วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ เหตุใดบางคนเพิ่งเข้าวัด แต่กลับเข้าถึงธรรมได้เร็วไว


เหตุใดบางคนเพิ่งเข้าวัด

แต่กลับ

เข้าถึงธรรมได้เร็วไว


อยากทราบว่า อะไรเป็นสาเหตุให้บางคนที่เพิ่งเข้าวัด ปฏิบัติธรรมได้ไม่นานนักก็สามารถเข้าถึงธรรมได้โดยง่าย

ตลอดระยะเวลา ๔๐ ปี ที่หลวงพ่อทำงานเผยแผ่ธรรมะ ตั้งแต่เริ่มสร้างวัดจนถึงปัจจุบัน ก็สังเกตพบหลายครั้งว่า คนเพิ่งจะเข้าวัดใหม่ ๆ บางคน ทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ฝึกนั่งสมาธิเดี๋ยวเดียวก็เข้าถึงธรรมภายใน เห็นดวงแก้ว เห็นองค์พระชัดเจน ขณะที่บางคนแม้จะเข้าวัดมา ตั้งนาน ก็ยังก้าวหน้าไปไม่ถึงไหน


          แม้ในสมัยพุทธกาลก็มีเหตุการณ์ทำนองนี้อยู่เหมือนกัน เช่น ในกรณีของพระพาหิยะ ท่านไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า โลกได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้ว พอรู้ข่าวเท่านั้น ท่านก็ดั้นด้นเดินทางไกลไปตลอดคืน จนกระทั่งไปพบพระพุทธองค์ขณะเสด็จออกบิณฑบาต พอได้ฟังพระพุทธองค์ตรัสแสดงธรรมไม่กี่ประโยค ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ทันทีที่ข้างทางนั้นเอง

          พระเจ้าสุทโธทนะ พุทธบิดาก็เช่นกัน ฟังเทศน์ครั้งเดียวก็บรรลุโสดาบัน มหาอุบาสิกาวิสาขาก็เช่นกัน ได้ฟังธรรมและบรรลุโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ พระเจ้าพิมพิสารก็เช่นกัน ได้ฟังธรรมครั้งแรกก็บรรลุโสดาบันทันที แต่ก็ต้องมาถูกพระเจ้าอชาตศัตรู พระราชโอรสทำปิตุฆาตชิงบัลลังก์ เพราะวิบากกรรมเก่าตามมาทัน

          ในขณะเดียวกันก็พบว่า พระภิกษุที่เดินตามหลังพระพุทธองค์เป็นพันเป็นหมื่นรูปกลับไม่บรรลุธรรม เช่น พระสุทินน์ ต้นบัญญัติปฐมปาราชิก แม้จะบวชตลอดชีวิตก็ยังไม่ได้บรรลุธรรม ตรงข้ามกับอดีตภรรยาและลูกชายของท่าน แม้มาศึกษาธรรมะในภายหลัง กลับได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ตามรอยบาทพระพุทธองค์ไป

          จากการสังเกตเรื่องนี้ ทั้งจากในอดีตที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก และในยุคปัจจุบันที่ หลวงพ่อสังเกตเห็น ก็สรุปสาเหตุได้ว่า ผู้ที่ปฏิบัติธรรมได้ดี แม้เพิ่งเข้าวัดมาไม่นานนั้น เป็นเพราะว่า เขาฝึก ฆราวาสธรรมŽ เป็นพื้นฐานนิสัยประจำตัวมาแล้วตั้งแต่ก่อนเข้าวัด

          ฆราวาสธรรม ประกอบด้วยหลักธรรม ๔ ข้อ ได้แก่

          ๑) สัจจะ หมายถึง ความรับผิดชอบ

          ๒) ทมะ หมายถึง ความรักในการฝึกฝนอบรมตนเอง

          ๓) ขันติ หมายถึง ความทรหดอดทน

          ๔) จาคะ หมายถึง ความเสียสละเพื่อส่วนรวม

๑) คนมีสัจจะ คือ คนมีความรับผิดชอบ โดยย่อแบ่งเป็น ๓ ประการ

          ๑.๑) สัจจะต่อหน้าที่และการงาน

          ผู้ที่มีสัจจะต่อหน้าที่การงาน จะมีลักษณะว่า เมื่อรับงานไปแล้ว ต้องมีความจริงจัง ถ้าทำไม่เสร็จก็ไม่ใช่เรา และเมื่อทำแล้วก็ต้องดีด้วย

          ๑.๒) สัจจะต่อบุคคลและวาจา

          คนมีสัจจะต่อบุคคลและวาจา คือ คนที่มีความจริงใจ ไม่ว่าจะกับคนกันเอง หรือคนอื่น ที่มาทำงานร่วมกับเรา หรือมาเป็นแขกของเรา เรารักตัวเองอย่างไร ก็ต้องจริงใจกับเขาอย่างนั้น วาจาแต่ละคำต้องสะท้อนความจริงใจที่มีต่อเขา พูดคำไหนก็คำนั้น พูดว่าใช่ก็คือใช่ (Yes = Yes) พูดว่าไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ (No = No)

          การที่ใครพูดจาอะไรกับผู้อื่นแล้ว ไม่คำไหนคำนั้น ก็แสดงว่าสัจจะต่อวาจายังไม่ดีจริง เช่น บางคนพูดว่าใช่ก็คืออาจจะ (Yes = May be) พูดว่าไม่ก็คืออาจจะ (No = May be) ตกลงไม่มีอะไรแน่นอน คนที่พูดอาจจะ (May be) บ่อย ๆ ในที่สุดแล้ว เขาก็จะกลายเป็นศรีธนญชัย พูดจาแก้ตัวไปวัน ๆ หาความน่าเชื่อถือไม่ได้เลย

          บทสรุปที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ไว้ คือพูดอย่างไรทำอย่างนั้น ทำอย่างไรพูดอย่างนั้น คือพูดจริงทำจริง ถึงจะเรียกว่า มีความจริงใจต่อบุคคลและวาจา

          ๑.๓) สัจจะต่อความดี

          คนมีสัจจะต่อความดี คือ คนที่ปฏิบัติอย่างจริงแสนจริงต่อการรักษาศีลในเพศภาวะของตน ถ้าเพศภาวะของตนเป็นพระ ก็ตั้งใจรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ อย่างเคร่งครัด ถ้าเพศภาวะของตนเป็นอุบาสกอุบาสิกาอยู่ในวัด ก็ตั้งใจรักษาศีล ๘ ข้อ อย่างเคร่งครัด ถ้าเพศภาวะของตนเป็นผู้ครองเรือน ก็ตั้งใจรักษาศีล ๕ ข้อ อย่างเคร่งครัด ถึงจะเป็นผู้มีความจริงแสนจริงกับความดี

          สัจจะต่อความดีนี้ ทำให้โจรกับนักสร้างบารมีมีความแตกต่างกัน โจรที่พูดจริงทำจริงก็มี แต่ว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นความจริงที่เลว แต่นักสร้างบารมีทำแต่ความดี ก็ต้องเป็นคนพูดจริง ทำจริง ดีจริง และต้องดีจากเนื้อใน ไม่ใช่ดีแค่คำพูด ซึ่งถ้าดีแค่คำพูดแต่ยังไม่ลงมือทำ ก็เท่ากับยังไม่ดีจริง

          ผู้ที่ปฏิบัติธรรมได้ดีนั้น ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ สัจจะของเขาต้องดี เขาไม่ใช่คนที่พูดจา กลับไปกลับมาเชื่อถือไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเข้าถึงธรรมได้นั้น สัจจะของเขาต้องดีจริง

          เพราะฉะนั้น คนที่มีสัจจะหรือคนที่มีความรับผิดชอบนั้น ก็คือ คนที่จริงจังต่อหน้าที่การงาน จริงใจต่อบุคคลและวาจา จริงแสนจริงต่อการทำความดี เขาถึงจะสามารถเข้าถึงธรรมะอันเป็นสัจธรรมได้จริง

          ๒) คนมีทมะ คือ คนที่รักการฝึกฝนอบรมตนเอง

          คนเรามีโอกาสพลั้งเผลอได้บ้าง แต่มีข้อแม้ว่าอย่าให้ใครเตือนเกิน ๓ ครั้ง ในเรื่องเดียวกัน ถ้าใครถูกครูบาอาจารย์หรือเพื่อนฝูงที่รักการฝึกตัวออกปากเตือนถึง ๓ ครั้ง แล้วยังไม่แก้ไข ก็ฟ้องว่าความจริงแสนจริงต่อความดีของเรายังไม่พอ

          ๓) คนมีขันติ คือ คนมีความทรหดอดทน

          คนที่จะมีขันติได้ ก็คือคนที่มีสัจจะกับทมะอยู่ในตัว เพราะเมื่อต้องรับผิดชอบสิ่งใดแล้ว ไม่ว่าจะต้องพบกับอุปสรรคความยากลำบากใด ๆ ก็ตาม เขาก็จะพยายามบากบั่น เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถของตนเอง ให้สามารถทำงานนั้น ทำความดีนั้น ให้สำเร็จลุล่วงจนได้

          ๔) คนมีจาคะ คือ คนที่เสียสละเพื่อส่วนรวม

          ความเสียสละเพื่อส่วนรวมมีอยู่หลายระดับ

          ๔.๑) สละทรัพย์เพื่อทำบุญ                       ๔.๒) สละความได้หน้าได้ตา

          ๔.๓) สละความสะดวกสบาย                     ๔.๔) สละอารมณ์โกรธ

          สำหรับพวกเราที่เป็นนักทำบุญ เรื่องเสียสละทรัพย์เพื่อทำบุญนั้น หลวงพ่อไม่เป็นห่วงมากนัก เพราะพวกเราส่วนใหญ่ก็เป็นคนใจบุญอยู่แล้ว แต่เรื่องเสียสละความได้หน้าได้ตานั้น ยังไม่ค่อยแน่ใจ เพราะการที่ใครจะเข้าถึงธรรมได้นั้น ถ้ายังอยากได้หน้าได้ตา หรือหิวคำชมอยู่ ก็มักจะไปไม่รอด นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องเสียสละความสะดวกสบาย ซึ่งไม่ใช่เรื่องหมู ๆ แล้วก็ยังมีเรื่องสละอารมณ์โกรธ ซึ่งอย่าว่าแต่โกรธข้ามวัน ข้ามเดือน ข้ามปีเลย แค่โกรธข้ามชั่วโมงก็แย่แล้ว

          ดังนั้น จากการสังเกตผู้มาปฏิบัติธรรมที่วัดตลอดระยะเวลา ๔๐ ปีนี้ หลวงพ่อจึงได้ข้อสรุปว่า คนที่เพิ่งปฏิบัติธรรมไม่นาน เดี๋ยวก็เข้าถึงธรรมะได้นั้น เป็นเพราะเขาได้ฝึก ฆราวาสธรรมŽ ล่วงหน้ามาก่อนเข้าวัดในระดับหนึ่งแล้ว เพียงแค่ดูจากการสนทนาไม่กี่คำก็รู้แล้วว่า เขาคือคน ประเภทที่มีความรับผิดชอบต่อหมู่คณะ มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม คนประเภทนี้เมื่อเข้าถึงธรรมแล้ว จะมีความก้าวหน้าของธรรมะในระยะยาว เพราะพื้นฐานเดิมของเขาดีอยู่ก่อนแล้ว

          ส่วนผู้ที่มาจากต่างประเทศ นับถือความเชื่ออื่นมาตลอดชีวิต ก็อย่าเพิ่งดูเบาเขา เพราะการที่ใครจะเปลี่ยนความเชื่อดั้งเดิมได้นั้น เขาจะต้องคิดแล้วคิดอีก ตรองแล้วตรองอีก ต้องต่อสู้กับตัวเอง ต่อสู้กับความคิดของพ่อแม่ พี่น้อง ไม่เว้นแม้แต่ผู้บังคับบัญชาที่ทำงานด้วย เขาถึงสามารถดั้นด้นมาถึงวัดพระธรรมกาย เพราะฉะนั้น ถึงแม้เขาเป็นชาวต่างประเทศ แต่พอลงมือฝึกสมาธิ ก็มีผลการปฏิบัติธรรมแซงหน้าทันที ซึ่งสิ่งนี้ก็ฟ้องว่า ฆราวาสธรรมŽ ที่เป็นพื้นฐานเดิมของเขาก็มีอยู่ไม่เบา ลำพังแค่การตัดสินและตัดใจเปลี่ยนความเชื่อของเขา ก็ต้องตัดสินใจด้วยคำไหนคำนั้น ไม่เปลี่ยนกลับไปกลับมา เพราะถ้าเขาเป็นผู้ที่มีแต่คำว่า อาจจะ (May be) เขาย่อมไม่กล้าตัดสินใจมาปฏิบัติธรรมถึงวัดพระธรรมกายอย่างแน่นอน

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล