วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ พระธรรมเทศนา "สรีรัฏฐธัมมสูตร-ธรรมประจำสรีระ" ตอนที่ ๔

พระธรรมเทศนา

 


 

ตอนที่ ๔

พระธรรมเทศนา "สรีรัฏฐธัมมสูตร-ธรรมประจำสรีระ"

ข้อที่ ๓ - ๔ ความหิว - ความกระหาย

      คำถามก็คือทำไมต้องหิวด้วย ทำไมต้องกระหายด้วย ถ้าไปถามแพทย์ที่มีความตั้งใจศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง เขาก็จะตอบว่า เพราะร่างกายมนุษย์ต้องการพลังงาน จึงต้องกินเข้าไป ดื่มเข้าไป เพื่อเอาพลังงานมาชดเชยส่วนที่หายไป ร่างกายจึงจะเดินได้ ทำงานได้ โดยส่วนหนึ่งเอามาเป็นพลังงาน ส่วนหนึ่งเอามาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และอีกส่วนหนึ่ง นำมาสร้างความเจริญเติบโตให้กับร่างกาย

          แต่ถ้านำเรื่องนี้ไปกราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็จะได้คำตอบในลักษณะ ที่พระพุทธองค์ทรงมองลึกไปถึงเรื่องธาตุ ๔ ว่า เพราะเหตุที่ธาตุ ๔ ในตัวคนเราไม่บริสุทธิ์ จึงมีการแตกสลายไปเป็นธรรมดา ร่างกายจึงต้องการให้เติมธาตุ ๔ เข้าไปทดแทน โดยเริ่มจาก ๑. กินอาหารเข้าไปเพื่อเติมธาตุดิน ๒. ดื่มน้ำเข้าไปเพื่อเติมธาตุน้ำ ๓. สูดอากาศ เข้าไปเพื่อเติมธาตุลม ๔. นุ่งห่มปกคลุมร่างกายเพื่อเติมธาตุไฟ ซึ่งเป็นการเติมธาตุ ๔ จากภายนอกเพื่อเข้าไปทดแทนธาตุ ๔ ภายในที่แตกสลายไปทั้งสิ้น ธรรมชาติของสรีระบังคับให้เราต้องเติมธาตุ ๔ เข้าไปตลอดชีวิต มิฉะนั้นเราก็จะต้องตายก่อนเวลาอันควร เพราะร่างกายขาดแคลนธาตุ ๔ นั่นเอง

          แต่การเติมธาตุ ๔ ที่สิ้นเปลืองเวลาและงบประมาณมากที่สุด ก็คือการกินกับการดื่ม เพราะกว่าจะได้อาหารมากิน ได้น้ำมาดื่มในแต่ละมื้อแต่ละคราวนั้น คนเราต้องทำงานหนักเพื่อแลกมา ขณะที่การเติมธาตุลม เพียงแค่สูดอากาศเข้าไป ก็เติมธาตุลมได้ทันที หรือถ้าจะเติมธาตุไฟ ก็หาเสื้อผ้ามาใส่ ก็อุ่นขึ้นทันที ได้เสื้อผ้ามาตัวหนึ่งก็ใส่ได้นานเป็นปี แตกต่างกับการเติมธาตุน้ำกับธาตุดินอย่างมาก เพราะธาตุน้ำระเหยจากร่างกายได้เร็ว หากปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ ก็จะป่วยไข้ทันที จึงมีความจำเป็นว่าวันหนึ่ง ๆ ต้องดื่มน้ำหลายครั้ง ส่วนการเติมธาตุดิน ซึ่งได้จากการกินอาหาร ก็จำเป็นต้องทำงานหนัก เพื่อแลกเอาเงินไปซื้อวัตถุดิบมาปรุงเป็นอาหารปรุงสุกแล้วจึงจะกินได้ เมื่อกินเสร็จแล้วก็ต้องเก็บล้างภาชนะ ทำให้เสียเวลามาก ถ้ากินเหลือก็ต้องเททิ้ง ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ เป็นต้น

          ดังนั้น ความหิว ความกระหายที่เกิดจากภาวะร่างกายขาดธาตุ ๔ จึงเป็นภาระหนัก ที่สิ้นเปลืองเวลาและงบประมาณมากที่สุด ทำให้เราต้องพะว้าพะวัง เพราะกลัวว่าคนอื่นจะแย่งเอาไปหมด เดี๋ยวจะหาได้ไม่ทันกิน ไม่ทันใช้ จึงกลายเป็นปัญหาละโมบโลภมากแก่งแย่งชิงดีกัน ทั้ง ๆ ที่ตามจริงแล้ว ปริมาณอาหารของตนก็มีเพียงพอ แต่ที่รู้สึกว่า ไม่พอก็เพราะความไม่รู้ประมาณของคนเรา ทำให้เราต้องทุกข์จากการหา ทุกข์จากการเก็บ ทุกข์จากการใช้ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากความหิวความกระหายอันเป็นทุกข์ประจำสรีระของคนเรานั่นเอง

          ปัญหานี้จะแก้ไขได้ด้วยการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ในเรื่องรู้จักประมาณ ในการบริโภคปัจจัย ๔ ซึ่งก็คือการฝึกเติมธาตุ ๔ ให้พอดี ทั้งคุณภาพ เวลา และปริมาณที่ ไม่เป็นโทษกับร่างกาย และไม่เหลือทิ้งเหลือขว้างจนกลายเป็นกินล้างกินผลาญ ก็จะทำให้ทุกข์จากการหา การเก็บ การใช้ ลดลงไปได้มาก เวลาของชีวิตในแต่ละวันก็จะเหลือมากขึ้นสำหรับการประพฤติธรรมเพื่อกำจัดทุกข์ประจำสรีระต่อไป

ข้อที่ ๕ - ๖ ความปวดอุจจาระ- ความปวดปัสสาวะ

          การปวดปัสสาวะกับการปวดอุจจาระก็เช่นกัน ทุกข์เหล่านี้เป็นทุกข์ประจำสรีระที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ สาเหตุของ ๒ เรื่องนี้ เกิดจากความไม่สม่ำเสมอของอุณหภูมิในร่างกายอันเกิดจากการเผาผลาญธาตุ ๔ ที่เติมเข้าไปชดเชยธาตุ ๔ ในร่างกายที่แตกสลายไปแล้ว (ด้วยอัตราเฉลี่ย ๓๐๐ ล้านเซลล์ต่อหนึ่งนาที)

          ดังนั้น ไม่ว่าร้อนเกินไปหรือว่าหนาวเกินไป ร่างกายจะต้องปรับอุณหภูมิด้วยการขับปัสสาวะออกมา ขณะเดียวกัน กากอาหารต่าง ๆ ที่เหลือทิ้งจากการเผาผลาญ ร่างกาย ก็ต้องขับออกมาเป็นอุจจาระ เพื่อไม่ให้แปรสภาพเป็นสารพิษตกค้างในร่างกาย

          ทุกข์จากการขับถ่ายปัสสาวะอุจจาระนี้ เป็นข้อเตือนใจว่า มนุษย์คนใดก็ตาม ไม่ว่า จะร่ำรวยที่สุดในโลก จะสวยที่สุดในโลก จะฉลาดที่สุดในโลก ถ้ายังมีอุจจาระปัสสาวะอยู่เต็มท้อง ก็ฟ้องว่ายังมีทุกข์ประจำสรีระอยู่ทั้งนั้น

          ใครก็ตามที่บอกว่าไม่มีทุกข์นั้น ไม่เป็นความจริง ทั้งนี้เพราะตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่ง เข้านอน ทุกคนต่างต้องมีการขับถ่ายเกิดขึ้นอยู่เป็นช่วง ๆ ตลอดทั้งวัน นี่คือความทุกข์ที่ยังแก้ไขไม่ตก หลอกตัวเองก็ไม่ได้ สำหรับเรื่องปัสสาวะนั้น ถ้าร่างกายไม่สามารถขับถ่ายออกมาได้ภายในไม่เกิน ๑ ชั่วโมง จะรู้สึกทุรนทุรายมาก และจะมีอาการไข้เกิดขึ้นทันที ส่วนเรื่องอุจจาระนั้น ถ้าไม่ได้ขับถ่าย หรือขับถ่ายไม่ออก ซึ่งเรียกกันว่าท้องผูกสักสองถึงสามวัน ก็จะมีอาการร้อนใน เป็นแผลในปาก รู้สึกเจ็บและทรมานมาก ถ้าอาการท้องผูกยืดเยื้อไปหลายวัน ก็จะมีอาการไข้เกิดขึ้นเหมือนกัน บุคคลที่มีอาการท้องผูกเป็นประจำนานไปก็จะเป็นโรคริดสีดวงทวาร ซึ่งจะต้องเสียโลหิตจำนวนมากเป็นระยะ ๆ แม้จะต้องรักษากันไปตลอดชีวิตก็ยากที่จะหาย เพราะองคาพยพของทวารหนักได้เสื่อมประสิทธิภาพ ไปแล้ว

 





 

          ดังนั้น การปวดอุจจาระ การปวดปัสสาวะ จึงเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากความไม่บริสุทธิ์ ของธาตุ ๔ ในตัวของคนเรานั่นเอง เป็นความทุกข์ที่เบียดเบียนเราให้อ่อนแอเปราะบางอยู่ทุกวัน ๆ แต่ก็ไม่มีใครเฉลียวใจว่ามันคือความทุกข์

          เพราะเหตุที่ทรงตระหนักถึงทุกข์ประจำสรีระนี้มาตั้งแต่ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงตัดสินพระทัย ออกบวชเพื่อค้นหาวิธีกำจัดทุกข์เรื่อยมา จนกระทั่ง ในพระชาติสุดท้ายได้ประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ทรงทิ้งวังสามฤดูที่เพียบพร้อมบริบูรณ์ด้วยนางสนมนารีตลอดทั้งกลางวัน กลางคืน โดยไม่ไยดี เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกบวช) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ในคืนวันเพ็ญวิสาขบูชา วังสามฤดูที่จอมราชันย์ทั้งหลายในโลกจมปลักอยู่ท่ามกลางสนมนารีที่แวดล้อม ซึ่งใคร ๆ ก็ตัดใจยากแสนยากนักหนา แต่พระองค์ทรงตัดพระทัยได้ เพราะทรงไม่หลอกตัวเอง ทรงมองเห็นความจริงแล้วว่า วังสามฤดูนั้น แท้ที่จริงก็คือโลกียสถานที่คับแคบ ประดุจคุกที่คุมขังนักโทษ ซึ่งทำให้ผู้คนทั้งหลายต่างพากันหลงมัวเมาจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น ถึงขั้นลืมคิดไปว่า ทุกคนเกิดมาแล้วล้วนต้องตายกันหมด แม้แต่พระองค์ก็ไม่มีข้อยกเว้น วังสามฤดูนี้ จะต้องกลายเป็นสุสานสามฤดูไม่ช้าก็เร็ว อาณาจักรที่จะได้ขึ้นครองราชย์นี้ ไม่ว่าจะมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลเพียงใด จะมีไพร่ฟ้าประชาชนมากมายเท่าใด แท้ที่จริงก็คือจะเป็นอาณาจักรที่มีแต่คนแก่ คนเจ็บ คนตายอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น หาได้มีสิ่งใดจีรัง ยั่งยืนเป็นแก่นสารไม่ เพราะยังไม่มีใครพ้นทุกข์ประจำสรีระนี้ได้เลย

          พระองค์ทรงยอมรับความจริงเหล่านี้ จึงทรงสละวังออกผนวช เพื่อค้นคว้าหาความรู้ สำหรับการกำจัดทุกข์ให้สิ้นไป ทรงออกผนวชเพื่อจุดประสงค์เดียวกันนี้มาหลายภพหลายชาติ ก็เพราะทรงตระหนักในทุกข์ประจำสรีระเหล่านี้ แม้แต่การปวดอุจจาระ การปวดปัสสาวะ ก็ไม่ทรงปล่อยผ่านเลย

          ดังนั้น เราเองก็ต้องดูพระองค์เป็นแบบอย่าง เมื่อปวดอุจจาระปวดปัสสาวะเมื่อใด ก็ให้เตือนตัวเองว่า ทุกข์จากการปวดอุจจาระปัสสาวะนี้เกิดจากธาตุ ๔ ในตัวของเรายังไม่บริสุทธิ์ ถ้าหากเรายังไม่หาทางกำจัดทุกข์ก็จะต้องทรมานกับโรคเรื้อรังประจำสรีระนี้ไม่รู้จบรู้สิ้น ดังนั้นเราจะประมาทในชีวิตไม่ได้

ข้อที่ ๗ - ๘ ความสำรวมกาย - ความสำรวมวาจา

          คำว่า สำรวม แปลว่า ระมัดระวังอย่างมีสติ ในที่นี้ หมายถึงการระวังกายกับวาจา ไม่ให้เกิดการเบียดเบียนผู้อื่น

          สำรวมกาย คือ ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ประพฤติผิดในกาม

          สำรวมวาจา คือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ

          การสำรวมกายกับวาจานี้ มีผลทำให้ธาตุ ๔ ในตัวมีความบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการตายของเซลล์ในร่างกายลดลง แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราไม่สำรวมกายกับวาจา ก็จะทำให้ธาตุ ๔ ไม่บริสุทธิ์ ส่งผลให้อัตราการตายของเซลล์ในร่างกายเพิ่มขึ้นเช่นกัน

          คำถามก็คือ การสำรวมกับไม่สำรวมกายและวาจามีผลทำให้อัตราการตายของเซลล์ เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้อย่างไร

          สมมติว่ายุงบินมากัดเรา มันต้องการแค่เลือดสักหยดหนึ่งเพื่อประทังชีวิต แต่เราไม่ยอมให้ และตัดสินโทษสถานเดียวที่มันกัดเราคือต้องตาย แล้วก็ตบผัวะ! ปรากฏว่ามันตายคาที่ เราเสียเลือดหนึ่งหยด แต่มันเสียหนึ่งชีวิต เวลายุงตัวอื่น ๆ มากัดอีก เราก็ตัดสินประหารมันอีก ไม่ว่ามียุงมากัดกี่ตัว ๆ เราออกแรงตบยุงตายไปเป็นร้อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ มันกินเลือดเรานิดเดียว

          สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ก็คือ ศีลข้อแรกขาด (เพราะไม่เว้นจากการฆ่าสัตว์)

          ศีล แปลว่า ปกติ ถ้าศีลขาดก็แสดงว่า ไม่ปกติ

          ศีลแต่ละข้อจะมีองค์ประกอบที่ต้องรักษาเอาไว้ ถ้าศีลขาดเมื่อใด ความไม่บริสุทธิ์ของธาตุ ๔ ก็จะเพิ่มขึ้นในร่างกายทันที โดยเพิ่มระดับความไม่บริสุทธิ์จากความผิดปกติขององค์ประกอบของศีลไปทีละข้อ

          ในกรณีของศีลข้อแรก ก็มีองค์ประกอบอยู่ ๕ ข้อ เริ่มตั้งแต่ ๑. สัตว์นั้นยังมีชีวิต ๒. เราก็รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต ๓. เรามีเจตนาคิดจะฆ่า ๔. เราลงมือฆ่าสัตว์นั้น และ ๕. สัตว์ นั้นตายสมใจ พอครบองค์ประกอบ ๕ ข้อนี้ ศีลข้อแรกคือไม่ฆ่า ก็ขาดลงทันที มือเปื้อนเลือดเสียแล้ว

          เมื่อศีลข้อแรกขาด ก็แสดงว่าการกระทำของเราไม่บริสุทธิ์ ร่างกายที่ประกอบด้วยธาตุ ๔ ในตัว จึงไม่บริสุทธิ์ตามไปด้วย ส่งผลให้อัตราการตายของเซลล์เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติอีกด้วย ทุกข์ก็เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย นี้เป็นตัวอย่าง ดังนั้น อาการที่ธาตุ ๔ ไม่บริสุทธิ์ ก็คืออาการที่เกิดจากองค์ประกอบแห่งศีลผิดปกติไปทีละข้อ ๆ นั่นเอง

          เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่สำรวมกายกับวาจาในศีลข้ออื่น ๆ ด้วย ธาตุ ๔ ในตัวของเราก็จะสกปรกขึ้นเรื่อย ๆ เช่น เราอาจจะไม่ฆ่า แต่ไปปล้นหรือไปเผาบ้านคนอื่น เราอาจ จะไม่ได้ไปยุ่งกับลูกเมียคนอื่น แต่ไปคุยเล่นหยอกล้อนิดหน่อย เราอาจจะไม่ได้โกหก แต่ยุแหย่ให้เขาทะเลาะกัน สิ่งเหล่านี้ก็เป็นความไม่สำรวมกายกับวาจา ไม่เพียงแต่ทำให้อัตราการตายของเซลล์เพิ่มขึ้น แต่จะมีผลเป็นทุกข์เป็นโทษกับชีวิตทั้งด้านกฎหมาย เพื่อนบ้าน สังคม หรืออื่น ๆ อีกหลายเรื่องตามมาด้วย

          การสำรวมในศีลนั้นมีคุณประโยชน์ต่อคนเราอย่างมากมายมหาศาล ดังธรรมภาษิต ต่อไปนี้ "ความสำรวมในศีลทำให้กายกับวาจาบริสุทธิ์ เป็นบ่อเกิดแห่งความสุข เป็นบ่อเกิด แห่งโภคทรัพย์ เป็นบ่อเกิดแห่งนิพพาน"

          ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราหมั่นรักษาศีลมากเท่าใด ความสำรวมกายกับวาจาก็จะทำให้ธาตุ ๔ ในตัวของเรา มีความบริสุทธิ์เพิ่มขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ผิวพรรณวรรณะจึงผ่องใส โดยไม่ต้องหาเครื่องสำอางใด ๆ มาพอกมาทา เพราะว่าศีลได้ช่วยกลั่นกรองธาตุ ๔ ในตัวให้บริสุทธิ์ จนแสดงความผ่องใสออกมาให้เห็นชัดเจน เครื่องกรองน้ำสามารถกรองเอาฝุ่นผงที่แขวนลอยในน้ำออกไปได้ฉันใด ศีลก็สามารถกรองกิเลสหยาบออกจากใจไปได้ฉันนั้น นี่คือสิ่งที่เราต้องตระหนักให้มาก

          กล่าวโดยสรุปก็คือ ความสำรวมกายกับวาจา รวมอยู่ในศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ นี้เอง เรารักษาศีลได้บริสุทธิ์มากเท่าใด กายกับวาจาก็บริสุทธิ์มากเท่านั้น อัตราการตายของเซลล์ก็ลดลง เพราะธาตุในตัวได้ถูกศีลกรองให้บริสุทธิ์นั่นเอง

(อ่านต่อฉบับหน้า)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล