ฉบับที่ 131 กันยายน ปี 2556

ธัมมัสสวนมัย ฟังธรรมเป็นนิจจิตแจ่มใส

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙ / ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์

 

 

ธัมมัสสวนมัย
ฟังธรรมเป็นนิจจิตแจ่มใส

“กาเลน ธมฺมสฺสวนํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
การฟังธรรมตามกาลเป็นมงคลอย่างยิ่ง”

 

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ

 

          ธัมมัสสวนมัย คือบุญที่เกิดจากการฟังธรรม ที่จัดเป็นบุญเพราะช่วยให้เข้าใจหลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญ ถ้าตั้งใจฟังธรรมย่อมได้ปัญญา ปัญญาอันเกิดจากจิตที่ผ่องใสจะนำไปสู่การคิดถูก พูดถูก ทำถูก คนที่ฟังธรรมเป็นประจำ  ไม่ว่าจากการฟังเทป วิทยุ หรือจากสื่อต่าง ๆ รวมทั้ง การอ่านหนังสือธรรมะ ล้วนจัดอยู่ในธัมมัสสวนมัยทั้งสิ้น

          การฟังธรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกชีวิต ยิ่งกว่าความรู้ทางโลกที่ร่ำเรียนมา เพราะจะทำให้เกิดดวงปัญญาสว่างไสว สามารถพิจารณาเห็น  สิ่งต่าง ๆ ได้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง รู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี ทำให้มีชีวิตอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ปลอดภัยจากอบายภูมิ มีสุคติสวรรค์เป็นที่ไป และถ้าจะให้ได้ประโยชน์มากจากการฟังธรรม  ผู้ฟังจะต้องตั้งใจฟังจริง ๆ มุ่งฟังเอาเนื้อหาสาระเพื่อนำไปปฏิบัติ  บุญกุศลที่เกิดจากการฟังธรรมจึงจะบังเกิดขึ้น

อิ่มธรรม อิ่มบุญ

          สมัยพุทธกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน ทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับเรื่องนิพพานแก่ภิกษุสงฆ์สาวก วันนั้นมีนางยักษิณีตนหนึ่ง เป็นยักษ์ชั้นล่าง มีชีวิตที่อด ๆ อยาก ๆ  อุ้มอุตราผู้เป็นธิดาและจูงปุนัพพสุผู้เป็นลูกชายแสวงหาอาหารริมกำแพงและริมคูคลองหลังวัด  เมื่อไปถึงซุ้มประตู  นางเห็นพุทธบริษัทสงบนิ่งไม่ไหวติง ฟังธรรมด้วยความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนเปลวประทีปตั้งไว้ในที่ที่ไม่มีลม จึงเกิดความเลื่อมใสพลางคิดว่า ตรงนี้คงจะมีของแจกให้เรากินเพื่อประทังชีวิตได้แน่ คิดดังนี้แล้ว นางก็จูงลูกทั้งสองเข้าไปภายในพระวิหาร ฝ่ายอารักขเทวาซึ่งสิงอยู่ที่ซุ้มประตูเห็นว่า นางยักษ์มาดี ไม่ได้มาร้าย จึงไม่ได้ห้ามนาง

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ

 

          นางยักษ์ได้ฟังพระสุรเสียงอันไพเราะของพระผู้มีพระภาคเจ้า  เสียงนั้นไพเราะจับใจประดุจแทรกเข้าไปจรดเยื่อในกระดูกของนาง ประกอบกับความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวของพุทธบริษัท  ทำให้นางเกิดความเลื่อมใสในหมู่สงฆ์ถึงกับลืมที่จะไปแสวงหาอาหาร บุตรน้อยทั้งสองสะกิดนางยักษิณีผู้ยืนนิ่งไม่ไหวติง แต่นางยักษิณีก็ไม่สนใจ และไม่คิดที่จะแสวงหาอาหารแต่อย่างใด

          นางยืนเงี่ยโสตสดับพระธรรม  ส่วนอุตรา   ผู้เป็นธิดายังเด็กเกินไป  ไม่สนใจในการฟังธรรม เมื่อถูกความหิวเบียดเบียนหนักเข้า จึงเตือนมารดาครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ทำไมแม่จึงยืนนิ่งไม่ไหวติงเหมือนตอไม้  ไม่แสวงหาอาหารมาให้ลูก นางยักษิณีกลัวลูก  จะทำให้นางพลาดโอกาสได้ฟังธรรม จึงปลอบโยนลูกไปว่า

          “นิ่งเสียเถิดลูกอุตรา เงียบ ๆ ไว้เถิด  ลูกปุนัพพสุ แม่ปรารถนาจะฟังธรรมที่หาได้ยาก  ในโลก ลูกทั้งสองจงเงียบเถิด จนกว่าแม่จะฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจบ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเรื่องนิพพานอันเป็นเครื่องเปลื้องตนจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง  อย่าให้แม่พลาดช่วงเวลาแห่งการฟังธรรมเลยนะลูก”

           ปุนัพพสุแม้จะหิวกระหายแค่ไหน ก็อดทนอดกลั้นเอาไว้ บอกแม่ว่า “แม่จ๋า ฉันไม่รบเร้าแม่อีกแล้ว แม้อุตราน้องสาวของฉันก็จะไม่รบกวนแม่อีก ขอเชิญแม่ฟังธรรมเถิด การฟังพระสัทธรรมเป็นเหตุนำความสุขมาให้ เพราะแต่ก่อนเราไม่รู้พระสัทธรรม จึงต้องมาเสวยทุกข์มีความหิวกระหาย เที่ยวแสวงหาอาหารไปด้วยความยากลำบากเป็นเวลายาวนาน บัดนี้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม นำความสว่างไสวมาให้แก่เทวดาและมนุษย์ผู้หลงวนอยู่ในกระแสกิเลส ขอแม่ตั้งใจสดับพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดาเถิด”

           พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนา  ยกเรื่องอริยสัจ ๔ มาแจกแจง ซึ่งได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นางยักษิณีกับบุตรยืนฟังธรรมอยู่ตรงนั้น ได้ส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาในที่สุดก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล ส่วนธิดาของนางยักษิณี  เนื่องจากยังเป็นเด็กเกินไป ไม่อาจจะเข้าใจพระธรรมเทศนาได้แจ่มแจ้ง แต่ก็ได้อุปนิสัยแห่งการบรรลุธรรมข้ามชาติ

           เมื่อนางยักษิณีบรรลุธรรมแล้ว จึงกล่าวชื่นชมบุตรว่า “ดีแล้วจ้ะลูก น่าชื่นใจนัก ลูกของแม่เป็นคนฉลาด ปุนัพพสุเอ๋ย เจ้าจงมีความสุขเถิด  วันนี้เราเป็นผู้ย่างก้าวขึ้นสู่หนทางพระอริยเจ้าแล้ว แม่และลูกเห็นอริยสัจ ๔ เป็นผู้ไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา  ไม่นานจักได้บรรลุนิพพานอันเกษม การอิ่มธรรมของแม่ยิ่งกว่าอิ่มอาหารมากมายนัก”

 

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ

 

          ทันใดนั้นเอง ด้วยอานุภาพแห่งการบรรลุเป็นพระโสดาบัน ทำให้นางยักษิณีละจากสภาวะ  อันหยาบกระด้าง กลับได้อัตภาพอันเป็นทิพย์ พร้อมทั้งได้ทิพยสมบัติมากมาย และด้วยอานุภาพบุญที่เกิดจากการบรรลุธรรมของมารดา  ส่งผลให้ลูกผู้มีจิตอนุโมทนาได้ทิพยสมบัติตามนางไปด้วย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา นางกับลูกน้อยทั้งสองก็ได้อาศัยอยู่ที่วิมานในต้นไม้ที่อยู่ใกล้พระคันธกุฎีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  แล้วได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ฟังธรรมทั้งเช้าเย็นอยู่ในพระวิหารนั้น ทำให้ได้สมบัติอันเป็นทิพย์ละเอียดขึ้นและประณีตขึ้นไปเรื่อย ๆ กลายเป็นยักษ์ผู้ใฝ่ธรรมที่เป็นที่รักที่เกรงใจของยักษ์และเทวดา ซึ่งพากันมาฟังธรรมในยามดึก ๆ เป็นประจำ

           ผู้รู้เคยกล่าวไว้ว่า  บุคคลใดได้สดับ  พระสัทธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุคคลนั้นจะไม่ไปสู่ทุคติตลอดแสนกัป การบรรลุธรรมของนางยักษ์ชั้นล่างทำให้นางเลื่อนเป็นยักษ์ผู้สูงศักดิ์และยังปิดอบายได้อย่างถาวรอีกด้วย  นับเป็นตัวอย่างของผู้ตั้งใจฟังธรรมที่น่าเอาเยี่ยงอย่างยิ่งนัก

ฟังธรรมอย่างไรให้ได้บุญ

          การเป็นนักฟังธรรมที่ดีนั้น เราจะต้องไม่ดูแคลนหัวข้อธรรมที่พระเทศน์ว่าง่ายไป ฟังบ่อยแล้ว เพราะธรรมะทุกบท ถ้านำไปปฏิบัติจริง แม้เพียงข้อเดียวก็สามารถทำกิเลสให้หมดได้ และอย่าไปดูแคลนความรู้ของผู้แสดงธรรม ให้มุ่งฟังเอาเนื้อหาสาระเพื่อน้อมนำไปปฏิบัติ ขณะเดียวกัน ก็อย่าดูถูกตัวเองว่าไม่มีบุญพอที่จะฟังธรรมได้  เพราะยังกิเลสหนาปัญญาหยาบอยู่ ถ้าความคิดติดลบเสียแล้ว โอกาสแห่งการฟังธรรมก็หมดไป

          ในการฟังธรรมนั้น  แม้ยังฟังไม่เข้าใจ  อย่างน้อยที่สุดผู้ฟังก็ได้บุญและจะเป็นอุปนิสัยติดตัวไปภายหน้า  เมื่อได้ฟังซ้ำอีกก็จะเข้าใจได้ง่าย

          ในขณะฟังธรรม ให้มีใจเป็นสมาธิ ฟังด้วยความตั้งใจ ไม่พูดคุย  ยิ่งมีใจเป็นสมาธิมาก  ความรู้ความเข้าใจในธรรมะก็มากขึ้น

 

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ

 

          ในสมัยพุทธกาล พุทธบริษัทมักหลับตา  ทำสมาธิฟังธรรม เพราะหากใจยิ่งละเอียด การไตร่ตรองธรรมตามที่พระท่านแสดงก็จะละเอียดลุ่มลึกตามไปด้วย ทำให้มีผู้บรรลุมรรค ผล นิพพาน เป็นจำนวนมาก ดังนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการ คือผู้ฟังย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ย่อมเข้าใจชัดในสิ่งที่ได้ฟังแล้ว ย่อมบรรเทาความสงสัยเสียได้ ย่อมทำความเห็นให้ตรง และจิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส”

          ท่านผู้มีบุญทั้งหลาย เวลาแห่งการฟังธรรมเป็นเวลาที่มีคุณค่ายิ่ง จะช่วยยกใจของเราให้สูงขึ้นจากนิวรณ์ทั้งหลาย เป็นการเพิ่มเติมปัญญาบารมีให้แก่ตัวเราเอง เป็นธรรมาวุธคอยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แม้ทุกท่านอาจเคยศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ ในทางโลกมามาก แต่ความรู้เหล่านั้นเป็นเพียงวิชาทำมาหากิน ที่ช่วยเหลือตัวเองให้รู้จักหาความสุขในปัจจุบันเท่านั้น แต่การดำเนินชีวิตอาจยังไม่ถูกต้องและปลอดภัยทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ส่วนความรู้ที่เกิดจากการฟังธรรมเป็นความรู้อันบริสุทธิ์  ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาชีวิตในเชิงบวก  ทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และมีชัยชนะ  ละโลกแล้วก็จะไปสู่สุคติสวรรค์   เสวยสุขในโลกหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป..

 

การฟังธรรมนั้น แม้ยังฟังไม่เข้าใจ
อย่างน้อยที่สุดผู้ฟังก็ได้บุญ
และจะเป็นอุปนิสัยติดตัวไปภายหน้า
เมื่อได้ฟังซ้ำอีกก็จะเข้าใจได้ง่าย

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล