พระธรรมเทศนา
|
ตอนที่ ๓
พระธรรมเทศนา "สรีรัฏฐธัมมสูตร ความทุกข์ประจำสรีระ"
๒) สรีรัฏฐธัมมสูตร1 คำสอนว่าด้วยความทุกข์ประจำสรีระ
๒.๑) ความหมายของพระสูตร
"สรีรัฏฐธรรม" หมายถึง "ธรรมประจำสรีระ" กล่าวให้ตรงประเด็นก็คือ "ความทุกข์ประจำร่างกาย" นั่นเอง
พระสูตรนี้ ประกอบด้วยหัวข้อธรรม ๑๐ ประการ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งให้เราต้องหมั่นพิจารณาอยู่เนือง ๆ ในชีวิตประจำวัน ดังนี้
๑) ความหนาว ๒) ความร้อน
๓) ความหิว ๔) ความกระหาย
๕) ความปวดอุจจาระ ๖) ความปวดปัสสาวะ
๗) ความสำรวมกาย ๘) ความสำรวมวาจา
๙) ความสำรวมในอาชีพ ๑๐) ธรรมเป็นเครื่องปรุงแต่งภพ เป็นเหตุให้เกิดในภพใหม่
หัวข้อธรรมทั้งสิบนี้ หากเราดูเพียงผิวเผินก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องเข้าใจง่าย ไม่ใช่เรื่องลึกซึ้งถึงขั้นที่จะต้องนำมาเทศน์สอนกันเลย โดยเฉพาะข้อที่ ๑-๖ ไม่ว่าจะเป็นความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ความปวดอุจจาระ ความปวดปัสสาวะ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของทุกคน ไม่มีความพิสดารอันใด เพราะใคร ๆ ก็รู้จักดีทั้งนั้น แต่เพราะว่าเราดูเบา ไม่นำมาคิดพิจารณานี่เอง เราจึงไม่รู้ว่าตนได้ทำผิดพลาดเรื่องสำคัญไปแล้ว
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงไม่ปล่อยผ่านเรื่องนี้ ทรงพิจารณาอยู่เนือง ๆ ทรงสังเกตอยู่เนือง ๆ ทรงตั้งคำถามและศึกษาหาสาเหตุที่มาอยู่เนือง ๆ จากนั้นก็ทรงหาทางแก้ไขพระองค์ให้พ้นจากทุกข์ประจำสรีระนี้อยู่เนือง ๆ จนกลายเป็นปกตินิสัยของการประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพัน
พระพุทธองค์จึงได้ทรงพบว่า สิ่งเหล่านี้เองที่สามารถใช้เป็นอุปกรณ์ในการฝึกพระองค์เองให้พ้นทุกข์จากวัฏสงสารได้จริง ทรงสามารถฝึกชาวโลกให้บรรลุธรรมตามมาได้จริง และก็กลายเป็นที่มาของคำสอนต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนา ดังที่พระองค์ตรัส ยืนยันไว้ในโรหิตัสสสูตร2 มีใจความว่า ธรรมะทั้งหลายที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้น ไม่ได้นำมาจากนอกโลก นอกจักรวาล นอกอวกาศ แต่นำมาจากภายในกายที่ยาววา หนาคืบ กว้างศอก มีใจครองนี้เอง พูดง่าย ๆ ก็คือ ธรรมะที่ทรงตรัสรู้อยู่ในตัวของมนุษย์เรานี่เอง
ตรงนี้เองที่มีข้อเตือนใจว่า ธรรมะทุกข้อนั้น แม้ตรัสเพียงสั้น ๆ ก็ทำให้ผู้ปฏิบัติตามบรรลุนิพพานได้ เราจึงดูเบาธรรมะไม่ได้แม้แต่คำเดียว จึงจะได้ปัญญา ได้ความช่างสังเกต ได้ความละเอียดลออมาใช้ในการพัฒนาตนเองให้มีความเจริญก้าวหน้า
๒.๒) หลักการเรียนธรรมะให้ได้ประโยชน์สูงสุด
