ฉบับที่ ๑๘๗ เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑

หลักฐานธรรมกาย ในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๓๖)

บทความพิเศษ
เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI

 

หลักฐานธรรมกาย ในคัมภีร์พุทธโบราณ
(ตอนที่ ๓๖)

ร่องรอยธรรมกายในคาถาธรรมกายและพระธัมมกายาทิ (ต่อจากฉบับที่แล้ว)

        ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวมาโดยตลอดแล้วว่า  แม้ว่าหนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) นั้น จะมุ่งเน้นไปที่การศึกษา “หลักฐานธรรมกาย” ที่มาจากใบลานจารึกอักษรโบราณต่าง ๆ เป็นหลักก็จริง หากแต่เนื่องจากในมิติของการวิจัยในปัจจุบันที่มี “ปริมณฑลของการวิจัย” ที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น มุ่งให้ความสำคัญของการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เชื่อมโยงกันด้วยศาสตร์ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นโดยลำดับ ทำให้การศึกษาเรื่องหลักฐานธรรมกายนั้นมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน เสมือนดังการต่อภาพจิกซอว์ (Jigsaw) ที่มีสีสันน่าสนใจมากขึ้นดุจเดียวกัน

วัดศรีมงคล (วัดก๋ง) อ.ท่าวังผา จ.น่าน

     และเช่นเดียวกับกระบวนการวิจัยในปัจจุบันที่จะต้องมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น การค้นพบคัมภีร์พระธัมมกายาทิของคณะทำงานของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยในปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ ก็ดี หรือการค้นพบ “คาถาธรรมกาย” ครั้งหลังสุดในผืนแผ่นดินล้านนา คือ ที่วัดศรีมงคล (ก๋ง) จ.น่าน เมื่อราวเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑ นั้น ได้เป็นอีกประจักษ์พยานที่ช่วยยืนยันเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เป็น “หลักฐานธรรมกาย” หรือมีความเกี่ยวเนื่องกับหลักฐานธรรมกายนั้น ได้ผสมผสานอยู่ใน “วิถีวัฒนธรรม” การดำรงชีวิตของผู้คนและเชื่อมโยงกับพระพุทธศาสนาอย่างแนบแน่นมาเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องนำมาอธิบายและเผยแผ่ออกไปอย่างกว้างขวาง
 

คัมภีร์พระธัมมกายาทิ ฉบับเทพชุมนุม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
 

คาถาธรรมกาย จารึกโดยพระครูมงคลรังษี (หลวงปู่ก๋ง) วัดศรีมงคล จ.น่าน


                อนึ่ง ประเด็นเรื่องของความเชื่อมโยงกันของบทสวดคาถาธรรมกายที่พบที่วัดศรีมงคล (ก๋ง) นั้น มีเนื้อหาหรือสาระสำคัญที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่ปรากฏในคัมภีร์พระธัมมกายาทิที่ถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ที่ได้เกริ่นไว้ในฉบับที่แล้วนั้นเป็นสิ่งที่ผู้เขียนและคณะนักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยกำลังสนใจศึกษาวิเคราะห์อย่างยิ่ง ทั้งนี้เป็นที่น่าสนใจว่า ความสอดคล้องกันดังกล่าวนั้นมิได้เป็นเพียงในด้านของ “สาระสำคัญ” หรือเนื้อหาของเอกสารทั้งสองเท่านั้น หากแต่ยังเป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งว่าทั้ง “คัมภีร์พระธัมมกายาทิ” และบทสวดในคาถาธรรมกายที่วัดศรีมงคล (วัดก๋ง) นั้น ต่างก็ให้นัยถึง “การมีอยู่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ตลอดจนพระคุณของพระองค์ในด้านต่าง ๆ (ซึ่งเชื่อมโยงมาจากการปฏิบัติธรรมภายใน) ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ความสำคัญของการพรรณนาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ได้ถูกนำมาผสมผสานไว้ในคติความเชื่อของ “พิธีพุทธาภิเษก” หรือการทำให้พระพุทธเจ้านั้น “กลับมามีชีวิต” โดยผ่านบทสวดในคาถาธรรมกาย ซึ่งเป็นประเด็นคำถามที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า เพราะเหตุใดเนื้อหาในบทสวดคาถาธรรมกายก็ดีหรือสาระสำคัญของคัมภีร์พระธัมมกายาทิก็ดีนั้น จึงต้องเป็นการกล่าวถึงส่วนต่าง ๆ ของพระวรกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ? เพราะเหตุใดเนื้อหาสาระของเอกสารสำคัญทั้งสองจึงต้องมุ่งเน้นถึงพระญาณของพระองค์ รวมทั้งมุ่งเน้นถึงการกล่าวสรรเสริญคุณของพระองค์อย่างมีนัยสำคัญ ? และเนื้อหาและสาระสำคัญอันเกี่ยวกับพระญาณของพระพุทธองค์หรือการสรรเสริญคุณของพระพุทธองค์ดังกล่าวนั้น มีความเกี่ยวพันกับคติความเชื่อเรื่อง “พระพุทธเจ้าองค์จริง” หรือ “พระพุทธเจ้าที่มีชีวิตจิตใจ” ของผืนแผ่นดินล้านนามากน้อยเพียงใด ? เป็นต้น ซึ่งประเด็นคำถามเหล่านี้ควรกล่าวได้ว่าเป็นประเด็นคำถามที่ท้าทายต่อการศึกษาวิจัยอย่างยิ่ง และแน่นอนที่สุดน่าจะเป็นประเด็นที่จะช่วยไขคำตอบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของ “หลักฐานธรรมกาย” ได้อย่างดีที่สุดประเด็นหนึ่งด้วย

ตำแหน่งบริเวณหน้าอกของพระพุทธรูปที่ใช้บรรจุหัวใจพระพุทธเจ้า
 

หัวใจพระพุทธเจ้า
(หัวใจประดับเพชรสร้างบรรจุในองค์พระ)


ส่วนต่าง ๆ ของพระพุทธรูปประกอบด้วยธรรม ที่ถูกมองว่า
พระพุทธรูปหรือพระพุทธองค์ คือ “พระธรรมกาย”


ภาพแสดงลักษณะของ “พระธรรมกาย”
ซึ่งสอดคล้องกับ “พระรูปกาย” ที่ปรากฏในคาถา


        อย่างไรก็ตามหากจะกล่าวไปแล้วประเด็นเรื่องของ “พระพุทธเจ้าองค์จริง” หรือ “พระพุทธเจ้าที่มีชีวิตจิตใจ” นั้นค่อนข้างมีความคล้ายคลึงกับตำนานพระแก่นจันทน์ (โกศลพิมพาวัณณา) รวมทั้งมีความคล้ายคลึงกับ “ตำนานพระพุทธมหามุนี” ที่แพร่หลายอยู่ในประเทศเมียนมารวมทั้งสอดรับกับความรับรู้ในเรื่อง “คาถาธรรมกาย” ในประเทศกัมพูชามาอย่างช้านานนั้นด้วย ซึ่งความสอดคล้องดังกล่าวนั้นมิได้เป็นเพียงความสอดคล้องในระดับความเชื่อและตำนานแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังได้ถูกนำมาวิวัฒน์ให้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมในการ “ทำให้พระพุทธรูปกลับมามีชีวิต” (หรือพิธีพุทธาภิเษก) มาอย่างยาวนานแล้ว ซึ่งปัจจุบันทั้งผู้เขียน คณะนักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยและผู้ช่วยนักวิจัยอีกท่านหนึ่งของสถาบันฯ คือ คุณวรเมธ มาลาศาสตร์ กำลังศึกษารวบรวมอยู่อย่างใกล้ชิด ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าคำตอบที่จะได้รับนั้น ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยยืนยันถึง “คุณค่า” อันแท้จริงด้านการปฏิบัติและสภาวะแห่งความเป็นพุทธะภายใน ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้เคยถ่ายทอดไว้


พระมหามัยมุนีหรือมหาเมียะมุนี
เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง และเป็นหนึ่งในห้าศาสนวัตถุที่ศักดิ์สิทธิ์ของประเทศเมียนมา

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล