ถ้ามีคนกล่าวว่า ศาสตร์ที่ว่าด้วยการเลี้ยงชีวิต คือความรู้นานัปการบนโลก ที่ใช้ในการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ที่ใช้ในการทำมาหากินเลี้ยงชีวิต ให้อยู่รอดปลอดภัย คือศาสตร์แห่งสามัญสำนึก ที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ..คุณก็คงจะเห็นด้วยโดยดุษฎี
แต่ในปัจจุบันกลับพบว่า ความรู้ความสามารถที่ใช้ใน การเลี้ยงชีวิตเหล่านี้ ไม่เพียงพอที่จะทำให้มนุษย์มีความสุขอยู่ได้ หรือซ้ำร้ายไปกว่านั้น กลับพบว่าในบางครอบครัว ที่มีฐานะร่ำรวย อยู่อย่างทรนง กลับต้องประสบกับสภาพครอบครัวล้มเหลว หรือประสบกับปัญหาชีวิต ที่แก้เท่าไร..ก็แก้ไม่ตก
ดังนั้นคนมีปัญญาจึงหันเข้าหาศาสตร์อีกชนิด ที่เรียกว่าศาสตร์แห่งทางรอด ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ศาสตร์นี้จะทำให้เรารู้ว่า เราต้องดำเนินชีวิต อย่างไรให้มีความสุขที่สุด สอนให้เรามีความสงบ ท่ามกลางความสับสน สอนวิธีที่ทำให้ชีวิตของเรา ปราศจากปัญหาครอบครัว ปราศจากปัญหาที่ทำงาน และได้รับความรักจากคนรอบข้าง ตลอดจนกระทั่งสอนถึงวิธีการหลุดพ้น
ซึ่งศาสตร์ที่ว่าด้วยการดำเนินชีวิตนี้ ก็คือพุทธศาสตร์ และเธอคนนี้ หมอติ๋ม หรือ คุณพรเพ็ญ บุญศิริวัฒนกุล พยาบาลนักสู้ผู้เข้าถึงชาวบ้านแห่งเมืองชัยภูมิ เธอได้สัมผัสถึงคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ ที่เธอได้รับจากพุทธศาสตร์นี้
เนื่องจากเธอ ทำงานหนัก เพราะคนไข้เยอะมาก อีกทั้งยังอาสาตัว เข้าทำงานช่วยเหลือสังคมหลายอย่าง เช่นเป็นกรรมการสมาคม ผู้นำสตรีพัฒนาชุมชนไทย กรรมการสมาคมวัฒนธรรม อ.ภูเขียว เป็นที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาการศึกษาเพื่อศีลธรรม ที่ปรึกษามูลนิธิศึกษาธรรม เพื่อสิ่งแวดล้อม ที่ปรึกษามูลนิธิเยาวชนต้นแบบเพื่อศีลธรรม ที่ปรึกษาชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
ที่เธอต้องอาสาทำงานสังคม ควบคู่กับงานพยาบาลรักษา ผู้ป่วยในชนบท เพราะเธอไม่อยากเห็น พี่น้องชัยภูมิ มีสุขภาพร่างกายที่ดี เพียงอย่างเดียว แต่อยากเห็นพี่น้องชาวชัยภูมิ มีสุขภาพใจที่ดีด้วย อยากเห็นทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจริงๆ เพราะจากประสบการณ์ ที่ทุ่มเทงานด้านสาธารณสุข การรักษาผู้ป่วยมานาน นอกจากผู้ป่วยจะมาหา ให้ช่วยเยียวยารักษาโรคแล้ว ผู้ป่วยจะมาปรึกษา และขอให้ช่วยแก้ปัญหาชีวิตให้เป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ปัญหาภายในครอบครัว ปัญหาด้านความรัก ปัญหาเรื่องลูก ปัญหาทุกอย่าง จนเธอเริ่มคิดได้ว่า แท้จริงแล้ว ผู้คนกำลังขาดความสุข คนชัยภูมิกำลังต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้วยเหตุนี้ เธอจึงยอมอุทิศตัวเอง เพื่อคนส่วนใหญ่ เรียกได้ว่าเป็น ๓๐ ปีแห่งอุดมการณ์ก็ว่าได้ ที่เธอต่อสู้เคียงข้าง หมอชนบท เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ของชาวชัยภูมิ คือตั้งแต่เธอเรียนจบพยาบาลที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ได้เป็นพยาบาลรุ่นบุกเบิก รุ่นแรกของโรงพยาบาล ที่ใหญ่ที่สุดของขอนแก่น คือโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเมื่อทำงานเพียง ๓ ปีแรก เธอก็สามารถสอบเลื่อนขั้นได้ และได้ทั้งความดีความชอบรวม ๘ ขั้น ซึ่งเพื่อนๆ มักจะพูดว่าเธอเป็นพยาบาลที่คนไข้ และญาติๆ ของคนไข้รัก เพราะเธอปฏิบัติหน้าที่เกินกว่า ความเป็นพยาบาล คือพยายามเป็นทุกสิ่งให้กับคนไข้และญาติคนไข้ ไม่ว่าเขาจะทุกข์ร้อนเรื่องใดมา เธอจะมีคำพูดที่ทำให้เขาสบายใจ และช่วยแนะนำวิธีแก้ปัญหาให้เขาได้
แต่ด้วยความจำเป็นหลังจากที่เธอแต่งงานเธอแล้ว เธอจึงย้ายมาปักหลักครอบครัว อยู่ที่จังหวัดชัยภูมิกับสามี ซึ่งปัจจุบันสามีเธอมีตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ
พอย้ายมาอยู่ที่นี่ ก็มาเปิดคลีนิกแพทย์ชัยนันท์ รักษาคนไข้ ในแต่ละวัน มีคนไข้มาหาเธอมาก ทั้งๆที่เธอทำงานดูแลคนไข้มาก แต่ก็มีความสุขกับการได้ช่วยเหลือทุกคน ในบางครั้งเธอ และสามีต้องแบกภาระมากจนเกิดความเครียด เธอจึงคลายเครียด ด้วยการไปพักผ่อน ต่างประเทศเป็นประจำ เพื่อให้กลับมาทำงานต่อ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาก็คิดได้ว่าเธอน่าจะแสวงหา ความสุขมากกว่าการไปเที่ยวพักผ่อน จึงเริ่มหันหน้าแสวงหา ตระเวนไปตามวัดต่างๆทั่วอำเภอ และเธอได้ถวายสังฆทานตามวัดต่างๆ ไปเรื่อยๆ พอรักษาคนไข้เสร็จ เธอก็จะตระเวนไปวัดต่างในช่วงบ่าย เธอไปจนหมดทุกวัด จากอำเภอหนึ่ง สู่อีกอำเภอหนึ่ง ไปจนกระทั่งสังเกตพบว่า พระท่านมีความสุขนะ..ทั้งๆ ที่ท่านเองก็ไม่เห็นมีสมบัติพัสถานอะไรมากมายเลย ท่านมีเพียงอัฐบริขารและปัจจัย ๔ เท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่ที่ท่านมีความสุขได้ เพราะท่านฝึกสมาธินี่เอง จากการแสวงหาจนกระทั่งพบคำตอบว่า สิ่งที่ให้ความสุขที่แท้จริง คือสมาธิ ทำให้เธอเริ่มสนใจ ประกอบกับก็มีเจ้าหน้าที่ที่วัดพระธรรมกาย ได้ชวนเธอไปนั่งสมาธิที่เชียงใหม่ และด้วยบุญบันดาลอย่างไรก็ไม่ทราบ มีพระจากวัดพระธรรมกาย ท่านได้มาที่บ้าน จึงได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับท่าน ท่านจึงสอนสมาธิให้ ซึ่งเธอและสามีก็ได้มานั่งด้วยกัน นับเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์ใจมาก จากที่สามีกำลังปวดหัว แต่เมื่อเขาได้นั่งสมาธิเพียง ๑๕ นาทีเท่านั้น ปรากฏว่าเขาหายได้โดยไม่ต้องกินยา จากนั้นเขาจึงสนใจเรื่องสมาธิมากๆ จึงขอไปปฏิบัติธรรมที่เชียงใหม่ โดยการไปยกเลิกตั๋วเครื่องบินที่จองไว้ว่าจะไปเที่ยวฟินแลนด์ด้วยกัน ซึ่งก็จริงๆ.. พอเธอไปนั่งสมาธิแล้ว สมาธิ ทำให้เธอและสามีพบความสุขที่ไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิต และยังทำให้ใจสบายมาก จนมีสำนึกขึ้นมาว่า อยากทำให้คนไข้ทุกคน พี่น้องชาวชัยภูมิ และอยากให้คนทั่วโลก ได้มาสัมผัสความสุขตรงนี้
