วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ วันมาฆบูชามหาสมาคม เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙



          วันนี้ เป็นวันมาฆบูชามหาสมาคม เป็นวันสำคัญยิ่งวันหนึ่งของโลก และเป็นวันประวัติศาสตร์ของการเริ่มต้นเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างมีระบบระเบียบ แบบแผน เมื่อราว ๒,๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา ได้มีการประชุมใหญ่ของพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ในวันที่พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ เราเรียกการประชุมครั้งนั้นว่า "จาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งพระอรหันตสาวกได้มาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมายทางวาจาแต่ต่างก็รู้กันด้วยใจของพระอรหันต์ผู้หมดกิเลส ทรงอภิญญา ท่านสามารถรับรู้ได้ด้วยญาณทัสสนะของพระธรรมกายอรหัตผล และพระขีณาสพทุกรูปล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือผู้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานการอุปสมบทให้ด้วยพระองค์เอง

         ในการประชุมวาระพิเศษครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน และทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ให้กับพระอรหันตสาวก ทั้งหลาย ซึ่งเป็นหลักธรรมคำสอนแม่บทในพระพุทธศาสนา อันจะนำพาชีวิตของผู้ที่ได้นำคำสอนนี้ไปประพฤติปฏิบัติ ให้บังเกิดความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต กระทั่งทำให้สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้

          พระพุทธองค์ทรงวางรากฐานในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยได้ตรัสถึงอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการในการเผยแผ่เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อุดมการณ์คือความตั้งใจอันสูงส่งที่ต้องยึดมั่นเอาไว้ในใจ เพื่อให้การเผยแผ่บรรลุถึงจุดหมายอย่างมีประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งในเบื้องต้นจะต้องมีขันติ ดังพระดำรัสที่ว่า "ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา" ความอดทน อดกลั้น เป็นตบะธรรมอย่างยิ่ง ต้องอดทนเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย คือนิพพาน เนื่องจากท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า "นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา" พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่าพระนิพพานเป็นเยี่ยม และในระหว่างที่มุ่งไปสู่นิพพานต้องไม่เบียดเบียนทำร้ายใคร ดังพุทธพจน์ ที่ว่า "นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต" บรรพชิตผู้ฆ่าสัตว์อื่น เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ชื่อว่าสมณะเลย "เอตัง พุทธานะสาสะนัง" นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

          ซึ่งการที่จะประพฤติปฏิบัติตามคำสอน จนกระทั่งทำพระนิพพานให้แจ้งได้นั้น จะต้องมีความอดทนเป็นพื้นฐาน ตั้งแต่ต้องอดทนต่อความยากลำบาก อดทนต่อการกระทบกระทั่ง อดทนต่ออำนาจกิเลสที่มาเย้ายวน และอดทนในการฝึกฝนอบรมใจให้หยุดนิ่ง ความอดทนเป็นคุณธรรมเบื้องต้นที่จะต้องสั่งสมอบรมให้มาก เพื่อก้าวข้ามพ้นวัฏฏะไปสู่ฝั่งแห่งพระนิพพาน เพราะท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า พระนิพพานเป็นเยี่ยม

           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทรงสรรเสริญว่า พระนิพพานเป็นเยี่ยมที่สุด และเป็นเป้าหมายอันสูงสุดของทุกชีวิต ซึ่งการที่จะบรรลุพระนิพพานได้นั้น จะต้องเจริญสมาธิภาวนาให้เข้าถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะภายใน ด้วยการทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อได้เข้าถึงพระรัตนตรัย แล้วจะได้เป็นกัลยาณมิตรให้แก่ชาวโลก และให้พึงสังวรระวังว่า ในขณะที่ไปทำหน้าที่กัลยาณมิตร ไปชักชวนคนมาสร้างความดี อย่าได้ไปเบียดเบียนบังคับใครเพื่อให้เขามาเชื่อหรือมาตามเรา ให้เขาใช้สติปัญญาใคร่ครวญดูด้วยเหตุผลไปตามความเป็นจริง และตัดสินใจเชื่อด้วยตัวเอง ซึ่งบรรพชิตหรือนักสร้างบารมีที่ดีควรจะทำอย่างนี้ ที่กล่าวมานี้คือคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และที่จะบังเกิดขึ้นในอนาคต พระองค์จะสอนตรงกันหมด

              นอกจากนี้แล้ว พระพุทธองค์ยังทรงให้หลักการในการเผยแผ่ ซึ่งเป็นหลักวิชชาชีวิตที่สำคัญ ที่จะต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เริ่มต้นด้วยการละชั่ว ทำดี ทำใจให้ใส ทรงมีพระพุทธดำรัสว่า"สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง" การไม่ทำบาปทั้งปวง "กุสะลัสสูปะสัมปะทา" การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม"สะจิตตะปะริโยทะปะนัง" การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว "เอตัง พุทธานะสาสะนัง" นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
ทั้งหลาย

              หลักการนี้เป็นหัวใจสำคัญ ที่พุทธบริษัททั้ง ๔ จะต้องนำไปใช้ในชีวิตจริง และเอาไปแนะนำชาวโลก โดยยึดมั่นหลัก ๓ ประการ คือ ให้เว้นจากความทุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ ให้ประกอบแต่สุจริตธรรมด้วยกายด้วยวาจา ด้วยใจ และต้องหมั่นทำใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ พูดง่ายๆ คือ ให้หักดิบเลิกทำความชั่วทุกชนิด ตั้งใจทำแต่ความดี มีทาน ศีล ภาวนา ประพฤติอ่อนน้อม ขวนขวานในกิจที่ชอบ อุทิศส่วนกุศล อนุโมทนาบุญ ฟังธรรม ให้ธรรมทาน และทำความเห็นให้ตรงต่อหนทางพระนิพพาน โดยเฉพาะบุญละเอียดที่ต้องทำให้มาก คือ ให้หมั่นเจริญสมาธิภาวนาทุกวันอย่า
ได้ขาด

             นอกจากนี้ พระพุทธองค์ทรงให้วิธีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องสมบูรณ์ เป็นหนทางไปสู่การมีชีวิตที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้คือ "อนูปะวาโท" ไม่ให้ไปว่าร้ายใคร "อนูปะฆาโต" ไม่ให้ไปทำร้ายใคร "ปาฏิโมกเข จะ สังวะโร"ให้สำรวมในศีล ถ้าเป็นบรรพชิตก็สำรวมในพระปาฏิโมกข์ "มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง" ให้รู้จักประมาณในการบริโภค "ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง" ให้อยู่ในเสนาสนะอันสงัด "อะธิจิตเต จะ อาโยโค" ให้หมั่นประกอบความเพียรในอธิจิต "เอตัง พุทธานะสาสะนัง" นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระพุทธโอวาทนี้จะทำให้ผู้ปฏิบัติตาม สามารถล่วงพ้นความทุกข์เข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้ และทำให้ก้าวพ้นความเป็นปุถุชนเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าได้ กระทั่งได้บรรลุพระนิพพานอันเกษม โอวาทปาติโมกข์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือเนติแบบแผนว่าด้วยการเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้เป็นหลักปฏิบัติของมวลมนุษยชาติ ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะมีพระสัมมา สัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้กี่พระองค์แล้วก็ตาม ก็ยังคงมีการสืบทอดและให้ยึดหลักการนี้ไว้เป็นแนวทางในการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอน

            ในวันนี้ เราได้พร้อมใจกันมาทำตามพระพุทธโอวาท มาประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด ถ้าเราได้เข้าถึงพระรัตนตรัยก็จะได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่แท้จริง เป็นพุทธบุตร พุทธสาวก พุทธสาวิกาที่สมบูรณ์ เป็นผู้ที่จะช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป สิ่งที่เรากำลังปฏิบัติอยู่นี้ เรียกว่าการปฏิบัติบูชา เป็นการบูชาอันสูงสุดแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นทางมาแห่งมหากุศลอันยิ่งใหญ่ของเรา

           เมื่อเราปรารถนาบุญใหญ่ และอยากจะให้ชีวิตของเราสมบูรณ์ ก็ต้องทำตามโอวาทของพระพุทธองค์ และปฏิบัติให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ เพราะบุญกุศล ความบริสุทธิ์ อานุภาพอันไม่มีประมาณ ล้วนประชุมรวมกันอยู่ในกลางพระธรรมกาย ซึ่งมีอยู่แล้วในตัวของเราและมนุษย์ทุกๆ คนในโลก ถ้าทุกคนทั่วโลกได้เข้าถึงพระธรรมกาย โลกก็จะพบกับสันติสุขที่แท้จริง สันติภาพอันถาวรก็จะบังเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการปฏิบัติตามหลักโอวาทปาติโมกข์
จึงเเป็นการสร้างสันติสุขที่แท้จริงให้บังเกิดขึ้นในโลก


          


บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล