ฉบับที่ 71 กันยายน ปี 2551

ธรรมชาติการบรรลุธรรมของมนุษย์ ตอนที่ ๒

พระธรรมเทศนา

         จากเนื้อหาในฉบับที่แล้วเราได้ศึกษาว่า ร่างกายประกอบด้วย ๒ ส่วนหลัก คือ กาย กับ ใจ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นธาตุได้ ๒ ลักษณะ คือ ธาตุหยาบ กับธาตุละเอียด
          ธาตุหยาบ คือ ส่วนที่ประกอบเป็นร่างกาย เช่น ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ
          ธาตุละเอียด คือ ส่วนประกอบของใจ เรียกว่า วิญญาณธาตุ
          สำหรับเนื้อหาในฉบับนี้ จะกล่าวถึงลักษณะและคุณสมบัติของใจ หรือวิญญาณธาตุ
          ใจ หรือวิญญาณธาตุนั้น ถือเป็นธาตุพิเศษ มีปรากฏอธิบายลักษณะในพระไตรปิฎกไว้อย่างชัดเจน ดังต่อไปนี้        
          วิญญาณธาตุมีลักษณะเป็นดวงกลม ในภาษาพูดที่เรามักจะเรียกว่าดวงจิต ดวงใจ ถ้าพูดเป็นภาษาอังกฤษ คือ Sphere shape
          เนื่องจากวิญญาณธาตุ หรือใจ เป็นธาตุรู้อยู่ในตัว แม้ว่ามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ก็รู้สึกได้ว่ามีอยู่ จึงจัดเป็นธาตุละเอียด และมีคุณสมบัติแตกต่างจากธาตุอื่นๆ หลายประการ ดังต่อไปนี้

        ๑.ใจมีลักษณะเป็นดวงกลมใส ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่เท่ากับเบ้าตาของแต่ละคน         สาเหตุที่ทราบว่าใจมีขนาดเท่ากับเบ้าตา เพราะเมื่อเราฝึกสมาธิไปได้ระดับหนึ่ง ก็จะสามารถเห็นใจของตัวเองได้        ใจที่มีขนาดเท่าเบ้าตานั้น หมายถึง ใจที่ อยู่ในขณะสภาพปรกติ
        แต่ในขณะที่ใจเบิกบาน ใจก็สามารถขยายขนาดได้ หรือขณะที่เรานั่งสมาธิแล้ว เริ่มรู้สึกว่ากายเบา ใจเบา นั่นคือความรู้สึกที่บอกได้ว่าใจกำลังขยาย หรือคนที่มีใจเมตตา กรุณา ใจจะขยายได้ไม่มีที่สิ้นสุด ขยายโตกว่าโลกก็ยังได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่นั่งสมาธิแผ่เมตตามากๆ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือ ใจขยายคลุมโลกทั้งใบ ใจจึง ขยายได้ ย่อให้เล็กได้ ตามความใสหรือหมองนั่นเอง
    ในทางกลับกัน คนที่เห็นแก่ตัว ตระหนี่ ถี่เหนียวมากๆ ใจจะย่อส่วนเล็กลงได้ เล็กกว่ารูเข็ม คนที่ใจเล็กๆ แบบนี้ ถ้าเราไปขอความช่วยเหลืออะไร ก็มักจะไม่ได้รับความช่วยเหลือ เพราะใจที่มีขนาดเล็กของเขานั่นเอง
         ๒. ใจมีลักษณะเป็นดวงเบา
         เพราะเหตุที่ใจเป็นธาตุละเอียด ใจจึงมีความเบา สามารถไปไหนมาไหนได้อย่างสบายใจจึงมีความคล่องแคล่วว่องไว
         การที่ใจเป็นดวงเบานั้น สามารถอุปมาได้กับลำแสงของไฟฉาย
         ถ้าเราเอาวัตถุ ซึ่งเป็นธาตุหยาบ ๒ ชิ้น จับมาชนกัน ก็จะเกิดเสียงดังขึ้น
         แต่ถ้าเอาไฟฉาย ๒ กระบอกมาส่องเข้าหากัน ลำแสงจากไฟฉายกระทบกัน แต่ไม่มีเสียงดัง
       ดังนั้นใจของคน ๒ คนคิดเรื่องเดียวกัน หรือคิดถึงสิ่งของสิ่งเดียวกัน ใจทั้ง ๒ ดวงนี้ ก็ไม่ชนกัน ไม่เกิดเสียงดัง เพราะว่าใจเบา ไปไหนมาไหนได้รวดเร็ว ไม่หนักเหมือนธาตุหยาบ
        ใจ สามารถทะลุผ่านธาตุหยาบได้ ทะลุกำแพง ทะลุภูเขาได้ ซึ่งเราเองก็สามารถทดสอบได้
  ให้ลองนึกถึงบ้านของเราในตอนนี้ ลองนึกให้ใจทะลุเข้าไปในห้องเลย เชื่อว่าทุกคนทำได้ ไม่มีใครที่ต้องค่อยๆ เอาใจลัดไปเข้าทางประตู หรือต้องทำความรู้สึกว่าบีบใจให้เล็กๆ ก่อนถึงจะเข้าห้องไปได้ เนื่องจากใจเบาจึงสามารถไปไหนมาไหนได้ดังใจนึก

