วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ เจ๋ง เก่ง แน่

ข้อคิดรอบตัว
เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ (M.D.; Ph.D.) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC

 

 


เจ๋ง เก่ง แน่

 

 

 

 

การที่คนเก่งทำตัวเหมือนอวดความรู้ของตนสมควรหรือไม่?


   ถ้าเป็นการแสดงความสามารถด้วยการทำงานให้ดีที่สุด แบบนี้ดี แต่ต้องระวัง เพราะทุกคนต้องการความภูมิใจในตัวเอง ถ้าเมื่อไรรู้สึกว่าคนอื่นเก่งกว่า ก็จะไม่ค่อยชอบนิด ๆ แต่ถ้าคนนั้นอ่อนน้อมถ่อมตน แล้วเรายอมรับว่าเขาดีจริง ๆ เก่งจริง ๆ ก็จะไม่มีปัญหา แต่ถ้ารู้สึกว่าคนอื่นมาข่มเราเมื่อไร จะเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน ดังนั้นถ้าคนเราต้องการความภูมิใจในตัวเอง ก็ไม่ควรไปกระทบความภูมิใจของคนอื่น

 


คนเราเวลาทำดีหรือมีความเก่งแล้ว จะอยากให้คนอื่นรู้ทุกคนไหม?


   เรื่องนี้มีเกือบทุกคน มากบ้างน้อยบ้าง ถ้ายังไม่หมดกิเลส แต่ถ้าคนไหนฝึกตัวมาดี เรื่องอวดเก่งจะมีน้อย คนไหนฝึกตัวมาน้อยก็จะมีมาก โบราณถึงบอกว่า “เขาด่าแล้วไม่โกรธว่ายากแล้วเขาชมแล้วไม่ยิ้มยากกว่า” เพราะว่าการชอบคำชมเป็นธรรมชาติของคน ดังนั้นจึงมีบางคนบอกว่า “ชมเขาให้เอียนดีกว่าติเตียนให้เขาอัด”


   ฉะนั้น เราภูมิใจในตัวเองได้ แต่ระวังอย่าให้ไปกระทบความภูมิใจของคนอื่น เพราะคนอื่นจะไม่ชอบเรา ถือเป็นการก่อศัตรูโดยไม่รู้ตัว โบราณบอกว่า “กลองใบไหนวางอยู่เฉย ๆ แล้วดังเองเรียกว่ากลองจัญไร” โบราณเขาเอาไปเผาทิ้ง คือกลองจะดังได้ต้องมีคนตี เหมือนคนที่ทำความดีถ้าคนอื่นชมไม่เป็นไร แต่ถ้าชมตัวเองเมื่อไรมีปัญหาแน่

 


ควรปฏิบัติตนอย่างไรเวลาจะแสดงความรู้ความสามารถออกมา?


   ควรสังเกตปฏิกิริยาคนอื่น ว่าเขามีสีหน้าท่าทีอย่างไรเวลาเราพูด พอจะดูออก


   นักกีฬาถ้าฝีมือยังไม่ดีจริง ก็จะมุ่งมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำ เช่น นักวอลเลย์บอลที่กระโดดขึ้นไปหน้าเน็ตแล้วมองที่ลูกวอลเลย์ ว่าจะตีลูกให้ลงไปที่สนามฝ่ายตรงข้ามให้ได้ นั่นคือนักกีฬาที่เพิ่งฝึกแต่ถ้าเป็นนักกีฬาที่เก่งจริง เขาจะชำเลืองดูลูกวอลเลย์ และชำเลืองดูว่าฝ่ายตรงข้ามยืนบล็อกอยู่ตรงไหน แล้วต้องตบลูกวอลเลย์หลบบล็อกให้ได้ ถ้าเป็นนักฟุตบอลก็ไม่ใช่แค่เตะให้โดนลูกบอลแต่ต้องดูว่าอีกฝ่ายมาสกัดอยู่ตรงไหน จะเตะให้เข้าประตูได้อย่างไร


   เราเองถ้าจะให้ดีระหว่างที่แสดงความสามารถอะไรออกมา ต้องสังเกตปฏิกิริยาของคนอื่นด้วย อย่าเอาแค่ความถูกหรือความผิด ใครพูดอะไรไม่ถูกมาก็ตอกกลับไปเลย เพราะถึงแม้เราถูกก็จริง แต่คนที่ถูกเราหักหน้าเขาไม่ชอบ เพราะคนเรามีอารมณ์ทั้งนั้น โดยเฉพาะคนไทยเรามีคำว่า “หมั่นไส้” ซึ่งคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ตรงกับคำว่า “หมั่นไส้” ฝรั่งเขาไม่มี เพราะฝรงั่ ไม่ค่อยร้จู กั คำนี้ ต่างจากคนไทย เวลาเห็นคนลำบากเราก็สงสาร แต่พอเขาเกินหน้าเกินตาก็หมั่นไส้ ของไทยเราจึงมีคำพูดว่า “จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน”


   ดังนั้น ให้เราทำความดีไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ต้องอวดตัวเอง ให้ความดีของเราเต็มเปี่ยม สุดท้ายอะไรก็กันไว้ไม่อยู่ เหมือนเอาฝ่ามือไปบังพระอาทิตย์ อย่างไรก็บังไม่อยู่ ความดีของเราพอเจิดจ้าเหมือนพระอาทิตย์แล้ว ก็จะเปล่งแสงให้ทุกคนเห็นเอง บางคนบอกว่าถ้าไม่โชว์เดี๋ยวคนอื่นไม่รู้ว่าเราเก่ง ที่จริงแล้ว ถ้าใจเย็น ๆ ทำต่อไป เดี๋ยวคนอื่นจะเห็นเอง บางเรื่องอาจจะช้าไปนิดหนึ่ง แต่ผลที่ออกมาจะน่าชื่นใจและไม่ก่อผลเสีย ถ้าเราไปอวดตัวอยากให้คนอื่นเขารู้ บางทีแค่พูดเล่น ๆผลกระทบเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นต้องระมัดระวังตรงนี้ให้มาก

 


ต้องทำอย่างไรจึงจะตัดสิ่งเหล่านี้ออกจากตัวเราได้มากที่สุด?


   วิธีง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเมื่อไรเราคิดว่า เราแน่ เราเก่ง ให้ถามตัวเองก่อนว่า “ตายไปวันนี้พ้นนรกแล้วหรือยัง” ที่ว่าแน่ ว่าเก่ง ให้ลองเช็กตัวเองว่า บุญกับบาปอย่างไหนมากกว่ากัน มั่นใจไหมว่าตายแล้วไปสวรรค์แน่นอน ที่ว่าเก่ง ๆ แน่ ๆ ศีล ๕ ข้อ ครบหรือยัง ทำบาปทำกรรมไว้เท่าไร ถ้ายังไม่มั่นใจ อย่าเพิ่งคิดว่าเก่ง อย่างไรเราก็ยังไม่หมดกิเลส ฉะนั้นยังเก่งไม่จริง ยังแพ้กิเลสอยู่ อย่าหลงตัวเองมากไป เอาแค่ภูมิใจเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงานแค่นั้นก็พอ อย่าให้ถึงขนาดไปอวดโอ่ ไปข่มคนอื่น จนกระทั่งไปกระทบกับอีโก (Ego) ของคนอื่น เดี๋ยวจะเสียมากมาย

 


มีตัวอย่างบุคคลในครั้งพุทธกาลที่มีความเก่งแล้วแสดงความเก่งออกมาบ้างไหม?


   ตัวอย่างบุคคลในสมัยพุทธกาล เช่น พระเทวทัต เดิมเจ้าชายเทวทัตเป็นรัชทายาทแห่งกรุงเทวทหะ สละตำแหน่งออกบวชด้วยความศรัทธาและตั้งใจมาก บวชมาได้ ๓๒ ปี บำเพ็ญเพียรแล้วได้โลกิยฌานสมาบัติ คือ เหาะเหินเดินอากาศได้ แปลงกายได้ ถือเป็นผู้มีฝีมือในระดับหนึ่งทีเดียว แต่ด้วยความที่มีอีโกสูง เวลามีคนมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ถ้าพระพุทธองค์ไม่อยู่ เขาก็ถามหาพระอานนท์บ้าง พระสารีบุตรบ้าง พระโมคคัลลานะบ้าง ไม่มีใครถามหาพระเทวทัตเลย แต่แทนที่ท่านจะมองตัวเองว่า อาจจะเป็นเพราะคุณธรรมของท่านยังไม่พร้อม กลับมองว่าเป็นเพราะพระพุทธเจ้าไม่ส่งเสริมสนับสนุน ท่านจึงคิดว่า ถ้าพระองค์ไม่ส่งเสริมเรา เราส่งเสริมตัวเองก็ได้ท่านก็เลยไปเข้าหาผู้มีอำนาจ แต่พระราชา (พระเจ้าพิมพิสาร) เป็นพระโสดาบันแล้ว จะไปหลอกอย่างไรท่านก็ไม่เชื่อ มีแต่เจ้าชายอชาตศัตรูซึ่งยังวัยรุ่นอยู่ พอจะหลอกได้ ท่านจึงแปลงกายเป็นงูไปพันรอบคอ พอเจ้าชายตกใจก็แปลงกายจากงูกลับเป็นพระภิกษุเหมือนเดิม


   เจ้าชายอชาตศัตรูเห็นว่า พระรูปนี้ไม่ธรรมดา ก็เกิดศรัทธา ส่วนพระเทวทัตก็ค่อย ๆ สอนจนสุดท้ายให้เจ้าชายอชาตศัตรูฆ่าพ่อเพื่อชิงราชสมบัติ แล้วอาศัยอำนาจของเจ้าชายอชาตศัตรูมาทำร้ายพระพุทธเจ้า แต่ทำกี่วิธีก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งพระเทวทัตต้องลงมือเอง คือจะกลิ้งก้อนหินทับพระพุทธเจ้าให้ตาย สุดท้ายมายุให้สงฆ์แตกแยกกัน หวังจะปกครองคณะสงฆ์แทนพระพุทธองค์


   พระเทวทัตเริ่มต้นตั้งใจดี ถึงยอมสละทางโลกมาบวชอยู่ตั้ง ๓๒ ปี แล้วปฏิบัติจนกระทั่งเหาะเหินเดินอากาศได้ แปลงกายได้ ทั้งหมดนี้ได้มาจากพระพุทธเจ้า แต่พออีโกสูง ทิฐิมานะเกิดขึ้น มีความต้องการความภาคภูมิใจในตัวเอง ต้องการให้มีคนมาเป็นลูกศิษย์มาก ๆ แต่พอคนมาน้อยแทนที่จะมองว่าตัวเองบกพร่อง กลับมองว่าครูบาอาจารย์ไม่ส่งเสริม จากความต้องการจะอวดตัวเอง เลยเกิดเป็นอาการแข่งดี แล้วจะมาแข่งดีกับพระพุทธเจ้า เท่ากับเอาไฟเผาตัวเองจากความตั้งใจดีแท้ ๆ กลายเป็นสร้างความเสียหายอย่างมากมาย


   เพราะฉะนั้นพึงจำไว้ว่า อย่าแข่งดีกับใคร คืออย่าเอาตัวเองไปเทียบกับเขาแล้วพยายามให้เหนือกว่าคนอื่น ให้พอใจว่า เราตั้งใจทำความดี เมื่อเห็นผลดีที่เกิดขึ้นเราก็มีความสุขใจแล้ว แต่เมื่อไรคิดจะไปเทียบกับคนอื่นว่า เราต้องแน่กว่าเขา หรือยอมรับไม่ได้ ว่าเราสู้คนอื่นไม่ได้ ถ้าอย่างนี้จะเกิดผลเสียมาก


   สมมุติว่ามีเรื่องอยู่ ๑๐ เรื่อง อีกฝ่ายดีกว่าเรา ๙ เรื่อง เรามีเด่นอยู่เรื่องหนึ่ง ก็จงภูมิใจในจุดที่ตนเองเด่น เรื่องอื่นที่เขาเหนือกว่าเราไม่ต้องไปคิด ให้คิดอย่างเดียวว่าเรื่องนี้เราดี แต่เราต้องพยายามรู้เท่าทันตัวเอง และยอมรับว่าเรายังไม่ได้เก่งที่สุด บางเรื่องเราอาจเก่ง อาจดี แต่คนอื่นเขาก็มีข้อดีอีกหลาย ๆ อย่าง


   เหมือนกับชฎิล ๓ พี่น้อง ที่พระพุทธเจ้าไปโปรดและแสดงปาฏิหาริย์ให้ดูหลายอย่าง เพราะเห็นว่าชฏิล ๓ พี่น้อง สามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ ชฎิลก็รู้สึกทึ่งว่า สมณะรูปนี้ไม่ธรรมดาแต่ก็แกล้งให้ไปอยู่ตรงจุดที่มีพญานาคอยู่ ตั้งใจว่าจะให้พญานาคเล่นงานให้ตาย รุ่งเช้าเข้าไปดูว่าพญานาคฆ่าพระพุทธเจ้าตายหรือยัง ปรากฏว่าพญานาคกลายเป็นงูตัวเล็ก ๆ อยู่ในบาตร ชฎิลผู้พี่คิดว่า “สมณะรูปนี้มีอานุภาพไม่ธรรมดา แต่ก็ไม่ได้เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา” สะท้อนให้เห็นว่าใจคนที่ยังไม่หมดกิเลสจะเป็นอย่างนี้ คือคิดว่าตัวเองเก่ง ตัวเองแน่ คนอื่นจะดีกี่อย่าง ๆก็ตาม แต่เราแน่อย่างนี้ และภูมิใจกับความแน่ของตัวเอง แม้บางครั้งเป็นความภูมิใจที่ผิด ๆ


   กรณีของชฎิล ๓ พี่น้อง สุดท้ายถึงจุดอิ่มตัว ความมั่นใจในตัวเองคลอนแคลนเต็มที่พระพุทธเจ้าบอกเลยว่า “เธอยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์หรอกนะ แม้ปฏิปทาคือทางดำเนินแห่งความเป็นพระอรหันต์เธอก็ยังไม่รู้เลย เลิกหลงตัวเองได้แล้ว” เปรี้ยงเดียวเหมือนสายฟ้าฟาดเข้ามาตรง ๆ พอเจอคำพูดแบบนี้ ทิฐิมานะทลายลงเลย คุกเข่าลงกราบพระพุทธเจ้า เพราะเจอปาฏิหาริย์มาหลายเรื่องแล้ว ในใจยอมรับอยู่แล้วว่า พระรูปนี้ไม่ธรรมดา พอใจเปิดแล้ว พระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้ฟัง ชฎิลหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์เลย

 


ถ้าต้องทำงานกับคนที่มีอีโกมาก ๆ จะเตือนเขาหรือปรับตัวทำงานร่วมกับเขาอย่างไร?


   อันดับแรกแก้ตัวเองก่อน เพราะต่อให้เรารู้ว่า เรามีอีโกสูงและคิดจะแก้ ยังต้องตั้งสติเลยจะไปแก้คนอื่นยิ่งยากกว่าหลายเท่า ให้เรียนรู้ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไรดีกว่า ให้คิดอย่างนี้ว่า คนมีอีโกก็ดีเหมือนกัน เพราะเขามักจะมีจุดแข็งของตัวเอง มีข้อดีของเขาอยู่ ฉะนั้นเราต้องอดทนแล้วหาทางปรับให้เข้ากัน ถ้าเข้ากันได้ เอาความสามารถของเขามาใช้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่องานส่วนรวม พอคิดอย่างนี้จะเกิดกำลังใจที่จะอดทนทำงานร่วมกัน แม้เปลี่ยนทิศทางลมไม่ได้ แต่นักเดินเรือที่เก่งจะปรับใบเรือได้


   ถ้าเป็นหัวหน้างานแล้วมีคนที่อีโกสูงเป็นลูกน้อง ให้มอบงานเป็นชิ้น ๆ ให้ เขาจะรู้สึกว่าเป็นเจ้าของงาน จะได้ทำเต็มที่ พอเขาทำสำเร็จก็ชมนิด ๆ กระตุ้นหน่อย ๆ ปลุกอีโกเขาให้รีบทุ่มเททำให้สำเร็จยิ่ง ๆ ขึ้นไป แต่อย่าไปหนุนจนกระทั่งเหลิง เอาแค่พอเป็นกำลังใจและท้าทายดังคำพูดที่ว่า “สั่งทหาร ไม่สู้กระตุ้นทหาร” คนที่สามารถกระตุ้นทหารให้พร้อม แล้วแย่งกันอาสาไปรบ เป็นนายทัพที่มีความสามารถมากกว่าคนที่สั่งอย่างเดียว ฉะนั้นในเมื่อเรารู้ว่าเขาเป็นอย่างไรก็หาทางปรับให้พอดีกัน แล้วกระตุ้นให้เขาเกิดพลังในการทำงานมากขึ้นต่อไป

 


ถ้ามีเพื่อนร่วมงานที่ชอบชิงดีชิงเด่น ประจบเจ้านาย คุยโม้โอ้อวดข่มกัน จะทำอย่างไรดี? เปลี่ยนเขาไม่ได้ ลาออกดีกว่าไหม?


   ถ้าตัดสินใจลาออกแล้วไปเจอคนแบบนี้อีกจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้นให้ดูว่า เขาชอบอย่างไรและถ้าเราลดอีโกของเราให้เบาบางลงได้ เช่น เขาชอบให้ชมก็ชมเขาหน่อย เขาก็จะรู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนร่วมงานที่สุดยอด จากที่จะมาชนกันให้อีโกปะทะอีโก เราก็ทำอีโกของเราให้เป็นเหมือนสำลี ปะทะกันแบบเบา ๆ เขาจะรู้สึกว่า คนนี้เป็นเพื่อนที่น่ารัก แล้วพอเป็นอย่างนี้อีโกเขาจะเล็กลง แต่ถ้าเจอคนที่เอาอีโกมาปะทะกัน อีโกเขาจะพองใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แล้วจะแข่งกันว่าอีโกใครใหญ่กว่ากัน แต่พอเจอเราที่ไม่เอาอีโกไปชนด้วย อีโกเขาจะลดลง อีโกนี่แปลก พอชนกันมันจะขยาย แต่พอเราเป็นสำลี ไม่ยอมชน มันจะหดเล็กลง แล้วจะอยู่ด้วยกันได้


  เคล็ดลับในการทำงานกับคนที่มีอีโกสูง ต้องเริ่มที่ตัวเราเองก่อน ในเมื่อเราเปลี่ยนแปลงเขาไม่ได้ ก็ต้องมาปรับใจของเราให้รับกับสภาพนั้น ให้รู้ว่าแม้ตัวเรามีข้อดี แต่คนอื่นเขาก็มีข้อดีเหมือนกัน ให้ยอมรับในข้อดีของเขาและยอมรับในข้อดีของเรา ที่สำคัญเมื่อเจอคนที่มีอีโก เราก็อ่อนน้อมถ่อมตนเข้าไว้ สุดท้ายแล้วอีโกจะไม่เหลือ เหลือแต่มิตรภาพให้แก่กัน..

 

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล