กุศลกรรมบถ ๑๐
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
ศีล..เป็นสะพานข้ามสู่เทวโลก
“สีลํ เสตุ มเหสกฺโข สีลํ คนฺโธ อนุตฺตโร
สีลํ วิเลปนํ เสฏฺฐํ เยน วาติ ทิโส ทิสํ
ศีลเป็นสะพานข้ามฟากอันมีพลังมาก ศีลมีกลิ่นหอมอันยอดเยี่ยม
ศีลเป็นเครื่องลูบไล้อันประเสริฐ
บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมหอมฟุ้งไปทั่วสารทิศ” (ขุ.เถร.)
ศีลเป็นสะพานข้ามฟากที่มีพลังมากสามารถพาข้ามไปสู่เทวโลกและพรหมโลกหรือแม้กระทั่งไปสู่พระนิพพาน บุคคลใดรักษาศีลเป็นปกติ ศีลก็จะรักษาบุคคลนั้นให้อยู่ในสุคติภูมิเพียงอย่างเดียว ไม่พลัดไปเกิดในอบายภูมิ ศีลเป็นคุณธรรมที่จะระงับโทสะควบคุมกายและวาจาไม่ให้ไปกระทบกระทั่งใคร เหมือนเราควบคุมไฟให้ติดอยู่เฉพาะในเตาไม่ให้ลามออกไปข้างนอก
ผู้ที่รักษาศีลจะแกล้วกล้าอาจหาญในท่ามกลางชุมชน เกียรติคุณย่อมฟุ้งขจรไปว่าเป็นคนดี เพราะกลิ่นศีลหอมทวนลมได้ฟุ้งปกคลุมไปทั่วทุกทิศ โดยเฉพาะการรักษาอุโบสถศีล ถอื เปน็ การฝกึ หดั ขดั เกลากาย วาจาใจ ให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น บัณฑิตนักปราชญ์ในสมัยก่อน นอกจากรักษาศีล ๕ ท่านยังนิยมรักษาอุโบสถศีลในวันพระ ๑๕ ค่ำ ทั้งข้างขึ้นข้างแรมทั้งวันรับวันส่ง เพราะรู้ว่าเป็นบุญพิเศษอันจะเป็นเหตุให้ถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติและคุณสมบัติติดตัวไปข้ามชาติ
อานุภาพอุโบสถศีล
ในสมัยพุทธกาล พระมหาโมคคัลลานะเหาะขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อตรวจดูวิมานและทิพยสมบัติของเทพบุตรเทพธิดาแล้วมักจะนำมาบอกเล่าให้สาธุชนฟังและอนุโมทนาสาธุการ เพื่อจะได้มีกำลังใจในการสั่งสมบุญให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป วันหนึ่ง ท่านไปเยี่ยมเทพธิดาผู้มีบุญท่านหนึ่ง พลางไต่ถามบุพกรรมว่า “แม่เทพธิดา เธอทำบุญอะไรไว้ จึงมีวรรณะสว่างไสวเช่นนี้ และรัศมีของเธอก็สว่างไสวไปทุกทิศ”
เทพธิดาตอบว่า “ชาวเมืองเรียกดิฉันว่าสุทินนา ดิฉันเป็นอุบาสิกาอยู่ในกรุงราชคฤห์เป็นผู้มีศรัทธา สำรวมในศีล งดเว้นจากปาณาติบาต เว้นห่างไกลจากอทินนาทานเว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นมุสาวาท
และสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ดิฉันเป็นผู้ยินดีในการรักษาศีล ๕ ยินดีในการรักษาอุโบสถศีลและรักษาศีล ๘ ในวันพระ ๑๕ ค่ำ ทั้งข้างขึ้นข้างแรม ทั้งวันรับวันส่ง เพราะบุญนั้นดิฉันจึงมีวรรณะเช่นนี้ สมบัติทุกอย่างที่น่าปลื้มใจเกิดขึ้นแก่ดิฉัน เพราะบุญที่ดิฉันทำไว้ดีแล้วตั้งแต่ครั้งเป็นมนุษย์ ซึ่งเมื่อครั้งเกิดเป็นมนุษย์นั้น ดิฉันตั้งใจรักษาอุโบสถศีล เพราะบุญนั้นดิฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และรัศมีของดิฉันก็สว่างไสวไปทุกทิศ”
ยิ่งไปกว่านั้น ศีลเป็นคุณธรรมอันจะนำไปสู่กุศลธรรมเบื้องสูง คือ อธิจิตและอธิปัญญาดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลายพืชที่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์เพราะตั้งอยู่บนแผ่นดิน ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลย่อมถึงความไพบูลย์ในธรรมทั้งหลายได้ฉันนั้น”
ความยากของการถือศีล
ในสมัยพุทธกาล พราหมณ์คนหนึ่งถามพระสารีบุตรว่า ในชีวิตของท่านตั้งแต่เกิดมามีอะไรที่ทำได้ยากบ้าง พระเถระตอบว่า“การบวชเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะต้องอาศัยความศรัทธา กล้าตัดสินใจที่จะสละความสุขทางโลก แล้วมาประพฤติพรหมจรรย์ ฝึกหัดขัดเกลาตนเองให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลสซึ่งเป็นการกระทำที่สวนกระแสโลก”
