พระธรรมเทศนา
เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา พระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)
เรื่องที่หลวงพ่อจะนำมาเป็นหัวข้อสนทนากับพวกเราในวันนี้ เป็นเรื่องเศรษฐกิจเชิงพุทธที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสเล่าถึงที่มาของปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ถูกต้องของโลกนี้ว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้เรามองเห็นแนวทางการออกแบบชีวิต ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาได้อย่างชัดเจนยิ่งๆ ขึ้นไป
เศรษฐกิจตกต่ำเพราะไม่ระมัดระวังคำพูด
ก่อนอื่นหลวงพ่อขอปูพื้นฐานให้พวกเราเข้าใจ ในเรื่องเศรษฐกิจของมนุษย์ยุคต้นกัปกันก่อน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเล่าว่า หลังจากที่โลกเผาไหม้หลอมละลายเป็นหมอกเพลิง ผ่านไปเป็นเวลานานมากแล้ว ก็เริ่มเย็นตัวลงไปตามลำดับ แล้วก็ก่อร่างก่อรูปเป็นโลกมนุษย์ขึ้นมา ในขณะที่โลกเย็นตัวลงใหม่ๆ พื้นผิวโลกได้มีลักษณะเป็นง้วนดินขึ้น มีกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วจนไปถึงพรหมโลก
พรหมบางองค์ที่อยู่บนพรหมโลกได้กลิ่นหอมของง้วนดิน จึงเหาะลงมาบนโลกมนุษย์ เมื่อกินง้วนดินเข้าไป ร่างกายที่เป็นทิพย์ก็เริ่มหยาบขึ้นเรื่อยๆ เลยเหาะกลับวิมานของตัวเองไม่ได้ แล้วอวัยวะเพื่อใช้ในการย่อยอาหาร ระบบขับถ่ายต่างๆ จึงเกิดขึ้นมาตามลำดับๆ ในที่สุด ต้องอาศัยอยู่ในโลกมนุษย์ เปลี่ยนสถานภาพจากพรหมกลายเป็นชาวโลกไป
แต่เนื่องจากในตอนนั้นมนุษย์ยังมีสภาพกึ่งมนุษย์กึ่งทิพย์อยู่ และด้วยอำนาจบุญภายในตัวที่ยังมีอยู่มาก เลยส่งผลให้มีอาหารการกินกำเนิดขึ้นตามธรรมชาติไว้ให้เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งไม่ต้องมีที่อยู่อาศัย ไม่ต้องทำมาหากินอะไรก็มีกิน จึงนับว่าสมัยนั้นเป็นยุคที่มนุษย์ทั้งโลกรวยที่สุด เพราะไม่มีคนยากจนเลย ซึ่งก็หมายความว่าเป็นยุคที่สภาพเศรษฐกิจดีเยี่ยมที่สุดกว่าทุกยุคสมัยนั่นเองแต่ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ว่าตัวเองจะเกิดมาจากพรหม แต่ก็ยังไม่หมดกิเลส เลยก่อเหตุกันได้ ทั้งๆ ที่ไม่ต้องทำมาหากิน
แต่เนื่องจากกายที่เป็นกึ่งทิพย์กึ่งมนุษย์ของแต่ละคนมีผิวพรรณผ่องใสไม่เท่ากัน ใครที่ผิวพรรณประณีตกว่าก็เริ่มดูถูกผู้ที่มีผิวพรรณทรามกว่าตน แล้วก็มีการเหยียดสีผิวกันขึ้นมา การวิจารณ์ การเหน็บแนม เสียดสี นินทาต่างๆ ก็แพร่กระจายออกไปอย่างกับโรคระบาด ซึ่งรวมเรียกว่า "โรคปากเสีย" ก็เกิดขึ้นมา
เพราะว่าบางคนในยุคนั้นเป็นโรคปากเสีย ไม่รู้จักระมัดระวังคำพูด ดูถูก ดูแคลน เหยียดหยามกันในเรื่องผิวพรรณ เพียงแค่นี้โลกก็เริ่มวุ่นวาย ขึ้นมาทันที บรรยากาศร้อนๆ ก็เกิดขึ้นทันที การแบ่ง พรรคแบ่งพวก กักตุน เอารัดเอาเปรียบ ทะเลาะวิวาท ทำร้ายกันเองก็เกิดขึ้นมาตามลำดับๆ ส่งผลให้อาหารที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือตามธรรมชาติ ค่อยๆ ถูกมนุษย์ทำลายให้หายสูญไปกับตา
ยุคสมัยที่เศรษฐกิจร่ำรวยที่สุดของโลกก็ล่มสลายลงไปเพราะการไม่ระมัดระวังคำพูดเป็นสาเหตุสำคัญนั่นเอง แล้วหลังจากนั้นเศรษฐกิจในโลกก็มีขึ้นมีลงเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายมาตามลำดับๆ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้
เศรษฐกิจต้องคู่ไปกับจิตใจ
เมื่อเรามาสังเกตดูในยุคปัจจุบันนี้ ก็จะพบว่า การพูดจาว่าร้ายกัน และไม่ระมัดระวังคำพูดนั้น ยังคงมีอยู่มากไม่เว้นแต่ละวัน จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมเศรษฐกิจของโลกมนุษย์ในยุคนี้จึงจะมีความเสียหายเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ
จากจุดนี้เอง เท่ากับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ให้เราพึงระมัดระวังว่า อย่าเพิ่งคิดว่า ถ้าคนทั้งโลกเลิกจนแล้ว เศรษฐกิจของโลกนี้จะดีขึ้น เพราะขนาดยุคต้นกัปที่มนุษย์ทั้งโลกไม่มีคนจนเลย แต่เพราะโรคปากเสีย ไม่ระมัดระวังคำพูด ไปดูถูกดูแคลนกันเอง ยังทำเอาโลกระส่ำระสายได้มาถึงทุกวันนี้
หลักฐานตรงนี้ชี้ให้เห็นภาพชัดเจนว่า ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจส่วนตัว ในบ้าน วัด หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด รวมไปทั้งประเทศและทั้งโลก เศรษฐกิจต้องคู่ไปกับจิตใจ ภาพตรงนี้ต้องชัด ไม่อย่างนั้นตัวเราเองจะพลาด
พวกเราหลายคนเวลาทำบุญแล้ว ตั้งเป้าอธิษฐานเลยว่า "ด้วยบุญกุศลที่ข้าพเจ้าตั้งใจทำนี้ ต่อไปข้างหน้าขอให้รวยยิ่งขึ้นไปอีก"
แต่หลวงพ่อต้องขอเตือนพวกเรา ถึงรวยแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า จะแก้นิสัยไม่ดีได้ คนรวยแล้ว นิสัยชั่วร้ายก็มี หากรวยแล้วแต่ยังไม่ระมัดระวัง คำพูด นิสัยยังไม่ดี ความรวยนั่นแหละจะนำความเสียหายร้ายแรงมาให้ ในขณะที่คนยากจนก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเลวเสมอไป ยากจนแล้วเป็น คนดีก็มีให้เห็นมากมาย
เมื่อหลวงพ่อเข้าวัดใหม่ๆ ตอนนั้นยังไม่บวช ยังจำคำพูดของคุณยายอาจารย์ท่านสอนให้อธิษฐานให้เป็นว่า
"อย่าอธิษฐานให้อยู่ในกิเลส อย่างน้อยก็ล้อมคอกตีกันไว้เลย เช่น อธิษฐานให้รวยแล้วก็อย่าลืมอธิษฐานให้เป็นผู้มีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ยิ่งๆ ขึ้นไป ให้เลือก คิด พูด ทำ แต่สิ่งที่ดีๆ ด้วย"
แม้แต่พรปีใหม่ในบางปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระราชทานให้พสกนิกรของท่านว่า
"ขอให้ชาวไทยทั้งแผ่นดิน ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกประเทศ ให้คิดดีๆ พูดดีๆ และทำดีๆ"
จะเห็นว่าผู้เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ไม่ว่าจะ เป็นทางโลกหรือทางธรรม ต่างมีความคิดเห็นตรงกันว่า ต้องทำตัวให้บริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ยิ่งๆ ขึ้นไปแล้วความรวยที่เกิดขึ้นจึงจะเกิดประโยชน์ มิฉะนั้นจะไปไม่รอด