การประเคนของ
การประเคน หมายถึง การมอบให้ด้วยความเคารพ ใช้ปฏิบัติต่อพระสงฆ์ เพราะมีพระวินัยบัญญัติห้ามพระสงฆ์หยิบสิ่งของมาขบฉันเองโดยไม่มีผู้ประเคน ยกเว้นน้ำเปล่าที่ไม่ผสมสี เช่น น้ำฝน น้ำปะปา เป็นต้น การประเคนของจึงเป็นการสนับสนุนให้พระสงฆ์ปฏิบัติตามพระวินัยได้ถูกต้อง
หลักเบื้องต้นในการประเคน มีดังนี้
๑. ของนั้นไม่ใหญ่โตหรือหนักเกินไป สามารถจับยกได้โดยคนเดียว
๒. ผู้ประเคนควรเข้าไปอยู่ในหัตถบาส หมายถึง เอามือประสานกันแล้วยื่นไปข้างหน้าห่างจากพระสงฆ์ประมาณ ๑ ศอก
๓. ถ้าเป็นชาย ยกของที่จะประเคนถวายพระสงฆ์ได้เลย ถ้าเป็นผู้หญิง ให้วางของที่จะประเคนลงบนผ้ารับประเคน
๔. เมื่อประเคนเป็นที่เรียบร้อยแล้วอย่าไปจับเลื่อนของที่ประเคนแล้ว หากเผลอไปจับเลื่อนถือว่าขาดประเคนต้องประเคนใหม่
อาหารที่ต้องห้ามสำหรับพระภิกษุสงฆ์
เป็นอาหารที่ไม่ควรแก่สมณะบริโภคได้แก่ เนื้อ ๑๐ ชนิด และอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อ ๑๐ ชนิด ดังนี้
๑. เนื้อมนุษย์รวมถึงเลือดมนุษย์ด้วย
๒. เนื้อช้าง
๓. เนื้อม้า
๔. เนื้อสุนัข
๕. เนื้องู
๖. เนื้อราชสีห์(สิงโต)
๗. เนื้อเสือโคร่ง
๘. เนื้อเสือเหลือง
๙. เนื้อหมี
๑๐.เนื้อเสือดาว
ส่วนเนื้อสัตว์นอกเหนือจากนี้ถ้าเป็นเนื้อที่ยังดิบ(ยังไม่สุกด้วยความร้อนจากไฟ) ทรงห้ามฉันถ้าสุกแล้วอนุญาตให้ฉันได้ และเนื้อสัตว์ที่ฆ่าเจาะจงทำถวายพระภิกษุสามเณร ถ้าพระภิกษุไม่ได้เห็นการฆ่านั้น ไม่ได้ยินมาก่อนว่าฆ่าเจาะจง ไม่ได้สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อเป็นของเฉพาะเจาะจงแก่ตนก็ขบฉันได้ไม่มีโทษ
สิ่งของที่ประเคนพระภิกษุสงฆ์ได้เวลาก่อนเที่ยง
เครื่องไทยธรรม ประเภทอาหารคาวหวานทุกชนิด ได้แก่
๑. อาหารสด เช่น อาหารคาว หวาน รวมทั้งผลไม้ทุกชนิด
๒. อาหารแห้ง เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ข้าวสาร ฯลฯ
๓. อาหารเครื่องกระป๋องทุกประเภท เช่น นม โอวัลติน ปลากระป๋อง ถ้าจะนำไปถวายหลังเที่ยงวันไปแล้ว นิยมเพียงแต่แจ้งให้พระภิกษุรับทราบ แล้วมอบสิ่งของดังกล่าวให้ลูกศิษย์ของท่านเก็บรักษาไว้ถวายท่านในวันต่อไป
สิ่งที่ประเคนได้ตลอดเวลา
เครื่องดื่มทุกชนิด ประเภทเครื่องยาบำบัดป่วยไข้หรือประเภทเภสัชที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้คือ เนยใสเนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
สิ่งของที่ทรงห้ามมิให้ภิกษุจับต้อง
ทรงเรียกสิ่งของดังกล่าวว่า วัตถุอนามาส จึงไม่นิยมนำไปประเคนถวายพระภิกษุมีดังต่อไปนี้
1. ผู้หญิง รวมทั้งเครื่องแต่งกายหญิง รูปภาพหญิง รูปปั้นหญิงทุกชนิด
2. รัตนะ ๑๐ ประการ คือ เงิน ทอง แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วประพาฬ ทับทิม บุษราคัม สังข์(ที่เลี่ยมทอง) ศิลา เช่น หยก และโมรา เป็นต้น
3. เครื่องศัตราวุธทุกชนิดอันเป็นเครื่องทำลายชีวิต
4. เครื่องดักสัตว์บก สัตว์น้ำทุกชนิด
5. เครื่องประโคมดนตรีทุกอย่าง
6. ข้าวเปลือก และผลไม้ที่เกิดอยู่กับที่