หลังจากนั้นเธอและครอบครัว จึงได้เข้าวัดพระธรรมกาย มาตั้งแต่บัดนั้น จนกระทั่งได้นำลูกชายวัยรุ่นมา บวชธรรมทายาท ที่วัดพระธรรมกาย หลังบวชเสร็จ เธอก็ได้เห็น การเปลี่ยนแปลงของลูก เหมือนเธอได้ลูกคนใหม่ เค้ารักบุญ รักษาศีล เอื้ออาทรต่อคุณพ่อคุณแม่ ช่วยเหลืองานคุณพ่อคุณแม่ดีทุกอย่าง ทำความสะอาดห้องเอง จัดของเป็นระเบียบ พูดง่ายเชื่อฟัง และเขายังได้กราบคุณพ่อคุณแม่ ก่อนนอนด้วยทุกครั้ง
จากนั้นชีวิตเธอก็มีความสุขมากขึ้นอีก ปัญหาเรื่องลูกได้หมดไป ปัญหาของครอบครัว ได้ถูกแก้ด้วยพุทธศาสนา เธอจึงหันมาตอบแทนพระศาสนา อย่างเต็มกำลังในทุกรูปแบบ หันมาทุ่มเททำงานด้านการรักษาคนไข้ควบคู่กับงานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอย่างสุดกำลัง เพราะได้เห็นประโยชน์ตรงนี้ด้วยตัวเองแล้ว ประกอบกับการได้รับฟังคำสอน ของพระเดชพระคุณ หลวงพ่อธัมมชโย และพระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตะชีโว ว่าให้ไปสนับสนุน บำรุงวัดทุกวัดให้ดีที่สุด ให้ช่วยกันปกป้องพุทธศาสนา ให้ไปเป็นกำลังสนับสนุนพระ ในจังหวัดเราอย่างเต็มความสามารถ ซึ่งพระทุกวัดท่านเก่ง และมีความสามารถมากอยู่แล้ว อีกทั้งท่านได้ยอมสละ และอุทิศชีวิตในเพศสมณะ แต่ท่านขาดกำลังสนับสนุนที่ดี ดังนั้นท่านให้เธอไปทำวัดทุกวัดในพื้น ที่ตัวเองอยู่เป็นวัดที่เจริญให้ได้ เพราะวัดทุกวัด เป็นที่พึ่งทางใจให้กับชาวบ้าน และวัดยังเป็นที่อบรมศีลธรรม สอนธรรมะ ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ที่ดีที่สุดอีกด้วย หากมีวัดร้างก็ให้ไปทำให้เป็นวัดรุ่ง ให้ไปสนับสนุน เรื่องการศึกษาพระบาลี ซึ่งเธอและศูนย์กัลยาณมิตร จังหวัดชัยภูมิ ได้ทำมาโดยตลอด ทำมานานหลายปีแล้ว และสิ่งที่เธอภาคภูมิใจก็คือ ได้ทำสังฆทาน ๙ วัด โครงการเทเหล้าเผาบุหรี่ งานสัมมนาขยาย เครือข่ายคนดีที่โลกต้องการ ทำโครงการกฐินตกค้างตามวัดต่างๆ ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านบอก ร่วมกับแกนนำหลักคือ ประธานศูนย์กัลยาณมิตร จังหวัดชัยภูมิ หรือแม่คำหล้าทำมาหลายปีแล้ว เพราะมีอยู่วัดหนึ่ง มีกฐินตกค้าง ทางวัดไม่ได้รับกฐินมานานถึง ๓ ปีติดกัน แต่พอกลุ่มของพวกเธอเข้าไปทำ ชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่นั้น ปีติจนน้ำตาไหล
จากหนึ่งชีวิต..สู่คุณภาพชีวิตในหลายชีวิต เพราะคุณค่าแห่งพุทธศาสตร์
ทำให้เธอได้ทำงานเพื่อสังคมในหลายๆอย่าง แม้เธอจะเป็นเพียงแค่พยาบาล แต่เธอก็เป็นพยาบาล ที่ทุ่มเททั้งชีวิต เพื่อพุทธศาสตร์ เพราะเธอเชื่อเหลือเกินว่า พระพุทธศาสนานี่แหละ คือศาสตร์แท้จริง ที่จะทำให้ทุกครอบครัวมีความสุขที่ยั่งยืน พุทธศาสาตร์ ถือเป็นศาสตร์แห่งชีวิต ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ ของสังคมและประเทศชาติได้ดีที่สุด