          ๓. ใจแล่นไปได้เร็ว
           ถ้าเรานั่งอยู่ที่เชียงใหม่ แต่ส่งใจไปถึงบ้านในกรุงเทพฯ การที่เราเห็นภาพบ้านอยู่ในใจเราได้นั้น แสดงว่าใจกลับไปถึงบ้าน แล้วแล่นกลับมาที่นี่ เราจึงเห็นภาพบ้านในความคิด ของเราได้
     แสงมีความเร็ว ๑๘๖,๐๐๐ ไมล์ต่อวินาที ถ้าวัดเป็นระยะเวลาที่แสงเดินทางจาก ดวงอาทิตย์มาถึงโลก รวมแล้วใช้เวลาประมาณ ๘ นาที
    แต่ถ้าเราลองใช้ใจนึกว่ากำลังมองดวงอาทิตย์ เราก็จะเห็นภาพดวงอาทิตย์ทันที แสดงว่าใจเดินทางไปดวงอาทิตย์ ทั้งไปและกลับไม่ถึง ๑ วินาที ใช้เวลาแค่พริบตาเดียวเท่านั้น
      หรือลองสังเกตใจของเราขณะที่นั่งสมาธิก็ได้ ตอนเริ่มต้นเราก็กำลังภาวนา "สัมมา อะระหังๆ" แต่พอรู้ตัวอีกครั้ง ใจเผลอคิดไปถึงบ้านตั้งแต่เมื่อไรเรายังไม่รู้ตัวเลย ดังนั้นใจจึงเป็นธาตุละเอียด ที่มีความเร็วสูงมาก

           ๔. ใจจำเป็นต้องมีบ้านของใจ
           บ้านของใจ คือ กาย
           ใจจำเป็นต้องใช้กายเป็นที่อาศัย กายเป็นที่อยู่ของใจ
           ถ้ามีแต่ใจไม่มีกาย เราเรียกว่า ผี
           ถ้ามีแต่กายแล้วไม่มีใจ เราเรียกว่า ศพ
           ในพระไตรปิฎกอธิบายเรื่องบ้านของใจไว้แต่เพียงเท่านี้ แต่เมื่อเราฝึกสมาธิกันมากพอ ก็จะพบว่า บ้านจริงๆ ของใจอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เหนือสะดือ ๒ นิ้วมือ อยู่ตรงกลางตัวของเรา บ้านของใจอยู่ที่นี่ อยู่ตรงส่วนกลางกาย ที่เรียกว่า จุดศูนย์ถ่วง* และแล้วความรู้ด้านฟิสิกส์กับความรู้ด้านพุทธศาสตร์ก็มาบรรจบกัน ณ จุดนี้
           แต่ใจชอบเที่ยวไปไกลๆ ใจของเรามักไม่พอใจที่จะอยู่ในบ้านของตัวเอง เช่น ชอบคิดถึงสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทยบ้าง หรือไปถึง ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อเมริกา จีน แม้กระทั่งดวงจันทร์ ดวงดาว ใจก็ชอบไปคิดถึง เพราะใจชอบเที่ยว
    นอกจากชอบเที่ยวแล้ว ใจยังชอบคิดอีกด้วย ลองสังเกตใจของเราดู นั่งแค่เพียงครู่เดียวคิดไปได้ตั้งหลายเรื่อง และเปลี่ยนเรื่องคิดจากเรื่องหนึ่งไปยังอีกเรื่องหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว บางครั้งคิดเรื่องแรกยังไม่ทันจบ ใจก็ทิ้งไปคิดเรื่องอื่นได้ นี่คือลักษณะทั่วไปของใจที่เราควรทำความเข้าใจไว้
           สรุป ใจเป็นธาตุรู้ มีลักษณะทรงกลมเท่าเบ้าตา ใจมีความเบาเป็นปรกติ ไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก และมีความเร็วสูง ใจมีบ้านอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อยู่กลางตัวของมนุษย์ ในระดับที่สูงขึ้นมาจากสะดือ ๒ นิ้วมือ (ติดตามต่อฉบับหน้า)

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล