ฉบับที่ 96 ตุลาคม ปี2553

ทางลัด

เรื่อง : โค้ก อลงกรณ์

ทางลัด

เพื่อเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดแถวสามแยกตลาดไท ผมจึงตัดสินใจหักพวงมาลัยเลี้ยวเข้าถนนเลียบคลอง

          จากนั้นก็ขับไปตามเส้นทางที่เคยได้ยินมาว่าสุดท้ายจะต้องขับเข้าซอยเล็ก ๆ ที่สามารถทะลุ ออกไปยังถนนใหญ่ได้

          เส้นทาง ไม่ว่าจะตรง อ้อม ขรุขระหรือคดเคี้ยวเพียงใดก็ตาม หากช่วยให้เราไปถึงจุดหมาย ได้รวดเร็วและปลอดภัย ทางเส้นนั้นสำหรับผม คือ ทางลัด
           ขณะที่ขับตามสัญชาติญาณของผู้ใช้ถนนไปเรื่อย ๆ ผมได้ผ่านจุดสังเกตแต่ละจุดที่ตรงกัน กับรายละเอียดตามที่ได้ยินได้ฟังมา ยิ่งเป็นการเติมความมั่นใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่า เราขับมา ถูกทาง

          และความมั่นใจนี้เองที่ทำให้ผมนึกถึงเส้นทางสัญจรอีกเส้นทางหนึ่งที่ยังเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ยังติด ๆ ขัด ๆ อยู่ เส้นทางที่ว่านี้คือ เส้นทางเดินของใจ

ผมเคยเปรียบเทียบเรื่องนี้เพื่อให้เห็นพัฒนาการในการเดินทางของตัวเองว่าอยู่ในระดับไหน โดยได้ แบ่งเส้นทางเดินของใจออกเป็นระดับต่าง ๆ จากพื้นฐานง่าย ๆ ไปจนขั้นสูง
          ถ้าเริ่มต้นระดับชั้นอนุบาลมีระยะทางรวมแล้วจากวัดพระธรรมกายไปถึงสนามบินดอนเมือง
          หากผมไปถึงดอนเมืองแล้วก็จะขยับระดับขึ้นไปยังชั้นประถม มัธยม อุดมศึกษา ด้วยการเดินทางต่อไปยังภาคเหนือ ภาคใต้ หรือขึ้นเครื่องบินไปยังต่างประเทศ
          ทั้ง ๆ ที่อยากเดินทางไปได้ไกล ๆ เหมือนคนอื่น แต่เป็นเพราะเหตุใดไม่ทราบ แค่ สนามบินดอนเมืองหรือขยับใกล้เข้ามาแค่ตลาดรังสิต ผมกลับเดินทางไปไม่เคยถึงสักที
          ล่าสุดลองขยับเป้าหมายให้ใกล้เข้ามาอีกเหลือแค่ตลาดบางขันธ์ พอเริ่มออกเดินทางจากวัด ก็มักไปติดอยู่แถวสามแยกตลาดไททุกที แล้วก็ติดแช่อยู่อย่างนั้นไปไม่เคยถึงบางขันธ์
          ทำไมถึงไปต่อไปไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ถนนหนทางก็โล่งว่าง ไม่มีรถติด ไม่มีสัญญาณไฟ น่าจะติดขัดอะไรสักอย่างระหว่างผมกับถนนสายนี้ และนี่เองทำให้ผมนึกถึง ทางลัด

ย้อนนึกถึงวันหนึ่งในห้องปฏิบัติธรรม
          เมื่อได้สังเกตวิธีที่หลวงพ่อแนะนำผู้ปฏิบัติธรรมแต่ละท่าน ในวันนั้นทำให้ผมได้รู้ว่าการที่เรา มีครูผู้คอยชี้ช่องส่องเส้นทางที่เหมาะสมให้นั้น นอกจากเราจะเดินทางได้ราบรื่นไม่ติด ๆ ขัด ๆ แล้ว ยังทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาหาที่ยูเทิร์นเมื่อมารู้ตัวภายหลังว่าเรากำลังแล่นออกนอกเส้นทาง
          แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราแล่นตรงดิ่งไปยังจุดหมายหรือเปล่า เราก็ต้องเพิ่มความสังเกตมากขึ้น เมื่อแล่นไปถึงแต่ละจุดว่ารายละเอียดตรงกับที่หลวงพ่อได้ให้คำแนะนำไว้หรือไม่

ข้อสังเกตหนึ่งที่ทราบมาก็คือ ถ้าถนนสายไหนหรือซอยไหนที่มีรถแล่นเข้าออกมากกว่าซอยอื่น ให้สันนิษฐานได้เลยว่าซอยนั้นน่าจะเป็นซอยลัด
          แล้วผมก็อาศัยขับตามคันข้างหน้าเข้าซอยที่ว่านี้ไปเรื่อย ๆ

