มนสิการโกสัลละ 10 อย่าง

วันที่ 31 กค. พ.ศ.2558

 

มนสิการโกสัลละ 10 อย่าง

            สำหรับการพิจารณาในมนสิการโกสัลละ 10 อย่าง หลังจากอุคคหโกสัลละ ทั้ง 7 ผู้ปฏิบัติ ไม่จำต้องท่องบ่นด้วยวาจาอีกต่อไป คงใช้พิจารณาโกฏฐาสะ 32 เหล่านั้นด้วยใจ คือ

            1.อนุปุพฺพโต การพิจารณาไปตามลำดับ เริ่มตั้งแต่ สี สัณฐาน ที่ตั้ง ที่เกิด ขอบเขตให้ถูกตรงตามหลักแห่งข้อนี้ คือ พิจารณาที่ไปตามลำดับไม่ลักลั่น

            2.นาติสีฆโต การพิจารณาโดยไม่รีบร้อนนัก คือ ในขณะที่กำลังพิจารณาโดยลำดับอยู่นั้น อย่าพิจารณาให้เร็วนัก มิฉะนั้น สี สัณฐาน เป็นต้น ของโกฏฐาสะเหล่านั้นจะปรากฏ ไม่ชัด

 

           3.นาติสณิกโต การพิจารณาโดยไม่เฉื่อยช้านัก คือ ในขณะที่พิจารณาไปโดยลำดับอยู่นั้น อย่าพิจารณาให้ช้านัก เพราะว่าถ้าพิจารณาช้ามากไป สี สัณฐาน เป็นต้น ของโกฏฐาสะเหล่านั้น ก็อาจจะปรากฏโดยความเป็นของสวยงาม ทำให้กัมมัฏฐานไม่ถึงที่สุด คือ ไม่ได้ฌาน มรรค ผล นั่นเอง

             4.วิกฺเขปปฏิพาหนโต การพิจารณาโดยบังคับจิตไม่ให้ไปที่อื่น คือ การเจริญกัมมัฏฐาน เปรียบดังคนที่เดินไปใกล้เหว ซึ่งมีช่องทางชั่วรอบเท้าเดียว จะต้องระวังอย่างที่สุดเพื่อไม่ให้พลาดตกลงไป ผู้ปฏิบัติพึงป้องกันความฟุ้งซ่านของจิตใจ แล้วให้ตั้งมั่นอยู่แต่ในอารมณ์ของกัมมัฏฐาน เพียงประการเดียว

 

            5.ปณฺณตฺติสมติกฺกมนโต การพิจารณาโดยก้าวล่วงบัญญัติ คือ ในขณะที่พิจารณาไปตามลำดับอยู่นั้น ในระยะแรกต้องพิจารณาอาศัยนามบัญญัติ ได้แก่ถ้อยคำเรียกชื่อดังนั้นดังนี้ เช่น เรียก ผม ขน เล็บ ฯลฯ และอาศัยสัณฐานบัญญัติว่ามีลักษณะ กลม ยาว หรืออื่นๆ เพื่อให้ปฏิกูลนิมิตปรากฏ ครั้นปฏิกูลนิมิตปรากฏแล้ว ก็มิจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงนามบัญญัติ คือ เกสา โลมา เป็นต้น และสัณฐานบัญญัติ คือ รูปร่าง สัณฐานอีกแต่อย่างใด เปรียบดังคนเห็นบ่อน้ำในป่าเวลาหาน้ำยาก จึงได้จัดทำเครื่องหมายไว้เพื่อจำไว้ จะได้สะดวกแก่การที่จะมาหาน้ำดื่มและอาบน้ำต่อๆ ไป ครั้นไปมาบ่อยๆ เข้าก็ชำนาญทางนั้นดี ไม่จำเป็นที่จะต้องทำเครื่องหมายนั้นอีก ข้อนี้ฉันใด เมื่อปฏิกูลนิมิตปรากฏแล้ว ผู้เจริญก็พึงก้าวล่วงบัญญัติฉันนั้น

 

            6.อนุปุพฺพมุญฺจนโต การพิจารณาโดยทิ้งโกฏฐาสะที่ไม่ปรากฏ โดยทิ้งสี สัณฐาน ที่เกิด ที่ตั้ง ขอบเขต ตามลำดับ คือ ในขณะที่พิจารณาไปตามลำดับตั้งแต่ เกสาจนถึง มุตฺตํ โดยอนุโลม และตั้งแต่ มุตฺตํ จนถึงเกสา โดยปฏิโลมอยู่นั้น พึงสังเกตดูว่า โกฏฐาสะอันใด หรือหมวดใด มีการปรากฏชัดมาก และต่อไปในระหว่างนั้น ก็พึงสังเกตดูอีกว่า โกฏฐาสะอันใดหรือหมวด อื่นใดปรากฏชัดกว่า ก็จงพิจารณาแต่โกฏฐาสะอันนั้นหรือหมวดนั้น แล้วละทิ้งที่ไม่ค่อยชัดนั้นเสีย ให้คัดเลือกอย่างนี้เรื่อยไปจนเหลือโกฏฐาสะเพียง 2 อย่าง ใน 2 อย่างนั้นจงสังเกตดูอีกว่าอันไหนปรากฏชัดมากกว่า ก็จงพิจารณาอันนั้น ละอันที่ปรากฏชัดน้อยเสีย เพราะการพิจารณา โกฏฐาสะนี้ เมื่อถึงขั้นสุดท้ายแล้ว ต้องถือเอาแต่เพียงอันเดียว ไม่ต้องถือเอาทั้ง 32 อย่าง

            ท่านอรรถกถาจารย์ได้เปรียบเทียบข้อนี้ว่า ดุจดังนายพรานต้องการจับลิงซึ่งอยู่ในป่าตาล มีตาล 32 ต้น เขาเอาลูกศรยิงใบตาลซึ่งลิงเกาะอยู่ต้นแรก แล้วทำการขู่ตะคอก ลิงจึงกระโดดไปที่ต้นตาลอื่นๆ โดยลำดับจนกระทั่งถึงต้นสุดท้าย นายพรานก็ตามไปทำอย่างนั้นอีก ลิงก็กระโดดกลับจากต้นสุดท้ายมาสู่ตาลต้นแรกโดยทำนองนั้นอีก กลับไปกลับมาอยู่ดังนี้ โดยที่ถูกขู่ตะคอกอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดเมื่อหมดแรง ลิงก็ต้องหยุดอยู่ที่ต้นตาลต้นหนึ่ง โดยยึดใบตาลอ่อนไว้แน่น แม้ถูกนายพรานแทงเท้าใดก็ไม่กระโดดหนี ฉันใด จิตของพระโยคีบุคคลที่ยึดในโกฏฐาสะอย่างใดอย่างหนึ่งใน 32 นั้นก็เช่นกัน โกฏฐาสะทั้ง 32 เปรียบเหมือนต้นตาล 32 ต้นในป่าตาล ใจเปรียบเหมือนลิง ผู้ปฏิบัติเปรียบเหมือนนายพราน

 

           7.อปฺปนาโต การพิจารณาโกฏฐาสะอย่างใดอย่างหนึ่งให้เข้าถึงอัปปนา คือ เมื่อผู้ปฏิบัติ ได้พิจารณาโกฏฐาสะอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยการละทิ้งโกฏฐาสะที่ไม่ค่อยชัดไปตามลำดับ จนกระทั่งเหลืออันใดอันหนึ่ง ต่อจากนั้นก็พิจารณาโกฏฐาสะอันนั้นจนถึงฌาน เพราะโกฏฐาสะ แต่ละอย่างก็ให้ฌานด้วยกันทั้งสิ้น การที่จะต้องเจริญโกฏฐาสะทั้ง 32 ในระยะแรกนั้น ก็เพื่อจะได้รับประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 ประการ ประการหนึ่งก็คือ ในขณะที่กำลังพิจารณาโกฏฐาสะโดยความเป็นอนุโลมปฏิโลมในหมวดทั้ง 6 ตามลำดับอยู่ ปฐมฌานอาจเกิดขึ้นได้ อีกประการหนึ่ง ถ้าหากว่าฌานไม่เกิดก็จะได้พิจารณา เลือกโกฏฐาสะอื่นต่อไปว่า โกฏฐาสะอันใดเหมาะสมกับอัธยาศัยของตนตามหลักข้อที่ 6

 

            8.-10. ตโย จ สุตฺตนฺตา การพิจารณาในพระสูตร 3 อย่าง คือ อธิจิตตสูตร สีติภาว-สูตร โพชฌังคโกสัลลสูตร คือ ผู้พึงตรวจดูการปฏิบัติของตนให้ถูกตรงตามหลักแห่งสูตรทั้ง 3 เพื่อสมาธิและวิริยะจะได้มีกำลังเสมอกัน อันจะทำให้ได้ ฌาน มรรค และผล

การปฏิบัติตามหลัก อธิจิตตสูตร7)นั้น ผู้ปฏิบัติต้องพิจารณาในนิมิตทั้ง 3 คือ

สมาธินิมิต จิตใจเข้าสู่ความสงบ

ปัคคหนิมิต จิตใจเกิดความพยายาม

อุเบกขานิมิต ความวางเฉย

 

            นิมิตทั้ง 3 นี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ผู้ปฏิบัติต้องพิจารณาว่า อย่างใดมากเกินไปหรือน้อยเกินไป แล้วแก้ไขเพิ่มเติมนิมิตนั้นๆ ให้เสมอกัน จนกระทั่งสมาธิของตนขึ้นสู่ขั้นอธิจิต คือ สมาธิที่มีกำลังยิ่ง สามารถทำจิตให้อยู่นิ่งในอารมณ์กัมมัฏฐานได้ ทั้งนี้เพราะถ้าปล่อยให้ไม่เสมอกันจะบังเกิดโทษคือ

  • ถ้าสมาธินิมิตมาก ทำให้เกิดโกสัชชะความเกียจคร้านขึ้น
  • ถ้าปัคคหนิมิตมาก ทำให้ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น
  • ถ้าอุเบกขานิมิตมาก การปฏิบัติจะไม่ได้ผลถึงฌาน มรรค และผล

            ดังนั้นผู้ปฏิบัติจึงไม่ควรใฝ่ใจในนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งให้มากเกินไป แต่ควรใฝ่ใจในนิมิตทั้ง 3 ให้เสมอกัน พระพุทธองค์ทรงอุปมาไว้ว่า เสมือนนายช่างทอง ก่อนที่จะทำทอง ต้องผูกเบ้า ครั้นผูกแล้วจึงฉาบทาปากเบ้า ครั้นฉาบปากเบ้าแล้วจึงเอาคีมหยิบทองใส่เข้าที่ปากเบ้า แล้วเป่าตามกาลอันควร พรมน้ำ ตามกาลอันควร พักตามกาลอันควร เมื่อทำได้ถูกส่วนดังนี้แล้ว ทองนั้นย่อมเป็นของอ่อน ควรแก่การงาน ผุดผ่องและทั้งสุกปลั่ง ใช้ทำสิ่งใดก็ได้ดี ถ้าหากว่าการงานทั้ง 3 อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่ากันและกัน ทองทั้งหม้อนั้นก็จะไหม้ละลายไป หรือเย็นเกินไปก็จะไม่สุกปลั่ง จะทำเป็นเครื่องประดับอันใดก็มิได้

 

            การปฏิบัติตามหลัก สีติภาวสูตร8)นั้น พระโยคีบุคคลต้องปฏิบัติตามข้อธรรม 6 ประการ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานที่เรียกว่า สีติภาวะ ความเยือกเย็นอย่างยอด ธรรม 6 ประการ ดังกล่าวนั้น ได้แก่

1.ย่อมข่มจิตในคราวที่ควรข่ม คือ จิตมีความเพียรมากไป จะต้องลดลง

2.ย่อมประคองจิตในคราวที่ควรประคอง คือ ในยามที่จิตมีความง่วงเหงา ท้อถอย หดหู่ ต้องปลอบโยน

3.ย่อมปลอบจิตในคราวที่ควรปลอบ คือ จิตไม่ยินดีในการงาน ต้องปลอบด้วยการพิจารณาธรรมสังเวช เกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่จะต้องประสบ เป็นต้น

4.ย่อมพักผ่อนจิตในคราวที่ควรพักผ่อน คือ จิตดำเนินอยู่ด้วยดีในอารมณ์กัมมัฏฐานไม่มีการฟุ้งซ่าน ง่วงเหงา ท้อถอย

5.มีจิตน้อมไปในมรรคผล

6.มีความยินดีในพระนิพพาน

            การปฏิบัติตามหลัก โพชฌังคโกสัลลสูตร9) นั้น คราวใดจิตมีความง่วงเหงาท้อถอย ไม่มีความเพียร ในคราวนั้นต้องอบรมธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ทั้ง 3 นี้ ให้แก่กล้ายิ่งขึ้น และคราวใดจิตมีความเพียรมากจนฟุ้งซ่าน ในคราวนั้นต้องอบรมปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ทั้ง 3 นี้ ให้แก่กล้ายิ่งขึ้น

 

------------------------------------------------------------------------

7) , 8) สัมโมหวิโนทินี อรรถกถาวิภังค์ มก, เล่มที่ 78 หน้า 63.
9) สัมโมหวิโนทินี อรรถกถาวิภังค์ มก, เล่มที่ 78 หน้า 64.

 สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0063724517822266 Mins