วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ครั้งหนึ่งในชีวิต.. เราต้องเป็นประธานกองกฐินให้ได้

เรื่องจากปก
เรื่อง : ร.ลิ่วเฉลิมวงศ์  Line ID : 0815660072
ภาพ : อมรรัตน์ สมาธิทรัพย์ดี

 


ครั้งหนึ่งในชีวิต..
เราต้องเป็นประธานกองกฐินให้ได้


บางคนบอกว่า.. ‘ขอให้มีเงินเถิด จะทอดกฐินเมื่อไรก็ทอดได้’
อีกทั้งยังบอกต่อว่า.. ‘เรารวยและมีศรัทธาจะกลัวอะไร
ถ้าเราเตรียมปัจจัยและผ้าไตรไว้ให้มาก ๆ 
อย่างไรที่วัดเขาก็ต้องรับเราเป็นประธานกองกฐินอยู่ดี’ 


แต่เชื่อไหม?...ความคิดเช่นนี้ถือเป็นความเข้าใจที่ผิดมาก!!!

 


    เนื่องจากการทำบุญทอดกฐินมี ข้อจำกัดหลายประการ ไม่ได้ทำกันได้ง่าย ๆ อีกทั้งยังเป็นบุญที่ไม่สามารถทำได้ทุกวัน  หรือไม่ใช่นึกอยากจะทอดกฐินวันไหนก็ทำได้ เนื่องจากวัดหนึ่งสามารถรับกฐินได้แค่ปีละครั้งเท่านั้น


    นอกเหนือจากนี้.. ถ้าวัดนั้นมีพระอยู่น้อยกว่า ๕ รูป หรือมีครบ ๕ รูป แต่รูปใด    รูปหนึ่งจำพรรษาไม่ครบไตรมาส วัดนั้นก็ หมดสิทธิ์รับกฐิน ดังนั้นจะเห็นว่า ทุกวัด ไม่สามารถจะรับกฐินได้ง่าย ๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ 


    แค่ข้อจำกัดเบื้องต้นเพียงเท่านี้ก็พบว่า การทำบุญทอดกฐินเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยาก เพราะต่อให้เรามีปัจจัยหรือมีศรัทธามากขนาดไหนก็ตาม ถ้าการทำบุญไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ที่มีอยู่ถึง ๗ ประการ ของการทอดกฐิน (ดังรายละเอียดหน้า ๑๒๘) ก็จะไม่ถือเป็น    การทอดกฐิน เพราะหากทำ ผู้ทำก็จะไม่ได้อานิสงส์กฐินเลย อีกทั้งพระภิกษุสงฆ์ในวัดนั้นก็จะไม่ได้อานิสงส์กฐินเช่นกัน เพราะการทำบุญที่ไม่เป็นไปตามข้อจำกัดของการทอดกฐิน จะถือเป็นการทำบุญอย่างอื่น เช่น บุญถวายสังฆทาน บุญทอดผ้าป่า ซึ่งจะได้อานิสงส์    ตามประเภทของบุญนั้น ๆ แทน


    เนื่องจากการทอดกฐินเกิดได้ยากอย่างนี้ ในโบราณกาลจึงนิยมทอดกฐิน เพราะความยากจึงทำให้การทอดกฐินกลายเป็นบุญพิเศษ  เมื่อทำแล้วได้อานิสงส์พิเศษมากอย่างแตกต่าง แต่จะได้มากขนาดไหน ถ้าไม่มีการขยายความเพิ่ม ก็จะนึกภาพกันไม่ออก เพราะเวลาใคร    มาชวนเราทำบุญ ก็มักจะบอกว่าได้บุญมาก   ด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นในบรรทัดถัด ๆ ไป จะขอยกตัวอย่างอานิสงส์ที่โดดเด่นของการถวาย    ผ้ากฐิน จากโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา   เพื่อให้เห็นภาพของผลบุญชัดเจนขึ้น 

 


    เมื่อบารมีเต็มเปี่ยม หากเกิดเป็นชาย ในชาติที่เกิดมาเจอพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะได้รับการบวชแบบ เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานการบวชให้ด้วยพระองค์เอง แต่ใครจะบวชแบบนี้ได้ต้องสั่งสมบุญบารมีมาในภพอดีตอย่างมหาศาลเลย        ทีเดียว อีกทั้งก่อนบวชก็ต้องบรรลุธรรมเป็น   พระอริยบุคคลตั้งแต่ พระโสดาบัน ขึ้นไป และเมื่อบรรลุแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องทรงตรวจตราด้วยญาณทัสนะของพระองค์ก่อนว่า..ผู้ที่จะบวชมีบุญจากการถวายบาตรและจีวร   มามากพอหรือไม่ เพราะการบวชแบบนี้ บาตรและจีวรจะเกิดขึ้นด้วยฤทธิ์ ซึ่งเทวดาจะเป็น   ผู้มาเนรมิตให้ โดยอาศัยกำลังบุญของผู้บวช     ถ้ากำลังบุญน้อย ผู้ที่เนรมิตก็จะเป็นเทวดาระดับหัวหน้าเขต ถ้ามีกำลังบุญปานกลาง       ผู้เนรมิตก็จะเป็นเทวดาระดับท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์ แต่ถ้ามีกำลังบุญมาก ผู้เนรมิตก็จะเป็นพรหมในชั้นพรหมโลกเลยทีเดียว


    ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรวจตราดูด้วยญาณทัสนะแล้วพบว่า ผู้บวชมีบุญจากการถวายบาตรและจีวรมามากพอ (ในกรณีที่   ผู้บวชบรรลุธรรมตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันขึ้นไป แต่ยังไม่บรรลุอรหัตผล) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะประทานการบวชให้ โดยการเหยียดพระหัตถ์ขวาออกไป แล้วเปล่งพระสุรเสียงว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกระทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” และด้วยอานุภาพบุญก็จะบังเกิดองค์พระขนาดใหญ่ เปล่งรัศมีเจิดจ้าสว่างไสวครอบคลุมร่างของผู้บวช ในขณะเดียวกัน ผ้าไตรจีวรก็จะลอยลงมาจากอากาศ มาปรากฏอยู่ระหว่างมือที่พนมขึ้นกับอก แล้วบาตรก็จะถูกวางไว้ข้าง ๆ ซึ่งในบาตรจะมีบริขารต่าง ๆ เช่น เข็ม ด้าย มีดโกน ที่กรองน้ำ เป็นต้น และจากนั้นผู้บวชก็ต้องไปปลงผม ห่มจีวร เป็นพระภิกษุที่ครองผ้าเรียบร้อยในลำดับต่อไป


    แต่ในกรณีที่ผู้บวชฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วบรรลุอรหัตผล  เมื่อได้รับประทานการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะทรงเหยียดพระหัตถ์ขวาออกไป แล้วเปล่งพระสุรเสียงแค่ว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด” และด้วยอานุภาพบุญจะบังเกิดองค์พระขนาดใหญ่หน้าตัก ๒๐ วา เปล่งรัศมีเจิดจ้าสว่างไสวครอบคลุมร่างของ     ผู้บวช ซึ่งตามนุษย์จะมองไม่เห็น เพราะเป็นของละเอียด จะเห็นก็เพียงแค่ความสว่างที่พรึบขึ้นมาเท่านั้น จากนั้นเส้นผมบนศีรษะก็จะสั้นลง จากคฤหัสถ์กลายเป็นเพศสมณะ ครองจีวรและสะพายบาตรอันเป็นทิพย์ที่สำเร็จด้วยบุญฤทธิ์ทันที


    แต่ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรวจตราดูด้วยญาณทัสนะแล้วพบว่า ผู้นั้นไม่ได้   เคยถวายผ้าไตรจีวรบริขารมาเลย แม้บรรลุอรหัตผลแล้ว ก็ต้องให้ไปแสวงหาผ้ามาทำจีวรก่อน พระองค์ถึงจะประทานการบวชให้ เหมือนในกรณีของ พระพาหิยะ ซึ่งไม่เคยมีบุญจากการถวายผ้าไตรจีวรมาเลย ทำให้ระหว่างไปหา   เศษผ้าจากกองขยะมาทำจีวร ได้เจอกับยักษินีที่เคยผูกเวรกันมาจากอดีตชาติเข้าสิงโค แม่ลูกอ่อน แล้ววิ่งมาขวิดท่านจนตายในทันที 


    ฉะนั้น การทอดกฐินและถวายผ้าไตรจีวรจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ถวายไม่ได้ เพราะ     สักวันหนึ่งในอนาคตหรือชาติใดชาติหนึ่ง      เราก็ต้องเป็นนักบวช 

 


    ดังนั้น จงอย่าไปเสี่ยงเลย เราอาจมีสิทธิ์เป็นแบบพระพาหิยะก็ได้ ที่แม้เป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังต้องลำบากถึงขนาดต้องไปหาเศษผ้า  ที่เขาทิ้งแล้วจากกองขยะมาทำจีวร อีกทั้งยัง     อดบวชอีกด้วย !!!


      ส่วนอานิสงส์ของฝ่ายหญิง เมื่อบารมี  เต็มเปี่ยมก็จะได้ครอบครองเครื่องประดับ    อันสูงค่าที่สุดในยุคนั้น คือ เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ ซึ่งทำจากรัตนชาติมีมูลค่าสูงถึง ๙ โกฏิ อันประกอบด้วยเพชร ๔ ทะนาน แก้วมุกดา ๑๑ ทะนาน แก้วประพาฬ ๒๐ ทะนาน แก้วมณี ๓๓ ทะนาน แม้เส้นด้ายก็ทำจากเงิน และยังมีแหวนรูปนกยูงที่มือทั้งสองข้าง มีต่างหู สร้อยคอ ปลอกรัดต้นแขน เข็มขัด และรองเท้า อีกทั้งเครื่องประดับที่ศีรษะยังออกแบบเป็น    ตัวนกยูงรำแพนคล้ายนกยูงยืนอยู่บนเนินเขา โดยขนปีกทำด้วยทองข้างละ ๕๐๐ ขน รวมเป็น ๑,๐๐๐ ขน จะงอยปากทำด้วยแก้วประพาฬ นัยน์ตา คอ และแววหาง ทำด้วยแก้วมณี ก้านขนและขาทำด้วยเงิน ทำให้เวลาเดินเกิดเสียงกระทบกันของก้านปีก จนเกิดความไพเราะประดุจเสียงทิพยดนตรี


    แต่กว่านางวิสาขาจะได้เครื่องประดับที่เลิศที่สุดในปฐพีขนาดนี้ ก็ไม่ได้เกิดจากการเป็นประธานถวายผ้าจีวรแค่ผืนสองผืนเท่านั้น แต่เกิดจากนางเคยถวายจีวรพร้อมด้วยเข็มและเครื่องย้อมแด่พระภิกษุมามากถึง ๒๐,๐๐๐ รูป ในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า และสั่งสมบุญบารมีประเภทนี้มานับชาติไม่ถ้วน 


    ดังนั้น การที่เราจะถวายผ้ากฐินหรือจีวรเพียงแค่ปีละ ๑ ผืน ซึ่งต่อให้ถวายตลอดชีวิตจนหมดอายุขัย อย่างมากก็ได้ไม่เกิน    ๑๐๐ ผืน ฉะนั้นการเป็นประธานกองกฐินปีละ ๑ ครั้ง จึงไม่ถือเป็นการสั่งสมบุญที่มากเกินไปจากข้อมูลตรงนี้เอง จะเห็นว่า..ถ้านางวิสาขาไม่มีบุญจากการถวายผ้าจีวรมามากพอ ก็จะไม่ไปดลจิตดลใจให้ใครคิดจะทำเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ให้นาง เพราะเป็นเครื่องประดับที่ทำยากมาก ต้องใช้คนทำจำนวนมาก จนบิดาของนางวิสาขาต้องจ้างช่างทองมาช่วยกันทำมากถึง ๕๐๐ คน อีกทั้งยังต้องใช้เวลาทำนานถึง ๔ เดือน แถมค่าจ้างช่างยังแพงถึง ๑แสนกหาปณะ แต่ด้วยบุญบารมีที่เต็มเปี่ยมของนางวิสาขา จึงบันดาลให้มีเครื่องประดับคู่บุญเกิดขึ้น

 


    เมื่อกล่าวถึงอานิสงส์กฐินกันพอสังเขปแล้ว ก็จะขอเล่าถึงเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้น ก่อนจะถึงวันทอดกฐินของวัดพระธรรมกาย   กันบ้าง คือ เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗  เวลา ๐๙.๐๐ น. คุณครูไม่ใหญ่ท่านเมตตาให้นำผ้าไตรจักรพรรดิที่จะมอบให้ประธานกองกฐินเข้าไปในอาคารภาวนา ซึ่งเป็นสถานที่ทำวิชชา เพื่อท่านจะได้นั่งสมาธิอธิษฐานจิตเติมความศักดิ์สิทธิ์ทุกวัน โดยมีคณะสงฆ์ที่ตั้งใจปฏิบัติธรรมเป็นตัวแทนในการอัญเชิญเข้าไป และผ้าไตรทั้งหมดนี้จะนำออกมามอบให้เจ้าภาพผู้เป็นประธานกองกฐิน ในวันที่สว่างที่สุด ดีที่สุด คือ วันครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งเป็นวันที่หลวงปู่ค้นพบวิชชาธรรมกาย ณ วัดโบสถ์บน ต.บางคูเวียง อ.บางคูเวียง จ.นนทบุรี โดยปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๘ กันยายน และเมื่อรับผ้าไตรจักรพรรดิไปแล้ว ก็ขอให้ทำตามหลักวิชชาที่คุณครูไม่ใหญ่ให้ไว้ ดังโอวาทในลำดับต่อไป...

 


โอวาทจากคุณครูไม่ใหญ่

 

    “เมื่อได้ผ้าไตรไปแล้ว สิ่งที่เราจะต้องทำในขั้นตอนต่อไปก็คือ ไปเช็ดโต๊ะหมู่ หิ้งบูชา หรือบนหัวนอน ที่เราจะเอาไว้วางผ้าไตร ให้เช็ดทุกด้าน ทุกทิศ ทุกทาง      ให้สะอาดปราศจากสิ่งสกปรกหรือฝุ่นผง เช็ดอย่าให้เหลือแม้แต่นิดเดียว เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อสมบัติและสิริที่จะเข้ามา 


    “พอทำความสะอาดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ให้เราไปอาบน้ำอาบท่าให้สดชื่น จนจิตใจสบาย ร่างกายสดชื่นดีแล้ว ก็นำผ้าไตรจักรพรรดิมหาสมบัติไปวาง โดย   หาพานหรือภาชนะอะไรก็ได้ที่วางแล้วดูสวยงาม ดูแล้วเหมาะสมที่จะเป็นที่ตั้งแห่งผ้าไตรจักรพรรดิมหาสมบัติ 


    “จากนั้น ก็อัญเชิญผ้าไตรไปตั้งด้วยความเคารพ เพราะว่าทุกเส้นด้าย ทุกอณูเนื้อของเส้นด้าย เต็มไปด้วยผู้มีฤทธิ์ มีอานุภาพ และมหาสมบัติทั้งหลาย เมื่อนำไปตั้งแล้ว ก็ให้กราบที่ผ้าไตรซึ่งเป็นธงชัยของพระอรหันต์ แล้วก็นั่งสมาธิให้จิตใจเราสะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส หลังออกจากสมาธิแล้วก็กราบไปที่ผ้าไตรอีกครั้ง และตั้งใจมั่นอธิษฐานจิตให้ดีว่า ข้าพเจ้าได้นำผ้าไตรจีวรนี้มาตั้งไว้เพื่ออธิษฐานเป็นประธานกองกฐินสามัคคี ขอให้ความปรารถนานี้สำเร็จเป็นอัศจรรย์ และให้มีสมบัติอัศจรรย์ทันใช้สร้างบารมีในชาตินี้ มีสมบัติไหลมาเทมาตั้งแต่วินาทีที่ได้อัญเชิญผ้าไตรจักรพรรดิมหาสมบัติขึ้นประดิษฐานไว้บนพาน


    “ให้ทำอย่างนี้ทุกวัน อย่าให้ขาดเลยแม้แต่วันเดียวจนกระทั่งถึงวันทอดกฐิน...”


    และเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ คุณครูไม่ใหญ่ก็ฝากโอวาทในช่วงปลีกวิเวกมาว่า... 


    “ผ้าไตรกฐินปีนี้ซ้อนความศักดิ์สิทธิ์เป็นพิเศษในอาคารภาวนา ซ้อนให้ใสทุกผืน ใสข้างในกลาง และตั้งผังให้ได้ทรัพย์ทั้งภายใน ภายนอก ครูไม่ใหญ่อยากให้ทุกคนเป็นประธานกองกฐิน อยากให้เขามีบุญเยอะๆ ดังนั้นต้องตั้งเป้า ตั้งผังไว้ว่า ครั้งหนึ่งในชีวิต เราต้องเป็นประธานกองกฐินให้ได้”

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๔๓ เดือนกันยายน ๒๕๕๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล