อานุภาพพระมหาสิริราชธาตุ

พระมหาสิริราชธาตุ รุ่นดูดทรัพย์ สำหรับ ผู้สร้างพระธรรมกายประจำตัวภายในมหาธรรมกายเจดีย์นั้น จะได้รับของที่ระลึกเป็นพระธรรมกายของขวัญ

อานุภาพพระมหาสิริราชธาตุ โอวาทพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) วันอาทิตย์ที่ ๖ เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๑

โอวาทพระภาวนาวิริยคุณ
(หลวงพ่อทัตตชีโว)
วันอาทิตย์ที่ ๖ เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๑


สิ่งที่พุทธศาสนิกชน จะต้องตระหนักเกี่ยวกับหลักการในการเป็นพระ และหลักการในการสร้างวัดให้ชัดเจน
ข้อแรก ในเรื่องของความเป็นพระภิกษุ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดเอาไว้ว่า พระภิกษุมีงานต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ ๒ งานด้วยกัน


งานที่ ๑ คือ ตั้งใจศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ แล้วก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้ดี
งานที่ ๒ เมื่อศึกษาและปฏิบัติธรรมจนกระทั่งเกิดความรู้ ความเข้าใจ ความชำนาญแล้ว ก็ให้ตั้งใจอบรมสั่งสอนญาติโยม ประชาชนทั้งหลายด้วย ๒ งานนี้ เป็นงานหลักของพระภิกษุ อย่างอื่นนอกนั้นเป็นงานเสริมหมด


จากงาน ๒ งานนี้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมอบให้ไว้ ทำให้พระภิกษุ ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ตั้งใจร่ำเรียนพระไตรปิฎก ตั้งใจนั่งสมาธิภาวนา และเมื่อถึงเวลาก็ตั้งใจเทศน์ ตั้งใจสอน นี้คือพระภิกษุที่ดีในพระพุทธศาสนา


ยิ่งกว่านั้น เมื่อถึงคราวที่จะต้องช่วยกันสร้างวัด พระภิกษุในพระพุทธศาสนา ท่านมองว่าวัดไม่ใช่โรงมหรสพ ไม่ใช่โรงฝึกงานอาชีพ ไม่ใช่ที่สำหรับทำเมรุเผาผี ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น แต่เป็นโรงเรียนสอนศีลธรรม โรงเรียนปลูกฝังศีลธรรม ให้ทั้งประชาชนด้วย ให้ทั้งพระภิกษุสามเณรด้วย เพราะตั้งใจยึดมั่นอยู่ในหลักการสร้างวัดในพระพุทธศาสนานี้ ตั้งแต่เริ่มต้นสร้างวัดพระธรรมกายมา จึงได้ตั้งใจสร้างวัดให้ถูกลักษณะตามที่พระพุทธศาสนาได้กำหนดเอาไว้ คือทั่วทั้งบริเวณวัดพระธรรมกาย พยายามปลูกป่า ปลูกต้นไม้ขึ้นมาให้เหมือนเป็นอุทยานทางธรรม เหมาะในการนั่งสมาธิ อาคารทุกหลังสร้างขึ้นมาเพื่อไว้สำหรับสอนศีลธรรมโดยเฉพาะ ตั้งแต่อาคารจาตุมหาราชิกาซึ่งจุได้ ๔๐๐ กว่าคน ตั้งใจสร้างขึ้นมาให้เหมาะแก่การนั่งสมาธิและฟังเทศน์กัน แต่เมื่อประชาชนเพิ่มขึ้นจนอาคารจาตุมหาราชิกาจุไม่พอ จึงขยายมาสร้างที่อาคารสภาธรรมกายหลังคาจาก ซึ่งจุได้ ๑๒,๐๐๐ คน อาคารนั้น ก็มีไว้เพื่อการเทศน์และการนั่งสมาธิตามหลักการในพระพุทธศาสนา


บัดนี้ประชาชนรักการฟังธรรม รักการปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้น จึงมาสร้างสภาธรรมกายหลังใหม่นี้ ชั้นล่างหรือชั้นหนึ่งจุได้ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน ชั้นบนจุได้ประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ คน ก็สร้างไว้เพื่อการนั่งสมาธิ การศึกษาธรรมเช่นกัน


เมื่อมองไปในอนาคตแล้ว เห็นว่าพื้นที่ในสภาธรรมกายสากลหลังใหม่นี้คงไม่พอ เพราะคนใจบุญอย่างพวกเรายังมีอีกมากนัก ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แม้ทั่วโลกก็เหมือนกัน ยังมีคนที่จะใฝ่ธรรมะนี้อีกมากนัก แต่ว่าหาสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ฟังเทศน์ไม่ค่อยได้ หาครูบาอาจารย์ที่จะสอนให้เขานั่งสมาธิอย่างถูกต้องไม่ค่อยจะได้


เมื่อเป็นอย่างนี้ อะไรคือคำตอบ ว่าจะทำอย่างไร คนใจบุญที่จะมาในภายหน้าแล้วไม่มีที่ปฏิบัติธรรมและที่ศึกษาธรรมอย่างพอเพียง คำตอบที่ชัดเจนก็คือ การสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ ซึ่งพวกเราก็ได้ช่วยกันสร้างมา บัดนี้ผ่านไปแล้ว ๓ - ๔ ปี และกำลังใกล้จะสำเร็จในระยะเวลาอันใกล้นี้


มหาธรรมกายเจดีย์ที่พวกเราสร้างนี้ ได้สร้างถูกตามหลักการในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น คือสร้างไว้เป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ สำหรับให้ชาวพุทธและผู้ใจบุญทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรม สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ในการที่จะประกอบพิธีกรรมในพระพุทธศาสนาให้เต็มที่ เมื่อถึงคราวก็จะฟังเทศน์และปฏิบัติธรรมได้พร้อมหน้า ซึ่งตั้งใจเอาไว้ว่ามหาธรรมกายเจดีย์นี้ สามารถรองรับมหาชนได้อย่างน้อยประมาณหนึ่งล้านคน คือเมื่ออาคารสภาธรรมกายสากลหลังใหม่มีพื้นที่ไม่พอแล้ว ก็ยังมีมหาธรรมกายเจดีย์เป็นที่รองรับ


มหาธรรมกายเจดีย์ที่พวกเรากำลังสร้างอยู่นี้ก็ไม่ได้ผิดแปลกแตกต่างไปจากหลักการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและโบราณ-จารย์ที่ท่านให้เอาไว้ เจดีย์ในพุทธศาสนานี้มีหลักการสร้างอยู่ ๔ ประเภทด้วยกัน


ประเภทที่ ๑ เรียกว่า ธาตุเจดีย์ เอาไว้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมทั้งพระธาตุของพระอรหันต์ต่างๆ ด้วย
ประเภทที่ ๒ เรียกว่า บริโภคเจดีย์ คือบรรจุเครื่องอัฐบริขาร เช่น บาตร จีวร ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ของพระพุทธเจ้าและของเหล่าพระอรหันต์ เขาบรรจุเอาไว้ในเจดีย์ประเภทนี้


ประเภทที่ ๓ คือธรรมเจดีย์ สร้างเอาไว้บรรจุพระไตรปิฎก บรรจุคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา
ประเภทที่ ๔ คืออุทเทสิกเจดีย์ ได้แก่ พระพุทธรูป เช่นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ ที่สร้างกันในโลกนี้ มีอยู่หลายแห่ง และรวมถึงพระพุทธรูปองค์เล็กองค์น้อย ก็จัดเป็นเจดีย์ประเภทนี้ คืออุทเทสิกเจดีย์


มหาธรรมกายเจดีย์ได้ทำถูกต้องตามโบราณจารย์ ซึ่งภายในจะบรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุของพระอรหันต์ต่างๆ เพราะได้รวบรวมมานับสิบๆ ปีแล้ว มหาธรรมกายเจดีย์จึงทรงความเป็นธาตุเจดีย์อยู่ในตัวเป็นประการที่ ๑
ประการที่ ๒ มหาธรรมกายเจดีย์นี้ จะบรรจุพระไตรปิฎกทั้งที่เป็นตัวอักษรไทย และตัวอักษรของชนชาติต่างๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนา รวมจนกระทั่ง CD-ROM ที่บรรจุพระไตรปิฎกในยุคนี้ด้้วย เพราะฉะนั้นมหาธรรมกายเจดีย์ จึงเป็นธรรมเจดีย์ไปด้วยในตัวเสร็จ
ประการที่ ๓ ในมหาธรรมกายเจดีย์จะบรรจุอัฐบริขารเครื่องใช้สอยของพระภิกษุในยุคปัจจุบัน เอาไว้ให้คนในภายหน้าอีกเป็นพันปี เมื่อถึงคราวหากพระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมลงไป เมื่อได้เข้าไปดูในธรรมกายเจดีย์ ก็จะได้รู้ว่าบริขารของพระภิกษุเมื่อพันปีนี้ เครื่องใช้ไม้สอยของชาวพุทธเมื่อพันปีที่ผ่านมานี้ เขาใช้อย่างไรกัน จะได้มีต้นแบบแล้วก็มีเรี่ยวแรงมีกำลังใจ ที่จะประพฤติตามแบบอย่างของบุคคลในรุ่นพวกเรา เพราะฉะนั้นมหาธรรมกายเจดีย์จึงเป็นบริโภคเจดีย์ไปด้วยโดยปริยาย


ประการสุดท้ายที่พวกเราได้ทำกัน คือตั้งใจเป็นจิตกุศลอย่างยิ่ง ได้ร่วมใจกันสร้างพระธรรมกายประจำตัวประดิษฐานกันเอาไว้ที่มหาธรรมกายเจดีย์นี้ รวมทั้งได้สร้างพระบรมพุทธเจ้า และได้อาราธนาไปประดิษฐานไว้ในมหาธรรมกายเจดีย์นี้แล้ว เพราะฉะนั้นมหาธรรมกายเจดีย์จึงเป็นอุทเทสิกเจดีย์ไปด้วย


ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถพูดได้เต็มปากว่า มหาธรรมกายเจดีย์ทรงความเป็นเจดีย์ครบถ้วนทั้ง ๔ ประการ และถ้าใครจะตำหนิว่า มหาธรรมกายเจดีย์ผิดเพี้ยนไปจากโบราณ ก็อย่าหลงไปตามคำเขา เพราะเราได้สร้างตามหลักการสร้างเจดีย์ทุกประการ ไม่ได้มีผิดเพี้ยนเลย นี้เป็นเรื่องที่ ๑ ที่อยากจะฝากเอาไว้ว่า มหาธรรมกายเจดีย์นี้ ได้สร้างตามหลักที่ปู่ย่าตาทวดของเราสร้างมา ส่วนรูปร่างจะทรงเตี้ยหรือทรงสูงนั้น ก็เพื่อให้เหมาะในการใช้งานของพวกเราต่อไปในอนาคต


มหาธรรมกายเจดีย์นี้ สร้างขึ้นมาเพื่อให้บังเกิดประโยชน์สูงสุดและประหยัดกันอย่างสุดสุดอีกเหมือนกัน ประโยชน์สูงสุดของมหาธรรมกายเจดีย์ อยู่ตรงที่จะสามารถใช้ประกอบพิธีกรรมร่วมกันทั้งพระภิกษุและประชาชนได้อย่างดีเยี่ยมเลย ซึ่งยังไม่เคยมีเจดีย์ในอดีตองค์ไหนที่เตรียมที่ไว้ให้พระภิกษุได้นั่งร่วมประกอบพิธีได้จำนวนมากเหมือนอย่างมหาธรรมกายเจดีย์ของเรานี้ อย่างที่พวกเราได้ไปร่วมประกอบพิธีกันมาหลายครั้งแล้ว จะเห็นว่าในส่วนล่างรอบมหาธรรมกายเจดีย์ ได้ทำที่นั่งไว้ให้พระภิกษุนั่งได้อย่างน้อย ๑๐,๐๐๐ รูป ร่วมประกอบพิธีกับมหาชน ซึ่งแม้จะมาเป็นล้านคนก็รองรับได้


สาเหตุที่เตรียมที่นั่งของพระภิกษุเอาไว้ ๑๐,๐๐๐ รูปก็คือ ในประเทศไทยเรานี้ มีวัดอยู่ทั้งหมดประมาณ ๔๐,๐๐๐ วัด มีพระภิกษุอยู่ตลอดทั้งปีอย่างน้อย ๓๐๐,๐๐๐ กว่ารูป พระภิกษุทั้ง ๓๐๐,๐๐๐ กว่ารูปนี้มีการปกครอง มีการบริหารเป็นขั้นๆ ไป ตั้งแต่เจ้าอาวาสประจำวัดเรื่อยไปจนกระทั่งเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค เจ้าคณะหน จนกระทั่งกรรมการมหาเถรสมาคมแล้วก็ถึงสมเด็จพระสังฆราช


ปัจจุบันตำแหน่งผู้บริหารการคณะสงฆ์ ตั้งแต่เจ้าคณะตำบลจนกระทั่ง ถึงสมเด็จพระสังฆราช มีอยู่ประมาณ ๘,๐๐๐ ตำแหน่งด้วยกัน เพราะฉะนั้นจึงได้สร้างที่นั่งไว้สำหรับพระภิกษุ ๑๐,๐๐๐ ที่ ซึ่งเตรียมเอาไว้ว่า


๑.ถ้าพระมหาเถระซึ่งทำหน้าที่บริหารการคณะสงฆ์ในทุกระดับ ต้องการมาประชุมประกอบพิธีกรรมก็ดี ต้องการมาอบรมคณะสงฆ์ทั้งแผ่นดินไทยก็ดี ต้องการมาพบปะกับมหาชนทั้งแผ่นดินไทยก็ดี มหาธรรมกายเจดีย์นี้ได้เตรียมที่ไว้ให้พระมหาเถระผู้บริหารการคณะสงฆ์เหล่านั้นไว้เรียบร้อยแล้ว โดยที่รัฐบาลไม่ต้องเสียเงินแม้แต่สตางค์เดียว


เพราะพวกเราได้ช่วยกันสร้างไว้เตรียมรองรับเรียบร้อย แล้วถ้าจะถามว่าผู้บริหารการคณะสงฆ์มีเพียง ๘,๐๐๐ ท่าน ทำไมต้องเตรียมที่นั่งไว้ถึง ๑๐,๐๐๐ ก็เพื่อเตรียมการขยายงานของพระพุทธศาสนา เพื่อรองรับความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในอนาคต จึงได้เตรียมที่นั่งของพระภิกษุผู้บริหารการคณะสงฆ์เอาไว้อีกอย่างน้อย ๒,๐๐๐ ที่ นี้คือประโยชน์อย่างมหาศาลของมหาธรรมกายเจดีย์ ซึ่งได้เตรียมออกแบบไว้รองรับ


ส่วนที่นั่งของประชาชนนั้น ก็ได้เตรียมออกแบบไว้อย่างดี แม้มหาชน จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน มานั่งประกอบพิธีกรรมก็จะนั่งได้อย่างเรียบร้อย สามารถแลเห็นพระภิกษุที่นั่งให้เราได้กราบไหว้บูชาอยู่บนมหาธรรมกายเจดีย์ พร้อมกับเห็นพระพุทธรูปพระธรรมกายที่ประดิษฐานไว้ เป็นสีทองอร่ามตั้งแต่ยอดโดมของเจดีย์ลงมา

เมื่อเห็นดังนี้แล้ว เราจะบังเกิดความปลื้มปีติ และบังเกิดความคิดที่จะปฏิบัติธรรมตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างยิ่งขนาดไหน น้ำตาแห่งความปลื้มปีติในการที่จะทุ่มเทประพฤติปฏิบัติธรรม จะหลั่งไหลออกมาจากเบ้าตาของพวกเรา และลูกหลานของพวกเราในอนาคตขนาดไหน ทั้งหมดนี้คือความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาเอง เพราะฉะนั้นใครเขาจะตำหนิมหาธรรมกายเจดีย์ว่าอย่างไรก็ตามที อย่าได้ไปหวั่นไหวกับเขานะ


เรื่องที่ ๒ คือให้ไปเตือนพวกเราด้วยว่า ในการวัดใจคน อย่าเอาใจคนธรรมดาไปวัดใจกับนักสร้างบารมี มันคนละระดับกัน เหมือนอย่างกับจะหยั่งความลึกของทะเล จะไปเอาขาเป็ดขาไก่หย่อนลงไปวัดความลึกทะเลย่อมไม่ได้ จะวัดความลึกของทะเลต้องใช้เครื่องมือพิเศษ จะวัดใจนักสร้างบารมี อย่าเอาใจคนธรรมดาเข้ามาวัด


ขณะนี้ มีเรื่องแปลกในสังคมไทยก็คือ เห็นคนอื่นแม้ตั้งใจทำทาน ตั้งใจสร้างบารมี ส่วนตัวเองไม่ร่วมทำบุญ ไม่ร่วมสร้างบารมีด้วยยังไม่พอ ออกมาขวางอีกด้วย หาว่าเขาทำบุญมากไป นอกจากตัวเองไม่สร้างบุญด้วยตัวเองแล้ว ยังมาสร้างบาปด้วยการขวางไม่ให้คนอื่นสร้างบุญด้วย


เพราะฉะนั้น พวกเราอย่าได้ถลำไปตาม ไปเออออห่อหมกตามเขา บอกลูกหลานของเราด้วย อย่าให้ไปเป็นอย่างนั้น ให้ดูภาพการทำทานในระหว่างที่สร้างบารมีของพระพุทธเจ้าให้ดี


พระเวสสันดรที่เราเคยเรียนกันมาแล้ว ถึงคราวจะทำทาน อย่าว่าแต่สมบัตินอกตัว เวียงวังพระองค์ก็ยังเอามาทำทานแล้ว แม้โอรสธิดาหรือแม้มเหสีท่านก็ให้ทานมาแล้ว พระองค์ไม่รักมเหสี รักโอรส รักธิดาของท่านหรือ รัก ทำไมพระองค์จะไม่รัก แต่ว่าเมื่อมองไปแล้วทั้งโลกพบว่า ทั้งโลกนี้คนที่จะไปค้นวิธีปราบกิเลส ค้นวิธีปราบมาร ไม่มีใครแล้วนอกจากพระองค์ และถ้าพระองค์ยังต้องทรงกังวลอยู่กับพระโอรสธิดากับมเหสี คือพระนางมัทรี และกัณหา ชาลีอยู่แล้วละก็ จะเป็นอุปสรรคในการค้นคว้าปฏิบัติธรรมของพระองค์


เมื่อมองเห็นอย่างนี้แล้ว แม้มเหสี แม้โอรส แม้ธิดา ก็ได้ให้ทานไป นั่นคือใจของพระโพธิสัตว์ ใจของนักสร้างบารมีท่านมองอย่างนั้น และแน่นอน บางคนก็ด่าพระเวสสันดรว่าไม่รับผิดชอบ ก็ให้ทุกคนพิจารณาอย่างนี้


เมื่อเวลาศึกสงครามเกิดขึ้นในบ้านเมือง ดูทหารหาญทั้งหลาย ทั้งพ่อแม่พี่น้องลูกเมีย สมบัติทั้งหลายมีอยู่เท่าไหร่ทิ้งหมด คว้าอาวุธได้แล้วก็ออกรบ เพื่อป้องกันประเทศชาติบ้านเมือง เพราะตระหนักดีว่า หากไม่เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ไม่ยอมสละลูก สละเมีย สละพี่ สละน้อง สละทรัพย์สมบัติแล้ว เสียบ้านเสียเมืองแน่นอน ทุกยุคทุกสมัย ไม่เคยมีใครตำหนิทหารที่ออกไปรบว่า ทิ้งลูกทิ้งเมีย ทิ้งสมบัติ ทิ้งลูกทิ้งแม่ แม้สักรายเดียว มีแต่จะสรรเสริญ


เช่นกันคนที่เขามีปัญญา มองเห็นพระเวสสันดรว่า ท่านทำทานได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งลูกกระทั่งเมีย แม้กระทั่งชีวิต เพื่อจะไปค้นเอาธรรมะมาปราบมาร ปราบกิเลส คนมีปัญญาเขามองเห็นอย่างนี้ แล้วเขาก็ปฏิบัติตามพระเวสสันดรด้วย


แน่นอน การออกรบ มีทั้งแพ้มีทั้งชนะ เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ก็ต้องบอกว่า พระเวสสันดรให้ทานไปแล้ว ค้นวิธีปฏิบัติธรรมได้แล้ว แต่ว่าไปได้ในช่วงท้ายของชีวิต ยังไม่ทันตรัสรู้ธรรม ท่านก็สวรรคตเสียก่อน ก็ไม่เป็นไร เพราะนิสัยติดตัวพระองค์ท่านไปแล้ว ครั้นมาชาติสุดท้าย มาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ นิสัยการให้ทานอย่างทุ่มเท นิสัยการสร้างบารมีอย่างทุ่มเทของพระองค์ก็ติดมาด้วย
เมื่อถึงเวลารู้ตัวแล้วว่า ทั้งโลกนี้เว้นจากพระองค์แล้วใครจะไปค้นวิธีปฏิบัติธรรมเพื่อปราบกิเลสให้สิ้นไปนั้นไม่มีเลย พอรู้ตัวขึ้นมาเท่านั้น มหาสมบัติในวังกบิลพัสดุ์ทั้งวังนั้นไม่สนใจไยดีเลย แม้มเหสี พระนางพิมพาและโอรสที่เกิดได้เพียงวันเดียวคือเจ้าชายราหุล ตัดใจเลย แล้วก็กระโดดขึ้นหลังม้ากัณฐกะควบเข้าป่า ไปค้นหาวิธีปราบกิเลส


หมดเวลาไป ๖ ปี ก็ได้ตรัสรู้ธรรม ค้นวิธีปราบกิเลสในตัวพระองค์เองให้เรียบร้อยเป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็นำความรู้นั้นมาสอน สอนพระอรหันต์เป็นรุ่นๆ มา จนกระทั่งความรู้นั้นตกมาถึงพวกเราในปัจจุบันนี้ หัวใจนักสร้างบารมีเขาเป็นอย่างนี้ มองเห็นประโยชน์ส่วนรวมแล้ว แม้ชีวิตก็ยอมสละได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้ทรงบำเพ็ญตนสร้างบารมีเป็นตัวอย่างแก่พวกเราอย่างนี้


แม้ชีวิตสละได้ พระองค์สละมานักต่อนัก มิไยว่าจะเป็นมเหสี เป็นโอรส จะเป็นทรัพย์สมบัติ ยิ่งสละได้ง่ายอีก เพราะฉะนั้นการที่พวกเราทั้งหลาย ตั้งใจทุ่มเทสละทรัพย์ มีมากก็ทุ่มเทมาตามมาก มีน้อยก็ทุ่มเทสุดสุดกันตามน้อย รู้ว่าตัวเองทุ่มเทน้อยไปเพราะว่าทรัพย์มีน้อย ก็บำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตร ทุ่มเทเรี่ยวแรงความรู้ความสามารถ ไปตามหมู่ญาติสนิทมิตรสหาย มาร่วมเป็นเจ้าภาพสร้างมหาธรรมกายเจดีย์กัน นี้ก็เป็นวิสัยของนักรบแห่งกองทัพธรรม เป็นวิสัยของนักสร้างบารมี ผู้มีปัญญา ผู้มีบารมีย่อมจะสรรเสริญ


ถ้าจะมีติก็มีแต่คนพาลเท่านั้น เมื่อคนพาลติก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปสนใจ คุณยายท่านเคยบอกหลวงพ่อไว้เมื่อเข้าวัดทีแรก หลวงพ่อถามท่านว่า ยาย เวลาตัดสินใจจะทำหรือไม่ทำอะไร ยายมีหลักตัดสินอย่างไร จะเอาเสียงข้างมากข้างน้อยเป็นประชาธิปไตยหรือจะฟังเสียงใคร


ยายตอบหลวงพ่อชัดเจนว่า ตั้งแต่ยายเข้าวัดมา ยายไม่เคยตามใจใครเลย เพราะคนกิเลสมากด้วยกัน ตามใจไม่ได้ ตามใจคนนี้ คนโน้นก็ว่า ตามใจคนโน้น คนนี้ก็ว่า เพราะฉะนั้น ยายจึงไม่ตามใจใคร ยายตามใจอยู่คนเดียว คือพระพุทธเจ้า เพราะพระองค์ท่านหมดกิเลสแล้ว ท่านสอนไม่ผิด ท่านสั่งไม่ผิด ท่านสั่ง ท่านสอนว่าอย่างไร ยายทำตามนั้นหมด


ไม่ว่าหลวงพ่อธัมมชโย หรือตัวหลวงพ่อเองก็ตาม ก็ยึดเอาหลักนี้ แล้วก็ได้สร้างวัดร่วมกับพวกเรามาจนกระทั่งถึงวันนี้ เพราะฉะนั้นให้จำไว้ ทั้งโลกนี้อย่าตามใจใคร ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าดีที่สุด พระองค์ทรงทุ่มเทในการสร้างบุญบารมีอย่างไร ให้ทำตามนั้น และความชั่วแม้น้อยนิด อย่าไปทำเลย ความดีล่ะก็ทำเข้าไป หลวงพ่อขอฝากเป็นข้อคิดไว้ ๒ ข้ออย่างนี้นะ


๑.มหาธรรมกายเจดีย์ที่เราสร้างนี้ ไม่ผิด ถูกต้องและมีประโยชน์อย่างยิ่ง
๒.เดินตามทางพระพุทธเจ้าไปเถิด เดินไปอย่างนักสร้างบารมี อย่าเดินไปตามคนพาล เพราะพวกนี้ แม้ความดีจะสร้างให้ตัวเอง ก็ยังไม่สร้าง แล้วยังขวางทางไม่ให้คนสร้างบุญ สร้างความดีอีกด้วย เพราะฉะนั้นอย่าไปฟังตามเขานะ


แล้วก็ฝากประชาสัมพันธ์งานอุบาสกแก้ววันที่ ๑ ถึง ๓ มกราคม ก็ขอเชิญลูกผู้ชายนักสร้างบารมีทั้งหลาย มาร่วมบวชอุบาสกแก้วกัน เพื่อเอาบุญนี้กลั่นเป็นบารมีติดตัวไป ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และจะได้มีโอกาสแสดงความกตัญญูกตเวที ต่อพ่อของเราและต่อพ่อของชาติด้วย คือจะได้ร่วมใจกันถวายพระราชกุศล แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน และพระมหากษัตริย์ทุกๆ พระองค์ ที่ได้ช่วยกันสร้างชาติ สร้างประเทศมาจนกระทั่งถึงพวกเรานี้ รวมทั้งอุทิศบุญกุศลให้กับปู่ย่าตาทวดของเราที่ได้ร่วมสร้างประเทศไทยมา

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล