พระธรรมเทศนา
ปัญหาวัดร้าง
ตอนที่ ๔
เรียบเรียงจากโอวาทพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)
๗. วัดย่อมไม่มีวันร้าง เมื่อยังมีพระภิกษุผู้บำเพ็ญภาวนาอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพัน
วัดในโลกนี้ ถือกำเนิดเกิดขึ้นได้ก็เพราะสถานที่แห่งนั้น มีพระภิกษุผู้บำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันเข้าไปอยู่อาศัยที่นั่น จากแต่เดิมที่เคยเป็นโคนไม้ ลอมฟาง วิหารร้าง เรือนว่าง ป่าช้า ป่าชัฏ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ทุ่งร้าง ก็ถูกสร้างเป็นสังฆารามถวายให้แก่พระภิกษุสงฆ์ที่เดินทางมาปฏิบัติธรรมจากทั้งสี่ทิศจากน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้านบ้าง จากสมบัติพัสถานของเศรษฐีบ้าง จากพระราชทรัพย์ของพระราชาบ้าง สถานที่รกร้างในโลกนี้แปรเปลี่ยเป็นวัดก็ด้วยอาศัยความศรัทธาที่มีต่อการบำเพ็ญภาวนาอย่างอุทิศชีวิติเป็นเดิมพันขอ งพระภิกษุสงฆ์ทั้งสิ้น
ในทำนองตรงกันข้าม วัดที่สร้างขึ้นแล้วในโลกนี้ จะกลับไปเป็นโคนไม้ ลอมฟาง วิหารร้าง เรือนว่าง ป่าช้า ป่าชัฏ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ทุ่งร้าง ก็เพราะสถานที่แห่งนั้นไม่หลงเหลือพระภิกษุผู้บำรุงเพ็ญเพียรภาวนาอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันอยู่ที่นั้นเช่นกัน
ป่างามด้วยพระภิกษุผู้ปรารภความเพียร
สมัยหนึ่งในครั้งพุทธกาล พระบรมศาสดาประทับอยู่ที่ป่าโคสิงคสาลวัน ซึ่งเป็นป่าต้นสาละที่กำลังออกดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมประดุจกลิ่นทิพย์ พร้อมด้วยพระเถระผู้เป็นพระสาวกที่มีชื่อเสียงหลายรูป คือ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระเรวตะ ท่านพระอานนท์ และพระเถระ ผู้เป็นพระสาวกที่มีชื่อเสียงรูปอื่น ๆ
ในราตรีแจ่มกระจ่างด้วยแสงจันทร์คืนนั้น พระเถระทั้ง ๕ รูป คือท่านพระอานนท์ ท่านพระเรวตะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้พากันเข้าไปหาพระสารีบุตรเพื่อฟังธรรมถึงที่หลีกเร้น การสนทนาธรรมในวันนั้น ท่านพระสารีบุตร ตั้งคำถามขึ้นว่า "ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยพระภิกษุเช่นไร" พระเถระทั้ง ๕ รูป ตอบเรียงตามลำดับความเป็นผู้มีพรรษาน้อยที่สุดไปหาผู้มีพรรษามากที่สุด โดยท่านพระอานนท์ผู้เลิศด้วยความเป็นพหูสูต กล่าวตอบเป็นรูปแรกว่า "ป่าจะพึงงามด้วย พระภิกษุผู้เป็นพหูสูต ผู้แสดงธรรมแก่พุทธบริษัท ๔ ด้วยถ้อยคำที่เข้าใจง่าย ต่อเนื่องไม่ขาดสาย จนกระทั่งสามารถถอนกิเลสที่นอนเนื่องในใจให้หมดสิ้นไป" ท่านพระเรวตะเป็นผู้เลิศด้วยความยินดีในฌาน กล่าวตอบเป็นรูปที่สองว่า "ป่าจะพึงงามด้วยพระภิกษุผู้ยินดีในฌาน หลีกออกเร้น บำเพ็ญวิปัสสนาอยู่ในฌานอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย" ท่านพระอนุรุทธะเป็นผู้เลิศด้วยตาทิพย์ กล่าวตอบเป็นรูปที่สามว่า "ป่าจะพึงงามด้วยพระภิกษุผู้มีตาทิพย์ ผู้ตรวจดู ๑,๐๐๐ โลกธาตุ (๑ โลกธาตุ เท่ากับ ๑,๐๐๐ จักรวาล ในที่นี้หมายถึง ๑ ล้านจักรวาล) ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์อย่างทั่วถึงไม่ขาดสาย" ท่านพระมหากัสสสปะ เป็นผู้เลิศด้วยการอยู่ธุดงค์ กล่าวตอบเป็นรูปที่สี่ว่า "ป่าจะพึงงามด้วยพระภิกษุผู้อยู่ธุดงค์เป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณของการอยู่ธุดงค์ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบ ตั้งแต่ ๑. การอยู่ป่าเป็นวัตร ๒. ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ๓. ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ๔. ถือไตรจีวรเป็นวัตร ๕. การเป็นผู้มักน้อย ๖. การเป็นผู้สันโดษ ๗. การเป็นผู้สงัด ๘. การเป็นผู้ไม่คลุกคลี ๙. การเป็นผู้ปรารภความเพียร ๑๐. การเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ๑๑. การเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ ๑๒. การเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา ๑๓. การเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ ๑๔. การเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ"
ท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นผู้เลิศด้วยฤทธิ์ กล่าวตอบเป็นรูปที่ห้าว่า "ป่าจะพึงงามด้วยพระภิกษุธรรมกถึก ๒ รูป ผู้ผลัดกันถามตอบพระอภิธรรมกถาไปมาอย่างไม่มีหยุดพัก ท่านพระสารีบุตรเป็นผู้เลิศด้วยปัญญา กล่าวตอบเป็นรูปสุดท้ายว่า ป่าจะพึงงามด้วยพระภิกษุผู้อยู่ในวิหารสมาบัติได้ตามใจปรารถนา ทั้งในเวลาเช้า เวลาเที่ยง เวลาเย็น ด้วยการทำให้จิตอยู่ในอำนาจของตน ไม่ยอมให้ตนอยู่ในอำนาจของจิต
เมื่อพระเถระทั้ง ๕ รูป ต่างตอบคำถามตามอัธยาศัยของตนแล้ว ก็พากันไปเข้าเฝ้า พระบรมศาสดา เพื่อกราบทูลถามปัญหานั้นกับพระพุทธองค์ ซึ่งพระองค์ก็ตรัสรับรองว่า ทุกคำตอบของพระเถระทั้ง ๕ รูป เป็นคำตอบที่ถูกต้อง ส่วนคำตอบในทรรศนะของพระองค์นั้นก็คือ "ป่าจะพึงงามด้วยพระภิกษุผู้ปรารภความเพียรอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพัน" โดย ตรัสตอบว่า สารีบุตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้กลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าว่า จิตของเรายังไม่หมดความถือมั่น (และ) ไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพียงใด เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้เพียงนั้น สารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้"
ดังนั้น จากพระบรมพุทโธวาทบทนี้ ย่อมเป็นคำตอบว่า ไม่ว่าวัดใดก็ตาม ตราบใดที่วัดนั้นยังมีพระภิกษุผู้ปรารภความเพียรอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพัน ตราบนั้นวัดจะไม่ร้างอย่างแน่นอน และวัดนั้น ก็จะเป็นวัดที่มีพระเถระ พระมัชฌิมะ และพระนวกะ ที่สามารถแจกจ่ายโลกุตรธรรมให้สังคมได้จริง ความเจริญรุ่งเรืองในวัดนั้น ก็จะกลายเป็นความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาให้ชาวโลกในยุคนั้นได้เลื่อมใสศรัทธาและทุ่มชีวาบำเพ็ญภาวนา ตามหมู่สงฆ์ในวัดนั้นด้วย
วัดงามด้วยหมู่สงฆ์ผู้รู้ชัดโลกุตรธรรม
สมัยหนึ่งในครั้งพุทธกาล พระบรมศาสดาประทับจำพรรษาอยู่ที่ปราสาทของมิคาร- มาตา ในวัดบุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี พร้อมด้วยพระสาวกผู้เป็นเถระ มีชื่อเสียงหลายรูป ด้วยกัน คือ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระ-มหากัจจายนะ ท่านพระมหาโกฏฐิตะ ท่านพระมหากัปปินะ ท่านพระมหาจุนทะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระเรวตะ ท่านพระอานนท์ และพระสาวกผู้เป็นเถระที่มีชื่อเสียงรูปอื่นๆ
ในพรรษานั้น พระเถระทั้งหลายให้การพร่ำสอนพระภิกษุใหม่ทั้งหลาย โดยแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ ไปตามอัธยาศัยการบำเพ็ญภาวนา บางพวกก็สอนภิกษุใหม่ ๑๐ รูปบ้าง ๒๐ รูปบ้าง ๓๐ รูปบ้าง ๔๐ รูปบ้าง พระภิกษุใหม่เหล่านั้นเมื่อน้อมรับคำสั่งสอนในภาคปริยัติด้วยความเคารพแล้ว ก็นำไปปฏิบัติจนกระทั่งเข้าถึงธรรม ได้เป็นผู้รู้ชัดธรรมวิเศษอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าที่ตนเคยรู้มาก่อนอย่างมาก
พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นความอนุเคราะห์ของพระเถระทั้งหลายที่มีต่อการ ทำให้แจ้งซึ่งโลกุตรธรรมแก่พระบวชใหม่ตลอดทั้งพรรษานั้นแล้ว ก็ทรงยินดีเป็นอย่างยิ่ง
ครั้นเมื่อครบกำหนดออกพรรษา ในวันปวารณา ซึ่งตรงกับวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ นั้นเอง ก็ทรงเรียกประชุมสงฆ์ที่กลางแจ้ง ท่ามกลางคืนจันทร์กระจ่างเต็มดวง ทอดพระเนตรดูหมู่สงฆ์ที่มาประชุมกันด้วยความนิ่งสงบนั้น เพื่ออนุเคราะห์ต่อการเล่าเรียนธรรม ปฏิบัติธรรม บรรลุธรรมของพระภิกษุใหม่ จึงทรงประกาศจำพรรษาเพิ่มขึ้นอีก ๑ เดือน และกำหนดให้วันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งเป็นเดือนที่มีดอกโกมุทบาน เป็นวันปวารณาออกพรรษา โดยพระบรมศาสดาทรงมีรับสั่งว่า ภิกษุทั้งหลาย เรายินดีปฏิปทานี้ เรามีใจยินดีปฏิปทานี้ เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายในธรรมวินัยนี้จงปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ตนยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ตนยังไม่ทำให้แจ้งให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปเถิด เราจักรออยู่ในกรุงสาวัตถีนี้แหละ จนถึงวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน อันเป็นเดือนที่มีดอกโกมุท 4 ฝ่ายพระภิกษุที่จำพรรษาอยู่ในชนบทอื่น ๆ เมื่อได้ทราบข่าวว่า พระบรมศาสดาจะประทับจำพรรษาอยู่ที่กรุงสาวัตถี อีก ๑ เดือน ก็พากันเดินทางออกจากวัดนั้น ตรงไปสมทบยังวัดบุพพารามทันที
เมื่อไปถึงที่หมายแล้ว พระภิกษุจากชนบทก็พากันแยกย้าย ขอเข้าไปเล่าเรียนธรรมะ จากพระเถระทั้งหลายในวันนั้น เพื่อให้สมกับความตั้งใจที่รอนแรมมาหลายราตรีทันที พระเถระทั้งหลายก็อนุเคราะห์พร่ำสอนโดยไม่ปิดบัง ส่งผลให้ในพรรษานั้น วัดบุพพารามมียอดพระภิกษุใหม่ที่บรรลุธรรมเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว เนื่องด้วยมีพระภิกษุจากทั่วสารทิศ พากันมาสมทบนั่นเอง
เมื่อถึงวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ อันเป็นวันครบกำหนดเดือนที่ ๔ ของการ จำพรรษา หมู่สงฆ์ก็พากันแวดล้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อประกอบพิธีปวารณาพรรษา
ท่ามกลางคืนจันทร์เพ็ญกระจ่าง ส่องแสงนวลตาทั่วลานกว้างนั้นเอง พระบรมศาสดา ทรงตรวจดูการบรรลุโลกุตรธรรมของพระภิกษุทั้งหมดในวัดนั้นแล้ว ก็ทรงปลาบปลื้มยินดีในหมู่สงฆ์ที่งามสง่าด้วยโลกุตรธรรมยิ่งนัก ตรัสชื่นชมหมู่สงฆ์ที่อยู่ในอาการนิ่งสงบด้วยความเคารพในธรรมว่า ภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้ไม่สนทนากัน บริษัทนี้เงียบเสียงสนทนากัน ดำรงอยู่ในสารธรรมอันบริสุทธิ์
ภิกษุสงฆ์บริษัทนี้ เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของ ต้อนรับ ควรแก่ทักษิณาทาน ควรแก่การทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก ภิกษุสงฆ์นี้ เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่เขาถวายของน้อยแต่มีผลมาก และถวายของมากก็ยิ่งมีผลมากขึ้น
ภิกษุสงฆ์นี้ เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่ชาวโลกยากจะได้พบเห็น ภิกษุสงฆ์นี้ เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่แม้คนผู้เอาเสบียงคล้องบ่าควรเดินทางไปเป็นโยชน์ ๆ เพื่อพบเห็น5
เมื่อพระบรมศาสดาตรัสชื่นชมหมู่สงฆ์ด้วยพระภาษิตอันงดงามแล้ว ก็ทรงแจกแจงความสง่างามของพระภิกษุที่ประชุมกันในหมู่สงฆ์วันนั้น ไปตาม ระดับของความรู้ชัดในโลกุตรธรรม ซึ่งแบ่งออกเป็น ๑๘ ประเภท6 ดังต่อไปนี้
๑. มีพระอรหันต์อยู่ในหมู่สงฆ์
"ภิกษุทั้งหลาย ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้เป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ในหมู่สงฆ์นี้ก็มีภิกษุแม้เช่นนั้นอยู่"
๒. มีพระอนาคามีอยู่ในหมู่สงฆ์
"ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้เป็นอนาคามี เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ จะเกิดเป็นโอปปาติกะ จะปรินิพพานในโลกนั้น ๆ ไม่กลับมาจากโลกนั้นอีกเป็นธรรมดา ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ก็มีภิกษุแม้เช่นนั้นอยู่"
๓. มีพระสกิทาคามีอยู่ในหมู่สงฆ์
"ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้เป็นสกทาคามี เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ และเพราะทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบาง จะกลับมายังโลกนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น แล้วทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ในหมู่สงฆ์นี้ก็มีภิกษุแม้เช่นนั้นอยู่"
๔. มีพระโสดาบันอยู่ในหมู่สงฆ์
"ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้เป็นโสดาบัน เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า ในหมู่สงฆ์นี้ก็มีภิกษุแม้เช่นนั้นอยู่"
๕. มีพระภิกษุผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ อยู่ในหมู่สงฆ์
"ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ อยู่ ..."
๖. มีพระภิกษุผู้เจริญสัมมัปปธาน ๔ อยู่ในหมู่สงฆ์
"ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญสัมมัปปธาน ๔ อยู่ ..."
๗. มีพระภิกษุผู้เจริญอิทธิบาท ๔ อยู่ในหมู่สงฆ์
"ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญอิทธิบาท ๔ อยู่ ..."
๘. มีพระภิกษุผู้เจริญอินทรีย์ ๕ อยู่ในหมู่สงฆ์
"ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญอินทรีย์ ๕ อยู่ ..."
๙. มีพระภิกษุผู้เจริญพละ ๕ อยู่ในหมู่สงฆ์
"ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญพละ ๕ อยู่ ...."
๑๐. มีพระภิกษุผู้เจริญโพชฌงค์ ๗ อยู่ในหมู่สงฆ์
"ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญโพชฌงค์ ๗ อยู่ ...."
๑๑. มีพระภิกษุผู้เจริญมรรคมีองค์ ๘ อยู่ในหมู่สงฆ์
"ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญมรรคมีองค์ ๘ อยู่ ....
๑๒. มีพระภิกษุผู้เจริญเมตตาอยู่ในหมู่สงฆ์
"ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญเมตตาอยู่ ...."
๑๓. มีพระภิกษุผู้เจริญกรุณาอยู่ในหมู่สงฆ์
"ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญกรุณาอยู่ ...."
๑๔. มีพระภิกษุผู้เจริญมุทิตาอยู่ในหมู่สงฆ์
"ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญมุทิตาอยู่ ..."
๑๕. มีพระภิกษุผู้เจริญอุเบกขาอยู่ในหมู่สงฆ์
"ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญอุเบกขาอยู่ ...."
๑๖. มีพระภิกษุผู้เจริญอสุภสัญญาอยู่ในหมู่สงฆ์
"ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญอสุภสัญญาอยู่ ...."
๑๗. มีพระภิกษุผู้เจริญอนิจจสัญญาอยู่ในหมู่สงฆ์
"ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญอนิจจสัญญาอยู่ ..."
๑๘. มีพระภิกษุผู้เจริญอานาปานสติอยู่ในหมู่สงฆ์
"ภิกษุทั้งหลาย ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญอานาปานสติ...อยู่"
พระภิกษุที่มีความรู้ชัดในโลกุตรธรรมที่แบ่งออกได้ ๑๘ ประเภทนี้ คือ ความงามสง่าของวัดอย่างแท้จริง เพราะท้ายที่สุดแห่งหนทางสายนี้แล้ว เมื่อปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ด้วยการบำเพ็ญภาวนาอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันแล้ว ย่อมบรรลุถึงความเป็น "พระอรหันต-ขีณาสพ" ผู้เป็น "สักขิสาวก" คือ พระอรหันต์ผู้ได้ทันเห็นพระบรมศาสดาในขณะยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ดุจเดียวกันหมด จากพระพุทธดำรัสดังกล่าวนี้ ย่อมเป็นคำตอบจาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงส่งต่อมาถึงพระภิกษุในยุคปัจจุบันให้ได้ทราบความจริงว่า
"ตราบที่วัดใดก็ตามยังเต็มไปด้วยพระภิกษุผู้ปรารภความเพียรอย่างอุทิศชีวิตเป็น เดิมพันอยู่ วัดนั้นย่อมไม่กลายเป็นวัดร้างอย่างแน่นอน หรือแม้ว่า วัดแห่งนั้นจะร้างไปแล้ว ก็สามารถกลับเป็นวัดรุ่งขึ้นได้ ด้วยอำนาจแห่งการบำเพ็ญภาวนาอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพัน เช่นกัน"
เพราะวัดที่เต็มไปด้วยพระภิกษุผู้บำเพ็ญภาวนาอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันนั้น ย่อมเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นแหล่งรวมเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก ที่ดึงดูดชาวโลกให้พากันมาแสวงหาโลกุตรธรรม เพื่อสั่งสมบุญกุศลให้ยิ่ง ๆ ขึ้น ดังที่ พระบรมศาสดาตรัสว่า "ภิกษุสงฆ์บริษัทนี้ เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณาทาน ควรแก่การทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ภิกษุสงฆ์นี้ เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่เขาถวายของน้อยแต่มีผลมาก และถวายของมากก็ยิ่งมีผลมากขึ้น ภิกษุสงฆ์นี้ เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่ชาวโลกยากจะได้พบเห็น7" (เพราะเป็นทัสสนานุตริยะ คือการเห็นอันประเสริฐ)