ปกิณกธรรม
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ.๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ.๙
/ ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
อุเบกขาบารมี
ใจหยุดคือที่สุดของอุเบกขา
"แผ่นดินย่อมวางเฉยต่อของที่สะอาด และไม่สะอาดซึ่งเขาทิ้งลงไป เว้นขาดจากความโกรธ และความยินดีต่อสิ่งทั้งสองนั้น ฉันใด แม้ท่านก็ควรเป็นประดุจตราชูในสุข และทุกข์ในกาลทุกเมื่อฉันนั้น เมื่อถึงความเป็นอุเบกขาบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณ"
หลังจากที่ได้ศึกษาเรื่องราวการสร้างบารมีของ พระโพธิสัตว์มาแล้ว ตั้งแต่ ทานบารมี เพื่อกำจัด ความโลภ ความตระหนี่ถี่เหนียว ศีลบารมี กำจัดความหยาบคาย ความดุร้าย ความประพฤติที่ไม่เรียบร้อย ด้วยความคิดว่า ผู้อื่นอย่าได้มาเดือดร้อน เพราะความไม่ดีของเราเลย เนกขัมมบารมี กำจัดความรักสวยรักงาม ความข้องอยู่ในกามทั้งหลาย เป็นตายอย่างไรจะไม่ยอมเป็นทาสกามอย่างเด็ดขาด ปัญญาบารมี มุ่งกำจัดความไม่รู้ กำจัดความโง่ กำจัดทิฐิมานะที่คิดว่าตนเองเก่งแล้ว วิริยบารมี มุ่งกำจัดความท้อแท้ ท้อถอย ความเกียจคร้าน ด้วย ความตั้งใจว่ายอมตายแต่จะไม่ยอมแพ้ ขันติบารมี กำจัดความหวั่นไหว ความมีใจที่ไม่มั่นคงต่อสิ่งที่มา กระทบ สัจจบารมี เพื่อกำจัดความเป็นคนโลเลไม่กล้าสู้ความจริง อธิษฐานบารมี กำจัดความไม่มั่นคง ต่อเป้าหมายการสร้างบารมี เมตตาบารมี กำจัด ความคิดมุ่งร้าย ความโกรธเคือง
บารมีอันดับสุดท้ายที่สุเมธดาบสโพธิสัตว์ตรวจ ดูด้วยญาณทัศนะ ก็พบว่า อุเบกขาบารมี เป็นสิ่งที่จะต้องทำอย่างยิ่งยวด เพราะเล็งเห็นอุปสรรคสำคัญ ของการบรรลุธรรม นั่นคือความมีหัวใจลำเอียง เมื่อท่านเล็งเห็นอย่างนี้แล้ว ก็ตั้งเป้าตั้งปณิธานไว้เลยว่า ไม่ว่าจะประสบความสุขหรือความทุกข์อย่างไร ใจ จะไม่ขึ้น ๆ ลง ๆ จะรักษาใจให้คงความราบเรียบ สงบนิ่งไม่หวั่นไหว มั่นคงเหมือนแผ่นดิน ไม่ว่าใครจะราดรดด้วยของที่สะอาดหรือไม่สะอาดก็ตาม
อุเบกขา หมายถึง การวางเฉยในอารมณ์ ต่าง ๆ ที่มากระทบทั้งที่เป็นสิ่งที่ดีและไม่ดี วางเฉย ในเรื่องการมีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ มีใจที่เที่ยงธรรมไม่เอนเอียง ไปข้างใดข้างหนึ่ง มีใจราบเรียบ สงบ สม่ำเสมอ บารมีข้อนี้จัดเป็นบารมีข้อสำคัญต่อการปฏิบัติธรรม เพราะการปฏิบัติธรรม คือ การวางใจเป็นกลาง ๆ เพื่อจะได้หยุดเป็นจุดเดียวกัน
วิธีรักษาใจให้เป็นกลาง
๑. พิจารณาให้เห็นโลกธรรม ๘ ประการว่า เป็นสิ่งที่ทุกคนย่อมต้องประสบไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย เป็นของคู่โลก เมื่อพิจารณาได้ ใจจะบรรเทาความหวั่นไหวในสิ่งเหล่านี้ลงได้
๒. สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ขาดหรือ เกินที่ใด ก็ช่วยกันจัดการแบ่งปันให้เสมอภาคกัน แม้ ในบางครั้งเราอาจได้รับความลำบากบ้าง ก็ต้องยอม
๓. วางใจที่เป็นกลาง ด้วยการพิจารณาว่าสัตว์ ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ใครทำกรรมใดไว้ก็ย่อม ได้รับผลของกรรมนั้น สรรพสิ่งก็ไม่เที่ยง เมื่อเกิดขึ้น ก็มีตั้งอยู่ และที่สุดต้องเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา จักยึดถืออะไรได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ใจจักไม่ยึดมั่น จักไม่กังวลในสิ่งใด
๔. หมั่นนั่งสมาธิอยู่เสมอ ๆ เพราะการนั่งสมาธิ จะทำให้ใจหนักแน่น ไม่ยึดติดในวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ได้ง่าย มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ไปตามความเป็นจริง และ สามารถละความยินดียินร้าย ยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น ได้ทุกเหตุการณ์
ในสมัยอดีต พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นลูกเศรษฐี เรียนศิลปวิทยาทุกแขนงในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมื่อมารดาบิดาล่วงลับไปแล้ว แม้พวกญาติขอร้องให้แต่งงาน แต่ท่านกลับเห็นความไม่เที่ยงของชีวิต สามารถพิจารณาอสุภสัญญาในกาย จึงอยากออก บวช เพราะฉะนั้น ท่านจึงเริ่มตั้งโรงทานแจกข้าวปลาอาหารและเสื้อผ้าแก่ทุกคนที่ผ่านมา โดยไม่มีความตระหนี่เลย
เมื่อได้โอกาสเหมาะสม ท่านตัดสินใจออกจากบ้านด้วยผ้าผืนที่นุ่งอยู่ แล้วคิดที่จะบำเพ็ญอุเบกขา บารมีให้ถึงที่สุด โดยเริ่มทำตนเป็นผู้ประพฤติขัดเกลา กิเลสอย่างยิ่ง คือไม่ยอมเปลี่ยนผ้าที่สวมใส่ จนเก่าขาดวิ่น ไม่อาบน้ำ ไม่ตัดเล็บมือเล็บเท้า ไม่ทำความ สะอาดร่างกาย มีสติปัญญาดีก็แสร้งทำเป็นโง่เขลา ใครเห็นก็พูดจาด่าทอ แสดงอาการรังเกียจ ตรงไหน ที่มีคนเย้ยหยันมาก ก็จะอยู่ในที่นั้นนานหน่อย ถ้าเห็นว่าไม่มีใครมีอารมณ์เย้ยหยันแล้วก็จากไป แม้ผ้านุ่งเก่าจนเป็นผ้าขี้ริ้วก็ไม่รับผ้าที่ใคร ๆ ให้ สวมใส่เพียง เพื่อปกปิดอวัยวะที่ทำให้กิเลสกามกำเริบเท่านั้น
มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระโพธิสัตว์ได้จาริกเข้าไปในหมู่บ้านใหญ่แห่งหนึ่ง ณ ที่นั้น พวกเด็กชาวบ้าน มีนิสัยนักเลง ชอบตีรันฟันแทง ก้าวร้าว พูดจาหยาบคาย เวลาเด็กชาวบ้านเห็นคนแก่เข็ญใจ แทนที่ จะเมตตา กลับเอาฝุ่นละอองโปรยใส่หลัง ล้อเลียนท่าเดินงก ๆ เงิ่น ๆ หัวเราะด้วยความสนุกสนาน เมื่อพระโพธิสัตว์เดินทางมาพบเข้า รู้ตัวว่าคงหลบหลีกเด็กเกเรเหล่านี้ไม่ได้แน่ จึงคิดว่า "บัดนี้ เราจะได้บำเพ็ญอุเบกขาบารมีอย่างปรมัตถ์แล้วสิหนอ"
เมื่อพวกเด็กอันธพาลหันมาพบเข้า จึงเปลี่ยน จากการล้อเลียนและรังแกคนแก่ เบนเป้าหมายมาที่ พระโพธิสัตว์ทันที พระโพธิสัตว์พยายามประคองตัวเองที่สะบักสะบอมเพราะโดนเด็กแกล้ง เดินโซซัด โซเซเข้าไปในป่าช้า ทำคล้ายกับว่ากลัวเด็กอันธพาล พวกเด็กได้ใจก็ตามท่านเข้าไปในป่าช้าด้วย ท่านเข้า ไปพักผ่อน ด้วยการเอาโครงกระดูกทำเป็นหมอนหนุนนอน
พวกเด็กอันธพาลก็เยาะเย้ยว่า ในโลกนี้ไม่มีใคร เซอะซะโง่เขลาเหมือนนักพรตเสื้อขาดนี้เป็นแน่ ว่าแล้วก็พากันถ่มน้ำลายใส่ด้วยอาการเหยียดหยาม จากนั้นก็พากันกลับไป พระโพธิสัตว์ไม่ได้รู้สึก ทุกข์ร้อน หรือโกรธเคืองเด็ก ๆ เหล่านั้นเลย มีใจเป็นอุเบกขาในกิริยาก้าวร้าวที่พวกเด็ก ๆ ทำกัน ซึ่งเด็กเหล่านี้ก็ชอบมารังแกท่านทุกวันด้วยความคึกคะนอง
ฝ่ายผู้ใหญ่บ้านมาเห็นเข้า พิจารณาดูบุคลิก ลักษณะแล้ว ก็รู้ว่านี่คือนักพรตผู้มีอานุภาพมาก มีตบะเป็นมหาโยคี จึงเข้ามาห้ามเด็ก ๆ จากนั้น จึงพากันกระทำสักการะด้วยของหอมและระเบียบดอกไม้มากมาย ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็เป็นเช่นเดิม คือ มีใจเป็นกลางในทุกอย่าง
ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "เรานอนอยู่ ในป่าช้า เอาซากศพซึ่งมีแต่กระดูกทำเป็นหมอนหนุน เด็กชาวบ้านพากันเข้าไปทำความหยาบช้าร้ายกาจนานัปการ อีกพวกหนึ่งร่าเริง อีกพวกหนึ่งสลดใจ พากันนำเอาของหอม ดอกไม้ อาหาร และเครื่องบรรณาการต่าง ๆ เป็นอันมากมาให้เรา พวกใดนำ ทุกข์มาให้เราและพวกใดให้สุขแก่เรา เราเป็นผู้มีจิต เสมอแก่เขาทั้งหมด ไม่มีความเอ็นดู ไม่มีความโกรธ เราเป็นผู้วางเฉยในสุขและทุกข์ ในยศและความเสื่อม ยศ เป็นผู้มีใจเสมอในสิ่งทั้งปวง นี้เป็นอุเบกขาบารมี ของเรา"
นิสัยดีเพื่อเป็นนักสร้างบารมีต้นแบบ
นี้คือตัวอย่างการสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์ ที่เป็นแบบอย่างให้เราได้ประพฤติปฏิบัติตาม เพราะ การที่จะบรรลุธรรมให้ได้นั้น บารมีทั้ง ๑๐ ทัศ ต้อง เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ หรืออาจกล่าวง่าย ๆ คือ นิสัยที่ดี ๆ ทั้ง ๑๐ ประการ ต้องมีอย่างบริบูรณ์ ได้แก่ รักการให้ รักศีลยิ่งชีวิต หลีกออกจากกาม รักในการแสวงหาความรู้ รักการปรับปรุงแก้ไขตนเอง ทน ต่อการกระทบกระทั่งได้ มีความจริงใจและความมั่นคงต่อการสร้างความดี มีความรักใคร่ปรารถนาดีต่อทุก ๆ คน และสุดท้ายเป็นผู้มีความเที่ยงธรรม นิสัยเหล่านี้คือสิ่งที่เราท่านทั้งหลายจะต้องทำให้บังเกิดขึ้น และต้องทำตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้ใจคุ้นต่อความดี เมื่อเราหมั่นสร้างอุปนิสัยที่ดีให้บังเกิดขึ้นอยู่เนืองนิตย์ ไม่ช้าใจเราก็จะคุ้นกับความดี ซึ่งจะ เป็นหลักประกันว่า ชีวิตเราจะปลอดภัย ไม่ตกไปสู่อบาย จนกระทั่งถึงฝั่งแห่งพระนิพพานในที่สุด