พราหมณ์ถามต่อไปว่า “แล้วมีอะไรที่ยากกว่านั้นอีกหรือไม่” ท่านตอบว่า “มี คือการบวชตลอดชีวิต บวชระยะสั้นเพียงไม่กี่เดือนแม้มีความลำบากในการดำเนินชีวิต แต่ก็เป็นช่วงสั้น ๆ ส่วนการบวชตลอดชีวิต ต้องอาศัยกำลังใจที่สูงส่ง ต้องมีความอดทนมาก”
พราหมณ์ฟังแล้วรู้สึกฉงน จึงซักถามต่อไปว่า “แล้วยังมีอะไรที่ท่านคิดว่ายากกว่านี้อีกไหม” พระเถระ “มีสิ การรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอดชีวิตความเป็นสมณะ เป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง เพราะตราบใดที่พระภิกษุยังเป็นปุถุชนอยู่ โอกาสประพฤติผิดพลาดมีอยู่ตลอดเวลา บางท่านแม้บวชได้ตลอดชีวิต แต่ภายในยังรกไปด้วยกิเลสเครื่องเศร้าหมองก็มีไม่ได้มีธรรมที่เป็นคุณของความเป็นสมณะ แต่บอกชาวโลกว่าเป็นสมณะ เมื่อละโลกก็ไปบังเกิดในอบาย ส่วนผู้ที่รักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์จนก่อเกิดเป็นสมาธิที่ตั้งมั่นภายในสามารถทำตนให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลสไปสู่พระนิพพาน นับเป็นบุคคลผู้หาได้ยากยิ่ง” นี่คือลำดับขั้นของพัฒนาการในการรักษาศีลหากทำได้สมบูรณ์ การบรรลุมรรค ผล นิพพานก็จะตามมา
ผู้รักษาศีลชื่อว่า ผู้ให้ทาน
การรักษาศีลได้ชื่อว่า ให้ความปลอดภัยสบายใจแก่สรรพสัตว์ บางท่านอาจคิดว่าการทำทาน คือ การให้สิ่งของ ไม่เกี่ยวกับการรักษาศีล แต่ความเป็นจริง การให้ความปลอดภัยให้ชีวิต ก็เป็นทานอย่างหนึ่ง ซึ่งท่านผู้รู้กล่าวว่าเป็นมหาทานทีเดียว เพราะการรักษาศีลด้วยชีวิตหรือให้ชีวิตเป็นทานจัดเป็นปรมัตถบารมีหากทุกคนตั้งใจรักษาศีล ทุกชีวิตจะได้รับความปลอดภัยทันที อีกทั้งไม่เฉพาะผู้รักษาศีลเท่านั้นที่จะได้บุญ ยังมีคนรอบข้างอีกมากมายที่เกิดความอบอุ่นใจตามไปด้วย เช่น
ศีลข้อ ๑ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนสัตว์และมนุษย์ ได้ชื่อว่าเราให้ชีวิตแก่สรรพสัตว์เป็นการให้สิ่งที่สูงค่ายิ่งกว่าทรัพย์ใด ๆ เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในบรรดาทรัพย์สมบัติภายนอกทั้งหมด
ศีลข้อ ๒ ไม่ลักทรัพย์ ได้ชื่อว่าให้ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นการให้ฐานะความเป็นอยู่อันมั่นคง ไม่ต้องระแวดระวังภัย
ศีลข้อ ๓ ไม่ประพฤติผิดในกาม ได้ชื่อว่าให้ความสุข ให้ความไว้วางใจแก่บุตรธิดาภรรยา สามีของผู้อื่น เป็นการให้ความคุ้มครองแก่สถาบันครอบครัวอย่างดีที่สุด
ศีลข้อ ๔ ไม่กล่าวเท็จ ได้ชื่อว่าให้ความจริงแก่ทุกคน ทำให้เกิดความมั่นใจในการดำเนินชีวิต โดยไม่ต้องระแวงซึ่งกันและกัน
ศีลข้อ ๕ ไม่ดื่มสุราเมรัย ได้ชื่อว่าให้ความอบอุ่นใจ ให้ความปลอดภัยกับทุกชีวิตเพราะคนที่ประมาท ขาดสติ สามารถทำความชั่วได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ประพฤติผิดในกาม หรือพูดเท็จก็ทำได้ ดังนั้นการรักษาศีลข้อที่ ๕ จึงเป็นสิ่งที่เราต้องตระหนักให้มากที่สุด
จะเห็นได้ว่า การรักษาศีลเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ เพราะให้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนอื่น การรักษาศีลจึงเป็นบุญที่พิเศษอย่างยิ่ง หากรักษาศีลให้สูงยิ่งขึ้นไปเช่น ศีล ๘ หรืออุโบสถศีล ศีล ๑๐ ของสามเณรและศีล ๒๒๗ ของพระภิกษุ ย่อมจะเป็นมหาทานอันยิ่งใหญ่ ทวยเทพได้ยินชื่อของบุคคลใดว่าเป็นผู้มีศีลมีธรรม ก็จะแซ่ซ้องอนุโมทนา และตามคุ้มครองรักษาผู้นั้น ดังนั้นเราควรหมั่นตามรักษาศีลให้สะอาดบริสุทธิ์นึกถึงทีไรจะได้มีความปลื้มปีติใจเป็นรางวัลความปีติใจจะทำให้มีผลการปฏิบัติธรรมที่ก้าวหน้า ได้เข้าถึงธรรมะภายในอย่างสะดวกสบาย
“กลิ่นดอกไม้ไม่อาจฟุ้งทวนลมได้แต่กลิ่นผ้ทูรงศีลฟุ้ง ทวนลม กลิ่นจันทน์ กฤษณาอุบล มะลิ แม้จะมีกลิ่นหอม แต่กลิ่นศีลยอดเยี่ยมกว่า กลิ่นกฤษณาและแก่นจันทน์มีความหอมเล็กน้อย ส่วนกลิ่นของผู้มีศีลเป็นกลิ่นสูงสุด ฟุ้งไปได้ไกล และฟุ้งขึ้นไปสูงถึงหมู่ทวยเทพทั้งหลาย”