สร้างโลกแก้ว
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
Peace Architect
กับภารกิจออกแบบสันติภาพโลก
คอลัมน์ “สร้างโลกแก้ว” ฉบับนี้ ขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านรู้จักกับกลุ่มบุคคลที่จะมี บทบาทสำคัญต่อการสร้างสันติภาพโลกในอนาคตอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เราเรียกพวกเขาว่า Peace Architect (พีซอาร์คิเทค) หรือสถาปนิกผู้ออกแบบสันติภาพ
พวกเขาคือใคร? ออกแบบสันติภาพกันอย่างไร?
หากกล่าวโดยย่อ Peace Architect ก็คือชาวต่างชาติที่ผ่านการอบรมเรื่องการทำสมาธิ การถือศีล และผ่านการเรียนรู้หลักธรรมเบื้องต้นตามหลักสูตรของ Peace Revolution เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับงานออกแบบสันติภาพแก่ชาวโลก ด้วยการเผยแผ่การทำสมาธิไปสู่ชาวโลกแทน พระอาจารย์ในดินแดนที่ท่านไม่สามารถลงพื้นที่ได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะพื้นที่นั้นมีอันตรายสำหรับคนต่างถิ่น หรืออยู่ไกลมาก หรือมีการกีดกั้นทางศาสนา หรือมีจำนวนคนที่เข้าร่วมกิจกรรมยังไม่มาก
หากกล่าวให้ละเอียดขึ้น ก็ต้องมาดูว่าพวกเขามีความเป็นมาอย่างไร
ก่อนที่ Peace Architect จะไปจัดกิจกรรมแนะนำสมาธิเบื้องต้น ที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า Mini-PIPO แก่ประชาชนในประเทศต่าง ๆ พวกเขาจะต้องสร้างผลงานในระดับที่น่าพึงพอใจ เสียก่อน คือต้องนั่งสมาธิอย่างสม่ำเสมอ ต้องทำหน้าที่กัลยาณมิตร และจัดกิจกรรมในพื้นที่ จากนั้นต้องผ่านการสัมภาษณ์ แล้วทำพันธกิจออนไลน์อีก ๓๐ วัน (นั่งสมาธิเช้า ๑ ชั่วโมง เย็น ๑ ชั่วโมง รักษาศีล ๘ และฝึกปฏิบัติความดีสากล) ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้มาอบรมเพิ่มเติม อีก ๓ สัปดาห์ ที่มุกตะวัน จังหวัดพังงา ประเทศไทย เพื่อเป็น Peace Architect เต็มรูปแบบ
๑
ที่มุกตะวัน กิจกรรมของพวกเขาเน้นการนั่งสมาธิ ฟังธรรม และนำหลักธรรมเหล่านั้น มาทำเป็น Package เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปใช้ เช่น package การบริหารความเครียด การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และการเสริมสร้างสุขในชีวิต นอกจากนี้ยังมีการฝึกฝนวัฒนธรรมคุณยายอย่างเข้มข้น และในช่วงท้ายของการอบรมยังมีการทดสอบอีกด้วย
เมื่อผ่านการอบรมแล้ว Peace Architect เหล่านี้ ก็จะเดินทางกลับไปยังประเทศของตน แล้วลงมือปฏิบัติงานกันเลย
๒
Peace Architect คนแรกที่จัดกิจกรรม Mini-PIPO คือ กาบี จากประเทศสาธารณรัฐเปรู กาบีลงพื้นที่ในประเทศสาธารณรัฐเฮติ ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๗ โดยจัดกิจกรรม ๔ รอบ มีคนเข้าร่วมทั้งสิ้น ๘๒ คน
เฮติถือว่าเป็นประเทศที่จนที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง คำถามที่กาบีเจอจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับปากท้อง เช่น สมาธิจะทำให้เราหางานทำได้ใช่ไหม? จะทำให้เรามีกินมีใช้ใช่ไหม? ซึ่งกาบีตอบไปว่า “สมาธิคงไม่ได้เนรมิตเงินในกระเป๋าให้คุณหรอก แต่สมาธิจะนำความสุขแบบไม่มีเงื่อนไขมาให้คุณ คุณอยากรู้ไหมว่าจะเข้าถึงความสุขที่ว่าได้อย่างไร?”
๓
วันที่ ๒๔-๒๘ กันยายน กาบีเดินทางไปจัดกิจกรรมที่ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน ซึ่งเป็นประเทศที่มีปัญหาหนักเรื่องการตกงานและการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่นี่กาบีจัดกิจกรรมขึ้น ๖ รอบ มีคนเข้าร่วมทั้งหมด ๘๐ คน แต่มีบางแห่งขอยกเลิกกิจกรรม เพราะเข้าใจว่าสมาธิเป็นเรื่องของศาสนา อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายองค์กรที่อยากเชิญกาบีไปจัดกิจกรรม และเสนอให้ใช้สถานที่ฟรีด้วย
๔
ประเทศถัดไปที่กาบีไปจัดกิจกรรม คือ ประเทศสาธารณรัฐนิคารากัว กิจกรรมจัดขึ้นใน วันที่ ๒๙-๓๐ กันยายน โดยกาบีนำนั่งสมาธิไป ๒ รอบ ที่น่าสนใจมากก็คือ กาบีได้เข้าไปสอน วิธีการทำสมาธิใน Polytechnic University of Nicaragua ซึ่งเป็นสถาบันเดียวในละตินอเมริกา ที่มีการสอนเรื่องสันติภาพ
ในโอกาสนี้ กาบีอธิบายให้คณาจารย์ เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย และนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน ๓๒ คน ฟังว่า “ทฤษฎีทางตะวันตกส่วนใหญ่จะบอกว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณมีปัจจัย ๔ ครบแล้ว ซึ่งในความเป็นจริง สันติภาพ คือ การที่คุณอยู่อย่างเป็นสุขด้วยตัวคุณเอง โดยไม่ต้องพึ่งวัตถุภายนอกต่างหาก และสมาธิก็คือ เครื่องมือจะทำให้คุณเข้าถึงความสุขและความสมดุลในชีวิต”
๕
กิจกรรมออกแบบสันติภาพของ Peace Architect แม้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นก็ตาม แต่ภารกิจของพวกเขายิ่งใหญ่มาก เพราะพวกเขาคือกัลยาณมิตรผู้มุ่งมั่นจะจุดประกายความสว่างให้เกิดขึ้นในใจของมหาชนชาวโลก การอุบัติขึ้นของ Peace Architect จึงเปรียบเสมือนการบังเกิดของ แสงเงินแสงทองที่ปรากฏขึ้นก่อนอาทิตย์อุทัย และเมื่อใดก็ตามที่แสงเงินแสงทองปรากฏขึ้นแล้ว ย่อมเป็นธรรมดาว่า อีกไม่นานแสงสว่างอันเจิดจ้าจะติดตามมา ดังนั้นเราจึงเชื่อมั่นว่า มหาชน ชาวโลกจะต้องพบกับความสว่างที่ศูนย์กลางกายในเวลาอันใกล้นี้ และจะไม่เกินยุคสมัยของพวกเราอย่างแน่นอน