การเรียนธรรมะทุกหัวข้อนั้น จะได้ผลอย่างเต็มที่ถึงขั้นปิดนรก เปิดสวรรค์ ถางทางไปพระนิพพานได้นั้น ก็ต่อเมื่อเรียนแล้วนำไปปฏิบัติจนกระทั่งกลายเป็น "นิสัย" ในชีวิต ประจำวัน หากเรียนธรรมะแล้ว ไม่นำไปปฏิบัติจนกลายเป็นนิสัย ก็ไม่แตกต่างจากการที่เราอ่านตำราว่ายน้ำจบ ท่องตำราว่ายน้ำได้ แถมยังดูวิดีโอสอนว่ายน้ำประกอบด้วย แต่ไม่เคยไปหัดว่ายจริง ๆ ถ้าเมื่อไรตกน้ำก็มีแต่จมน้ำตายสถานเดียว เพราะว่าได้แต่ท่อง แต่ไม่เคยฝึกว่ายน้ำเลย
การเรียนธรรมะแต่ไม่ได้นำไปฝึกจนเกิดเป็นนิสัย ถึงแม้เราท่องจำได้ ก็ไม่ต่างจากนกแก้วนกขุนทองที่เลี้ยงเอาไว้ในกรง เมื่อตอนหลวงพ่อยังเป็นเด็ก ที่บ้านก็เลี้ยงนกขุนทองไว้ในกรง แล้วก็สอนให้มันพูด คุณพ่อเจ้าขา คุณแม่เจ้าขา ขอข้าวกินหน่อย มันก็ท่องได้ พูดได้ แต่ไม่รู้ความหมายของเรื่องที่พูดเลย
วันหนึ่งมันหลุดจากกรงไป บินไปจับอยู่บนยอดไผ่ เราก็เกรงว่าเดี๋ยวมันจะถูก นกป่าจิกตาย ก็พยายามเรียกให้มันลงมา มันก็ไม่ยอมลง ผ่านไปครู่เดียว ได้ยินเสียง นกป่ารุมจิกรุมตีกันให้จ้าละหวั่น มันก็ร้อง คุณพ่อเจ้าขา คุณแม่เจ้าขา ขอข้าวกินหน่อย ร้องอยู่พักเดียว ก็ถูกตีร่วงลงมาหัวทิ่มดิน คอหักตาย
การเรียนธรรมะก็เช่นกัน ถึงแม้ท่องจำได้ พูดได้ แต่ไม่ลงมือปฏิบัติก็จะไม่เห็นผลอันใด เพราะการเรียนจะได้ผล ก็ต่อเมื่อได้ฝึกธรรมะข้อนั้น ๆ ในชีวิตประจำวันจนกลายเป็นนิสัยประจำตัว มิฉะนั้น เราก็จะกลายเป็นนกแก้วนกขุนทองที่ท่องได้แต่ทำไม่ได้ หรือเป็นคนท่องตำราว่ายน้ำได้แต่จมน้ำตาย ดังนั้น การท่องจำได้เพียงอย่างเดียว จึงไม่เพียงพอที่จะทำให้ธรรมะนั้น ๆ เกิดประโยชน์กับตัวเรา
๒.๓) มองทุกข์ให้เห็นชีวิตผ่านทุกข์ประจำสรีระ ๑๐ ประการ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวิธีสอนให้เรารู้จัก มองเห็นทุกข์ตามความเป็นจริงของชีวิต เพื่อให้เราดำเนินชีวิตโดยไม่ประมาท ด้วยการหมั่นพิจารณาทุกข์ที่เกิดขึ้นในสรีระของเราอยู่เนืองนิตย์ทุกวัน
ข้อที่ ๑ - ๒ ความหนาว - ความร้อน
เริ่มที่ความหนาวกับความร้อนก่อน ถ้าหากเราพิจารณาเพียงว่า ทั้งสองอย่างนี้ เป็นเรื่องธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวเรา ใคร ๆ ก็ต้องรู้จักความหนาวความร้อนกันทั้งนั้น ถ้าพิจารณาเพียงเท่านี้ เราก็จะไม่ได้ปัญญาเพิ่มขึ้น
สิ่งที่เป็นข้อสังเกตก็คือ แม้อยู่ท่ามกลางอากาศหนาว แต่ทำไมในตัวเราก็ยังมีความร้อนอยู่ หรือแม้อยู่ท่ามกลางอากาศร้อน แต่ทำไมในตัวเราก็ยังมีอาการหนาวเหมือนกับไข้จะขึ้น ตรงนี้ต่างหากที่เราต้องนำมาคิดว่ามันเกิดอะไรขึ้นในสรีระของเรา
แต่เพราะเหตุที่เราไม่สังเกตตรงนี้ พอมีอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ ผิดปกติขึ้นมานิดเดียว ก็รีบวิ่งไปหาหมอ จ่ายเงินให้หมอ แล้วก็ได้ยากลับมากินที่บ้าน พออาการร้อนหนาวหายไปได้ไม่กี่วัน ก็กลับมาเป็นเหมือนเดิมอีก จึงวิ่งไปจ่ายค่ายาเหมือนเดิมอีก โดยที่ไม่ได้สังเกตเลยว่า ความร้อนความหนาวที่กำเริบขึ้นมาในตัวเรานั้น เกิดขึ้นจากสาเหตุใด ถ้าเราไม่รู้จักสังเกตสาเหตุตรงนี้ ก็จะต้องจ่ายค่ายาค่ารักษาพยาบาลอยู่เรื่อยไป เพราะจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ อยู่อย่างนี้ไปตลอดชีวิต จนกลายเป็นโรคเรื้อรังประจำตัว ซึ่งนอกจากจะต้อง สูญเสียเงินไปโดยไม่สมเหตุสมผลแล้ว ยังอาจจะเป็นคนไร้สมรรถภาพในการประกอบกิจการงานอีกด้วย
ในทางกลับกันหากเรารู้จักสังเกต ก็จะได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกมากมาย เช่น ถ้าเราไปถามแพทย์ว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ความร้อนความหนาวกำเริบขึ้นในตัวของคนเรา ก็จะได้คำตอบว่า เพราะเหตุที่เซลล์ในร่างกายของเราตายไป ๓๐๐ ล้านเซลล์ในทุก ๑ นาที จึงทำให้อาการหนาวร้อนกำเริบขึ้นมาในตัวเรา ถ้าไม่รีบแก้ไขก็อาจจะกลายเป็น ๓,๐๐๐ ล้านเซลล์ ๓๐,๐๐๐ ล้านเซลล์ ถ้าปล่อยเอาไว้โดยไม่แก้ไข เซลล์ในร่างกายก็จะตายไปทั้งหมด ดังนั้นแพทย์จึงต้องรีบรักษา โดยจ่ายยามาให้คนไข้กิน เพื่อระงับอาการร้อนหนาวให้อยู่ในภาวะปกติ คนไข้จึงจะรอดตาย
อย่างไรก็ตาม ถ้านำเรื่องนี้ไปกราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะได้คำตอบที่ ลึกซึ้งจากการตรัสรู้ธรรมของพระองค์ว่า อาการหนาวร้อนที่กำเริบขึ้นในสรีระของคนเรานั้น แท้จริงเกิดจาก ธาตุ ๔ ในตัวของคนเรายังไม่บริสุทธิ์ ทั้งธาตุดิน ธาตุลม ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ที่ประกอบขึ้นเป็นเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ ล้วนยังเป็นธาตุที่ไม่บริสุทธิ์ จึงตกอยู่ในสภาวะเสื่อมสลายไปอยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้ ไม่เฉพาะตัวคนเราเท่านั้น ธรรมชาติทั้งหลายในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็น สิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม ล้วนประกอบขึ้นจากธาตุไม่บริสุทธิ์ทั้งนั้น ย่อมมีการแตกสลาย ไปตามกาลเวลา ทุกชีวิตในโลกนี้จึงไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าไปตลอดกาล ไม่ว่าจะเป็นยาจก เศรษฐี พระราชา พระเจ้าจักรพรรดิ ล้วนแต่ต้องตายกันหมดทั้งสิ้น หรือแม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของเรา กายเนื้อของท่านก็ยังต้องแตกสลายไปตามกาลเวลา นี่ก็คืออาการหนาวร้อนที่ทำให้ร่างกายมีการแตกสลาย เพราะธาตุทั้ง ๔ ไม่บริสุทธิ์นั่นเอง
จากการเรียนวิชาพุทธประวัติ เราเคยได้ทราบมาว่าเจ้าชายสิทธัตถะทรงประทับอยู่ในวัง ๓ ฤดู ซึ่งไม่ว่าจะเป็นวังฤดูร้อน วังฤดูฝน วังฤดูหนาว ล้วนแล้วแต่มีหญิงสาวแรกรุ่น หน้าตางดงาม คอยอยู่ปรนนิบัติรับใช้ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์องค์ไหน หรือบุรุษคนใดก็อยากจะได้อาศัยอยู่ในวัง ๓ ฤดูแบบนี้ แต่ทว่าเจ้าชายสิทธัตถะทรงพิจารณาเห็นความจริงในชีวิตของคนเราว่า การลุ่มหลงมัวเมาอยู่ใน สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์ เพราะทุกชีวิตในวัง ๓ ฤดูนี้ ล้วนแต่ต้องแก่ ต้องตายกันทุกคน
เพราะฉะนั้น เมื่อท่านมีพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา พอได้จังหวะก็ฉวยโอกาสเสด็จออกจากวัง กระโดดขึ้นม้ากัณฐกะควบเข้าป่าออกบรรพชา เพื่อหาสาเหตุและทางแก้ทุกข์ในสรีระให้หมดสิ้นไป เพราะถ้ายังประทับอยู่ในวัง ๓ ฤดู จะไม่มีทางหาวิธีแก้ทุกข์เหล่านี้ได้เลย
หลังจากนั้น พระองค์ก็ทรงค้นคว้าสารพัดวิธีอย่างทุ่มชีวิตเป็นเดิมพัน จนกระทั่งตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ทรงพบว่า อาการหนาวร้อนที่เกิดขึ้นในสรีระนี้ มีสาเหตุมาจากธาตุ ๔ ในตัวของเราไม่บริสุทธิ์นั่นเอง
ดังนั้น อาการร้อนหนาวจึงเหมือนเป็นสัญญาณเตือนให้เรารู้ว่า แม้ขณะนี้เราจะ รู้สึกว่ายังแข็งแรงอยู่ แต่เราก็จะต้องตายกันทั้งนั้นไม่ช้าก็เร็ว คนที่ตายไปก่อนหน้าเรานั้น เด็กกว่าเราก็มี แก่กว่าเราก็มี รุ่นเดียวกับเราก็มี แล้วคนต่อไปจะเป็นใครกันแน่ ก็มีสิทธิ์เป็นไปได้ทุกคน นี่คือสิ่งที่สะท้อนกลับมายังตัวเรา
เพราะฉะนั้น เมื่อเรียนธรรมะแล้ว ต้องนำมาใช้กับชีวิตให้ได้จริง เพียงแค่ ๒ ข้อนี้ เราก็เห็นแล้วว่า แพทย์บอกว่าอาการหนาวร้อนเกิดจากการที่เซลล์ในร่างกายตายไป ๓๐๐ ล้านเซลล์ทุก ๆ ๑ นาที ส่วนพระพุทธองค์ตรัสว่า ธาตุ ๔ ในตัวคนเราไม่บริสุทธิ์ ตรงนี้ย่อมทำให้เราได้ข้อคิดขึ้นมาทันทีว่า ถ้าธาตุ ๔ ของใครบริสุทธิ์น้อยหรือสกปรกมาก เซลล์ก็ตายมาก แต่ถ้าธาตุ ๔ ของใครบริสุทธิ์มาก เซลล์ก็ตายน้อย ตรงนี้เองที่ทำให้ความหนาวร้อนและความแข็งแรงในแต่ละคนไม่เท่ากัน
นอกจากเรื่องความหนาวกับความร้อนแล้ว ถ้าเรามองย้อนกลับเข้ามาในตัว ก็จะพบเรื่องละเอียดลอออีกมากมาย แล้วก็จะได้ปัญญามาบ่มเพาะนิสัยดี ๆ ให้เกิดขึ้นมาอีกมาก นี่เพิ่ง ๒ หัวข้อแรกจากพระสูตรนี้เท่านั้น เรายังได้ข้อคิดมาใช้งานมากขนาดนี้ แสดงให้เห็นว่า ธรรมะนั้นแม้ตรัสไว้เพียงหัวข้อสั้น ๆ ก็ดูเบาไม่ได้
____________________________________________
1 สรีรัฏฐธัมมสูตร, องฺ. ทสก. ๒๔/๔๙/๑๐๕ (มจร.)
2 โรหิตัสสสูตร, สํ.ส. ๑๕/๑๐๗/๑๑๙ (มจร.)
(อ่านต่อฉบับหน้า)