วิธีการพิจารณาอาการทั้ง 32

วันที่ 30 กค. พ.ศ.2558

 

วิธีการพิจารณาอาการทั้ง 32

            ในการพิจารณาอาการทั้ง 32 มีตัวอย่างการพิจารณา โดยเริ่มต้นที่การพิจารณาผมก่อนในการพิจารณาผมให้ดูผมที่เขาตัดทิ้งไว้ หรือถอนผมของตนเองออกมา 1 หรือ 2 เส้น หรือดูผมที่ตกอยู่ในน้ำหรือตกอยู่ในอาหาร ก็ใช้ได้เหมือนกัน เมื่อดูแล้วให้พิจารณาดู ถ้าเห็นผมสีดำ ก็พิจารณาว่าดำ ถ้าเห็นผมสีขาว ก็พึงพิจารณาว่ามีสีขาว แต่ถ้าเห็นมีสีเจือกัน ให้พิจารณานึกเอา ที่มีสีมากกว่า แล้วจึงพิจารณา สัณฐาน ทิศ โอกาส และปริจเฉทแล้ว จึงกำหนดความเป็นปฏิกูล 5 ประการ โดยสี สัณฐาน กลิ่น ที่อาศัยอยู่ และโอกาส

1. ผม (เกสา)

โดยสี : มีทั้งสีดำ แดง ขาว

โดยสัณฐาน : ยาว กลม มีจำนวนประมาณ 9 ล้าน

โดยทิศ : เกิดในทิศเบื้องบนแห่งร่างกาย

โดยโอกาส (ที่ตั้ง) : ตั้งอยู่ในหนังสดที่หุ้มกะโหลกศีรษะ ด้านข้างทั้งสองกำหนดเอาแค่หมวกหู ด้านหน้าแค่กรอบหน้าผาก ด้านหลังแค่คอต่อเป็นโอกาสของผมทั้งหลาย

โดยปริจเฉท : ผมทั้งหลาย เบื้องต่ำกำหนดด้วยพื้นรากของตน อันหยั่งเข้าไปในหนังหุ้มศีรษะ ประมาณเท่าปลายเมล็ดข้าวเปลือก เบื้องบนมีขอบเขตแค่อากาศ (หมายความว่า สิ้นสุดแค่ความสั้นยาวของเส้นผมของแต่ละคน) เบื้องขวางกำหนดด้วยเส้นผมด้วยกัน การกำหนดเช่นนี้ว่า ผม 2 เส้นไม่มีรวมเป็นเส้นเดียว นี้เป็นการกำหนดโดยส่วนที่เสมอกัน ธรรมดาผมทั้งหลาย ธรรมชาติสร้างมามิให้ปนกับส่วนที่เหลือ 31 ส่วนอย่างนี้ว่า “    ผมมิใช่ขน ขนก็มิใช่ผม” การกำหนดเช่นนี้ว่าส่วนนั้นเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก นี้เป็นการกำหนดส่วนที่ไม่เสมอกัน

 

ส่วนการกำหนดผมเหล่านั้นโดยเป็นสิ่งปฏิกูล 5 ประการ มีสี เป็นต้น ดังต่อไปนี้

             ธรรมดาผม ไม่ว่าจะโดยสีก็ดี โดยสัณฐานก็ดี โดยกลิ่นก็ดี โดยที่อาศัยก็ดี โดยโอกาสก็ดี เป็นสิ่งปฏิกูลทั้งสิ้น คนทั้งหลายเห็นสิ่งอะไรๆ ที่มีสีคล้ายผมตกลงไปในภาชนะอาหาร แม้ว่าอาหารนั้นจะเป็นของที่ชอบก็ตาม ก็นึกรังเกียจขึ้นมาทันทีว่า “    นี่เป็นอาหารมีผมตก เอาไปทิ้งเสีย” ผมเป็นของปฏิกูลโดยสีเช่นนี้ บางคนรับประทานอาหารในเวลากลางคืน สัมผัสเส้นด้าย หรือเชือกเส้นเล็กๆ ที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือนกับผมเข้า ก็จะนึกรังเกียจขึ้นมาทันที ผมเป็นปฏิกูลโดยสัณฐานเช่นนี้

            กลิ่นของผมที่ไม่ได้ทาด้วยน้ำมัน หรือน้ำหอมย่อมมีกลิ่นน่ารังเกียจ ถ้าไหม้ไฟจะมีกลิ่นเหม็นรุนแรงน่ารังเกียจยิ่งกว่าปกติ ในบางครั้งเราอาจจะพบว่าผมมีสีและสัณฐานที่ไม่เป็นปฏิกูล แต่ถ้าพูดถึงกลิ่นแล้ว ผมมีกลิ่นที่เป็นปฏิกูลมากทีเดียว ในที่นี้มีอุปมาเหมือนก้อนอุจจาระของเด็กเล็กๆ ที่มีสีเหมือนสีขมิ้น แม้โดยสัณฐานก็เหมือนแง่งขมิ้น และซากสุนัขดำ ที่ขึ้นอืดที่เขาทิ้งไว้ในกองขยะ มีสีเหมือนสีผลตาลสุก มีสัณฐานเหมือนกลองตะโพนที่เขา ปล่อยกลิ้งทิ้งไว้ แม้เขี้ยวก็มีสัณฐานเหมือนดอกมะลิตูม อุจจาระเด็กและซากสุนัขดำทั้ง 2 อย่างเมื่อพิจารณาดูแล้วอาจจะมีสีและสัณฐานที่ไม่เป็นปฏิกูลเท่าไหร่นัก แต่ว่าโดยกลิ่นแล้ว เป็นสิ่งปฏิกูลแท้ๆ ฉันใด แม้ผมก็ฉันนั้นโดยสีและสัณฐานอาจจะมีลักษณะไม่เป็นปฏิกูล แต่เมื่อพูดถึงกลิ่นแล้ว เป็นปฏิกูลน่ารังเกียจยิ่งนัก

 

            ผักสำหรับแกงที่เกิดในน้ำครำที่ไหลออกจากบ้านขังอยู่ในที่ไม่สะอาด ย่อมเป็นของน่าเกลียด ไม่น่าบริโภคสำหรับคนทั่วไปฉันใด แม้ผมก็เช่นกัน จัดเป็นสิ่งน่าเกลียด เพราะเกิดด้วยน้ำที่ซึมออกมาแต่ส่วนต่างๆ มีน้ำเหลือง เลือด มูตร อุจจาระ น้ำดีและเสมหะ เป็นต้น นี้เป็นความปฏิกูลโดยที่อาศัยแห่งผมนั้น

            ธรรมดาผมทั้งหลายนี้เกิดในกองแห่งส่วน 31 ส่วน ดุจผักที่ขึ้นในกองอุจจาระ ผมเหล่านั้น จึงจัดว่าเป็นสิ่งน่าเกลียดอย่างยิ่ง เพราะเกิดในที่ไม่สะอาด ดุจผักที่เกิดในป่าช้าและที่กองขยะ เป็นต้น และดุจดอกบัวหลวงและดอกบัวสายที่เกิดในที่ไม่สะอาดมีคูเมือง เป็นต้น นี้เป็นความปฏิกูลโดยโอกาสแห่งผมทั้งหลายนั้น

           นักปฏิบัติพึงกำหนดความปฏิกูล 5 ส่วน โดยสี สัณฐาน กลิ่น ที่อาศัย และโอกาสแห่งอาการทั้ง 32 ทั้งหมด เช่นเดียวกับการกำหนดความปฏิกูลแห่งผมนี้เอง

 

2. ขน (โลมา)

ขนปกติมีประมาณ 90,000 ขุม

โดยสีปกติ : ไม่ดำแท้เหมือนผม แต่เป็นดำปนเหลือง

โดยสัณฐาน : มีปลายน้อมลง มีสัณฐานดังรากตาล

โดยทิศ : เกิดทั้งในเบื้องบนและเบื้องล่างของร่างกาย

โดยโอกาส : ขึ้นอยู่ในผิวหนังทั่วตัว เว้นไว้แต่ที่เส้นผมเกิด ฝ่ามือฝ่าเท้า

โดยปริจเฉท : เบื้องล่างกำหนดด้วยพื้นรากของตนอันหยั่งเข้าไปในหนังหุ้มสรีระประมาณ เท่าไข่เหา เบื้องบนกำหนดด้วยอากาศ คือสุดเท่าความยาว ส่วนกว้างกำหนดด้วยเส้นขนด้วยกัน ขน 2 เส้นไม่มีการขึ้นติดกันเป็นเส้นเดียว เส้นใครเส้นมัน มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

3. เล็บ (นขา)

คำว่า นขา เป็นชื่อของใบเล็บ 20 อัน เล็บทั้งปวงนั้น

โดยสี : เป็นสีขาว

โดยสัณฐาน : มีสัณฐานเหมือนเกล็ดปลา

โดยทิศ : เกิดในทิศเบื้องบนและเบื้องล่างของร่างกาย คือ เล็บเท้า เกิดในทิศเบื้องล่าง เล็บมือเกิดในทิศเบื้องบน

โดยโอกาส : ตั้งอยู่หลังปลายนิ้วทั้งหลาย

โดยปริจเฉท : ในทิศเบื้องบนและเบื้องล่างของร่างกาย กำหนดด้วยเนื้อปลายนิ้ว ข้างในกำหนดด้วยเนื้อหลังนิ้ว ข้างนอกและปลายกำหนดด้วยอากาศ ด้านขวางกำหนดด้วยเล็บ ด้วยกัน เล็บ 2 ใบไม่มีรวมอยู่ด้วยกัน มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

4. ฟัน (ทนฺตา)

ฟันทั้งหลาย คือกระดูกฟัน มีจำนวน 32 ซี่ บางคนมีเพียง 28-29 ซี่

โดยสี : มีสีขาว

โดยสัณฐาน : มีสัณฐานต่างๆ คือ ฟัน 4 ซี่ตรงกลางฟันแถวล่าง มีสัณฐานเหมือนเมล็ดน้ำเต้าที่เขาตั้งเรียงกันไว้บนก้อนดินเหนียว ฟันหน้า 4 ซี่ ทั้งบนและล่าง มีรากฟันซี่ละรากเดียว ทรวดทรงเหมือนดอกมะลิตูม ฟันกรามมีราก 2 ง่าม ปลายฟันก็มี 2 ง่าม ทรวดทรงเหมือนไม้ค้ำเกวียน ถัดกรามเข้าไปเป็นฟันกรามใน มีราก 3 ง่าม ปลายฟันก็มี 3 ง่าม ส่วนกราม ในสุดมีราก 4 ง่าม ปลายมี 4 ง่าม

โดยทิศ : ฟันนั้นเกิดในทิศเบื้องบนของร่างกาย

โดยโอกาส : ตั้งอยู่ในกระดูกคางทั้ง 2

โดยปริจเฉท : เบื้องล่างกำหนดด้วยพื้นรากของตนอันตั้งอยู่ในกระดูกกราม เบื้องบน กำหนดด้วยอากาศ เบื้องขวาง กำหนดด้วยฟันด้วยกัน ฟัน 2 ซี่ไม่มีรวมอยู่ด้วยกัน มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

5. หนัง (ตโจ)

หนัง คือหนังที่หุ้มร่างกายทั้งสิ้นอยู่เบื้องบนแห่งหนังนั้น มีผิวสีต่างๆ เช่น ดำ คล้ำ เหลือง ขาว เป็นต้น ซึ่งเมื่อลอกออกจากร่างกายทั้งสิ้น (ปั้นเป็นก้อนเข้า) ก็จะได้ประมาณเท่าเมล็ดในของพุทรา (พุทราพันธุ์อินเดีย ไม่ใช่พุทราพันธุ์ไทย )

โดยสี : มีสีขาวเท่านั้น ก็ความที่หนังขาวนั้นจะปรากฏเมื่อผิวถลอก เพราะถูกไฟลวกหรือถูกเครื่องประหาร

โดยสัณฐาน : สัณฐานของหนังในร่างกายมีลักษณะต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ

หนังนิ้วเท้ามีสัณฐานดังรังไหม หนังหลังเท้ามีสัณฐานดังรองเท้าหุ้มหลังเท้า หนังแข้งมีสัณฐานดังใบตาลห่อข้าว หนังขามีสัณฐานดังไถ้บรรจุข้าวสารเต็ม หนังตะโพกมีสัณฐานดังผืนผ้ากรองน้ำที่เต็มด้วยน้ำ หนังหลังมีสัณฐานดังหนังหุ้มโล่ หนังท้องมีสัณฐานดังหนังหุ้มรางพิณ หนังอก โดยมากมีสัณฐานสี่เหลี่ยม หนังแขนทั้งสองข้างมีสัณฐานดังหนังหุ้มแล่งธนู หนังหลังมือ มีสัณฐานดังฝักมีด หรือสัณฐานดังถุงใส่โล่ หนังนิ้วมือมีสัณฐานดังฝักกุญแจ หนังคอมีสัณฐานดังเสื้อปิดคอ หนังหน้ามีช่องใหญ่น้อย มีสัณฐานดังรังตั๊กแตน หนังศีรษะ สัณฐานดังถลกบาตร

วิธีกำหนดหนัง

            นักปฏิบัติผู้จะกำหนดเอาหนังเป็นอารมณ์ พึงพิจารณาขึ้นเบื้องบน ตั้งแต่ริมฝีปากบน แล้วกำหนดหนังที่หุ้มอยู่รอบปากก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงกำหนดหนังหุ้มกระดูกหน้าผาก จากนั้นจึงส่งจิตพิจารณาเข้าไปโดยระหว่างกระดูกศีรษะและหนังหุ้มศีรษะ ดุจสอดมือเข้าไปโดยระหว่างแห่งบาตรที่สวมถลกฉะนั้น แล้วแยกความที่หนังเนื่องเป็นอันเดียวกันกับกระดูกออกจากกัน แล้วกำหนดหนังศีรษะ จากนั้นกำหนดหนังคอ จากนั้นกำหนดหนังมือขวาทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลม (มหาฎีกาว่า กำหนดตั้งแต่หัวไหล่ลงไปทางหลังแขนเป็นอนุโลม กำหนดแต่ข้อมือขึ้นมาทางหน้าแขนเป็นปฏิโลม) ครั้นแล้วกำหนดหนังมือซ้ายโดยนัยนั้นเหมือนกัน จากนั้นกำหนดหนังหลัง ครั้นกำหนดหนังหลังนั้นแล้ว จึงกำหนดหนังเท้าขวาทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลม แล้วจึงกำหนดหนังเท้าซ้ายโดยนัยเดียวกันนั้น จากนั้นกำหนดหนังท้องน้อยหนังหน้าท้อง หนังทรวงอกและหนังคอตามลำดับไป จากนั้นกำหนดหนังใต้คางถัดหนังคอขึ้นมา จนถึงริมฝีปากล่างเป็นที่สุดจึงเสร็จ เมื่อปฏิบัติกำหนดเอาหนังหยาบๆ ได้อย่างนี้ แม้หนังที่ละเอียดก็ย่อมจะปรากฏ

โดยทิศ : หนังเกิดในทิศทั้งเบื้องบนและเบื้องล่างของร่างกาย

โดยโอกาส : หนังหุ้มร่างกายทั้งสิ้นอยู่

โดยปริจเฉท : เบื้องล่างกำหนดด้วยพื้นที่มันตั้งอยู่ เบื้องบนกำหนดด้วยอากาศ มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

6. เนื้อ (มํสํ)

เนื้อ คือเนื้อ 900 ชิ้น

โดยสี : มีสีแดงเหมือนดอกทองกวาว

โดยสัณฐาน : เนื้อปลีแข้งมีสัณฐานดังข้าวสุกในห่อใบตาล3) เนื้อขา มีสัณฐานดังลูกหินบด เนื้อสะโพก มีสัณฐานดังก้อนเส้า เนื้อหลัง มีสัณฐานดังแผ่นตาลงบ4) เนื้อสีข้างทั้งสอง มีสัณฐานดังดินที่นำมา ทาบางๆ ที่ฝาฉางเก็บข้าว เนื้อนมมีสัณฐานดังก้อนดินที่เขาผูกแขวนไว้แล้ว เนื้อแขน ทั้งสองข้างมีสัณฐานดังหนูตัวใหญ่ที่ถลกหนังวางซ้อนกันไว้ เนื้อก้นดังเนื้อตัวกบ เนื้อลิ้นดังกลีบดอกบัว เนื้อจมูกดังถุงที่วางคว่ำไว้ เนื้อขุมตาดังลูกมะเดื่อเกือบสุก เนื้อศีรษะมีสัณฐานดังดินที่เอามาทาบางๆ ใช้รมบาตร เมื่อนักปฏิบัติกำหนดเนื้อหยาบๆ ได้อย่างนี้ แม้เนื้อที่ละเอียดก็ย่อมจะปรากฏ

โดยทิศ : เนื้อนั้นเกิดในทิศเบื้องบนและเบื้องล่างของร่างกาย

โดยโอกาส : ตั้งหุ้มกระดูก 300 ท่อนกว่าๆ

โดยปริจเฉท : เบื้องล่างกำหนดด้วยพื้นที่ตั้งอยู่ที่โครงกระดูก เบื้องบนกำหนดด้วยหนัง เบื้องขวางกำหนดด้วยเนื้อด้วยกัน มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

7. เอ็น (นฺหารู)

เอ็นมี 900 เส้น

โดยสี : มีสีขาว บางแห่งว่ามีสีน้ำผึ้ง

โดยสัณฐาน : มีสัณฐานต่างๆ คือ เส้นเอ็นใหญ่ที่รึงรัดร่างกาย ตั้งแต่แต่ส่วนบนแห่งคอหยั่งลงไปทางข้างหน้า 5 เส้น ทางข้างหลังก็ 5 เส้น ทางข้างขวาก็ 5 เส้น ทางข้างซ้ายก็ 5 เส้น แม้ที่รึงรัดมือขวา ทางข้างหน้ามือก็ 5 เส้นทางข้างหลังมือก็ 5 เส้น ที่รึงรัดมือซ้ายก็เช่นเดียวกัน แม้ที่รึงรัดเท้าขวา ทางข้างหน้าเท้าก็ 5 เส้น ทางข้างหลังก็ 5 เส้น ที่รึงรัดเท้าซ้ายก็เช่นเดียวกัน เอ็นใหญ่ 60 เส้น อันได้ชื่อว่า สรีรธารกา เอ็นรึงรัดร่างกาย เอ็นที่หยั่งลงไป เรียกว่า กัณฑรา (เอ็นรากเง่า) เอ็นใหญ่เหล่านี้มีสัณฐานดังต้นคล้าอ่อน ส่วนเอ็นอื่นๆ แผ่คลุม ตำแหน่งต่างๆ ในร่างกาย นั้นๆ ที่เล็กกว่าเอ็นสรีรธารกานั้น มีสัณฐานดังเชือกดักหมู ที่เล็กกว่านั้นมีสัณฐานดังเชือกเส้นเล็ก เส้นเอ็นอื่นที่เล็กกว่านั้นมีสัณฐานดังสายพิณใหญ่ เอ็นอื่นมีสัณฐานดังเส้นด้ายอ้วนๆ เอ็นที่หลังมือและเท้ามีสัณฐานดังเท้านก เอ็นที่ศีรษะมีสัณฐานดังข่ายคลุมศีรษะทารก เอ็นที่หลังมีสัณฐานดังอวนเปียกที่เขาผึ่งแดดไว้ เอ็นที่รัดรึงอวัยวะต่างๆ ที่เหลือมีสัณฐานดังเสื้อร่างแหที่สวมร่างกายไว้

โดยทิศ : เอ็นเกิดในทิศเบื้องบนและเบื้องล่างของร่างกาย

โดยโอกาส : ยึดกระดูกในร่างกายทั้งสิ้นอยู่

โดยปริจเฉท : เบื้องล่างกำหนดด้วยพื้นที่มันตั้งอยู่บนกระดูก 300 ท่อน เบื้องบน กำหนดด้วยตำแหน่งที่มันตั้งจดเนื้อและหนังอยู่ เบื้องขวางกำหนดด้วยเอ็นด้วยกัน มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

8. กระดูก (อฏฺฐิ)
            กระดูกทั้งหลาย คือ ยกเว้นกระดูกฟัน 32 ซี่เสีย ที่เหลือเป็นกระดูกประมาณ 300 ท่อนดังนี้ คือ กระดูกมือ 64 ท่อน กระดูกเท้า 64 ท่อน กระดูกอ่อนที่ติดเนื้ออยู่ 64 ท่อน กระดูกเท้า 2 ท่อน กระดูกข้อเท้าข้างละ 2 ท่อน กระดูกแข้งข้างละ 2 ท่อน กระดูกเข่า ข้างละ 1 ท่อน กระดูกขา ข้างละ 1 ท่อน กระดูกสะเอว 2 ท่อน กระดูกสันหลัง 18 ท่อน กระดูกซี่โครง 24 ท่อน กระดูกหน้าอก 14 ท่อน กระดูกหัวใจ 1 ท่อน กระดูกรากขวัญ 2 ท่อน กระดูกสะบัก 2 ท่อน กระดูกต้นแขน 2 ท่อน กระดูกปลายแขนข้างละ 2 ท่อน กระดูกก้านคอ 7 ท่อน กระดูกคาง 2 ท่อน กระดูกจมูก 1 ท่อน กระดูกเบ้าตา 2 ท่อน กระดูกหู 2 ท่อน กระดูกหน้าผาก 1 ท่อน กระดูกกระหม่อม 1 ท่อน กระดูกกะโหลกศีรษะ 9 ท่อน

 

โดยสี : เป็นสีขาว

โดยสัณฐาน : มีสัณฐานต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ

            กระดูกนิ้วเท้าข้อปลายมีสัณฐานดังเมล็ดบัว กระดูกข้อกลางถัดข้อปลายนั้นเข้ามา สัณฐานดังเม็ดขนุน กระดูกข้อโคน (ถัดข้อกลางเข้ามา) มีสัณฐานดังบัณเฑาะว์ กระดูกหลังเท้า มีสัณฐานดังกองหัวคล้าที่ถูกบุบ กระดูกส้นเท้ามีสัณฐานดังจาวตาลในลอนเดียว กระดูกข้อเท้า มีสัณฐานดังลูกสะบ้าประกบกัน กระดูกแข้งตรงที่ๆ ตั้งลงในกระดูกข้อเท้าสัณฐานดังหน่อเป้งที่ปอกเปลือก กระดูกแข้งท่อนเล็กมีสัณฐานดังคันธนู ท่อนใหญ่ มีสัณฐานดังหลังงูที่เหี่ยวๆ กระดูกเข่ามีสัณฐานดังต่อมน้ำที่แหว่งไปข้างหนึ่ง กระดูกแข้งตรงที่ตั้งจดในกระดูกเข่านั้นมีสัณฐานดังเขาโคปลายทู่ กระดูกขามีสัณฐานดัง ด้ามพร้าและด้ามขวานที่ถากแต่งหยาบๆ กระดูกขาตรงที่ตั้งจดในกระดูกสะเอวมีสัณฐานดังลูกสะบ้า กระดูกตรงสะเอวตรงที่ตั้งจดกับกระดูกขานั้นมีสัณฐานดังผลมะงั่วใหญ่ปลายปาด กระดูกสะเอว แม้เป็น 2 ชิ้น แต่ติดกันมีสัณฐานดังเตาช่างหม้อ ถ้าแยกกันออก แต่ละชิ้น มีสัณฐานดังคีมช่างทอง กระดูกตะโพกที่ตั้งอยู่ทางด้านปลาย มีสัณฐานดังพังพานงูที่เขาวางคว่ำหน้าลง มีช่องเล็กช่องใหญ่ 7-8 แห่ง กระดูกสันหลังข้างใน มีสัณฐานดังห่วงแผ่นตะกั่วที่วางซ้อนๆ กันไว้ ข้างนอกมีสัณฐานดังลูกประคำ ในระหว่างกระดูกสันหลังเหล่านั้น มีเดือยอยู่ 2 ซี่คล้ายฟันเลื่อย ในกระดูกซี่โครง 24 ซี่ ซี่ที่ไม่เต็ม มีสัณฐานดังเคียวไม่เต็มเล่ม ซี่ที่เต็ม (คือ ยาวจดกัน) มีสัณฐานดังเคียวเต็มเล่มทั้งหมดมีสัณฐานดังปีกกางของไก่ขาว กระดูกอก 14 ท่อน มีสัณฐานดังเรือนคานหามที่คร่ำคร่า กระดูกที่หัวใจ มีสัณฐานดังจวัก กระดูกรากขวัญมีสัณฐานดังมีดโลหะเล่มเล็กๆ กระดูกสะบักมีสัณฐานดังจอบชาวสีหลที่เหี้ยนไปข้างหนึ่ง กระดูกแขนมีสัณฐานดังด้ามแว่น กระดูกปลายแขน มีสัณฐานดังรากตาลคู่ กระดูกข้อมือมีสัณฐาน ดังห่วงแผ่นตะกั่วที่เขาเชื่อมให้ติดกันตั้งไว้ กระดูกหลังมือมีสัณฐานดังกองหัวคล้าที่ถูกบุบ กระดูกข้อโคนนิ้วมือมีสัณฐานดังบัณเฑาะว์ กระดูกข้อกลางนิ้วมีสัณฐานดังเมล็ดขนุนไม่เต็มเม็ด กระดูกข้อปลายนิ้วมีสัณฐานดังเมล็ดบัว กระดูกคอ 7 ท่อน มีสัณฐานดังแว่นหน่อไม้ที่คนใช้ไม้เสียบตั้งไว้โดยลำดับกัน กระดูกคางอันล่างมีสัณฐานดังคีมเหล็กของพวกช่างโลหะ อันบนมีสัณฐานดังเหล็กสำหรับขูด กระดูกกระบอกตาและกระบอกจมูกมีสัณฐานดังเต้าตาลอ่อนที่ควักจาวออกแล้ว กระดูกหน้าผากมีสัณฐานดังเปลือกสังข์ที่วางคว่ำหน้าไว้ กระดูกกกหูสัณฐานดังฝักมีดโกนของช่างกัลบก กระดูกในที่ๆ หน้าผากกับกกหูติดกันเป็นแผ่นอยู่ตอนบนสัณฐาน ดังท่อนผ้าที่ยู่ยี่และเต็มไปด้วยเนยใส กระดูกกระหม่อมมีสัณฐานดังกะโหลกมะพร้าวเบี้ยวที่ปาดหน้าแล้ว กระดูกศีรษะมีสัณฐานดังกะโหลกน้ำเต้าแก่ที่เขาเย็บตรึงเอาไว้ (ไม่ให้แตกแยกออกจากกัน)

 

โดยทิศ : กระดูกเกิดในทิศเบื้องบนและเบื้องล่างของร่างกาย

โดยโอกาส : เมื่อว่าโดยไม่แปลกกัน ตั้งอยู่ทั่วร่างกาย แต่เมื่อว่าโดยแปลกกัน ในกระดูกทั้งหลายนั้น กระดูกศีรษะตั้งอยู่บนกระดูกคอ กระดูกคอตั้งอยู่บนกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังตั้งอยู่บนกระดูกสะเอว กระดูกสะเอวตั้งอยู่บนกระดูกขา กระดูกขาตั้งอยู่บนกระดูกเข่า กระดูกเข่าตั้งอยู่บนกระดูกแข้ง กระดูกแข้งตั้งอยู่บนกระดูกข้อเท้า กระดูกข้อเท้า ตั้งอยู่บนกระดูกหลังเท้า

โดยปริจเฉท : ภายในกำหนดด้วยเยื่อในกระดูก เบื้องบน กำหนดด้วยเนื้อ ที่ปลายและโคน กำหนดด้วยกระดูกด้วยกัน มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

9. เยื่อในกระดูก (อฏฺฐิมิญฺชํ)

เยื่อในกระดูก คือเยื่ออันอยู่เฉพาะภายในแห่งกระดูกทั้งหลายนั้นๆ

โดยสี : มีสีขาว

โดยสัณฐาน : เยื่อที่อยู่ภายในกระดูกท่อนใหญ่ๆ มีสัณฐานดังยอดหวายใหญ่ที่เขาลนไฟแล้วสอดเข้าไว้ในกระบอกไม้ไผ่ เยื่อที่อยู่ภายในกระดูกท่อนเล็กๆ มีสัณฐานดังยอดหวายเล็กที่เขาลนไฟแล้วสอดเข้าไว้ในปล้องไม้อ้อ

โดยทิศ : เกิดในทิศเบื้องบนและเบื้องล่างของร่างกาย

โดยโอกาส : ตั้งอยู่ภายในกระดูก

โดยปริจเฉท : กำหนดด้วยพื้นข้างในกระดูกทั้งหลาย นี้เป็นการกำหนดด้วยส่วนของตนแห่งเยื่อในกระดูกนั้น มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

10. ไต (วกฺกํ)
ไต ได้แก่ก้อนเนื้อ 2 ก้อน มีขั้วเดียว

โดยสี : มีสีแดงอ่อนดุจสีเม็ดทองหลางป่า

โดยสัณฐาน : มีสัณฐานดังลูกสะบ้าคู่ของเด็กๆ หรือมีสัณฐานดังผลมะม่วงแฝด ติดอยู่ในขั้วเดียวกัน

โดยทิศ : เกิดในทิศเบื้องบน ( เพราะอยู่ด้านหลังเหนือสะดือนิดเดียว )

โดยโอกาส : เป็นก้อนเนื้อที่ติดอยู่กับเส้นเอ็นใหญ่ (เส้นเลือดใหญ่ ) ซึ่งโคนเป็นเส้นเดียว แล่นออกจากหลุมคอไปหน่อยแตกเป็น 2 เส้น รัดไว้โอบเนื้อหัวใจไว้

โดยปริจเฉท : ไตก็กำหนดด้วยส่วนของไต นี่เป็นการกำหนดด้วยส่วนของตนแห่งไตนั้น ส่วนการกำหนดด้วยส่วนที่ผิดกับตน ก็เช่นเดียวกับผมนั่นแล

 

11. หัวใจ (หทยํ)
หทยํ คือเนื้อหัวใจ

โดยสี : มีสีแดงดังสีหลังกลีบดอกบัว

โดยสัณฐาน : มีสัณฐานดังดอกปทุมตูมที่เขาปลิดกลีบชั้นนอกออกแล้วตั้งคว่ำลง ภายนอกเกลี้ยง ภายในเหมือนภายในแห่งรังบวบขม ของพวกคนมีปัญญาเฉลียวฉลาด หัวใจเป็นรูปบัวแย้มหน่อยหนึ่ง ของพวกคนปัญญาอ่อนรูปร่างจะเหมือนดอกบัวตูมปิดสนิท ภายในหัวใจนั้นมีหลุมขนาดจุเมล็ดบุนนาคได้ เป็นที่ขังโลหิตประมาณกึ่งซองมือ เรียกว่าน้ำเลี้ยงหทัยเป็นที่อาศัยเกิดมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ โลหิตนั้นของคนราคจริตเป็นสีแดง ของคน โทสจริตเป็นสีดำ ของคนโมหจริตเป็นสีคล้ายน้ำล้างเนื้อ ของคนวิตกจริตเป็นสีดังเยื่อถั่วพู ของคนสัทธาจริตเป็นสีดังดอกกรรณิการ์ ของคนปัญญาจริตใสผ่องไม่หมองมัว ขาวบริสุทธิ์ ปรากฏมีแสงดังแก้วมณีแท้ที่เจียระไนแล้ว

โดยทิศ : เกิดในทิศเบื้องบน

โดยโอกาส : ตั้งอยู่ระหว่างกลางนมทั้ง 2 ภายในร่างกาย

โดยปริจเฉท : หัวใจก็กำหนดด้วยส่วนของหัวใจ มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

12. ตับ (ยกนํ)
ตับ ได้แก่แผ่นเนื้อสองแฉก

โดยสี : มีสีแดง พื้นเหลืองไม่แดงจัดสีดังสีหลังกลีบบัวแดง

โดยสัณฐาน : ที่โคนเป็นแผ่นเดียว ที่ปลายเป็นสองแฉก มีสัณฐานดังใบทองหลาง ถ้าตับ ของพวกคนโง่ จะมีตับเป็นแผ่นโตแผ่นเดียวเท่านั้น ของคนมีปัญญา จะมีตับเป็นแผ่นย่อมๆ แยกออกเป็นแฉก 2 หรือ 3 แฉก

โดยทิศ : เกิดในทิศเบื้องบน

โดยโอกาส : ตั้งอยู่ระหว่างนมทั้งสองค่อนไปข้างขวา

โดยปริจเฉท : ตับก็กำหนดด้วยส่วนของตับเอง มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

13. พังผืด(กิโลมกํ)

พังผืด ได้แก่เนื้อเยื่อสำหรับหุ้ม มี 2 ประเภท โดยแยก เป็นพังผืดปกปิด และพังผืดเปิดเผย พังผืดทั้ง 2 อย่างนั้น

โดยสี : มีสีขาวดังสีผ้าเปลือกไม้แก่

โดยสัณฐาน : มีสัณฐานตามที่อยู่ของตน

โดยทิศ : พังผืดประเภทปกปิด ชื่อว่า ปฏิจฉันนะกิโลมกะ เกิดในทิศเบื้องบน หุ้มหัวใจและไตอยู่ พังผืดเปิดเผย ชื่อว่า อัปปฏิจฉันนะกิโลมกะ เกิดในทิศเบื้องบนและเบื้องล่างของร่างกาย ยึดเนื้อใต้หนังอยู่ทั่วร่างกาย

โดยปริจเฉท : เบื้องล่างกำหนดด้วยเนื้อ เบื้องบนกำหนดด้วยหนัง เบื้องขวางกำหนดด้วยส่วนของพังผืดเอง มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

14. ม้าม (ปิหกํ)
ม้าม ได้แก่เนื้อเป็นลิ้นอยู่ในท้อง

โดยสี : มีสีเขียวดุจสีดอกคนทิสอ( สีครามอ่อน )

โดยสัณฐาน : มีสัณฐานดังลิ้นลูกโคดำ มีขั้วยาวประมาณ 7 นิ้ว

โดยทิศ : เกิดในทิศเบื้องบน

โดยโอกาส : ตั้งอยู่ติดเบื้องบนของพื้นท้องทางซ้ายของหัวใจ ถ้าม้ามหลุดออกมาภายนอกร่างกาย เพราะถูกทำร้ายด้วยอาวุธเป็นต้น สัตว์ทั้งหลายก็จะสิ้นชีวิต

โดยปริจเฉท : ม้ามกำหนดด้วยส่วนของม้ามเอง มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

15. ปอด (ปปฺผาสํ)
ปอด ได้แก่เนื้อปอดอันมีเนื้อย่อยๆ ชิ้นเล็ก ๆ 32 ชิ้นติดกันอยู่

โดยสี : แดงดังสีผลมะเดื่อที่สุกยังไม่จัด

โดยสัณฐาน : มีสัณฐานดังชิ้นขนมหนาๆ ที่เขาตัดไม่เรียบ ถ้าหากอดอาหาร ไฟธาตุจะเผาเนื้อปอดเหี่ยว เนื้อปอดเป็นของไม่มีรส ไม่มีโอชา เป็นเนื้อที่ซีดเผือดเหมือนก้อนใบไม้ที่เคี้ยวแล้ว จนจืดเหลือเป็นชาน

โดยทิศ : เกิดในทิศเบื้องบน

โดยโอกาส : ปิดหัวใจและตับห้อยติดอยู่ในระหว่างนมทั้ง 2 ในภายในร่างกาย

โดยปริจเฉท : ก็กำหนดด้วยส่วนของปอดเอง มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

16. ไส้ใหญ่ (อนฺตํ)

ไส้ใหญ่ ได้แก่ลำไส้ ของผู้ชายยาวประมาณ 32 ศอก ของผู้หญิงยาวประมาณ 28 ศอก ขดไปมา 21 ทบ

โดยสี : มีสีขาวดังสีก้อนกรวด หรือปูนขาว

โดยสัณฐาน : มีสัณฐานดังงูหัวขาดที่วางขดไว้ในรางเลือด

โดยทิศ : เกิดในทิศเบื้องบนและเบื้องล่างของร่างกาย

โดยโอกาส : ตั้งอยู่ภายในร่างกายมีปลายอยู่ที่ไส้น้อย (ข้าง 1) และที่ทวารหนัก (ข้าง 1) เพราะเบื้องบนติดอยู่ที่ไส้น้อย และเบื้องล่างติดอยู่ที่ทวารหนัก

โดยปริจเฉท : กำหนดด้วยส่วนของไส้ใหญ่เอง มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

17. ไส้น้อย (อนฺตคุณํ)

ไส้น้อย คือไส้อันป็นสายพันอยู่ตามขนดไส้ใหญ่

โดยสี : มีสีขาวดังสีรากจงกลนี5) (รากบัว)

โดยสัณฐาน : มีสัณฐานดังรากจงกลนี

โดยทิศ : เกิดในทิศเบื้องบนและเบื้องล่างของร่างกาย

โดยโอกาส : ไส้น้อยตั้งยึดขนดไส้ใหญ่ให้เป็นมัดอยู่ด้วยกัน อยู่ในระหว่างแห่งขนดไส้ใหญ่ 21 ทบ เหมือนเชือกเล็กที่เย็บร้อยไปตามในระหว่างแห่งขดเชือกสำหรับเช็ดเท้าฉะนั้น

โดยปริจเฉท : ก็กำหนดด้วยส่วนของไส้น้อยเอง มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

18. อาหารใหม่ (อุทริยํ)

สิ่งที่มีอยู่ในอุทร (กระเพาะ) ชื่อ อาหารใหม่ หมายเอาสิ่งที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม เข้าไป

โดยสี : มีสีดังสีอาหารที่กลืนเข้าไป

โดยสัณฐาน : มีสัณฐานดังข้าวสารที่บรรจุหลวมๆ ในผ้ากรองน้ำ

โดยทิศ : เกิดในทิศเบื้องบน

โดยโอกาส : ตั้งอยู่ในอุทร (กระเพาะ)

อุทร (กระเพาะ) อุทร หรือกระเพาะ ภายนอกเกลี้ยง ภายในเป็นขรุขระเหมือนผ้าซับระดูที่เปื้อนแล้วห่อเศษเนื้อไว้ หรือเป็นเหมือนข้างในของผลขนุน


            กระเพาะเป็นที่ที่หมู่หนอน (ตัวพยาธิ) อันมีแตกต่างกันถึง 32 ตระกูล มีชนิดตักโกฏกะ (พยาธิปากขอ) ชนิดคัณฑุปปาทกะ (พยาธิตัวกลม) ชนิดตาลหีรกะ (พยาธิเสี้ยนตาล) ชนิด สูจิมุขกะ (พยาธิตัวจี๊ด) ชนิดปฏตันตุ (พยาธิตัวแบน) ชนิดสุตตกะ (พยาธิเส้นด้าย) เป็นต้น อาศัยอยู่กันคลาคล่ำเป็นกลุ่มๆ ไป เมื่อของกินมีน้ำและข้าว เป็นต้น ไม่มีอยู่ในอุทร พยาธิก็ พากันหิว พากันกัดกินไส้ในพุง ทำให้รู้สึกเจ็บปวดในท้องไม่สบาย พออาหารตกลงไป พวกพยาธิ ก็จะพากันชูปากตะลีตะลานเข้าแย่งอาหารที่คนกลืนลงไปแรกๆ 2-3 คำ ในอุทรเปรียบได้กับบ่อน้ำครำอันสกปรก เต็มไปด้วยอุจจาระ ปัสสาวะ เสมหะ น้ำลาย เนื้อ หนัง กระดูก เอ็น แหลกเป็นชิ้นน้อยใหญ่หมักหมมอยู่ เมื่อไฟธาตุเข้าทำการย่อยก็ขึ้นเป็นฟองปุดๆ มีสีเขียวคล้ำต่างๆ มีกลิ่นเหม็นน่ารังเกียจ อาหารที่ถูกบดถูกเคี้ยวด้วยฟัน ผสมกับน้ำลายปนกับน้ำดี เสมหะ ไม่ผิด กับอาเจียนของสุนัขยังเป็นฟองฟอด มีหมู่หนอนยั้วเยี้ยเต็มไปหมด อาหารทั้งหมดที่กินเข้าไปนั้น เหล่าหนอนพยาธิกินเสีย 1 ส่วน ไฟธาตุไหม้ไปเสีย 1 ส่วน ไปหล่อเลี้ยงร่างกาย 1 ส่วน เป็นน้ำปัสสาวะไป 1 ส่วน เป็นอาหารเก่าไป 1 ส่วน ส่วนที่ไปเลี้ยงร่างกาย เลี้ยงเสร็จแล้ว ก็ไหลออกมาเป็นขี้หู ขี้ตา ขี้มูก ขี้ฟัน ฯลฯ ตามทวารทั้ง 9 ล้วนแต่น่ารังเกียจยิ่งนัก

 

19. อาหารเก่า (กรีสํ)

ได้แก่ อุจจาระ

โดยสี : มีสีดังอาหารที่กลืนเข้าไป

โดยสัณฐาน : มีสัณฐานตามโอกาสที่มันถูกบรรจุอยู่ ถ้าอยู่ในกระเพาะ รูปร่างก็เหมือนกระเพาะ ถ้าไปค้างอยู่ที่ลำไส้ ก็มีรูปร่างเหมือนลำไส้

โดยทิศ : เกิดในทิศเบื้องล่าง

โดยอากาส : ตั้งอยู่ในลำไส้ตรง เป็นเสมือนกระบอกไม้ไผ่ สูงประมาณ 8 องคุลี อยู่ที่ ปลายไส้ใหญ่ ในระหว่างใต้สะดือและโคนข้อสันหลังซึ่งเป็นที่ที่ของกิน มีน้ำและข้าว เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งตกลงไปในกระเพาะอาหารใหม่ อันไฟธาตุในท้องเผาผลาญปุดเป็นฟองฟอดถึงภาวะเป็นของละเอียด ดังถูกบดด้วยหินบดแล้วไหลลงไปตามลำไส้ใหญ่เป็นของหมักตั้งอยู่ดังดินเหลืองที่เขาขยำใส่ในปล้องไม้ไผ่ เปรียบเหมือนน้ำฝนตกลงที่ภูมิภาคเบื้องสูงแล้วไหลบ่าลงไปขังเต็มภูมิภาคเบื้องต่ำ ฉะนั้น

โดยปริจเฉท : กำหนดกระพุ้งอาหารเก่าและด้วยส่วนแห่งอุจจาระ มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

20. มันสมอง (มตฺถลุงฺคํ)

มันสมอง ได้แก่ กองเยื่ออันตั้งอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ

โดยสี : มีสีขาวดังก้อนเห็ด แต่ก็ไม่ขาวเท่านมข้น สีพอๆ กับนมสด

โดยสัณฐาน : มีสัณฐานเหมือนหัวกะโหลกที่บรรจุ

โดยทิศ : เกิดในทิศเบื้องบน

โดยโอกาส : อาศัยแนวประสาน 4 แนวภายในกะโหลกศีรษะ ตั้งรวมกันอยู่ดุจก้อนแป้ง 4 ก้อนที่เขาตั้งรวมกันไว้

โดยปริจเฉท : กำหนดด้วยพื้นในภายในกะโหลกศีรษะและส่วนแห่งมันสมอง มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

21. ดี (ปิตฺตํ)

ดี ได้แก่ ดี 2 อย่างคือ ดีที่มีฝัก และดีที่ไม่มีฝัก

โดยสี : ดีที่มีฝัก มีสีดังน้ำมันผลมะซางข้นๆ ดีที่ไม่มีฝักมีสีดังดอกพิกุล6)เหี่ยว

โดยสัณฐาน : ดีทั้ง 2 อย่างมีสัณฐานตามโอกาสที่ตั้งอยู่

โดยทิศ : ดีมีฝักเกิดในทิศเบื้องบน ดีไม่มีฝักเกิดในทิศเบื้องบนและเบื้องล่างของร่างกาย

โดยโอกาส : ดีที่ไม่มีฝัก ซึมซาบไปทั่วร่างกาย ยกเว้นที่ที่พ้นจากเนื้อคอ ผม ขน เล็บ ฟัน และหนังที่กระด้างแห้งผาก เหมือนหยาดน้ำมันที่ซึมซาบไปทั่วน้ำ ถ้าน้ำดีกำเริบ สัตว์ทั้งหลาย ก็จะชัก ทำให้ตาเหลืองวิงเวียน ตัวก็สะทกสะท้าน เป็นผื่นคัน ดีที่มีฝักขังอยู่ในฝักดีซึ่งเป็นดังรังบวบขมใหญ่ตั้งแนบเนื้อตับในระหว่างหัวใจกับปอด ถ้ากำเริบสัตว์ทั้งหลายมักเป็นบ้า จิตใจแปรปรวนละทิ้งหิริโอตตัปปะ สิ่งที่ไม่น่าทำก็ทำได้ คำที่ไม่น่าพูดก็พูดได้ สิ่งที่ไม่น่าคิดก็คิดได้

โดยปริจเฉท : กำหนดด้วยส่วนของตน มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะ อื่นๆ

 

22. เสลด (เสมฺหํ)

เสลด ได้แก่ เสลดมีอยู่ภายในร่างกายมีมากประมาณเต็มบาตรใบหนึ่ง

โดยสี : มีสีดังน้ำใบแตงหนู

โดยสัณฐาน : มีสัณฐานตามที่อยู่

โดยทิศ : เกิดในทิศเบื้องบน

โดยอากาส : ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นท้อง ในเวลาที่กลืนอาหารลงไป อาหารตกลงถูกเสมหะที่ในลำคอ เสมหะก็ขาดออกเป็นช่องให้อาหารผ่าน แล้วหุ้มห่อเข้าตามเดิม เหมือนอย่างสาหร่ายในน้ำเมื่อไม้หรือกระเบื้องตกลงไป ก็แยกออกเป็นส่วนแล้วหุ้มเข้าตามเดิม เสมหะถ้าน้อยไป ท้องจะส่งกลิ่นดังซากศพน่าเกลียดยิ่งนัก ดุจฝีแตกและดุจไข่ไก่เน่า และท้องนั้นส่งกลิ่นฟุ้ง ทำให้เรอ หรือพูดออกมาก็พลอยเหม็นเช่นกลิ่นศพเน่าด้วย และคนผู้นั้นจะต้องถูกต่อว่า เรอออกไปส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งนัก ถ้าเสลดมีเพิ่มมากขึ้นแล้วก็ปิดกั้นกลิ่นซากศพในภายในท้องอยู่ได้ ดังแผ่นกระดานปิดส้วม

โดยปริจเฉท : กำหนดด้วยส่วนของเสลดเอง มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

23. น้ำหนอง (ปุพฺโพ)

โดยสี : ในร่างกายที่มีชีวิตอยู่มีสีดังใบไม้เหลือง แต่ในร่างกายคนตายย่อมมีสีดังน้ำข้าวบูดข้นๆ

โดยสัณฐาน : มีสัณฐานตามแหล่งที่เกิด

โดยทิศ : เกิดในทิศเบื้องบนและเบื้องล่างของร่างกาย

โดยโอกาส : มีที่อยู่ไม่แน่นอน ไม่ได้อยู่ประจำในที่ใด แต่จะเกิดมีขึ้นตรงร่างกาย ที่ถูกตอหนามตำ ถูกอาวุธ หรือถูกไฟลวกเอา ตรงไหนมีเลือดไปคั่ง น้ำเหลืองก็จะเกิดอยู่ในที่นั้นๆ

โดยปริจเฉท : กำหนดด้วยส่วนของตน มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

24. เลือด (โลหิต)

โลหิต มี 2 อย่าง คือ โลหิตข้น และโลหิตจาง

โดยสี : โลหิตข้น มีสีดังน้ำครั่งข้น โลหิตจางมีสีดังน้ำครั่งใส

โดยสัณฐาน : โลหิตทั้ง 2 อย่างมีสัณฐานตามโอกาส

โดยทิศ : โลหิตข้นเกิดในทิศเบื้องบน โลหิตจางเกิดในทิศเบื้องบนและเบื้องล่างของร่างกาย

โดยโอกาส : โลหิตจางไหลซึมชุ่มทั่วร่างกายไปตามกระแสเส้นโลหิตทั้งในอวัยวะ ทั้งปวงของร่างกาย ยกเว้นผิวหนังที่กระด้างและแห้ง เช่น ผม ขน ฟัน และ เลือดข้นท่วมอยู่ภายใต้แห่งตับมีประมาณเต็มบาตรหนึ่งค่อยๆ ซึมไปบนไต หัวใจ ตับ และปอด ทำไต หัวใจ ตับและปอดให้ชุ่มอยู่เสมอ ถ้าไม่ชุ่มอาบไปทั่วหัวใจ ตับ ปอด และม้าม สัตว์ทั้งหลายจะเกิดกระหายน้ำขึ้น

โดยปริจเฉท : กำหนดด้วยส่วนของโลหิตเอง มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

25. เหงื่อ (เสโท)

เหงื่อ ได้แก่ อาโปธาตุที่ไหลออกตามช่องขุมผมเป็นต้น

โดยสี : มีสีดังน้ำมันงาใส

โดยสัณฐาน : มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่

โดยทิศ : เกิดในทิศเบื้องบนและเบื้องล่างของร่างกาย

โดยโอกาส : เหงื่อไม่มีที่เกิดประจำ แต่เมื่อใดร่างกายอบอ้าว เพราะเหตุต่างๆ เช่น ร้อนไฟ ร้อนแดด และความเปลี่ยนแปลงแห่งฤดู เป็นต้น เมื่อนั้นจึงไหลออกมาตามช่องขุมผมและขนทั้งปวงดุจกำสายบัวที่มีรากและเหง้าที่ตัดไว้ไม่เรียบ ซึ่งคนถอนขึ้นจากน้ำ เพราะฉะนั้น แม้พื้นฐานของเหงื่อนั้นก็พึงทราบโดยช่องขุมผมและขนนั่นเอง ผู้ปฏิบัติธรรมผู้กำหนดเหงื่อ พึงกำหนดเหงื่อตามที่มันขังตั้งเต็มขุมผมและขนนั่นเอง

โดยปริจเฉท : กำหนดด้วยส่วนของเหงื่อเอง มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

26. มันข้น (เมโท)

โดยสี : มีสีดังขมิ้นที่ถูกผ่า

โดยสัณฐาน : สำหรับคนอ้วน มีสัณฐานเหมือนผ้าเก่าเนื้อหยาบมีสีดังขมิ้นที่วางไว้ในระหว่างหนังกับเนื้อ สำหรับคนผอมมีสัณฐานดังผ้าเก่าเนื้อหยาบมีสีดังขมิ้นที่วางซ้อนกันไว้ 2-3 ชั้น ติดเนื้อแข้ง เนื้อขาอ่อน เนื้อหลังที่ติดกระดูกสันหลัง เนื้อช่องท้อง

โดยทิศ : เกิดในทิศเบื้องบนและเบื้องล่างของร่างกาย

โดยโอกาส : เกิดขึ้นทั่วไปในร่างกาย ของคนอ้วนอยู่ระหว่างหนังและเนื้อ ของคนผอมตั้งติดเนื้อต่างๆ เช่นเนื้อแข็งเป็นต้น แม้ว่าจะเป็นมัน แต่เพราะความเป็นของน่าเกลียดยิ่งนัก คนทั้งหลายจึงไม่เอามาใช้เป็นน้ำมันที่ศีรษะ ไม่ถือเอามาใช้เป็นน้ำมันอย่างอื่นๆ มีน้ำมันสำหรับนัดจมูก เป็นต้น

โดยปริจเฉท : เบื้องต่ำกำหนดด้วยเนื้อ เบื้องบนกำหนดด้วยหนัง เบื้องขวางกำหนดด้วย ส่วนของมันเอง มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

27. น้ำตา (อสฺสุ)

น้ำตา ได้แก่ อาโปธาตุ ซึ่งหลั่งออกจากดวงตาทั้งหลาย

โดยสี : มีสีดังน้ำมันงาใสๆ

โดยสัณฐาน : มีสัณฐานตามที่อยู่

โดยทิศ : เกิดในทิศเบื้องบนของร่างกาย

โดยโอกาส : เกิดอยู่ในกระบอกตา เมื่อใดสัตว์ทั้งหลายเกิดความดีใจหัวเราะใหญ่หรือเกิดเสียใจร้องไห้คร่ำครวญอยู่หรือกลืนกินอาหารแสลงเข้าไป เมื่อใดดวงตาของสัตว์เหล่านั้น ถูกสิ่งที่ทำให้น้ำตาไหล มีควันละอองและฝุ่นเป็นต้นกระทบ เมื่อนั้น น้ำตาก็ตั้งขึ้นเพราะความดีใจ ความเสียใจ หรืออาหาร ฤดูที่แสลงเหล่านั้น แล้วเอ่ออยู่เต็มเบ้าตาบ้าง ไหลออก มาบ้าง ผู้ปฏิบัติจะกำหนดน้ำตาก็พึงกำหนดเอาตามที่มันเอออยู่เต็มบ้าตา

โดยปริจเฉท : กำหนดด้วยส่วนของน้ำตาเอง มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

28. มันเหลว (วสา)

โดยสี : มีสีดังน้ำมันมะพร้าว หรือมีสีดังน้ำมันที่ราดลงไปในน้ำข้าว

โดยสัณฐาน : มีสัณฐานดังหยาดน้ำมันที่ลอยคว้างอยู่เหนือน้ำอันใส่ในเวลาอาบ

โดยทิศ : เกิดในทิศเบื้องบนและเบื้องล่างของร่างกาย

โดยโอกาส : โดยมากตั้งอยู่ในฝ่ามือ หลังมือ ฝ่าเท้า หลังเท้า ปลายจมูก หน้าผาก และจะงอยบ่า แต่ว่าไม่ได้ละลายอยู่ในที่เหล่านี้ทุกเมื่อ เมื่อใดตำแหน่งเหล่านั้นเกิดอบอ้าวขึ้นเพราะร้อนไฟ ร้อนแดด ผิดอากาศ และธาตุพิการ เมื่อนั้นมันเหลวจะไหลออกไปในที่เหล่านั้น ดังหยาดน้ำมันที่ซ่านไปบนน้ำใส่ในเวลาอาบ

โดยปริจเฉท : กำหนดด้วยส่วนของมันเหลวเอง มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

 

 

29. น้ำลาย (เขโฬ)

น้ำลาย ได้แก่ อาโปธาตุที่ผสมกันเป็นฟองขึ้นภายในปาก

โดยสี : มีสีขาวดังฟองน้ำ

โดยสัณฐาน : มีสัณฐานตามโอกาส หรือมีสัณฐานดังฟองน้ำ

โดยทิศ : เกิดในทิศเบื้องบน

โดยโอกาส : ไหลออกมาจากกระพุ้งแก้มทั้ง 2 แล้วขังอยู่ที่ลิ้น น้ำลายจะขังอยู่ที่กระพุ้งแก้มทั้ง 2 ต่อเมื่อสัตว์ทั้งหลายเห็นหรือนึกถึงอาหาร หรือเอาอาหารที่มีรสร้อน เผ็ด เค็ม เปรี้ยวใส่เข้าไปในปาก หรือว่าเมื่อใดหัวใจของสัตว์เหล่านั้นละเหี่ยอยู่หรือเกิดความสะอิดสะเอียนในทุกอย่าง เมื่อนั้นน้ำลายย่อมเกิดขึ้น แล้วไหลลงออกจากกระพุ้งแก้มทั้ง 2 ขังอยู่ที่ลิ้น น้ำลายที่อยู่ตรงโคนลิ้นเป็นน้ำลายข้น ส่วนที่อยู่ปลายลิ้นเป็นน้ำลายเหลว เมื่อใดเอาของกินใส่เข้าไว้ในปาก น้ำลายก็จะไหลเอิบอาบเข้าไปจนทั่วของๆ นั้นไม่รู้จักหมด เหมือนบ่อทรายที่มีน้ำไหลซึมออกมาตลอดเวลา

โดยปริจเฉท : กำหนดด้วยส่วนของน้ำลายนี้เอง มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

30. น้ำมูก (สิงฆาณิกา)

น้ำมูกได้แก่น้ำอันไม่สะอาดที่ไหลออกจากมันสมอง

โดยสี : มีสีดังเยื่อในเม็ดตาลอ่อน

โดยสัณฐาน : มีสัณฐานตามที่อยู่ของตน

โดยทิศ : เกิดในทิศเบื้องบน

โดยโอกาส : ตั้งอยู่เต็มช่องจมูก แต่มิได้มีอยู่ประจำ เมื่อใดสัตว์ทั้งหลายร้องไห้ มีธาตุกำเริบด้วยจากอาหารที่แสลงและฤดูเปลี่ยนแปลง เมื่อนั้น มันในสมองก็กลายเป็นเสมหะแล้วไหลเคลื่อนจากภายในศีรษะส่งมาตามช่องเพดานจนเต็มช่องจมูก หรือไหลล้นออกมา จากช่องจมูกบ้าง เปรียบเหมือนคนห่อนมส้มไว้ในใบบัวแล้วใช้หนามแทงเบื้องล่าง เมื่อนั้น หยาดนมส้มใสก็จะพึงหยดออกจากช่องนั้น นักปฏิบัติผู้กำหนดน้ำมูก พึงกำหนดตามที่มันขังอยู่จนเต็มช่องจมูกนั่นเอง

โดยปริจเฉท : กำหนดด้วยส่วนของน้ำมูก มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

31. ไขข้อ (ลสิกา)

ไขข้อ ได้แก่ ซากมีกลิ่นเป็นมันภายในแห่งข้อต่อในร่างกาย

โดยสี : มีสีดังยางดอกกรรณิการ์

โดยสัณฐาน : มีสัณฐานตามที่อยู่ของตน

โดยทิศ : เกิดในทิศเบื้องบนและเบื้องล่างของร่างกาย

โดยโอกาส : ตั้งอยู่ภายในข้อต่อ 180 แห่ง คอยทำหน้าที่หล่อลื่นข้อต่อกระดูก ทั้งหลาย สำหรับผู้ที่มีไข้ข้อน้อย เมื่อผู้นั้นลุกขึ้น นั่งลง ก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังกลับ คู้ เหยียด กระดูกย่อมลั่นดังเผาะ ทำเสียงดุจเสียงนิ้วมือ แม้ผู้นั้นเดินไปสู่ทางไกลแต่เพียง 1-2 โยชน์ ธาตุลมย่อมกำเริบ เนื้อตัวย่อมเมื่อยขบ แต่สำหรับผู้ที่มีไขข้อมาก กระดูกทั้งหลายของผู้นั้น จะไม่ลั่น เพราะความเคลื่อนไหวมีลุกนั่ง เป็นต้น แม้เมื่อเขาเดินทางไกลแสนไกล ธาตุลมก็ ไม่กำเริบ เนื้อตัวก็ไม่เมื่อยขบ

โดยปริจเฉท : กำหนดด้วยส่วนของไขข้อนั้น มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

32. มูตร (มุตตํ)

โดยสี : มีสีดังสีเหมือนน้ำด่างถั่วราชมาส

โดยสัณฐาน : มีสัณฐานเหมือนน้ำที่อยู่ในหม้อน้ำซึ่งเขาวางคว่ำไว้

โดยทิศ : เกิดในทิศเบื้องล่าง

โดยโอกาส : อยู่ภายในหัวไส้ หรือกระเพาะปัสสาวะ เวลาเข้าสู่กระเพาะไม่มีทางไหลเข้าไป แต่ใช้วิธีซึมซาบเข้าไป เหมือนกับน้ำในบ่อน้ำครำ ซึ่งเข้าไปได้ในหม้อซึมที่ไม่มีปากอันเขาทิ้งไว้ในบ่อน้ำครำ ส่วนทางออกของน้ำมูตรคือปัสสาวะนั้นย่อมปรากฏ และเมื่อมูตรเต็มแล้ว สัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดความขวนขวายว่าจักถ่ายปัสสาวะ

โดยปริจเฉท : กำหนดด้วยภายในแห่งกระเพาะปัสสาวะและส่วนแห่งมูตร มีอยู่โดยเฉพาะในร่างกาย มิใช่อยู่ในโกฏฐาสะอื่นๆ

 

            ผู้เจริญกายคตาสติ ควรท่องจำอาการ 31-32 นี้ ทั้งตามลำดับ (อนุโลม) และย้อนลำดับ (ปฏิโลม) โดยไม่ข้ามขั้นตอน แล้วพิจารณาดูให้ชัดในอาการเหล่านั้น โดยดูสี ดูสัณฐาน ที่ตั้งที่เกิด และกลิ่น พิจารณาให้เห็นเป็นสิ่งที่ปฏิกูล เปื่อยเน่า ผุพัง เป็นอสุภะ ไม่งดงาม เช่น พิจารณาว่า เส้นผมมีสีดำ เมื่อแก่ชราลงเปลี่ยนเป็นหงอกขาว มีรากหยั่งลงไปในหนัง ศีรษะ เส้นผมนี้เมื่ออยู่บนศีรษะก็รักและหวงแหน แต่ถ้ารับประทานอาหาร เห็นสิ่งที่มีลักษณะมีสีเหมือนเส้นผมตกอยู่ในอาหารก็รังเกียจ หรือหากไม่ได้สระผมหลายวันก็จะมีกลิ่นที่น่ารังเกียจ เส้นผมเกิดบนศีรษะที่ชุ่มไปด้วยเลือดและน้ำเหลือง เป็นปฏิกูลน่าขยะแขยง แม้สิ่งอื่นๆ เช่น ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ ก็นำมาพิจารณา สีสัณฐาน ที่เกิด กลิ่นฯลฯ ให้เป็นปฏิกูลเช่นเดียวกัน บางคนอาจเห็นความเป็นปฏิกูลชัดเจน ในการพิจารณาเส้นผม ฟัน หรืออวัยวะใดๆ ก็ตาม แตกต่างกันไป หากพิจารณาสิ่งใดชัดเจน ก็ให้เพ่งพิจารณาในสิ่งที่ตน เห็นเป็นปฏิกูลนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีกให้มากๆ หากปฏิกูลปรากฏชัด จะทำให้จิตสงบได้ถึงปฐมฌาน แต่ถ้าพิจารณาแล้วยังคงหลงยินดีพอใจในกายนี้อยู่ ให้ถามไล่ไปในใจว่า สิ่งใดงดงาม ผมหรือ ขนหรือ เล็บหรือ ฟันหรือ หนังหรือ ฯลฯ ไล่ไปทีละอย่าง จะรู้สึกว่าเป็นปฏิกูล ภายนอกอาจดูสวยงาม แต่แท้จริงแล้วร่างกายก็เปรียบได้กับภาชนะที่ใส่สิ่งปฏิกูลโสโครกทั้งหลายไว้ภายใน คือ ใส่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ตับ ไต เป็นต้น หรือเปรียบดังต้นไม้งอกอยู่บนคูถ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังก็งอกบนคูถ น้ำมูตรเลือดที่โชกชุ่ม สกปรกเป็นปฏิกูล น่ารังเกียจสำหรับคนทั่วไป เมื่อพิจารณากายของตนว่าเป็นปฏิกูลแล้ว ก็พิจารณากายของผู้อื่นด้วย แล้วรวมกายของตนกับผู้อื่นเป็นกายเดียวกันให้เป็นปฏิกูลเหมือนกันทั้งสิ้น

 

-----------------------------------------------------------------------------

3) ใบตาลนั้นแข็ง จะห่อพับอย่างใบตองหรือใบบัวไม่ได้ คงจะต้องเย็บเป็นกล่องรูปกระบอก ท่านจึงนำมาเปรียบกับเนื้อปลีแข็ง.
4) มหาฎีกาว่า เขาเอาเยื่อตาลสุกมาไล้บางๆ ลงที่ใบตาลหรืออะไรก็ได้ที่แบบๆ ผึ่งแดดไว้จนหมาติดกันแล้ว ลอกเอาเป็นแผ่นๆ เพราะทำเป็นแผ่นจึงเรียกว่า งบ.
5) บัว ดอกคล้ายบัวขม แตกก้านต่อดอกแล้วมีดอกต่อกัน 3 ดอก บ้าง 4 ดอกบ้าง (บัวแดง).
6) ดอกพิกุลมีสีเหลือง

 สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026430849234263 Mins