วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ วัฑฒิสูตร

 

เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา พระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

        เรื่องที่หลวงพ่อนำมาฝากวันนี้ มีปรากฏอยู่ในพระสูตรชื่อ "วัฑฒิสูตร" ว่าด้วยเรื่อง วิธีวัดความเจริญรุ่งเรืองของชาวพุทธ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเมื่อเจริญด้วยความเจริญ ๑๐ ประการ ชื่อว่าเจริญด้วยความเจริญอันประเสริฐ ชื่อว่ามีปกติรับเอาสิ่งที่เป็นสาระและมีปกติรับเอาสิ่งที่ประเสริฐแห่งกาย"

        นั่นคือผู้ใดมีคุณสมบัติครบทั้ง ๑๐ ประการต่อไปนี้ ย่อมชื่อว่าได้สิ่งที่เป็นสาระของชีวิต ไม่ใช่เกิดมาเปล่า แล้วก็ตายไปเปล่า เพราะฉะนั้นชาวพุทธที่แท้จริง ก่อนที่จะละสังขารไปจากโลก ต้องหาสารประโยชน์จากชีวิตนี้ให้ได้ รวมทั้งขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ควรอยู่อย่างมีความสุขกันพอสมควร

        ความเจริญ ๑๐ ประการ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้นั้น แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนที่เป็นความเจริญทางโลก กับส่วนที่เป็นความเจริญทางธรรม

        ความเจริญทางโลก
        ในฐานะที่มนุษย์ทุกคนยังต้องกินต้องใช้ ต้องประคองสังขารเอาไว้ให้ได้เสียก่อน จากนั้นถึงจะได้ประกอบคุณงามความดีให้เต็มที่ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีทรัพย์สมบัติต่างๆ เอาไว้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงร่างกาย ความเจริญทางโลกนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความเจริญทางวัตถุ หรือความเจริญทางโลกิยทรัพย์ ซึ่งมีอยู่ ๕ ประการ คือ

        ๑.เจริญด้วยนาและสวน คือ มีอสังหาริมทรัพย์ หรือมีทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ เช่น มีเรือกสวนไร่นา มีที่ทางในการประกอบอาชีพ มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักเป็นฐาน ไม่ใช่เป็นคนเร่ร่อน เที่ยวไปอาศัยนอนที่นั่นคืน ที่นี่คืน หรือว่าต้องไปอาศัยอยู่ตามใต้สะพาน เหมือนอย่างกับหมูหมากาไก่เช่นนั้น

       ๒.เจริญด้วยทรัพย์และข้าวเปลือก คือ มีสังหาริมทรัพย์ หรือมีทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ เช่น มีเงินทองเอาไว้สำหรับจับจ่ายใช้สอยอย่างเพียงพอ ทั้งเพื่อการกินการอยู่ ทั้งเพื่อการสร้างบุญบารมี พูดง่ายๆ คือ มีรายได้ มีกิน มีใช้ ไม่อด ไม่อยาก
         ๓.เจริญด้วยบุตรและภรรยา คำว่า เจริญด้วยบุตรและภรรยา ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า ให้มีบุตรและภรรยามากๆ แต่หมายความว่า ถ้าจะมีคู่ครองก็ให้เลือกคนที่มีศีลมีธรรม มาเป็นภรรยา หรือว่าสามี และให้มีความซื่อสัตย์ มีความเกื้อกูลต่อกัน ส่วนบุตรนั้นจะมีกี่คนพระพุทธองค์ไม่ได้ห้าม แต่ว่าเมื่อมีแล้วต้องเลี้ยงดูเขาให้ดี คือ ทางร่างกายก็เลี้ยงดูให้เจริญเติบโต ให้แข็งแรง อย่าให้เจ็บป่วยไข้ ทางจิตใจก็อบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี
       ๔.เจริญด้วยทาส กรรมกร และคนรับใช้ คือ การมีบริวาร มีลูกจ้าง ลูกน้อง หรือว่าคนรับใช้ ที่ได้รับการฝึกฝนอบรมมาอย่างดี ไว้ช่วยประกอบสัมมาอาชีวะมากๆ

     ๕.เจริญด้วยสัตว์ ๔ เท้า คือ สมัยที่เครื่องจักร หรือว่าเครื่องไม้เครื่องมือ ยังไม่มี ในสังคมเกษตรกรรมย่อมหนีไม่พ้นการใช้แรงงานสัตว์ เช่น วัว ควาย และการเลี้ยงสัตว์เอาไว้เป็นอาหาร ส่วนพวกพ่อค้าต้องเดินทางไกล จากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง ก็อาศัยแรงงานสัตว์ในการขนส่งเช่นกัน แถมบางครั้งมนุษย์ยังนำสัตว์ เช่น ช้าง ม้า เป็นต้น มาใช้ในการทำสงครามอีกด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องมีสัตว์เหล่านี้เอาไว้ให้เพียงพอ แต่ว่าเมื่อใช้แรงงานแล้ว ต้องเลี้ยงดูให้ดีด้วย ไม่ใช่ว่าใช้จนมันหมดแรง หรือพอมันอายุมากๆ ก็จับมาฆ่ากินเสียเลย

          ความเจริญทางธรรม ความเจริญทางธรรมนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ความเจริญทางจิตใจ" หรือว่า "ความเจริญทางอริยทรัพย์" ซึ่งมีอยู่ ๕ ประการ คือ

        ๑.เจริญด้วยศรัทธา คือ มีความมั่นคงในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างยิ่ง ตั้งแต่เชื่อคนที่ควรเชื่อ คบคนที่ควรคบ สนับสนุนคนที่ควรสนับสนุน เป็นขั้นต้น จนกระทั่งมีความเชื่อ มีความเคารพ ในคำสอนของนักปราชญ์ ของบัณฑิตผู้มีศีลมีธรรม เรื่อยไปจนถึงมีศรัทธาในคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งแล้ว ก็นำเอาคำสอนของพระองค์มาเป็นหลักในการตัดสินว่า สิ่งใดผิด สิ่งใดถูก สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร
  ๒.เจริญด้วยศีล คือ เมื่อรู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงได้ความรู้ที่บริสุทธิ์ มาจากการที่พระองค์ทรงควบคุมกาย วาจา ของพระองค์ให้บริสุทธิ์เสียก่อน เพราะฉะนั้นเราเป็นลูกถือเอาพระพุทธองค์เป็นที่พึ่งแล้ว แม้ว่าศีล ๒๒๗ ข้อ ยังรักษาไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร แต่ว่าอย่างน้อยต้องรักษาศีล ๕ ในวันธรรมดา และรักษาศีล ๘ ในวันพระให้ได้

๓.เจริญด้วยสุตตะ คือ หมั่นศึกษาธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อะไรที่ยังไม่รู้ก็รีบไปซักถามจากผู้รู้ ผู้เจริญด้วยสุตตะ ไม่ปล่อยชีวิตให้ผ่านไปวันๆ
๔.เจริญด้วยจาคะ จาคะในที่นี้ เป็นเรื่องของการเสียสละอย่างน้อย ๒ ประการด้วยกัน คือ
   ๑)สละทรัพย์ ออกมาทำบุญทำทาน สร้างบุญ สร้างกุศล เก็บเป็นเสบียงเอาไว้ภพชาติเบื้องหน้า
              ๒)สละอารมณ์ คือ สละอารมณ์ที่ไม่ดีต่างๆ ออกไปจากใจให้หมด ด้วยการทำสมาธิภาวนา เหมือนอย่างที่คุณครูไม่ใหญ่ท่านพูดอยู่บ่อยๆ ว่า "ถ้าคิดอะไรไม่ออก ก็ให้ออกจากความคิดนั้นๆ เสีย"

         สาเหตุที่ทำให้คิดอะไรไม่ออกก็เพราะว่า มีเชื้อโลภบ้าง เชื้อโกรธบ้าง เชื้อหลงบ้าง มาห่อหุ้ม คอยบีบคั้นใจคนเราอยู่ พอออกจากความคิด ด้วยการจรดใจหยุดนิ่งเข้าไปที่ศูนย์กลางกาย เข้าไปสู่แหล่งความรู้ที่บริสุทธิ์ภายในตัว เรื่องวุ่นวายต่างๆ ก็จะหมดไป
       ๕.เจริญด้วยปัญญา เมื่อใจจรดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายมากเข้า ใจก็จะสว่างขึ้นมาได้เอง แล้วความเข้าใจเหตุความเข้าใจผลก็จะเกิดขึ้นมาระดับหนึ่ง ซึ่งท่านเรียกว่า เจริญด้วยปัญญา

         แต่ถ้าใครยังก้าวเข้าไปไม่ถึงปัญญาในระดับนี้ ก็ไม่เป็นไร ไปหาปัญญาในระดับหยิบฉวยก่อนก็ได้ โดยการเข้าไปหาท่านผู้รู้ เข้าไปหาครูบาอาจารย์ หรือว่าหาตำรับตำรา เช่น พระไตรปิฎกมาอ่าน เดี๋ยวก็มีความรู้จนได้ ไม่โง่ข้ามชาติแน่นอน

จากพระสูตรนี้ เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามมนุษย์ให้รวยแล้ว พระองค์ยังทรงส่งเสริมให้รวยอีกด้วย แต่ว่าในขณะที่รวยทรัพย์ทางโลก หรือว่ารวยโลกิยทรัพย์อยู่นั้น จะต้องรวยอริยทรัพย์ด้วย พูดง่ายๆ ใครอยากรวยก็รวยไปเถอะ แต่อย่ารวยบนความพินาศ อย่ารวยบนความเดือดร้อนของคนอื่นนั่นเอง เมื่อยังไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุ ยังต้องทำมาหากิน เพราะฉะนั้นโลกิยทรัพย์กับอริยทรัพย์ต้องทำควบคู่กันไปให้พร้อม ถ้าเมื่อไรมาบวชเป็นพระภิกษุ เหมือนอย่างกับหลวงปู่ หลวงพ่อ หลวงพี่ทั้งหลาย ก็ค่อยมุ่งแสวงหาแต่อริยทรัพย์กันเพียงอย่างเดียว

หน้าที่หลักสำหรับพระภิกษุ
ในขณะที่มุ่งสะสมอริยทรัพย์อยู่นั้น พระพุทธองค์ทรงสอนให้เตรียมตัวเป็นครูไปด้วย หน้าที่หลักของพระภิกษุจึงมีอยู่ ๒ ประการ
๑.เป็นนักเรียน คือ พระภิกษุบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ต้องศึกษาและปฏิบัติตามธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด
๒.เป็นครูสอนศีลธรรม คือ เมื่อศึกษาและปฏิบัติตามธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว นำไปแจกต่อให้กับญาติโยมด้วย เป็นครูสอนศีลธรรมแบบอาสาสมัคร ที่ไม่มีค่าจ้าง มีแต่ข้าวปลาอาหารจากญาติโยมมาถวายให้ฉันเท่านั้น

หน้าที่ของสาธุชน

       ส่วนพวกเราชาวโลกก็มีหน้าที่หลักอยู่ ๒ ประการเช่นกัน คือ

๑.เป็นกองเสบียง คือ นอกจากทำมาหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวแล้ว ก็เป็นกองเสบียงให้กับพระศาสนาไปด้วย
๒.เป็นนักเรียน คือ ศึกษาธรรมะตามหลักสูตรที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดเอาไว้ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ถ้าใครอดอยากยากจนเสียแล้ว ก็ยากที่จะทำให้สมบูรณ์ได้ เพราะฉะนั้นมีทางเดียว คือต้องรวย แต่ว่ารวยในทางที่ถูกที่ควรก็แล้วกันและต้องรวยทั้งโลกิยทรัพย์และอริยทรัพย์เท่านั้น ความเจริญรุ่งเรืองถึงจะอยู่กับเราไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง ตราบจนกระทั่งไปถึงที่สุดแห่งธรรม

อริยสาวกเมื่อเจริญด้วยความเจริญ 10 ประการ
ชื่อว่าเจริญด้วยความเจริญอันประเสริฐ ชื่อว่ามีปกติ
รับเอาสิ่งที่เป็นสาระและมีปกติรับเอาสิ่งที่ประเสริฐแห่งกาย

 

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล