ชาวคลองหลวง และชาววัดพระธรรมกาย
ร่วมใจป้องกันภัยน้ำท่วม
ภาษิตจีนโบราณที่ว่า “จงจุดเทียน ดีกว่าสาปแช่งความมืด” ให้นัยสำคัญที่ทำให้เราต้องหยุดคิดว่า อะไรคือสิ่งที่ควรเลือกทำในท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้...
ในช่วงที่สังคมไทยของเรากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตอุทกภัยครั้งร้ายแรง จะเห็นได้ว่าบรรดาสื่อมวลชนต่างพากัน นำเสนอข่าวของพี่น้องประชาชนไทยที่ประสบภัยอย่างใกล้ชิด และทันต่อสถานการณ์สมกับเป็นยุคโลกาภิวัตน์ เรื่องราวเหตุการณ์ที่ได้อ่าน ได้ฟัง ได้ชมจากสื่อต่าง ๆ ก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกหลากหลายประการ มีทั้งความเห็นอกเห็นใจ ความเศร้าสลด ความวิตกกังวล ความลุ้นระทึก ฯลฯ ในบรรดาความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมนี้ “ความชื่นชมอย่างจริงใจ” เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทุกคนอยากมอบให้แก่คนไทยทั้งแผ่นดิน ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยโอบอุ้มพี่น้องไทยโดยไม่ทอดทิ้งกัน ทั้ง ๆ ที่หลายคนก็ตกอยู่ในสภาพของผู้ประสบภัย
๑
เหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งนี้ เริ่มจากมวลน้ำเหนือจำนวนมหาศาลไหลบ่าลงมายังจังหวัดต่าง ๆ จนทำให้หลายจังหวัดในภาคกลางกลายเป็นทะเลสาบอยู่นานนับเดือน สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงแก่ทุกฝ่าย และต่อมาได้พัฒนาไปเป็นความเสียหายในระดับประเทศ ซึ่งพี่น้องชาวไทยต่างได้รับผลกระทบโดยถ้วนหน้ากัน และที่สำคัญหากมวลน้ำมหึมานี้เข้าโจมตีศูนย์รวมของประเทศ คือกรุงเทพมหานครได้เมื่อไร ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยจะหนักหนาสาหัสขึ้นอีกหลายเท่า
ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการปกป้องส่วนรวมเอาไว้ กลุ่มบุคคลอันได้แก่ เหล่าพระภิกษุ สามเณร หลายร้อยรูป อุบาสก อุบาสิกา ผู้นำบุญ อาสาสมัคร ตลอดจนพี่น้องประชาชนริมฝั่งคลอง รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ จึงเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ผนึกกำลังต้านมวลน้ำ โดยการสร้างทำนบกั้นน้ำด้วยกระสอบทรายสูงถึง ๓ เมตรกว่า บริเวณริมฝั่งคลองระพีพัฒน์ เป็นระยะทางถึง ๘ กิโลเมตร ตั้งแต่คลองหนึ่งถึงคลองสาม
ทั้งนี้เพราะคลองระพีพัฒน์ฝั่งตะวันตก เป็นปราการสำคัญด่านสุดท้าย ที่จะช่วยกั้นมวลน้ำจำนวนมหาศาลเอาไว้ มิให้ทะลักเข้าโจมตีกรุงเทพมหานครจนกระทั่งจมน้ำแบบเฉียบพลัน
การกั้นน้ำเอาไว้จะช่วยควบคุม ให้น้ำทยอยไหลลงไปสู่คลองระบายน้ำต่าง ๆ ในทิศทางและปริมาณที่สามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่ง แล้วจึงเร่งหาทางระบายน้ำเหล่านั้นออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในที่สุด
๒
ภารกิจต้านมวลน้ำจำนวนมหาศาลนี้ ทำให้ทุกท่านที่มาร่วมช่วยงาน ต้องผลัดเปลี่ยนกันทำงานตลอด ๒๔ ชั่วโมง ทั้งนี้เพราะมีกระแสน้ำไหลหลากต่อเนื่องมาตลอดเวลา ทำให้ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และในบางโอกาสก็ต้องแก้ไขสถานการณ์แบบนาทีต่อนาทีเลยทีเดียว เพราะหากตัดสินใจช้าหรือพลาดแม้เพียงนิดเดียว ย่อมหมายถึงความสูญเสียอันมหาศาลที่จะติดตามมา ทั้งแก่ประเทศชาติและพี่น้องประชาชน
๓
แต่หากมองในแง่ส่วนตัวแล้ว การปฏิบัติภารกิจก่อทำนบกั้นน้ำที่คลองระพีพัฒน์ เป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายมาก ๆ เพราะไม่รู้ว่าทำนบกระสอบทรายสูงกว่า ๓ เมตร จะพังลงมาเมื่อไร และที่ผ่าน ๆ มา ก็มีข่าวเขื่อนและคันดินกั้นน้ำในที่ต่าง ๆ แตกลงไม่เว้นแต่ละวัน ทำให้ทีมงานต้องคอยสังเกตสภาพทำนบอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังต้องคอยระมัดระวังสัตว์มีพิษนานาชนิดที่หนีน้ำมา ซึ่งมีทั้งงูพิษและตะขาบ ที่สำคัญหากทำนบพัง และน้ำจำนวนมหาศาลทะลักพุ่งออกมา สึนามิที่เคยเกิดขึ้นในทะเล ก็จะมาเกิดให้เห็นแถว ๆ ปทุมธานีนี่เอง เพราะฉะนั้นทุกท่านจึงต้องทำงานด้วยความตื่นตัวตลอดเวลา หากเกิดปัญหาจะได้ช่วยกันแก้ไขทันท่วงที
๔
นอกจากดูแลทำนบกั้นน้ำที่คลองระพีพัฒน์แบบหามรุ่งหามค่ำแล้ว วัดพระธรรมกายและมูลนิธิธรรมกายยังได้ร่วมมือกับ กรมทางหลวงสร้างสะพานเหล็กยาวกว่า ๓๕ เมตร และถมหินคลุกบนพื้นถนนให้สูงเท่ากับสะพานอีก ๓๐ เมตร รวมความยาวประมาณ ๖๕ เมตร เพื่อเป็นทางที่ใช้เชื่อมกับถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก หรือทางหลวงพิเศษหมายเลข ๙ กับอำเภอคลองหลวง ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถสัญจรไปยังตลาดไท ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำและเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญที่นำเข้าส่งออกสินค้าแหล่งใหญ่ได้
การเชื่อมทางเส้นนี้ นอกจากจะช่วยให้ประชาชนสามารถไปซื้ออาหารมาเลี้ยงชีวิตได้แล้ว ยังช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ ในภาพรวมให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ด้วย
ดังนั้นการสร้างสะพานเชื่อมถนนวงแหวนในครั้งนี้ จึงไม่ใช่เพียงการช่วยเหลือผู้คนในอำเภอคลองหลวงให้อยู่รอดปลอดภัย หรือเป็นการช่วยเศรษฐกิจของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการค้าระดับโลกอีกด้วย
๕
นอกจากนี้ ในวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ วัดพระธรรมกายยังร่วมมือกับเทศบาลเมืองคลองหลวง เทศบาลเมืองท่าโขลง และประชาชนชุมชนบางขันธ์ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ทำการกู้ถนนบริเวณคอสะพานข้ามคลองหนึ่ง (ตลาดบางขันธ์) ทั้งนี้เพราะถนนบริเวณตลาดบางขันธ์มีน้ำท่วมสูงประมาณ ๖๐ เซนติเมตร รถเล็กไม่สามารถสัญจรไปมาได้
ภารกิจนี้ พระภิกษุจากวัดพระธรรมกายร่วมกับชาวบ้านตลาดบางขันธ์ได้ช่วยกันทำแนวคันกั้นน้ำที่ริมถนนทั้งสองฝั่ง ความยาวฝั่งละ ๕๔๐ เมตร เพื่อเปิดถนนให้รถทุกประเภทผ่านเข้าออกได้
งานนี้ถือเป็นความร่วมมือ และความสามัคคีอันดีระหว่างวัดกับชุมชนบางขันธ์ ที่ช่วยกันกู้ถนนเส้นทางพหลโยธิน-บางขันธ์-คลองหลวง-มอเตอร์เวย์ ให้กลับมาใช้งานได้เร็วที่สุด
๖
ภาพการทุ่มเททำงานเพื่อสังคมของพระภิกษุ สามเณร และหมู่คณะวัดพระธรรมกาย ได้รับการเผยแพร่ออกไปทั่วโลกผ่านสำนักข่าวทั้งจากภายในและต่างประเทศ อาทิ สำนักข่าว เอ.พี. (AP) ประเทศสหรัฐอเมริกา สำนักข่าว เอ.เอฟ.พี. (AFP) ประเทศฝรั่งเศส สำนักข่าว บี.บี.ซี. (BBC) ประเทศอังกฤษ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา สำนักข่าว อี.พี.เอ. (EPA) ประเทศเยอรมนี สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) ประเทศอังกฤษ รวมทั้งนำเสนอผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ อาทิเช่น เว็บไซต์จากประเทศจีน china.org.cn, เว็บไซต์ lainformacion.com, National Post, World Bulletin, msnbc.com, The Washington Post, news.yahoo.com/world, และเว็บไซต์รวมภาพระดับโลก gettyimages.com
๗
ย้อนมาดูบรรยากาศภายในวัดพระธรรมกายบ้าง หลังจากที่คุณครูไม่ใหญ่เล่าเรื่อง “ชาวคลองหลวงกับภารกิจป้องกันน้ำท่วม” ในโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา ปรากฏว่าเหล่าผู้ใจบุญจากทั่วทุกสารทิศ ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยคุณปู่คุณย่าจำนวนหลายพันคนทยอยเดินทางมาที่วัดพระธรรมกาย เพื่อช่วยกันพับกระสอบ กรอกถุงทราย มัดกระสอบ และสร้างทำนบกั้นน้ำ รวมทั้งบรรจุถุงยังชีพสำหรับผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งทุกท่านต่างมีความสุข และมีกำลังใจในการช่วยงานบุญครั้งนี้อย่างเต็มเปี่ยม ถือเป็นงานบุญที่เบิกบานอย่างที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตเลยทีเดียว
ในช่วงกลางคืนมีการตั้งลำโพงเปิดเสียงคุณครูไม่ใหญ่ให้ได้ยินกันอย่างทั่วถึง ทุกคนฟังแล้วรู้สึกฮึกเหิม เปี่ยมด้วยกำลังใจ และตระหนักถึงความสำคัญของภารกิจนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าเรากำลังช่วยปกป้องเมืองหลวงของประเทศ ปกป้องศาสนสถานที่สำคัญหลายแห่ง ตลอดจนปกป้องพี่น้องประชาชนชาวคลองหลวงและชาวกรุงเทพฯ ให้ปลอดภัย
๘
ข่าวสถานการณ์อุทกภัยในเขตอำเภอคลองหลวง ทำให้พระเดชพระคุณพระธรรมปิฎก เจ้าคณะจังหวัดสระบุรี รู้สึกห่วงใยเป็นอย่างมาก ท่านจึงรีบขอความร่วมมือไปยังคณะสงฆ์ในอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดสระบุรีที่ยังไม่ถูกน้ำท่วม ให้ส่งกองหนุนมาช่วยทีมงานวัดพระธรรมกาย
ที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยด่วน รวมทั้งให้พระธรรมทายาทในโครงการอุปสมบทหมู่หนึ่งแสนรูปทุกหมู่บ้านทั่วไทยในจังหวัดสระบุรี ปรับแผนเดินธุดงค์มายังวัดพระธรรมกาย เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนชาวคลองหลวง และชาวกรุงเทพมหานคร
นอกจากส่งกำลังคนมาแล้ว ท่านยังเต็มใจที่จะส่งเสบียงอาหารมาให้อีกด้วย เนื่องจากท่านตระหนักดีว่า ในยามนี้ข้าวปลาอาหารเป็นสิ่งที่หาได้ยากกว่าเวลาปกติ และเมื่อดำเนินการจนทราบว่าทางหอฉันคุณยายอาจารย์ฯ ต้องการผักสด ๆ เป็นจำนวนมาก ท่านจึงสั่งการให้ส่งผักสด ๆ ใหม่ ๆ มาให้ดังต่อไปนี้ กะหล่ำปลี ๑,๐๐๐ กิโลกรัม, ผักกาดขาวหัวโต ๆ ๕๐๐ กิโลกรัม, มะเขือยาว ๕๐๐ กิโลกรัม, หัวไชเท้าขาวอวบ ๕๐๐ กิโลกรัม, มะนาว ๕,๕๐๐ ลูก,
ใบโหระพา ๑๐ กิโลกรัม, คะน้า ๕๐ กิโลกรัม, แตงกวา ๓๐๐ กิโลกรัม และต้นหอม ๑๐๐ กิโลกรัม
ความช่วยเหลือของพระเดชพระคุณ
พระธรรมปิฎก เจ้าคณะจังหวัดสระบุรี สร้างความปีติใจแก่เหล่าสาธุที่ทราบข่าวเป็นอย่างยิ่ง และต่างพากันซาบซึ้งในความเมตตาของท่าน รวมทั้งรู้สึกชื่นชมที่ท่านเป็นต้นแบบต้นบุญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแก่ชาวโลกในครั้งนี้
๙
นอกจากภารกิจก่อสร้างและป้องกัน
ทำนบคลองระพีพัฒน์ การสร้างสะพานเหล็กเชื่อมถนนวงแหวนรอบนอก และการกู้ถนนบริเวณตลาดบางขันธ์แล้ว ทางวัดพระธรรมกายยังได้แบ่งกำลังผลิตและจัดส่งอาหารกล่อง วันละประมาณ ๓๐,๐๐๐ ชุด พร้อมถุงยังชีพซึ่งบรรจุข้าวสารอาหารแห้ง ขนม และยารักษาโรค ไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่
ต่าง ๆ รายรอบอำเภอคลองหลวงทุกวัน และยังเดินทางไปช่วยเหลือพี่น้องไทยในจังหวัดต่าง ๆ ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ทั้งในภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ รวมแล้วเกือบ ๓๐ จังหวัด เช่น พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี พิจิตร อุทัยธานี ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช สุโขทัย ฯลฯ
นับตั้งแต่วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ จนถึงวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ รวม ๑๖ วัน มูลนิธิธรรมกายได้มอบอาหารกล่องสำเร็จรูปพร้อมรับประทานแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมไปแล้วเป็นจำนวนทั้งหมด ๓๖๐,๐๔๐ ชุด ขนมปัง ๑๐๗,๔๗๐ ชิ้น และเครื่องดื่มประเภทต่าง ๆ จำนวน ๓๕๗,๑๑๑ ขวด/กล่อง
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าสิ่งของ
ที่ผู้ใจบุญทั้งหลายร่วมบริจาคมา ได้กระจายไปหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน น้ำใจอันบริสุทธิ์ของทุกท่าน
ยังช่วยหล่อเลี้ยงใจอันแห้งผากด้วยความทุกข์ของพวกเขา ให้เกิดความชุ่มชื่นและมีความหวังในชีวิตมากขึ้นอีกด้วย
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกท่านคงได้ประจักษ์แก่ใจแล้วว่า “ทาน หรือ การให้” มีความสำคัญเพียงใด หากโลกนี้ปราศจากการให้.. วันนี้ผู้ประสบภัยจะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร และจะต้องระทมทุกข์อยู่เป็นเวลายาวนานสักแค่ไหน
๑๐
ความทุกข์ ความวิตกกังวล เกี่ยวกับวิกฤตการณ์มหาอุทกภัยในครั้งนี้ แม้จะสร้างความมืดมนขึ้นในใจของพี่น้องไทยจำนวนมหาศาล แต่ในท่ามกลางความมืดนี้ ขอให้ภาคภูมิใจว่า เรามิได้อยู่นิ่งเฉย แต่เราเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมจุดดวงเทียน ให้มีความสว่างปรากฏขึ้นในชีวิตของผู้ประสบอุทกภัย ช่วยให้พวกเขาไม่ต้องตกอยู่ในความมืดมนจนเกินไป
ในขณะเดียวกัน วิกฤตครั้งนี้ยังเป็นโอกาสอันดีที่พวกเรานักสร้างบารมีจะได้เก็บเกี่ยวบุญบารมีด้วยการสละทั้งแรงกาย แรงใจ และแรงทรัพย์ ในการปกปักรักษา ให้ความปลอดภัยแก่วัด แก่พระพุทธศาสนา และแก่พี่น้องประชาชนผู้ทุกข์ยาก
ทุกสิ่งที่เราสละออกไป แม้ไม่ต้องการสิ่งใดเป็นการตอบแทน แต่บุญจากการให้ ไม่ว่าอย่างไรก็จะย้อนกลับคืนมาปกปักรักษาชีวิตของเราให้มีความสุข และความปลอดภัยตลอดไป ขอเพียงแค่เราอย่าลืมระลึกถึงบุญนี้บ่อย ๆ ก็แล้วกัน |