ขณะที่ฟังไปเรื่อย ๆ แบบไม่ฟังผ่าน ผมก็เริ่มพบข้อสังเกตทางลัดของเส้นทางภายใน
          ในวันนั้นหลวงพ่ออธิบายขยายความเพื่อให้ทุกคนเข้าใจ ตัวอย่างเช่น ๒ คำนี้ คำว่า การกลั่น กับคำว่า เป็น
          เมื่อแต่ละท่านเล่าประสบการณ์ให้หลวงพ่อฟังถึงวิธีการกลั่นดวง การกลั่นใจให้ใสแล้ว ปรากฏว่าการกลั่นของแต่ละท่านนั้นแตกต่างกัน ผมเกิดอยากรู้ทันทีว่า แล้วการกลั่นของใครและการกลั่นแบบไหนถึงจะถูกต้อง
          ผมคิดว่าถ้าหลวงพ่อจะสรุปชี้ชัดลงไปตรง ๆ เลยนั้นทำได้ไม่ยาก แต่ถ้าหากสรุปฟันธง ลงไปแล้วย่อมมีผลกระทบเกิดขึ้นตามมาแน่ ๆ เพราะเรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน การทำสิ่งใดที่เกี่ยวเนื่องกับจิตใจจึงต้องระมัดระวัง ดังนั้นสอนแบบฟันธงจึงเป็นเส้นทางที่ควรเลี่ยง
          แล้วหลวงพ่อก็ใช้วิธีอุปมาให้ฟัง โดยยกเรื่องการซักผ้าขึ้นมาเป็นตัวอย่าง
          ท่านเปรียบเทียบการกลั่นกับการซักผ้าว่า การกลั่นแบบที่หนึ่ง คือการนำเอาผ้าไปจุ่มน้ำ เมื่อ ผ้าเปียกแล้วก็ยกขึ้นนำผ้าไปตากเลย การกลั่นแบบนี้ผ้าไม่มีโอกาสได้เจอผงซักฟอกเลยสักนิดเดียว

          การกลั่นแบบต่อมาดีขึ้นมาหน่อย พอซักน้ำที่ ๑ ที่มีผงซักฟอกเสร็จแล้ว ก็นำผ้าไปซักต่อในน้ำที่ ๒ แต่ว่าการซักในน้ำที่ ๒ นี้ ไม่ได้มีการขยี้คราบสกปรกออกจากผ้า จุ่มน้ำเสร็จแล้วก็นำเอาขึ้นตาก
          ส่วนการกลั่นแบบต่อ ๆ มาก็เริ่มมีการขยี้ แต่ถึงแม้ว่ามีการขยี้ แต่การขยี้ก็ยังมีหลากหลาย วิธี ที่สำคัญขยี้ถูกจุดที่ต้องการหรือเปล่า
         บรรยากาศตอนนั้นทุกคนต่างตั้งใจฟังทั้งเพลินทั้งขำ
          ผมไม่ทราบแน่ชัดว่าขำอะไรกัน ขำตัวอย่างที่ท่านยกมาเปรียบเทียบ หรือขำวิธีการซักผ้าของตัวเอง แต่ที่น่าประทับใจที่สุดคือช่วงเวลานั้นทุกท่านเบิกบานใจโดยไม่มีใครรู้สึกเสียหน้า

          ส่วนคำว่า เป็น หลวงพ่อยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้ฟังเช่นเดียวกัน
          เมื่อปฏิบัติธรรมจนดวงใส ๆ หรือองค์พระใส ๆ ผุดขึ้นมาแล้ว การปฏิบัติขั้นที่สูงขึ้นต่อไป คือต้องเห็นให้ได้อย่างต่อเนื่อง
          และเมื่อเห็นต่อเนื่องแล้วขั้นต่อไปก็ต้องให้เป็นหนึ่งเดียวกับดวงกับองค์พระที่เห็นด้วย
          แล้วการ เป็น ที่เป็นหนึ่งเดียวกันนั้นเป็นแบบไหน การ เป็นจริง ๆ นั้นเป็นอย่างไร เท่าที่ได้ฟังการ เป็น ของแต่ละท่านนั้นยังแตกต่างกัน
          ครั้งนี้หลวงพ่อยกตัวอย่างเรื่องความร่ำรวย แค่ท่านเริ่มขึ้นต้นว่า ฝันว่ารวย กับ รวย จริง ๆ นั้นแตกต่างกันอย่างลิบลับ เพียงเท่านี้ทุกคนก็แทบทำปากหวอแล้วร้องว่า..อ๋อเข้าใจ!
          ฝันว่ารวย คือในฝันนั้นรวยจริง ๆ แต่เมื่อตื่นมาจริง ๆ แล้วกลับยังจนเหมือนเดิม นั่นก็คือ ยังไม่ได้รวย แต่รวยจริง ๆ นั้น ไม่ว่าจะตื่นหรือหลับฝันก็ยังรวยอยู่จริง ๆ
          รวยในที่นี้จึงหมายถึงทั้งกายหยาบและกายละเอียดรวมเป็นหนึ่งเดียวกันตลอดเวลา ดังนั้นคำว่าเป็นดวง เป็นองค์พระ เป็นหนึ่งเดียวกันก็มีความหมายดั่งเช่นคำว่ารวยจริง ๆ
          เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่หลวงพ่อแนะนำ ไม่ได้กระทบใจทำให้ใครเสียความรู้สึกจนขาดความมั่นใจ แต่กลับทำให้ทุกคนได้หลักเพื่อนำไปตรวจสอบตรวจเช็กตัวเอง และหลักตรงนี้คือ จุดสำคัญที่เป็นต้นทางนำเราไปสู่ทางลัดและตรงดิ่งไปยังจุดหมายโดยไม่เฉออกนอกทาง

ในที่สุดผมก็ขับออกมาทะลุถนนใหญ่ได้สำเร็จ
          จุดที่ออกมานี้เลยสามแยกตลาดไท เลยตลาดบางขันธ์ แค่แล่นตรงไปอีกนิดเดียวก็ถึงตลาดรังสิต นั่นแสดงว่าสนามบินดอนเมืองจุดหมายแรกที่ต้องไปให้ถึงก็อยู่ใกล้แค่เอื้อม
          การตัดสินใจหักเลี้ยวเข้าถนนเลียบคลองครั้งนี้ทำให้ผมได้รู้จักทางลัดเพิ่มขึ้นมาอีก ๑ เส้น ทาง ผมคิดว่าเส้นทางอื่น ๆ ก็ย่อมจะต้องมีทางลัดเช่นกัน
          เส้นทางสู่ความสำเร็จนั้นก็มีทางลัด ซึ่งทางลัดนี้คนส่วนใหญ่มักไม่ทราบกันนั่นก็คือเรื่อง ของบุญกุศล เพราะนอกจากสติปัญญา ความสามารถ และความขยันหมั่นเพียรแล้ว สิ่งที่ช่วย ให้สำเร็จเร็วขึ้นคือเรื่องของบุญ ผู้ที่รู้ทางลัดนี้ย่อมทำควบคู่ไปด้วยกันทั้งสองอย่าง นอกจากจะ สำเร็จรวดเร็วสมใจแล้ว ยังสำเร็จอย่างง่ายดายอีกด้วย เช่นเดียวกับการช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกันของถนนหนทางที่มีทั้งทางหลัก ทางลัด ทางรอง รวมทั้งทางด่วนพิเศษ
          ส่วนเส้นทางชีวิตก็เช่นกัน หากวันหนึ่งมีเหตุเกิดขึ้นกับทางสายหลักที่เราแล่นอยู่ เส้นทางเล็ก ๆ ที่บางทีเราต้องขับเข้าซอยแคบ ๆ ขรุขระ แม้แล่นลำบากกว่าเดิมแต่ก็ช่วยต่อลมหายใจของชีวิตให้เดินทางได้ต่อไป และเมื่อทะลุออกมาถึงถนนใหญ่แล้วถึงได้รู้ว่านี่คือทางลัดที่มาเชื่อมต่อกับทางด่วน พร้อมให้เราทะยานขึ้นไปได้ในทันที
          ทุกเส้นทางย่อมมีทางลัดพาไปถึงจุดหมาย
          ทุกปัญหาย่อมมีทางลัดในการแก้ไข
          ส่วนปัญหาเส้นทางภายในที่ผมมักมาติดแช่อยู่แถวสามแยกตลาดไทนั้น ก็ย่อมต้องมี ทางลัดเช่นกัน สาเหตุหลัก ๆ ที่พบคือการขาดความต่อเนื่องในการปฏิบัติธรรม จะด้วยภาระหน้าที่ การงานหรือเรื่องใดก็ตาม ทางลัดที่ดีที่สุดที่แก้ไขในเรื่องนี้และพาไปถึงจุดหมายได้เร็วขึ้น ก็คือ การทำควบคู่ไปพร้อมกันทั้งหน้าที่งานที่ต้องรับผิดชอบและงานละเอียดทางใจ
          การทำไปพร้อม ๆ ในเวลาเดียวกันนั้นสามารถทำได้จริง ๆ
          เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ท่านคงคาดเดาได้แล้วใช่ไหมครับว่า ทำไมผมถึงต้องเขียนสลับไปสลับมาระหว่างเส้นทางภายนอกกับเส้นทางภายใน
          ก็เพื่อจะได้พิสูจน์ว่า ทั้ง ๒ เส้นทางนี้เราสามารถทำควบคู่กันไปและถึงจุดหมายพร้อมกันได้จริง ๆ ครับ!
...........................................

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล