บ้านกัลยาณมิตร

วันที่ 16 กพ. พ.ศ.2548


 

.....เอกลักษณ์ของบ้านกัลยาณมิตร

สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของบ้านกัลยาณมิตรก็คือ ห้องพระ พระอุโบสถมีความสำคัญต่อวัดในพระพุทธศาสนาฉันใด ห้องพระก็มีความสำคัญต่อบ้านกัลยาณมิตร ฉันนั้น เพราะห้องพระคือสถานที่ปฏิบัติสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ทางธรรม อันได้แก่การสวดมนต์ทำวัตร และการเจริญสมาธิภาวนา ตลอดจนการอบรมธรรมประจำวัน

เครื่องตกแต่งห้องพระที่จำเป็นก็คือ โต๊ะหมู่บูชา สำหรับใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป แจกันดอกไม้ เชิงเทียน และกระถางธูป ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องตกแต่งอื่น ๆ โดยไม่จำเป็น แต่ถ้าไม่มีโต๊ะหมู่บูชาควรมีโต๊ะที่เหมาะสมสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปสักองค์หนึ่งก็พอ

สิ่งที่ควรตระหนักในการตกแต่งห้องพระก็คือ ห้องพระถือว่าเป็นห้องศักดิ์สิทธิ์ในบ้าน ดังนั้นการตกแต่งควรให้เกิดบรรยากาศศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการทำห้องให้สะอาด เรียบร้อย สวยงามไม่รกรุงรัง

อันที่จริง เรื่องห้องพระประจำบ้าน ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับชาวพุทธเลย แต่เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวพุทธไทย สืบต่อกันมาแต่ครั้งโบราณกาลจวบจนปัจจุบัน แต่เพราะเหตุที่คนรุ่นใหม่มีความใส่ใจพระพุทธศาสนาน้อยลง หรือไม่ได้รับการปลูกฝังความรู้ในพระพุทธศาสนามาดีพอ แม้บ้านของตนจะมีห้องพระ แต่ก็ไม่ใคร่ได้ใช้ประโยชน์ของห้องพระเท่าที่ควร


กิจกรรมของบ้านกัลยาณมิตร

กิจกรรมของบ้านกัลยาณมิตร หมายถึง กิจกรรมที่เกี่ยวกับธรรมะ อาจแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ

๑. กิจกรรมภายใน

๒. กิจกรรมภายนอก

๑. กิจกรรมภายใน ได้แก่ กิจกรรมที่สมาชิกในบ้านต้องทำกันเป็นประจำวัน ภายในห้องพระ ซึ่งประกอบด้วย การสวดมนต์ทำวัตร และการเจริญสมาธิภาวนา การมีห้องพระประจำบ้าน ย่อมเป็นการสะดวกสำหรับสมาชิกทุกคนในบ้าน ที่จะมารวมทำกิจกรรมพร้อมกัน ตามเวลาที่กำหนด

นอกจากนี้กิจกรรมภายใน ยังหมายรวมถึงกิจกรรมทางศาสนาที่จัดขึ้นภายในบ้าน หรือในบริเวณใกล้เคียงกัน เช่นการใส่บาตรในตอนเช้าที่บริเวณหน้าบ้านหรือใกล้บ้าน การนิมนต์พระมารับสังฆทานที่บ้าน การทำบุญเลี้ยงพระที่บ้านในโอกาสต่าง ๆ รวมทั้งการชักชวนเพื่อนบ้านมาร่วมปฏิบัติธรรมที่บ้านของเราเป็นครั้งคราวตามแต่โอกาสอำนวย

ถ้าผู้เป็นพ่อแม่ซึ่งเป็นหัวหน้าบ้าน ตลอดจนสมาชิกอื่น ๆ ที่เป็นผู้ใหญ่ อยู่ในบ้านเดียวกัน ปฏิบัติกิจกรรมสวดมนต์ทำวัตร และเจริญสมาธิภาวนาพร้อมกัน ให้ลูกเล็ก ๆ เห็นเป็นประจำทุกวัน ลูก ๆ ก็จะเรียนรู้ได้เองว่า นั่นคือระเบียบปฏิบัติอย่างหนึ่งของทุกคนในครอบครัว ครั้นเมื่อพวกเขาโตพอที่จะเข้าร่วมกิจกรรมได้ ก็ย่อมจะพร้อมที่จะปฏิบัติตาม โดยไม่บิดพลิ้วเมื่อปฏิบัตินานไป ย่อมเกิดความคุ้นเคยเป็นนิสัย ประกอบกับวัยที่เจริญขึ้น มีความรู้และประสบการณ์มากขึ้น ย่อมสามารถตรองเห็นคุณค่าของการปฏิบัติเหล่านั้นได้ด้วยตนเอง ย่อมยึดถือเป็นกิจวัตรประจำวันที่ขาดเสียมิได้ เช่นเดียวกับการอาบน้ำ แปรงฟัน การทำความสะอาดบ้าน การรับประทานอาหาร เป็นต้น

ในที่สุดกิจกรรมเหล่านั้นก็จะกลายเป็นอริยวินัย ของสมาชิกทุกคนในครอบครัว โดยไม่ต้องมีการบังคับเคี่ยวเข็ญกัน การทำกิจกรรมดังกล่าวนอกจากจากจะเป็นการปลูกฝังอริยวินัยของกัลยาณมิตรให้แก่ลูก ๆ แล้วยังเป็นการตอกย้ำอริยวินัยของพ่อแม่และบรรดาผู้ใหญ่ในบ้านให้มั่นคงยิ่งขึ้น

๒. กิจกรรมภายนอก ได้แก่ การไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่วัดหรือตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจัดขึ้นในโอกาสต่าง ๆ เช่นงานทอดกฐิน ทอดผ้าป่า งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ของเพื่อนบ้าน งานบวช งานฌาปนกิจ ฯลฯ

ทุกครั้งที่พ่อแม่ไปทำกิจกรรม หรือไปร่วมกิจกรรมภายนอก จะต้องไม่ลืมที่จะให้ลูกมีส่วนร่วมตั้งแต่เขายังอยู่ในวัยเด็ก โดยถือว่านั่นคือส่วนหนึ่งของการศึกษาและปฏิบัติธรรม พร้อมกับการปลูกฝังลักษณะนิสัยของกัลยาณมิตรอย่างเบ็ดเสร็จให้แก่ลูก

อนึ่ง กิจกรรมภายนอกที่มีคุณค่ามาก ก็คือ การไปวัดกัลยาณมิตร เพื่อเจริญภาวนาและฟังธรรมเป็นประจำทุกวันพระและวันสุดสัปดาห์ เนื้อหาธรรมะที่พระภิกษุนิยมเทศน์สั่งสอนญาติโยม ก็ล้วนเป็นเรื่องที่มุ่งให้ผู้ฟังตั้งอยู่ในความดี ละเว้นความชั่ว ซึ่งพ่อแม่มีหน้าที่ต้องปลูกฝังลูกอยู่แล้ว จึงเท่ากับว่าพระภิกษุท่านได้ทำหน้าที่แทนพ่อแม่แล้ว แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าพ่อแม่จะเลิกอบรมสั่งสอนลูกในเรื่องความดีความชั่วอีกต่อไป

ทางที่ดี ในวันธรรมดา ที่พ่อแม่ลูกอยู่บ้านกันพร้อมหน้า ซึ่งอาจจะเป็นในขณะที่รับประทานอาหารเย็นพร้อมกัน หรือในเวลาก่อนหรือกลังการเจริญภาวนาพร้อมกัน ผู้เป็นพ่อแม่ก็อาจจะหาโอกาสหยิบยกเอาพระธรรมเทศนาที่ได้ฟังจากวัดในวันพระ วันอาทิตย์ มาคุยกันต่อระหว่างพ่อแม่ลูกอีกครั้งหนึ่ง หรือหลายครั้งแล้วแต่กรณี ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอกย้ำความจำ ตรวจสอบความเข้าใจ หรือค้นหาความคิดเห็นของลูก แต่ทั้งนี้ต้องให้เหมาะสมกับวัยของลูกด้วย

พ่อแม่พึงระลึกไว้เสมอว่า การสอนธรรมะด้วยวิธีการง่าย ๆ แต่มีประสิทธิผลสูง คือการสอนโดยใช้วิธีให้ลูกได้เอาใจใส่ปฏิบัติตามวินัยต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดเป็นลักษณะนิสัยที่ดี ขณะเดียวกันก็สอนภาคปริยัติหรือทฤษฎี ด้วยการใช้ซึมซับเอาความรู้ความเข้าใจ จากการคุยกันเกี่ยวกับเรื่องในชีวิตประจำวัน เหตุการณ์ประจำวันเหตุการณ์แวดล้อม เนื้อหาธรรมะจากการฟังเทศน์ที่วัดหรือจากการอ่านหนังสือธรรมะ นิทานชาดก แล้วนำเรื่องที่อ่านมาคุยกัน เป็นการเฉลี่ยความรู้หรือแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ โดยพ่อแม่เป็นผู้สรุปประเด็นที่สำคัญและถูกต้องให้

ถ้ามีการทำกิจกรรมในทำนองดังกล่าวเป็นประจำในบ้านกัลยาณมิตรนาน ๆ ไป ลูก ๆ ก็จะสามารถพัฒนาคุณสมบัติต่าง ๆ ตามที่ตั้งไว้ในวัตถุประสงค์ทั้ง ๔ ประการ โดยปริยาย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.036775449911753 Mins