ฉบับที่ ๑๙๐ เดือนตุลาคม ๒๕๖๑

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๓๙)

บทความพิเศษ
เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI

 

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ
(ตอนที่ ๓๙)

๑๐๑ ปี วันครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย

     ในที่สุดเราก็มาถึงวันที่สำคัญที่สุดอีกวันหนึ่งในเดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ นี้นั่นก็คือ วันคล้ายวันเกิดครบ ๑๓๔ ปี ของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ นี้ ทั้งนี้เมื่อรวมกับความปลื้มจากงานบุญใหญ่ และการร่วมใจกันสวดมนต์บทธัมมจักกัปปวัตนสูตร ครบ ๗๑๑,๑๐๑,๑๐๑ จบ ในวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑ (วันครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย) ที่เพิ่งผ่านไป ก็นับได้ว่าพวกเราลูกศิษย์หลานศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ทุกคนนั้น ต่างก็เป็นผู้มีโชคดีที่มีโอกาสในการสั่งสมบุญใหญ่อย่างต่อเนื่อง ได้มารู้จักเรื่องราวของธรรมกายที่มีอยู่ในตัวของเราทุกคนว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ดีจริง และปฏิบัติได้จริง
 

พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี(สด จนฺทสโร)
 

      อนึ่ง เมื่อถึงวันคล้ายวันเกิดของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ในทุกปีนั้น สิ่งหนึ่งที่พวกเราลูกศิษย์หลานศิษย์ของท่านจะพึงกระทำได้ดีที่สุดนั้น ก็คือ “การปฏิบัติบูชา” เพื่อแสดงความกตัญญูต่อท่านอย่างสูงสุด เพราะว่าการบังเกิดขึ้นของท่านได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่อการดำเนินชีวิต ต่อการสั่งสมบุญสร้างบารมีของนักสร้างบารมีจำนวนมากมาอย่างยาวนานทั้งนี้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่าพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของเรานั้น ท่านเป็นบุคคลที่ให้ความสำคัญต่อการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งท่านถึงกับเคยปรารภว่า “ผู้มีการศึกษาดีเหมือนมีสมบัติจักรพรรดิ กินใช้ไม่หมด”1 โดยเฉพาะเรื่องของการศึกษาพระบาลีนั้น ก็ปรากฏว่าพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ เองนั้น ท่านได้เริ่มต้นศึกษาพระบาลีตั้งแต่เบื้องต้น แล้วจึงเรียน นาม สมาส ตัทธิต อาขยาต กิตต์ แล้วเริ่มขึ้นคัมภีร์ตั้งแต่พระธรรมบทจบทั้ง ๒ บั้น เมื่อเรียนจบ ๒ บั้นแล้ว จึงกลับขึ้นต้นใหม่ ทั้งเรียนมังคลัตถทีปนีและสารสังคหะตามความนิยมของสมัยนั้นด้วย จนมีความชำนาญและสอนผู้อื่นได้2

     หากกล่าวไปแล้ว ภาษาบาลีจึงเปรียบเสมือนกุญแจที่ไขความรู้และความจริงที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนาได้ถ่องแท้ที่สุด แม้พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เองนั้น ท่านก็อาศัยข้อสงสัยจากการพบคำว่า “อวิชฺชาปจฺจยา” มาเป็นมูลเหตุในการเดินทางมาศึกษาพระบาลีให้แตกฉาน โดยท่านก็มิได้ศึกษาอย่างฉาบฉวย แต่ถึงกับทุ่มเทลงไปทั้งชีวิตจิตใจของท่านเลยทีเดียวเป็นเวลานาน โดยเริ่มต้นจากการศึกษามูลกัจจายนะเพียงอย่างเดียวและยังได้ทบไปทวนมาถึง ๓ รอบ และยังศึกษาคัมภีร์สำคัญ ๆ อีกมากมาย เช่น พระธรรมบท ๘ ภาค พระมังคลัตถทีปนี สารสงเคราะห์ เป็นต้น ซึ่งหากเราได้พิจารณาถึงอุปนิสัยการเอาชีวิตเป็นเดิมพันของท่านแล้ว ย่อมแลเห็นได้ว่า พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ นั้น ท่านไม่เคยปล่อยผ่านแม้ประเด็นใด ๆ ที่ (อาจ) ดูว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเลย ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวนี้เอง ที่มีส่วนอย่างยิ่งที่ทำให้ท่านได้เป็นผู้ค้นพบวิชชาที่เป็นความรู้ยิ่งในพระพุทธศาสนาในที่สุด จากจุดเดิมที่เริ่มต้นมาจากความสงสัยในคำว่า “อวิชฺชาปจฺจยา” ดังได้กล่าวมาแล้ว

     จากคุณลักษณะอันเด็ดเดี่ยวตั้งใจจริงและความมีปณิธานที่ชัดเจนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ดังกล่าวนี้ ทำให้ในภายหลังเมื่อท่านได้ค้นพบวิชชาธรรมกายแล้ว ท่านก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะเผยแผ่และสั่งสอนเหล่าศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั่วไปให้รู้จักและเห็นความสำคัญในวิชชาธรรมกายมาโดยตลอด การเทศน์สอนของท่านในแต่ละครั้งที่ได้มีการรวบรวมไว้ (เช่น ในคู่มือสมภารหรือพระธรรมเทศนา ๖๓ กัณฑ์) ก็ดีนั้น แสดงให้เห็นว่าท่านมีการอ้างอิงถึงความมีอยู่จริงของวิชชาธรรมกายและคุณของธรรมกายไม่เคยขาด ซึ่งในการอ้างอิงของท่านนั้น มีทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติควบคู่กันอยู่เสมอเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ท่านมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการศึกษาภาษาบาลีเพียงใด


หนังสือคู่มือสมภารและคัมภีร์ใบลานโบราณ
 

      ดังนั้น เมื่อมาถึงยุคของเรา หน้าที่ในการสืบค้นธำรงรักษาวิชชาธรรมกายและหลักฐานธรรมกายจึงถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญมาก เพราะการเกิดขึ้นของวิชชาธรรมกายนั้นเป็นของยากอย่างยิ่ง แม้ในปัจจุบันนี้ การได้ยินได้ฟัง ได้รับรู้เรื่องราวของธรรมกายจะแพร่หลายมากขึ้น แต่ความเข้าใจของคนในยุคนี้ก็ยังมีน้อยมาก ถึงจะเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าในพระไตรปิฎกก็ดี หรือคัมภีร์ต่าง ๆ ของพระพุทธศาสนาก็ดี มีคำว่า “ธรรมกาย” ปรากฏอยู่หลายแห่ง3 แต่ก็ยังมีผู้คนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสได้ศึกษาหรือทำความเข้าใจให้ถูกต้องแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ภารกิจในการสืบค้นธำรงรักษาหลักฐานธรรมกาย ตลอดจนการเผยแผ่ความรู้เกี่ยวกับธรรมกายจึงต้องดำเนินต่อไปจนกว่าจะสัมฤทธิผล ทั้งนี้การจะทำภารกิจดังกล่าวให้สำเร็จได้จึงจำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในภาษาบาลีและภาษาโบราณอื่นๆ เข้ามาช่วยกัน ประกอบกับจะต้องอาศัยการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย


พระเอกบดินทร์ ปญฺญารตโน
นักศึกษาระดับปริญญาเอกสาขา Religious Studies แห่งมหาวิทยาลัยโอทาโก 
ภาพถ่าย ณ The British Museum, located in the Bloomsbury area of London,United Kingdom


   ทั้งนี้ หนึ่งในนักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ของเราท่านหนึ่ง คือพระเอกบดินทร์ ปญฺญารตโน นักศึกษาระดับปริญญาเอกสาขา Religious Studies แห่งมหาวิทยาลัยโอทาโก ซึ่งกำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “On the Two Bodies of the Buddha in Pussadeva’s Pathamabodhi” ถือว่าเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่อีกท่านหนึ่งที่มีคุณภาพ และได้เข้า ทำหน้าที่ผู้ช่วยสอนในรายวิชาต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยโอทาโกมากมาย เช่น ในรายวิชา Religions of Southeast Asia รายวิชา Medical Humanities Selective 2018 รายวิชา Introduction to Hinduism and Buddhism และรายวิชา Buddhist Thought เป็นต้น ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา พระอาจารย์เอกบดินทร์ ปญฺญารตโน เป็นผู้หนึ่งที่มีโอกาสไปศึกษาภาษาบาลีชั้นสูง (Advanced Pali Course) ในระหว่างวันที่ ๑๔-๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ โดยตรงจากท่านศาสตราจารย์ริชาร์ด กอมบริช4 แห่งศูนย์พุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford Centre for Buddhist Studies : OCBS) ซึ่งท่านให้ความสนใจในการสนับสนุนส่งเสริมการแปลและปริวรรตคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในคณาจารย์ผู้มีลูกศิษย์ลูกหาเป็นอาจารย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการพระพุทธศาสนาของตะวันตกมากมาย (ไม่น้อยกว่า ๔๐ ท่าน ที่กระจายอยู่ตามมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงทั่วโลก) อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากลูกศิษย์ลูกหาที่มีอยู่มากมายแล้วท่านศาสตราจารย์ริชาร์ด กอมบริช ยังมีเครือข่ายนักวิชาการพระพุทธศาสนาและการศึกษาพระบาลีที่กว้างไกลออกไปถึงประเทศต่าง ๆ อีกมาก ทั้งนี้รวมถึงอาจารย์ ดร.โยจนา บากัต (Yojana Bhagat)5 ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาบาลีแห่งมหาวิทยาลัยมุมไบ ประเทศอินเดีย


     การได้โอกาสไปศึกษาในหลักสูตรบาลีขั้นสูงของพระอาจารย์เอกบดินทร์ในครั้งนี้ อยู่ภายใต้การดำเนินการของท่านศาสตราจารย์ริชาร์ด กอมบริช โดยจัดการเรียนการสอนในหลายรูปแบบ มีทั้งการให้ผู้เรียนตั้งคำถาม จับกลุ่มย่อยช่วยกันแปลพระสูตรและชาดก การเพิ่มเติมความรู้แก่ผู้เรียนโดยการตอบคำถามและวิเคราะห์เนื้อหาในพระสูตรและชาดก การให้ผู้เรียนคิดคำถามเกี่ยวกับการเรียนมาล่วงหน้า เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่แตกฉานขึ้นได้มาก สมกับคำกล่าวของท่านศาสตราจารย์กอมบริชเองที่ได้กล่าวไว้ในชั้นเรียนว่า “Cooperation is better than competition.” (ความร่วมแรงร่วมใจกันย่อมดีกว่าการแข่งขันเอาชนะกัน)


ศาสตราจารย์ริชาร์ด กอมบริช
แห่งศูนย์พุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด


พิธีมอบทุนของ DIRI ให้แก่ OCBS เป็นครั้งที่ ๔ และถ่ายรูปหมู่ร่วมกัน


บรรยากาศการเรียน
Advanced Pali Course ของสถาบัน Oxford Centre for Buddhist Studies


บรรยากาศการเรียนรู้ของชมรมบาลีศึกษา ณ มหาวิทยาลัยโอทาโก หลังจากที่ได้ไปอบรม
Advanced Pali Course ของสถาบัน Oxford Centre for Buddhist Studies


      โดยสรุปแล้ว การได้เข้าไปศึกษาในหลักสูตรบาลีขั้นสูงของพระอาจารย์เอกบดินทร์ ปญฺญารตโน ในครั้งนี้ ในด้านหนึ่งนั้นย่อมเท่ากับเป็นการออกไปพบเห็นและมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับบุคคลซึ่งรักพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งในระดับสากล เป็นการยกระดับการพัฒนาศักยภาพด้านภาษาบาลีให้มากขึ้น และเป็นแรงบันดาลใจในการนำความรู้มาช่วยกันสืบค้น ธำรงรักษา และเผยแผ่ความรู้ในเรื่องธรรมกาย หลักฐานธรรมกาย ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ซึ่งหากจะกล่าวไปแล้วก็คือการช่วยสืบสานมรดกของวิชชาธรรมกาย ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้ทุ่มชีวิตของท่านค้นพบมาโดยตรง ทั้งนี้หากเราลองพิจารณากันอย่างลึกซึ้งแล้ว ย่อมจะพบว่า พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ พระผู้ปราบมาร ท่านเป็นบุคคลอัศจรรย์ ที่อุตส่าห์สละชีวิตของท่านด้วยหัวใจที่เด็ดเดี่ยวปฏิบัติธรรมจนบรรลุธรรมภายใน และได้นำความรู้ที่สำคัญมาถ่ายทอดให้แก่ชาวโลก ซึ่งถ้าไม่มีท่านในวันนั้น เราจะไม่มีทางเลยรู้ว่า “ภายในตัวเราทุกคนมีพระธรรมกาย”

 

ขอเจริญพร

 

 


1 วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ, ๒๕๓๗. บารมีธรรม หลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี, กรุงเทพมหานคร : บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด.

2 วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ, ๒๕๓๗. บารมีธรรม หลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี, กรุงเทพมหานคร : บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด, หน้า ๒๐.

3 สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์), ๒๕๕๘. ถาม-ตอบข้อสงสัยเรื่องธรรมกาย ๑ (เฉพาะกัลยาณมิตรเท่านั้น), กรุงเทพมหานคร : เลี่ยงเชียง.

4 ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทางสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI ) ได้มีโอกาสทำความร่วมมือทางวิชาการกับท่านศาสตราจารย์ริชาร์ด กอมบริช แห่งศูนย์พุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด มาอย่างต่อเนื่องหลายปี ครั้งล่าสุด (ปี พ.ศ. ๒๕๖๐) ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปร่วมประชุมหารือความร่วมมือทางวิชาการกับท่านศาสตราจารย์ริชาร์ด กอมบริช ในหลายประเด็น เช่น เรื่องการสนับสนุนการศึกษาภาษาบาลี เป็นต้นซึ่งท่านศาสตราจารย์ริชาร์ด กอมบริช ก็มีความยินดีอย่างยิ่งในความร่วมมือดังกล่าว ทั้งนี้ส่วนสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็เพราะการที่ท่านศาสตราจารย์ริชาร์ด กอมบริช นั้น ได้ชื่อว่าเป็นคณาจารยผู้รักพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะท่านมีความเชี่ยวชาญพิเศษทางด้านบาลี-สันสกฤต และการเรียนการสอน Buddhist Studies แม้มีวัยเกษียณอายุแล้ว ท่านก็ยังเป็นประธานก่อตั้งศูนย์ OCBS (Oxford Centre for Buddhist Studies) ซึ่งมี
วัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาค้นคว้าตำราทางวิชาการด้านพระพุทธศาสนาตลอดจนด้านสังคม ทฤษฎีและแบบแผนพิธีกรรมการปฏิบัติของพระพุทธศาสนา

5 อาจารย์ ดร.โยจนา บากัต แห่งภาควิชาภาษาบาลี มหาวิทยาลัยมุมไบ ประเทศอินเดีย เป็นหนึ่งในเครือข่ายทางวิชาการของท่านศาสตราจารย์ริชาร์ด กอมบริช ที่สำคัญคนหนึ่ง ดร.โยจนาเคยนำคณะนักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการอักษรพราหมี และลงพื้นที่สำรวจแหล่งอารยธรรมสำคัญและสำรวจจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช ณ ถ้ำเอลโลรา ถ้ำอชันตา ถ้ำบาเจ และถ้ำกุดะ อันเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญและเป็นมรดกโลกมาแล้วเมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวนี้สืบเนื่องมาจากการเป็นพันธมิตรที่ร่วมมือกันมาอย่างยาวนานระหว่างศาสตราจารย์ริชาร์ด กอมบริช กับสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ด้วย

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล