ฉบับที่ ๒๑๖ เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๓

ย้อนย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ตอนที่ ๓๕ : สิกขาบท ๗-๘ ประการที่ไม่ลงรอยกันคราวปฐมสังคายนาในพระวินัยของธรรมคุปตกะและมหีศาสกะ

อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.

 

631215_060.jpg

ตอนที่ ๓๕ : สิกขาบท ๗-๘ ประการที่ไม่ลงรอยกันคราวปฐมสังคายนาในพระวินัยของธรรมคุปตกะและมหีศาสกะ

               เหตุการณ์ความไม่ลงรอยกันของหมู่สงฆ์ในเรื่องการทำปฐมสังคายนาที่ปรากฏในพระวินัยปิฎกของเถรวาท รวมถึงธรรมคุปตกะ (法藏部) และมหีศาสกะ (化地部) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระวินัยของธรรมคุปตกะและมหีศาสกะได้มีการกล่าวถึง สิกขาบททั้ง ๗-๘ ประการ ได้แก่ ๑. อาหารที่เก็บไว้ภายใน (內宿) ๒. ที่หุงต้มภายใน (內煮 • 內熟) ๓. ที่หุงต้มเอง (自煮 • 自熟) ๔. ที่ถือเอาเอง (自取食 • 自持食) ๕. ที่เขานำมาให้ (從彼持食來 • 從人受) ๖. ที่รับก่อนเวลาฉัน (早起受食 มีเฉพาะในธรรมคุปตกวินัย) ๗. ผลที่เกิดในป่า (若雜菓 • 自取果食) ๘. ที่เกิดในบ่อน้ำ (若池水所 • 就池水受)

         อย่างไรก็ตาม ในพระวินัยของเถรวาทไม่ได้กล่าวถึงสิกขาบททั้ง ๗-๘ ประการดังกล่าว ในเหตุการณ์ที่พระปุราณะกล่าวถึงความประสงค์ที่ตนเองและบริวารจะปฏิบัติตามสิ่งที่ได้ทรงจำมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค (วิ.จู. ๗/๔๔๔/๓๘๕-๓๘๖ ไทย.มจร) แต่สิกขาบททั้งหลายที่ว่านี้ ได้ปรากฏอยู่ใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค เภสัชชขันธกะ ที่ว่า “ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้มีพระดำริดังนี้ว่า ‘อาหารที่เราอนุญาตแก่ภิกษุ เมื่อคราวอัตคัดอาหาร มีข้าวกล้าไม่งอกงาม บิณฑบาตหาได้ลำบาก คือ อาหาร [๑] ที่เก็บไว้ภายใน [๒] ที่หุงต้มภายใน [๓] ที่หุงต้มเอง [๔] ที่จับต้องแล้วรับประเคนใหม่ [๕] ที่นำมาจากที่นิมนต์ [๖] ที่รับประเคนก่อนเวลาภัตตาหาร [๗] ที่เกิดในป่า [๘] ที่เกิดในกอบัว ทุกวันนี้ภิกษุยังฉันภัตตาหารเหล่านั้นอยู่หรือหนอ’....” (วิ.ม. ๕/๒๙๕/๑๑๖-๑๑๗ ไทย.มจร) ภายหลังจากนั้น พระพุทธองค์จึงได้ตรัสเรียกพระอานนท์มาถาม และได้รับคำตอบว่าภิกษุยังคงฉันอยู่ พระผู้มีพระภาคจึงมีรับสั่งว่า “เราห้ามอาหารเหล่านั้นตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอนุญาตแก่ภิกษุเมื่อคราวอัตคัดอาหาร มีข้าวกล้าไม่งอกงาม บิณฑบาตหาได้ลำบาก...” (วิ.ม. ๕/๒๙๕/๑๑๗ ไทย.มจร)

              ดังจะเห็นได้ว่า สิกขาบทเหล่านี้เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตในยามข้าวยากหมากแพง แต่ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อเหตุการณ์กลับสู่สภาวะปกติ ซึ่งเป็นพระปรีชาญาณของพระผู้มีพระภาคในการกำหนดสิกขาบทอย่างมีเหตุมีผล ส่วนที่พระปุราณะกล่าวว่าได้ทรงจำมาแตกต่างจากนี้ มีความเป็นไปได้ประการหนึ่งที่อาจเป็นช่องว่างให้เกิดขึ้นได้ ส่วนช่องว่างดังกล่าวนี้จะเป็นเช่นไร โปรดติดตามตอนต่อไป

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล