นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
มีเรื่องเล่าว่า ณ แดนหิมวันต์ประเทศ มีเทือกเขาชื่อว่า สาตาคิรี เป็นรมณียสถาน ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกยักษ์ภุมเทวา อันมีนามตามที่อยู่ว่า สาตาคิรียักษ์ เป็นบริวารของท้าวเวสสุวัณ มีหน้าที่เฝ้าทางเข้าหิมวันต์ทางทิศเหนือ สาตาคิรียักษ์มีโอกาสสดับ พระสัทธรรมจากพระบรมศาสดาจนมีจิตเลื่อมใสศรัทธา เปล่งคำยกย่องบูชาด้วยคำว่า "นะโม" หมายถึง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นใหญ่กว่ามนุษย์ เทพยดา พรหม มาร ยักษ์ และสัตว์ทั้งปวง
ฝ่ายอสุรินทราหู เมื่อได้สดับพระกิตติศัพท์ของพระบรมศาสดา ก็ปรารถนาที่จะฟังธรรมบ้าง แต่เนื่องจากกายของตนใหญ่โตเท่ากับโลก จึงดูแคลนพระบรมศาสดาว่ามีพระวรกายเล็กดังมด จึงอดใจรั้งรออยู่ นานวันเข้าพระเกียรติคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ยิ่งขจรขจายไป ทำให้ทนรออยู่ไม่ไหว จึงเหาะมาและตั้งใจว่าจะร่ายเวทย่อกายไปเฝ้า พระพุทธองค์เพื่อขอฟังธรรม แต่พอมาถึงที่ประทับ อสุรินทราหูกลับต้องแหงนหน้า คอตั้งบ่า เพื่อจะได้ทัศนาพระพักตร์พระบรมศาสดา ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง แสดงพระสัทธรรมชำระจิตอันหยาบกระด้าง ของอสุรินทราหูจนมีความเลื่อมใสศรัทธาแสดงตน เป็นอุบาสกผู้ถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต แล้วกล่าวสรรเสริญพระบรมศาสดาว่า "ตัสสะ" แปลว่า ขอบูชา ขอนอบน้อม ขอนมัสการ
เมื่อครั้งที่ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ผู้ดูแลปกครองสวรรค์ชั้นแรกพร้อมบริวารพากัน เข้าเฝ้าพระบรมศาสดา แล้วทูลถามปัญหา พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมตอบปัญหาจนทำให้มหาราชทั้งสี่ และบริวารเกิดธรรมจักษุ ทั้ง ๔ ท่าน จึงเปล่งคำบูชาสาธุการ ขึ้นว่า "ภะคะวะโต" แปลว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้จำแนกธรรมอันยิ่ง อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
"อะระหะโต" เป็นคำกล่าวสรรเสริญของท้าวสักกเทวราชผู้สถิตอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสักกเทวราชได้ทูลถามปัญหา ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสปริยายธรรม และทรงตอบปัญหาจนทำให้ท้าวสักกเทวราชได้ดวงตาเห็นธรรม จึงเปล่งอุทานคำบูชาขึ้นว่า "อะระหะโต" แปลว่า อรหันต์ เป็นผู้ไกลจากกิเลส ไกลจากเครื่องข้องทั้งปวง
"สัมมาสัมพุทธัสสะ" เป็นคำกล่าวยกย่องสรรเสริญของท้าวมหาพรหม หลังจากได้ฟังธรรมจนบังเกิดธรรมจักษุ จึงเปล่งคำสาธุการ "สัมมาสัมพุทธัสสะ" หมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยพระองค์เอง ทรงรู้ดี รู้จริง รู้ยิ่งกว่าผู้รู้อื่นใด รวมเป็นบทเดียวว่า "นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ" แปลโดยรวมว่า ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง