควรพิจารณาท่องบ่นโดยความเป็นสีต่อไป ถ้าปฏิกูลนิมิตปรากฏ ก็บอกว่าผู้เจริญเคยพิจารณาความเป็นปฏิกูลมาแต่ภพก่อน ฉะนั้น ปฏิกูลนิมิตจึงปรากฏเป็นอันได้ชื่อว่า ปฏิกูลกัมมัฏฐาน เป็นกัมมัฏฐานที่เหมาะสำหรับผู้นั้น ควรท่องบ่นโดยความเป็นปฏิกูลต่อไป ถ้าธาตุนิมิตปรากฏ ก็บอกว่าผู้เจริญเคยพิจารณาความเป็นปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ มาแต่ภพก่อนๆ ฉะนั้นธาตุนิมิตจึงปรากฏ เป็นอันได้ชื่อว่า ธาตุกัมมัฏฐานเป็นกัมมัฏฐาน เหมาะสำหรับผู้นั้น ควรพิจารณาท่องบ่นโดยความเป็นธาตุต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้ การปฏิบัติกัมมัฏฐานจึงจะเหมาะสมถูกต้องกับจริตอัธยาศัย

            การที่เจริญกายคตาสติสามารถปรากฏได้ทั้งวัณณนิมิต ปฏิกูลนิมิต หรือธาตุนิมิต เพราะโกฏฐาสะทั้ง 32 มีลักษณะทั้ง 3 เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยทุกโกฏฐาสะ นิมิตทั้ง 3 นี้ วัณณนิมิต และปฏิกูลนิมิตปรากฏได้ไม่ยาก แต่ธาตุนิมิตเป็นสิ่งที่ปรากฏได้ยากและรู้ได้ยาก

 

 การพิจารณาโดยสี สัณฐาน ทิศ โอกาส ปริจเฉท

            โดยหลักการปฏิบัติแล้ว ในอุคคหโกสัลละ 7 อย่างนั้น ให้ยึดถือ 2 ข้อแรก คือ วจสา การท่องด้วยวาจา และ มนสา การพิจารณาด้วยใจ เป็นหลักของการปฏิบัติ ส่วนที่เหลืออีก 5 ข้อนั้น เป็นข้อปลีกย่อยของ มนสา กล่าวคือ เมื่อพิจารณาเห็นโกฏฐาสะอย่างใดอย่างหนึ่งตามวาจาที่ท่องบ่นอยู่ ในเวลานั้นให้พิจารณาโกฏฐาสะโดยความเป็นสีว่ามีสีอะไร เช่น ผมมีสีดำเป็นต้น พิจารณาสัณฐานของโกฏฐาสะเหล่านั้นว่ามีรูปร่างเป็นอย่างไร เช่น ผมมีรูปร่างเป็นเส้นยาว พิจารณาทิศ ว่าโกฏฐาสะนั้นๆ มีทิศอย่างไร ถ้าทิศเหนือจากสะดือขึ้นไปเป็นทิศเบื้องบน ใต้สะดือลงมาเป็นทิศเบื้องล่าง พิจารณาโอกาสหรือที่ตั้งของอวัยวะนั้นๆ และกำหนดโดยขอบเขตพร้อมกันไป

------------------------------------------------------------------------

 สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010688662528992 Mins