๔.ห้องอาหาร (ห้องมหาประมาณ)
คำนิยามที่แท้จริง ห้องอาหาร คือ ห้องพัฒนานิสัยรู้ประมาณในการพูด และการใช้ทรัพย์
หลักธรรมประจำห้องอาหาร สัมมาวาจา และสัมมากัมมันตะ
หน้าที่หลักของห้องอาหาร
๑) เป็นที่ประชุมสมาชิกทุกคนในบ้านอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาทุกวัน
๒) ใช้ปลูกฝังสัมมาวาจาและสัมมากัมมันตะให้แก่สมาชิกทุกคนในบ้าน
หากสมาชิกในครอบครัวรับประทานอาหารไม่พร้อมหน้าพร้อมตากัน จะเกิดปัญหา น้อยเนื้อต่ำใจและปัญหาความแตกแยก แต่หากสมาชิกขาดสัมมาวาจาจะเกิดปัญหากระทบกระทั่งบานปลายใหญ่โต
ความรู้ที่ต้องมีเกี่ยวกับห้องอาหาร
๑) ห้องอาหาร คือ ห้องที่สมาชิกทั้งบ้านใช้รับประทานอาหารร่วมกัน จึงต้องรักษาความสะอาดให้ดี ไม่ควรเก็บอาหารไว้ในห้องนี้
๒) ห้องครัว คือ ห้องสำหรับปรุงอาหารและเก็บอาหารทุกประเภท ต้องรักษาความ สะอาดและจัดให้เป็นระเบียบ มิฉะนั้นจะเป็นแหล่งชุมนุมของมด หนู และแมลงต่าง ๆ
๓) ห้องรับแขก คือ ห้องที่ใช้ต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยียนหรือมีธุระสำคัญ จึงเสมือน เป็นหน้าตาของบ้าน ไม่ควรปล่อยให้รกรุงรัง ต้องจัดให้เป็นระเบียบและทำความสะอาดอยู่เสมอ
๔) บ้านใดที่ใช้ห้องอาหารรวมกับห้องรับแขก ควรใช้เครื่องเรือนแบ่งเขต ๒ ห้องให้ชัดเจน
๕) ควรจัดชุดเก้าอี้รับแขกไว้ตรงประตูทางเข้า และจัดโต๊ะรับประทานอาหารไว้ใกล้ ห้องครัว อีกทั้งควรตกแต่งห้องให้มีบรรยากาศเย็นตา
๖) ควรจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องใช้ของห้องครัว ห้องอาหาร ห้องรับแขก ให้พร้อมและสะอาด มีครบตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว
๗) ควรจัดเตรียมวัตถุดิบและเครื่องปรุงให้ครบตามความจำเป็น และเพียงพอกับคน ในบ้าน
๘) ควรฝึกอบรมสมาชิกในบ้านให้รู้จักช่วยกันทำครัวตั้งแต่เยาว์วัยเพื่อฝึกความสามัคคี
๙) ควรฝึกสมาชิกในบ้านให้รู้จักวิธีการถนอมอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
ประโยชน์จากการใช้ห้องอาหารอย่างถูกต้อง
๑) ทางใจ
๑.๑) รู้จักประมาณในการรับประทานอาหาร คือ ระลึกอยู่ว่าเรารับประทานอาหารเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ จะได้นำเรี่ยวแรงไปทำความดี
๑.๒) รู้จักประมาณในการใช้ทรัพย์ คือ รู้จักการกำหนดรายจ่ายให้น้อยกว่ารายได้ จะได้มีทรัพย์เหลือเก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น และใช้บริจาคสร้างบุญกุศลอันเป็นหนทางไปสู่สุคติในสัมปรายภพ
๑.๓) รู้จักประมาณในวาจา คือ การใช้คำพูดที่นุ่มนวล มีเหตุผล มีประโยชน์ เหมาะแก่กาลเทศะในสถานการณ์ต่าง ๆ
๒) ทางกาย
๒.๑) ใช้ห้องอาหารสำหรับประกอบอาหาร
๒.๒) ใช้เป็นที่ประชุมสมาชิกพร้อมหน้าพร้อมตา
๒.๓) ใช้ห้องอาหารเป็นที่รับประทานอาหาร
๒.๔) ใช้ห้องอาหารเป็นที่เก็บอาหาร
๒.๕) ใช้ห้องอาหารเป็นที่ต้อนรับแขก
๕. ห้องทำงาน (ห้องมหาสมบัติ)
คำนิยามที่แท้จริง ห้องทำงาน คือ ห้องพัฒนานิสัยใฝ่ความสำเร็จ
หลักธรรมประจำห้องทำงาน สัมมาอาชีวะและสัมมาวายามะ
หน้าที่หลักของห้องทำงาน
๑) ใช้ในการปลูกฝังสัมมาอาชีวะ ไม่หารายได้จากการทำผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย ผิดจารีตประเพณี
๒) ใช้ปลูกฝังวินัยประจำห้องทำงาน ๖ ประการ
๒.๑) มีสัมมาวาจา ใช้คำพูดได้เหมาะสม
๒.๒) มีความเคารพในบุคคล สถานที่ เหตุการณ์
๒.๓) มีมารยาทดี เหมาะแก่บุคคลและกาลเทศะ
๒.๔) มีความรับผิดชอบทั้งส่วนตัวและส่วนรวม
๒.๕) เคร่งครัดต่อระเบียบวินัยในการทำงาน
๒.๖) เอาใจใส่ดูแลอุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องทำงาน
ความรู้เกี่ยวกับห้องทำงาน
๑) เลือกประกอบสัมมาอาชีพที่ไม่ผิดศีลธรรม ไม่ผิดกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับอบายมุข ไม่ก่อให้เกิดมิจฉาทิฐิ
๒) ทำเลที่ประกอบอาชีพต้องสอดคล้องกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อความเหมาะสม ในการทำงาน และเพื่อความสำเร็จในอาชีพ
๓) ห้องทำงานต้องเหมาะสมกับจำนวนบุคลากร และชนิดของงาน
๔) การตกแต่งต้องสะดวกในการทำงาน สะอาด ถูกสุขอนามัย มีความปลอดภัย ไม่มีภาพลามกอนาจาร
๕) อุปกรณ์เครื่องใช้ในแต่ละห้องต้องเพียงพอ จัดเก็บเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว
๖) ใช้อุปกรณ์อย่างถูกวิธี และหมั่นดูแลรักษา จะได้มีไวใช้งานได้นาน ๆ หากเกิด ชำรุดเสียหายต้องรีบซ่อมแซม
๗) มีกุศโลบายในการสนับสนุนคนดี แก้ไขคนโง่ คัดคนพาลออก
ประโยชน์จากการใช้ห้องทำงานอย่างถูกต้อง
๑) ทางใจ
๑.๑) สามารถใช้สติปัญญาในการประกอบอาชีพได้ประสบผลสำเร็จด้วยดีตาม เป้าหมาย
๑.๒) มีโอกาสเพิ่มบุญกุศลให้ตนเองเป็นนิจ
๑.๓) แสวงหาความรู้ เพิ่มพูนปัญญาทางโลกและทางธรรม จะได้ไม่ต้องก่อเวร กอภัยกับใครทั้งสิ้น
๒) ทางกาย
๒.๑) ใช้เพิ่มปัญญาในการประกอบสัมมาอาชีพ
๒.๒) ใช้พัฒนาความชำนาญในการทำงาน
๒.๓) ใช้ฝึกนิสัยมีวิริยอุตสาหะในการทำงาน
๒.๔) ใช้เพิ่มพูนทรัพย์ เป็นทางมาแห่งมหาสมบัติ
(อ่านต่อฉบับหน้า) |