มาฆบูชามหาสมาคม
แสงสว่างอันเกิดจากเพลิงปัญญาอันรุ่งโรจน์ของพระสัมมา- สัมพุทธเจ้า ได้ส่องทางให้หมู่มนุษย์มองเห็นเป้าหมายของชีวิตอย่างชัดแจ้ง หนทางอันประเสริฐนี้เห็นได้ยากนัก แม้ดวงอาทิตย์จะขึ้นพร้อมกันสักล้านดวง ยังมิอาจบดบังหรือสกัดกั้นพระปัญญาอันรุ่งโรจน์ของพระพุทธองค์ได้ กลับต้องพ่ายแพ้และยอมเปิดโอกาสให้หมู่มนุษย์ได้หลุดพ้นจากทะเลภัยในวัฏสงสาร ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่นับอสงไขยไม่ถ้วน
วันจาตุรงคสันนิบาต นิมิตหมายแห่งเหตุการณ์อัศจรรย์ ๔ ประการ ได้ปรากฏขึ้น วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ เดือน ๓ ดิถีมาฆฤกษ์ ณ เวฬุวันมหาวิหาร ยามตะวันบ่าย พุทธสาวก ๑,๒๕๐ รูป ที่ได้ยาตราไปทั่วแดนชมพูทวีป ต่างกลับมาประชุมพร้อมกันโดย มิได้นัดหมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา ที่พระพุทธเจ้า ทรงประทานการบวชให้ด้วยพระองค์เอง และต่างบรรลุธรรมเป็น พระอรหันตขีณาสพ ผู้ได้ชื่อว่าชนะแล้วในสมรภูมิชีวิต
วันมาฆบูชาเป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อหมู่สัตว์ เป็นวันที่ประทานโอวาทปาฏิโมกข์ อันเป็นหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ให้ส่องสว่างเป็นดวงประทีปประจำโลกตลอดไป
ในวันอาทิตย์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓ ณ ลานธรรม มหาธรรมกายเจดีย์ วัดพระธรรมกาย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี จึงได้จัดพิธี จุดโคมมาฆประทีปน้อมถวายเป็นพุทธบูชาเช่นเดียวกับทุกปี และที่พิเศษก็คือ วันมาฆบูชาในปีนี้เป็น วันครบรอบ ๔๐ ปี ของวัดพระธรรมกายซึ่งมีเหล่า พุทธศาสนิกชนทั้งภายในและต่างประเทศ เดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ภาคเช้า ที่ลานรอบมหาธรรมกายเจดีย์ได้จัดให้มีพิธีตักบาตรแด่พระภิกษุสามเณรวัดพระธรรมกาย และพระภิกษุจากโครงการอุปสมบทหมู่ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย ที่เดินทางมาอยู่ร่วมพิธีจุดโคมมาฆประทีป ณ วัดพระธรรมกาย เป็นบรรยากาศแห่งความสดชื่นเบิกบาน ในขณะที่พุทธศาสนิกชน กำลังใส่บาตร ยังคงเป็นช่วงเวลาที่ผู้มีจิตศรัทธาจากทั่วสารทิศได้เดินทางหลั่งไหลมาสู่วัดพระธรรมกายอย่างไม่ขาดสาย แม้มีสาธุชนจำนวนมากเรือนแสน แต่ก็ไม่มีภาพของความวุ่นวายให้เห็นแต่อย่างใด เพราะได้มีการซักซ้อมเตรียมการจัดระบบระเบียบต่าง ๆ ในการต้อนรับไว้ทุก ๆ ด้าน เริ่มตั้งแต่ระบบการจราจร เส้นทางการเดินรถแบ่งเป็นภูมิภาคชัดเจน ระบบอาหารและน้ำดื่มที่มีบริการรายรอบศูนย์กลางพิธี ทั้งที่สภาธรรมกายสากล และรายรอบ มหารัตนวิหารคด พร้อมทั้งรอยยิ้มแจ่มใสของ
วันนี้เป็นวันดี วันมาฆบูชามหาสมาคม ในปีนี้มีเดือนแปด ๒ หน วันมาฆบูชาจึงมาตรงกับ วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ซึ่งเป็นวันที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อตัวเราและชาวโลกทั้งหลาย เมื่อราว ๒,๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา ณ พระอารามเวฬุวัน ในเวลาตะวันบ่าย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ ได้ประทานโอวาทปาฏิโมกข์แด่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ที่ท่านมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายทางวาจา แต่ทว่ารู้กันด้วยใจของพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญาที่หมดกิเลสแล้ว และทุกรูปล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นผู้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานการอุปสมบทให้ในครั้งนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงโอวาท- ปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นหลักธรรมแม่บทที่ว่าด้วยอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการ ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อให้การเผยแผ่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเพื่อยังสันติสุขที่แท้จริงให้บังเกิดขึ้นแก่มวลมนุษยชาติ โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา และเผ่าพันธุ์
สำหรับอุดมการณ์นั้น หมายถึง ความตั้งใจอันสูงส่งในการที่จะอุทิศตนเพื่อเผยแผ่พระธรรม คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปยังชาวโลก ซึ่ง ผู้ที่จะไปทำหน้าที่เผยแผ่หรือทำหน้าที่เป็นผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตร จะต้องมีขันติธรรมเป็นคุณธรรม ในเบื้องต้นก่อน สมดังพระดำรัสที่ว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ซึ่งแปลว่า ความอดทนคือความอดกลั้น เป็นตบะธรรมอย่างยิ่ง คือ จะต้องรู้จักอดทนตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ อย่างน้อยก็เริ่มตั้งแต่อดทนต่อความลำบากตรากตรำ อดทนต่อทุกขเวทนา อดทนต่อการกระทบกระทั่งกัน และอดทนต่อกิเลสสิ่งเย้ายวนใจ ถ้าหากสามารถอดทนต่อสิ่งเหล่านี้ได้ก็จะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปสู่ เป้าหมาย คือ อายตนนิพพานได้ ซึ่งพระสัมมา- สัมพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา ท่านผู้รู้ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายทุกพระองค์ตรัสว่าพระนิพพานเป็นเยี่ยม คือ ทรงเห็นพ้องต้องกันว่า สิ่งที่เลิศประเสริฐที่สุด คือ พระนิพพาน ดังนั้น มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาแล้วจะต้องแสวงหา พระนิพพาน และในระหว่างทางที่สร้างบารมีจะต้องไม่ไปเบียดเบียนใคร ไม่ไปทำร้าย หรือผูกพยาบาทใคร ดังพระดำรัสที่ว่า น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต คือ ผู้ฆ่าสัตว์อื่นและเบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย ไม่ชื่อว่าเป็นผู้สงบเลย เอตํ พุทฺธานสาสนํ นี้เป็นคำสอนของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย
และจากนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงให้หลักการในการปฏิบัติ เพื่อให้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิต ให้ได้บรรลุเป้าหมายของชีวิต ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่ง่ายต่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เริ่มต้นตั้งแต่ทรงสอนให้ละชั่ว ให้ทำความดี และก็ให้ทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส ทรงมีพุทธดำรัสว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง กุสลสฺสูปสมฺปทา การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม สจิตฺตปริโยทปนํ การทำ จิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส เอตํ พุทฺธานสาสนํ นี้เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ ให้งดเว้นบาปทุกชนิด ให้สร้าง แต่บุญกุศล และก็ฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าไปถึง พระรัตนตรัยภายในตัวให้ได้
สุดท้ายพระพุทธองค์ก็ทรงให้วิธีการในการที่จะออกไปทำหน้าที่เผยแผ่ โดยให้ทำตัวให้เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา และเป็นต้นบุญต้นแบบที่ดีแก่ชาวโลก ทรงให้แนวทางในการประพฤติปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้ คือ อนูปวาโท ไม่ให้ไปว่าร้ายใครหรือไปกระทบกระทั่งทะเลาะเบาะแว้งกับใคร อนูปฆาโต ไม่ให้ไปทำร้ายใคร หรือไปขู่บังคับให้ใครเขามาเชื่อเรา แต่ต้องแสดงด้วยเหตุ ด้วยผล จนทำให้เขาเข้าใจ ให้โอกาสเขาได้ไตร่ตรองตามด้วยสติปัญญาจนเกิดความศรัทธาด้วยตัวของเขาเอง ปาฏิิโมกฺเข จ สํวโร ให้สำรวมในศีลและมารยาท จะได้ไม่ไปเบียดเบียนใคร หรือทำให้ใคร ๆ เขาเดือดร้อน รำคาญ และยังเป็นที่น่าเคารพเลื่อมใสอีกด้วย มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ รู้จักประมาณในการบริโภคแต่พอดี เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ให้อยู่ในเสนาสนะอันสงัดที่เป็นสัปปายะ เอื้ออำนวยต่อการ ปฏิบัติธรรม และประการสุดท้าย อธิจิตฺเต จ อาโยโค ให้หมั่นประกอบความเพียรในอธิจิต คือ หมั่นเจริญสมาธิภาวนาให้มีใจละเอียดบริสุทธิ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เอตํ พุทฺธานสาสนํ นี้เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย
ที่กล่าวมาทั้งหมดโดยสรุปนี้ เป็นพุทธโอวาท ที่สำคัญที่สุด ที่เราและชาวโลกจะต้องนำไปปฏิบัติเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในปัจจุบันนี้ และจะเป็นประโยชน์ต่อไปถึงในปรโลก รวมทั้งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คือทำให้บรรลุพระนิพพานได้ การแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นี้มีปรากฏขึ้นในทุกยุค ทุกสมัย ที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก และไม่ว่าจะมาตรัสรู้กี่พระองค์ก็ตาม ทุก ๆ พระองค์ ก็จะสอนตรงกันหมดเหมือนเป็นเนติแบบแผนเดียวกัน ดังนั้น โอวาทปาฏิโมกข์นี้ จึงเป็นหลักธรรมที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาและเป็นหลักปฏิบัติที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง เพราะสามารถสร้างสันติสุขที่แท้จริงและสันติภาพโลกให้บังเกิดขึ้นได้
ในวันนี้เราก็ได้มาทบทวนโอวาทปาฏิโมกข์ ได้ปฏิบัติบูชา และก็จะได้ร่วมกันจุดมาฆประทีปถวายเป็นพุทธบูชา รวมทั้งบูชาพระอรหันตสาวก ทั้งหลายด้วย โดยเราจะเริ่มจุดความสว่างภายในใจของเราก่อน และเมื่อใจของเราสว่างดีแล้ว ก็ค่อยมาจุดความสว่างที่ดวงประทีป ซึ่งบุญจากการจุดประทีป บูชานี้ จะทำให้เราเป็นผู้มีจักษุที่สดใส สวยงาม เราจะไม่เป็นโรคเกี่ยวกับดวงตา และจะเป็นผู้ถึงพร้อมทั้งมังสจักษุ ทิพยจักษุ ปัญญาจักษุ สมันตจักษุ และธรรมจักษุ เราจะมีดวงปัญญาที่สว่างไสว มีตาทิพย์ดุจเดียวกับพระอนุรุทธะ และจะมีดวงตาเห็นธรรม สามารถหยั่งรู้ทั่วถึงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายได้
|