ฉบับที่ 69 กรกฏาคม ปี 2551

ทันโลก ทันธรรม : หลักการ ทำบุญ


ทันโลก ทันธรรม
เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ (M.D>Ph.D.) จากรายการทันโลก ทันธรรม ออกอากาศทางช่อง DMC


       การทำบุญที่ถูกวิธีตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องทำอย่างไร วิธีการพิจารณาเรื่อง การทำบุญว่ามาก ไปน้อยไปหรือเปล่า มีหลักการในการพิจารณาอยู่ ๒ ประเด็น คือ ๑.บุคคลผู้นั้นมีเป้าหมายชีวิตอย่างไรและ ๒ ตัวเขาเข้าใจผลแห่งบุญมากขนาดไหน สองอย่างนี้จะเป็นตัวตัดสินว่า การทำบุญของเขาควรจะมีมากน้อยเพียงใด

ประการแรก เป้าหมายของเขามีอย่างไร ก็เหมือน เด็กที่เรียนหนังสือแล้ววางเป้าไว้แค่เพียงว่าเรียนไปเรื่อยๆ ให้จบประถมแล้วก็เข้ามัธยม จบมัธยมแล้วก็เข้าอุดมศึกษาจบปริญญาออกมาก็ทำงานทำการ ถ้าพอใจอยู่แค่นั้น ความทุ่มเทเขาก็แค่เรียนเกาะกลุ่มไปกับเพื่อนๆ เดี๋ยวก็จบ พอมีปริญญาก็หาทำงานได้ ก็แค่นั้น แต่ถ้าหากมีเป้าหมาย
ว่าจะต้องจบดอกเตอร์ให้ได้ จะต้องเป็นนักวิชาการระดับนำของโลก ฝากผลงานที่เลื่องลือไว้ในประวัติศาสตร์ ให้ได้ การเรียนหนังสือแค่เพียงเกาะกลุ่มไปกับเพื่อนคงไม่พอ จะต้องทุ่มชนิดที่ว่าเอาใจจรดแล้วก็ลุยเลย คนอื่นๆ อาจจะดูหนังสือ ทำการบ้าน ๑ ชม. ๒ ชม. แต่คนที่มีเป้าหมายอย่างนี้ วันหนึ่งจะดูหนังสือเพิ่ม ๕ ชม. ๘ ชม. ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
ขึ้นอยู่กับว่าตั้งเป้าหมายชีวิตไว้อย่างไร ในทำนองเดียวกัน พวกเราที่ทำบุญกัน จะทำมากน้อยขนาดไหนก็อยู่ที่ว่าตั้งเป้าไว้อย่างไร ถ้าหากเป็นชาวโลกทั่วไป ก็ทำไปเรื่อยๆ ทำพอสบายใจก็โอ.เค. สมมุติว่ามีรายได้ปีละหนึ่งแสนบาท แบ่งทำบุญสักพัน ก็รู้สึกว่าใช้ได้แล้ว แต่ถ้าหากตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นพระอรหันต์หมดกิเลสให้ได้ ก็ต้องทุ่มเทมากขึ้น
จะเป็น พระอสีติมหาสาวกของพระพุทธเจ้า ก็ต้องทุ่มเทมากขึ้น ถ้าจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ต้องทุ่มเทหนักขึ้นไปอีก

ถ้าไปดูจากประวัติการสร้างบารมีของพระบรมโพธิสัตว์ อย่างเช่น มีบางคราวท่านเห็นเสือที่หิวโซ กำลังจะไปกินกระต่าย ห้ามอย่างไรก็คงไม่ฟังแน่ เพราะมันกำลังหิว ท่านก็ยอมเอาตัวเองให้เสือกินแทน จะได้อิ่มแล้วปล่อยกระต่ายไป ถ้ามองจากสามัญสำนึกของคนทั่วไป ทำบุญอย่างนี้ เอาชีวิตตัวเองไปเป็นทาน มันเกินไป เสียดายชีวิตตัวเอง แต่ถ้าคิดอย่างพระบรมโพธิสัตว์ ผู้ปรารถนาที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันข้างหน้า อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา

เพราะฉะนั้น เราจะต้องทำบุญมากน้อย แค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราตั้งเป้าหมายชีวิตของเราไว้อย่างไร ถ้าเพียงแค่ว่า อยู่ไปให้สบายอกสบายใจในชาตินี้ก็พอ จากโลกนี้ไป นรก สวรรค์ มีหรือเปล่าก็ไม่ค่อยมั่นใจ ก็ทำเผื่อเหนียว ไว้หน่อยหนึ่ง ตายแล้วเผลอๆ ถ้าหากว่าตกนรกก็จะได้ขุมไม่ลึกนักหรือถ้าเกิดปะเหมาะเคราะห์ดีได้ไปสู่สุคติภูมิ เป็นภุมเทวา ก็ถือว่าโชคดี ถ้าหากตั้งความปรารถนาไว้แค่นี้แล้วละก็ เราก็คงทำนิดๆ หน่อยๆ ตามประเพณีวันเกิดทีตักบาตรที ถวายสังฆทานแล้วก็จบ สบายใจ หรือไปเจอหมอดูบอกว่าเคราะห์ไม่ดี ไปถวายสังฆทานทีก็จบ นั่นก็คืออย่างที่เขาเป็นกันทั่วๆ ไป

แต่ถ้าหากเป็นชาวพุทธเต็มตัว เข้าใจเป้าหมาย ชีวิตว่า เราไม่ได้เกิดมาชาติเดียว ต้องเวียนว่ายตายเกิด ละโลกแล้วจะไปเกิดที่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าเราสร้างบุญไว้มากขนาดไหน ใครมีบุญมากก็ไปเกิด ในภพภูมิที่ดีงาม ถ้าหากว่าทำบาปมากก็ลงอบายภูมิ ตกนรกเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน

เมื่อรู้หลักอย่างนี้แล้ว และมีเป้าหมายที่สูงสุดว่าจะตั้งใจสร้างบุญ ความทุ่มเทก็จะเพิ่มขึ้น เหมือนอย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐี จะสร้างวัดเชตวันถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยอมเอาเงินปูเรียงเคียงกันเต็มพื้นที่ เพื่อจะซื้อที่มา เมื่อได้แผ่นดินมาแล้ว จะต้องมาสร้างกุฏิ ศาลาฟังธรรมต่างๆ ถวาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์ หมดทรัพย์ไปเทียบกับเงินปัจจุบันหลายหมื่นล้านบาท ถ้าเทียบกับรายได้ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี แม้ท่านจะรวยมากก็จริง แต่สร้างขนาดนี้ต้องเรียกว่า หลายสิบเปอร์เซ็นต์ของสินทรัพย์ตัวเอง ถ้าคนไหนมีเงิน สักแสนล้าน เอาเงินไปสร้างวัดสี่หมื่น ห้าหมื่นล้าน เกือบครึ่งหนึ่งนี่ ถ้าเป็นคนทั่วไปจะคิดว่าเกินไป แต่อนาถบิณฑิกเศรษฐีท่านถือว่าคุ้ม เพราะท่านเห็นบุญ ท่านเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในแล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม รู้ว่าสิ่งที่ทำไปมีมูลค่าขนาดไหน ท่านทุ่มเลย ความรู้สึกเสียดาย
ไม่มีแม้แต่นิดเดียวในจิตใจ แล้วไม่ใช่แค่นี้ ถึงตอนที่วิบากกรรมในอดีต ตามมาทัน ที่ค้าขายก็เสียหายไปบ้าง ทรัพย์สิน ที่ฝังไว้ถูกน้ำพัดไปอีก ที่คนยืมไปก็โดนโกงอีกจนกระทั่งทรัพย์แทบหมดทีเดียว แม้อยากจะเลี้ยงพระ อาหารดีๆ ยังไม่มีเลี้ยง ได้แค่เอาน้ำข้าวต้มกับ ผักกาดดองเลี้ยงพระ จากมหาเศรษฐีใหญ่ ทำบุญได้แค่น้ำข้าวต้มกับผักกาดดอง
จนเทวดาที่อยู่ที่ซุ้มประตูบ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐีเหาะลงมาห้ามว่า เลิกทำบุญได้แล้ว ยากจนจนกระทั่งไม่มีจะกินอยู่แล้ว เลิกเถอะ

เทวดาที่อยู่บนซุ้มประตูนี้ เวลาพระเดินผ่านก็อยู่ข้างบนไม่ได้ ต้องลงมาจากซุ้มประตู เวลาพระผ่านไปค่อยขึ้นไปใหม่ ขึ้นๆ ลงๆ วันหนึ่งหลายรอบ ก็เลยเบื่อ รำคาญ เป็นมิจฉาทิฐิ คิดว่าจะยุให้เศรษฐีเลิกทำบุญ จะได้ไม่มีพระมาที่นี่ ตัวเองจะได้เลิกขึ้นๆ ลงๆ

ถ้าเป็นคนทั่วไปในปัจจุบัน ทุ่มทำบุญใหญ่ขนาดนี้ แล้วกลายจากเศรษฐีใหญ่มายากจนลง ยังไม่ทันมีใครห้ามหรอก ตัวเองคงเริ่มคิดแล้วว่า บุญมีจริงหรือเปล่า ทำไมบุญไม่เห็นช่วยเลย ยิ่งถ้ามีคนมาห้ามอย่างนี้ เผลอๆ เลิกทำบุญไปเลย ความศรัทธาคลอนแคลนทีเดียว แต่นี่ไม่ใช่คนธรรมดามาห้ามเทวดาเหาะลงมาห้ามเลย แล้วท่านเศรษฐีทำอย่างไร
ท่านไล่เทวดาออกจากบ้านเลย พอเจ้าของบ้านไม่อนุญาตเทวดาอยู่ไม่ได้เลยไปปรึกษากับเจ้าสวรรค์ื ทีละชั้นจนได้คำแนะนำว่า ต้องมาขอขมา เศรษฐี โดยไปเอาหนี้ที่คนยืมไปมาคืน ทรัพย์สินที่ถูกน้ำพัดพาไปหาทางเอาคืนมาให้ได้
อะไรต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น จนเศรษฐีมีฐานะฟื้นคืนขึ้นมา แล้วเทวดาก็มาขอขมา เศรษฐีก็ให้อภัย เทวดากลับมาเป็นสัมมาทิฐิแล้วอยู่ที่ซุ้มประตูตามเดิม

คนที่เห็นคุณค่าของบุญ และมีเป้าหมายชีวิตชัดเจน จะไม่หวั่นไหวแม้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เขาพร้อมจะทุ่ม ทุ่มไปแล้วอุปสรรคเกิดขึ้นก็ยังไม่ท้อ ยังเดินหน้าต่อไป เพราะเป้าหมายมั่นคงเพราะฉะนั้น เราจะทุ่มขนาดไหน ข้อที่ ๑. อยู่ที่ว่า เป้าหมายตัวเราขนาดไหน ถ้าเป้าหมายชัดเจนละก็ ไม่หวั่นไหว เดินหน้าเต็มตัว ๒. บุคคลผู้นั้น เห็นคุณค่าของบุญขนาดไหน
เพราะว่าประโยชน์ที่เกิดกับคนในโลกมี ๓ ชั้น คือ ๑. ประโยชน์ในชาตินี้ อย่างที่คนทั่วไปมองเห็นกัน ฐานะการงานดี สุขภาพดี ครอบครัวดี ทุกอย่างราบรื่น มีชื่อเสียง ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นั่นคือ ประโยชน์ชาตินี้ ๒. ประโยชน์ในชาติหน้า ละโลกไปแล้วไปเกิดที่ไหน เกิดในสุคติโลกสวรรค์ หรือว่าไปลงอบาย และข้อ ๓. คือประโยชน์อย่างยิ่ง
ได้แก่ การหมดกิเลส เข้านิพพาน คนโดยทั่วไปในโลกจะเห็นประโยชน์ชั้นที่ ๑ คือ ประโยชน์ชาตินี้ แต่ประโยชน์ชาติหน้ามักไม่ค่อยทราบ ไม่ค่อยมั่นใจยิ่งข้อ ๓ ปัจจุบันลองไปถามดูเถอะ ๑๐๐ คน ที่ตอบว่าอยากจะไปนิพพาน มีสักกี่คน คนหนึ่งจะถึงหรือเปล่ายังไม่ค่อยแน่ใจ นี่คือเรื่องจริง ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยตอกย้ำ สั่งสอนอบรมจริงๆ น้อยคนที่จะมีเป้าหมายชีวิต ที่ชัดเจน เพราะฉะนั้น คนที่เขายังเห็นคุณค่าของบุญแค่ผิวๆ เผินๆ มองแค่ประโยชน์ชาตินี้ เวลาก็จะทำก็ทำแบบฉาบฉวย มีร้อยบาททำบาทหนึ่งก็ถือว่าใช้ได้แล้ว เงินเดือนห้าหมื่นทำห้าร้อย ก็ถือว่าทำมากแล้ว ต้องแบ่งเงินไปช็อปปิ้ง ดูหนัง หรือตากอากาศวันหยุด อะไรต่างๆ นานา มีช่องทางใช้จ่ายเงินเยอะแยะ เพราะว่าเขายังไม่รู้จักประโยชน์ของบุญอีก ๒ ระดับ เห็นแค่ชาตินี้

แต่ถ้าเป็นคนที่เข้าใจประโยชน์ของบุญในระดับที่ ๒ เห็นว่าบุญจะเป็นเสบียงในการเดินทางไกลในวัฏสงสาร
จะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ตัวเองประสบความสุขความสำเร็จทั้งภพนี้และภพหน้า ต่อๆ ไป ที่เราลำบากในปัจจุบัน เพราะเราสร้างบุญไว้ยังไม่สมบูรณ์ แต่บางคน ที่เขาดีกว่า เพราะบุญเก่าเขาสร้างไว้มาก พอเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม เรื่องอานุภาพ แห่งบุญแล้ว ก็พร้อมจะทุ่มเทได้อย่างเต็มที่มากขึ้น

เพราะฉะนั้น ทั้งเรื่องการเห็นประโยชน์ของบุญและเรื่องเป้าหมายชีวิต สองอย่างนี้จะเสริมสร้างให้แต่ละคนทำบุญมากน้อยต่างกัน

ส่วนของเราเองในปัจจุบัน จะมีอยู่ ๒ อย่าง คือ ตัวของเราเองนี้อย่างหนึ่ง ว่าเราเห็นคุณค่าของ บุญชัดขนาดไหน มั่นคงแค่ไหน หนักแน่นแค่ไหน และเป้าหมายชีวิตเราชัดเจนแค่ไหน ทั้ง ๒ ข้อนี้ จะเป็นตัวกำหนดให้เราพร้อมที่จะทุ่มเทมากขนาดไหน
แต่ปัจจุบัน ไม่ได้มีผลมาจากตัวเราเองอย่างเดียว เกิดจากสิ่งแวดล้อมและกระแสสื่อด้วยซึ่งแน่นอนคนที่แวดล้อมตัวเรา และสื่อส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องบุญ มักจะคิดแต่เพียงว่าทำบุญแค่ให้สบายใจ อย่าให้ใครเดือดร้อนก็พอแล้ว และเขาไม่ได้คิดเปล่าๆ เวลาเห็นคนทำบุญเยอะๆ เขาก็จะบอกว่าทำมากไป จะติติงบ้าง วิพากษ์วิจารณ์บ้าง เลยกลายเป็นว่าไม่ใช่ตัวเองไม่ทำอย่างเดียว เห็นใครเขาทุ่มเททำก็ยังไปห้ามเขาอีกเลยเป็นการดึงกันขึ้นมา เราต้องเข้าใจตรงนี้ พอเข้าใจแล้ว จึงจะมีหลักในการพินิจพิจารณาและสามารถตัดสินใจ ได้ด้วยตัวของเราเอง ความจริงเรายังไม่ต้องดูไกลถึงครั้งพุทธกาลเลยบางคนอาจจะยังรู้สึกว่าไกลตัว เอาแค่ประวัติศาสตร์ยุคใกล้ๆ คือ ยุครัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งเศรษฐกิจตกต่ำ สมัยรัชกาลที่ ๒ ตอนช่วงที่บ้านเมืองมีศึกสงคราม ผู้คนหวาดเกรงภัยสงครามขาดความมั่นใจ ทุกคนจะเก็บเงินไม่กล้าใช้จ่าย พอไม่ใช้มันก็ขาดการหมุนเวียน เศรษฐกิจก็แน่นิ่ง ยิ่งทรุดหนักเป็นวงจรลบ วิธีการแก้ไข คือ
ต้องปลุก กระแสความเชื่อมั่นขึ้นมาใหม่ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ต่างประเทศเขาไม่มั่นใจเขาก็ไม่มาค้าขายด้วย เรือสำเภาก็ไม่เข้า ส่งออกก็ไม่ได้ นำเข้าน้อย การใช้ในประเทศจ่ายน้อย ทุกอย่างนิ่ง ไปไม่รอด เพราะฉะนั้น รัชกาลที่ ๒ ท่านมองการณ์ไกล ตัดสินใจสร้างวัดอรุณฯ แล้วอะไรเกิดขึ้น คนที่เอาเงินใส่ตุ่มฝังดินไว้นี่แหละไปขุดขึ้นมาเลย มาร่วมบุญสร้างวัด อยากได้บุญ โดยเฉลี่ย คนโบราณรู้จักค่าของบุญมากกว่าคนปัจจุบัน พออย่างนี้ เงินแทนที่จะฝังดิน ไว้เฉยๆ ก็เกิดการจับจ่ายใช้สอย ซื้อวัสดุก่อสร้างบ้าง จ้างแรงงานบ้าง เกิดการหมุนเวียน เพราะว่า ระบบเศรษฐกิจในครั้งสมัยรัชกาลที่ ๒ ยังไม่ซับซ้อนเท่าปัจจุบัน สร้างวัดใหญ่ๆ ขึ้นมาวัดหนึ่ง ก็มีพลวัตเพียงพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้พอสมควรทีเดียว ขณะเดียวกันคนก็เริ่มเกิดความเชื่อมั่น ต่างประเทศมาเห็นกรุงรัตนโกสินทร์กำลังสร้างวัดใหญ่ เรือวิ่งเข้าแม่น้ำเจ้าพระยา มาเห็นวัดอรุณเด่นเป็นสง่า ทุกคนมองว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นแล้ว ถ้าไม่ฟื้นจะสร้างวัดอย่างนี้ได้อย่างไร ความเชื่อมั่นเกิด เรือสำเภาเข้า มีการค้าขายระหว่างประเทศ เศรษฐกิจทั้งประเทศฟื้น นี่เกิดจากการเอาทานนำหน้า พอคิดให้ มันเกิดการสะพัดหมุนเวียน พอคิดจะเอาแล้วมันไปไม่รอด

แล้วไม่เฉพาะของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น วัดใหญ่ๆ ที่สร้างตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ มักจะเกิด จากขุนนางบ้าง พ่อค้าบ้าง ใครพอมีกำลังทรัพย์เขาจะสร้างวัดขึ้นมา รัชกาลที่ ๓สมัยยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ ก็ยังสร้างวัดราชโอรสขึ้นมา อย่างนี้เป็นต้น
แต่ถามว่าในปัจจุบันนี้ ผู้ที่มีกำลังทรัพย์ที่คิดจะสร้างวัดทั้งวัดด้วยตัวเอง มีสักกี่คน สร้างเองเลย ๕๐๐ ล้าน ๑,๐๐๐ ล้าน ในสมัยก่อนที่เขาสร้าง วัดใหญ่ๆ ใช้สินทรัพย์เป็นหลายๆ สิบเปอร์เซ็นต์ ของที่เขามีอยู่ แต่เขากล้าทำกันเยอะแยะ เป็นประเพณีของสังคมปัจจุบันมีคนกล้าทำอย่างนี้สักกี่คน มีแค่เขาทำอะไรก็ไปร่วมบุญด้วยนิดๆ หน่อยๆ เป็นหลักล้านนี่ถือว่าเยอะมากแล้ว ที่จะทุ่มสร้าง ทั้งวัดเป็นวัดใหญ่ๆ นี่หายาก

เพราะฉะนั้น ถ้าจะดูว่าการทำบุญควรจะทำมากน้อยแค่ไหนดี มันขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแต่ละคน ถ้าตั้งเป้าไว้แค่เพียงว่าถ้าตกนรกก็อย่าลง หลุมลึก หรือว่าจะเป็นสวรรค์ก็ขึ้นชั้นจาตุมหาราชิกา เป็นยักษ์ เป็นคนธรรพ์ เป็นพญานาค หรือพญาครุฑ ได้ก็ดีใจแล้ว อย่างนี้ทำตามประเพณีก็พอได้ อย่าไปทำบาปนักก็แล้วกัน

แต่ถ้าเกิดคิดว่าจะให้หมดกิเลส จะมุ่งไปนิพพาน ระหว่างทางจะขอพักที่ดุสิตบุรี ที่พักของนักสร้างบารมี ถ้าคิดอย่างนี้แล้วละก็ หัวใจก็ต้องคนละเบอร์ ต้องสวมหัวใจอย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐี หรือมหาอุบาสิกาวิสาขา อย่างนี้ถึงจะใช้ได้ ต้องเข้าใจถึงอานุภาพแห่งบุญ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแล้วมั่นคงแน่วแน่ต่อเป้าหมายชีวิตของตัวเอง แล้วตัดสินใจเดินหน้าไป นี่คือหลักของการตัดสินใจ ในการทำบุญที่ถูกวิธี

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล