ข้อคิดรอบตัว
เรื่อง : พระมหาสมชาย านวุฑฺโฒ (M.D.; Ph.D.) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC
เริ่มปีใหม่ในแบบชาวพุทธ
อยากทราบว่าปีใหม่มีความเป็นมาอย่างไร?
คนเรามักมีความสนใจธรรมชาติรอบตัว อย่างคนโบราณเมื่อหลายพันปีที่แล้ว ถ้าในกรณี เขตร้อนแบบบ้านเรา เขาก็สังเกตว่า บางช่วงเป็นหน้าหนาว ต่อมาเป็นหน้าร้อน ต่อมาก็หน้าฝน ถ้าในเขตอบอุ่นมี ๔ ฤดู เดี๋ยวก็ใบไม้ผลิ เดี๋ยวก็อากาศร้อน เดี๋ยวใบไม้ร่วง เดี๋ยวก็เข้าหน้าหนาว มีหิมะตก เป็นวงรอบแบบนี้เรื่อย ๆ เขาก็สนใจว่าวงรอบเหล่านี้มีช่วงเวลาเท่าไร ก็เริ่มหาวิธี ตรวจสอบ อาจใช้วิธีเอาไม้มาปักกลางแจ้ง แล้วสังเกตเงาของไม้ที่ปัก ในที่สุดเขาค้นพบว่า ๑ วงรอบ ใช้เวลาประมาณ ๓๖๕ วัน
อีกวิธีที่สังเกต คือวงรอบของพระจันทร์ เดี๋ยวพระจันทร์ก็เต็มดวง เดี๋ยวก็ค่อย ๆ แหว่งเป็นเสี้ยว แล้วก็มืดหมด แล้วก็ค่อย ๆ เห็นใหม่ เป็นข้างขึ้นข้างแรม เขาดู ๑ วงรอบก็พบว่า ราว ๆ ๒๘ วันบ้าง ๓๐ วันบ้าง ราว ๆ นั้น เขาก็พอประมาณได้
ถ้าถือพระจันทร์เป็นหลัก คือนับตามวงรอบของพระจันทร์ เรียกว่านับแบบ “จันทรคติ” ถ้าถือพระอาทิตย์เป็นหลัก เรียกว่านับแบบ “สุริยคติ” การนับแบบสุริยคติเป็นที่นิยมทางตะวันตก คนแรกที่เอามาใช้แบบแพร่หลายจริงจัง คือจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) จักรพรรดิแห่งโรม เอาความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์มา แล้วกำหนดว่าในปีหนึ่งมี ๓๖๕ วัน ส่วนเศษที่มีอยู่เกือบ ๆ ๐.๒๕ วัน ก็นำมารวมกัน ทุก ๆ ๔ ปี ให้เพิ่ม ๑ วัน เป็น ๓๖๖ วัน ในหนึ่งปีแบ่งเป็นเดือน ๑๒ เดือน ในแต่ละเดือนก็มี ๓๐ วันบ้าง ๓๑ วันบ้าง มีเดือนหนึ่งพิเศษ คือ เดือนกุมภาพันธ์มี ๒๘ วัน ทุก ๔ ปี จะมี ๒๙ วัน
ส่วนของไทยได้รับอิทธิพลจากอินเดีย เดิมเรานับเดือนนับปีตามหลักจันทรคติ ซึ่งถือว่า วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย (ประมาณเดือนธันวาคม) วันแรม ๑ ค่ำเดือนอ้ายก็คือ วันขึ้นปีใหม่ไทย เป็นคติพุทธแต่โบราณ ต่อมาคติพราหมณ์เข้ามาแทรก เราจึงเปลี่ยนไปถือ วันปีใหม่ช่วงตรุษสงกรานต์ คือวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ (ประมาณเดือนเมษายน) เราถือแบบนี้มานานพอสมควร จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ พระองค์ทรงคิดว่า ถ้าถือตามจันทรคติ ปีใหม่แต่ละปีจะเปลี่ยนไปเรื่อย วันที่ ๑ เมษายนบ้าง ๕ เมษายนบ้าง ๒๐ เมษายนบ้าง จำยาก จึงทรงกำหนดว่าให้วันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ ๑ เมษายน จะได้จำง่ายดี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๒ ถืออย่างนี้
มาเรื่อย ๆ ส่วนชาวบ้านทั่วไปก็ยังถือเอาช่วงตรุษสงกรานต์กลาง ๆ เดือนเมษายนเป็นวันฉลอง แต่ทางการถือว่า ๑ เมษายน คือวันเปลี่ยนศักราช
ต่อมาเปลี่ยนแปลงเป็นระบบปัจจุบันในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี คือถือว่าวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ ๑ มกราคม
สิริมงคลที่ทุกคนควรแสวงหาในช่วงขึ้นปีใหม่ คืออะไรบ้าง?
การหาสิริมงคลเข้าตัว เราก็ต้องทำความดีให้มีบุญกุศล จะได้ดึงดูดเอาสิริมงคลมาสู่ตัวเรา เพราะฉะนั้นปีใหม่หาสิริมงคลเข้าตัวดีไหม ดีมาก ที่จริงต้องหาสิริมงคลเข้าตัวทุกวัน แต่ว่าปีใหม่ถือเป็นวันที่ปฏิรูปใหม่ เหมือนนักเรียนเปิดเรียนใหม่ ถ้าปีที่แล้วคะแนนไม่ค่อยดี ปีนี้เอาจริงเอาจัง เอาคะแนน ๔.๐๐ ให้ได้ การทำความดีของเราก็เช่นกัน ให้ตั้งใจเอาปีใหม่ปฏิรูปชีวิตเราให้ดีขึ้น มาสำรวจบัญชีบุญบัญชีบาปว่า ที่ผ่านมากำไรชีวิตมีแค่ไหน ขาดทุนชีวิตมีแค่ไหน อย่าไปคิดว่ากำไรชีวิตคือได้ไปเที่ยวเมืองนอก นั่นไม่ใช่ กำไรชีวิตก็คือสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล ขาดทุนชีวิตก็คืออะไรที่ทำแล้วเป็นบาปอกุศล สำรวจเสร็จแล้ว ปีหน้าจะต้องเพิ่มกำไร ลดการขาดทุน ด้วยการ ลดการทำบาปอกุศล แล้วเพิ่มการทำความดี ถ้าทำอย่างนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นการหาสิริมงคลมาสู่ตัว ในช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่
หลายคนนิยมไปทำบุญ ๙ วัด สงสัยว่าทำไมต้อง ๙ วัด?
อันนี้เป็นค่านิยมที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ถ้าเป็นสมัยก่อนการคมนาคมยังไม่เจริญอย่างปัจจุบัน ยังเป็นสังคมการเกษตรอยู่ คนในหมู่บ้าน ในตำบล ก็จะไปวัดที่อยู่ใกล้ ๆ ชุมชนของตนเป็นหลัก ไม่ได้ไป ๙ วัดหรอก ไปถึงก็ไปทำบุญ ใส่บาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม ถือศีล สวดมนต์ นั่งสมาธิ นั่นคือสิ่งที่ทำกันในวันพระบ้าง ในวันอุโบสถบ้าง หรือในวันเทศกาลสำคัญต่าง ๆ บ้าง วัดกับบ้านสมัยนั้นคุ้นกันมาก หลวงพ่อเจ้าอาวาสรู้จักคนในหมู่บ้านหมด รู้ว่าพ่อแม่ชื่ออะไร ปู่ชื่ออะไรยังรู้เลย แต่ในสังคมยุคอุตสาหกรรม ยุคข้อมูลข่าวสาร ผู้คนมีการอพยพย้ายถิ่นฐานกันมาก ดูง่าย ๆ ในกรุงเทพฯ คนที่อยู่ย่านพระโขนงมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย มีสักกี่คน อาจจะไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออาจจะเป็นคนที่ย้ายมาจากที่อื่น พอย้ายมาอยู่แล้ว บ้านอาจจะอยู่ข้างวัด แต่ไม่คุ้นกับวัด หลวงพ่อเจ้าอาวาสชื่ออะไรก็ไม่รู้ อย่าว่าแต่วัดเลย อยู่หมู่บ้านเดียวกันตั้ง ๕ ปี ๑๐ ปี ยังไม่รู้จักกันเลย แต่ว่าในใจลึก ๆ แต่ละคนก็ยังโหยหาการทำความดี โหยหาบุญกุศล ก็เลยมีคนสร้างสรรค์ กิจกรรมเหล่านี้ขึ้นมา
ธรรมเนียมไปไหว้พระ ๙ วัด คนที่ไปเป็นคนในเมืองเป็นหลัก เพื่อตอบสนองความต้องการในการสร้างบุญสร้างกุศล แล้วพอมีการจัดเป็นกลุ่ม เช่น ไปรถทัวร์ คนไปร่วมก็แค่สมัครไป แล้วก็จ่ายเงินไปเป็นค่าอะไรต่าง ๆ เสร็จแล้วคนที่จัดก็รับผิดชอบในการประสานงานหาที่พัก ประสานงานกับวัดล่วงหน้า คนไปก็สบายใจ มีพวกไป มีคนนำทางให้หมด จะทำพิธีก็ไม่ต้องห่วงว่าตัวเอง ทำไม่เป็น คนอื่นเขาทำอย่างไรก็ทำตามเขา แบบนี้ตอบสนองต่อธรรมชาติของคนกรุงในปัจจุบัน ที่เข้าหาพระไม่ค่อยเป็น แต่ก็ยังอยากจะทำบุญ ดังนั้นธรรมเนียมไหว้พระ ๙ วัด จึงเกิดขึ้นมาตามธรรมชาติสังคมที่เปลี่ยนไป
แต่ถ้าเราเข้าใจหลักในการสวดมนต์ การทำสมาธิ ภาวนา ไปแค่วัดเดียวก็ได้อานิสงส์มาก ไม่ต่างกัน เผลอ ๆ ถ้าทำถูกหลักวิชาก็จะได้บุญเยอะเป็นพิเศษ แต่ถ้าไปไหว้พระ ๙ วัด กึ่ง ๆ ไปเที่ยว ไปถึงก็ถวายสังฆทาน ถวายเสร็จ ทำบุญใส่ซองเสร็จ ก็ไปต่อ แบบนี้ก็ดีที่ได้สร้างบุญ แต่ว่าการสวดมนต์ การภาวนา การถือศีล จะครบหรือเปล่าไม่แน่ใจ บางคณะอยู่บนรถมีขวดอะไรไม่รู้วนกันอยู่ในรถ ถ้าอย่างนี้บุญที่ได้มาก็จะพร่องไป เพราะเป็นเหมือนกับการบันเทิงไปด้วย บุญกุศลที่จะเกิดขึ้นก็ไม่เต็มที่ แถมมีเจือบาปเข้าไปด้วย แต่ถ้าทำถูกหลักวิชา คือ ให้ทาน รักษาศีล แล้วเจริญสมาธิภาวนา บุญเกิดเต็มที่
ข้อดีของการไปอยู่ธุดงค์ข้ามปีในวันปีใหม่มีอะไรบ้าง?
การอยู่ธุดงค์ข้ามปีถือเป็นการรับปีใหม่ที่ดีมาก ๆ เพราะไปอยู่ธุดงค์เราก็ต้องรักษาศีล ๘ ได้สวดมนต์และนั่งสมาธิกันแบบจริงจัง เป็นการเตรียมตัวเตรียมใจของเราให้อยู่ในบุญในกุศล เพื่อรับศักราชใหม่ ถ้าใครทำได้จะดีมาก เพราะว่าการอยู่ธุดงค์เหมือนเป็นช่วงของการทำความดีอย่างเข้มข้นเพื่อส่งท้ายปีเก่า และเป็นการตั้งใจรับศักราชใหม่ด้วยความเป็นสิริมงคล
ของขวัญต่าง ๆ ที่มอบให้แก่กันและกัน ต้องทำอย่างไรจึงจะถูกหลักวิชาแบบชาวพุทธ?
ประการแรก อย่าให้สิ่งที่เป็นอัปมงคล เช่น ถ้าจะให้ปฏิทินที่ดูแล้วอัปมงคล มีภาพที่ ไม่เหมาะสม อันนี้คนให้ไม่ได้บุญ ให้แล้วได้บาปทั้งคนให้และคนรับ ประการที่ ๒ อย่าให้สิ่งที่เป็นอบายมุข แต่ก่อนนิยมเอาเหล้านอกใส่ในกระเช้าไปให้กัน แต่หลายปีที่ผ่านมารู้สึกลดไปเยอะ เพราะคนเริ่มรู้ความจริง แล้วก็มีคำคมขึ้นมาว่า “ให้เหล้า = แช่ง” เอาเหล้าไปให้เขาก็คือ ขอให้แกจงจมอยู่ในอบายมุข อวยพรให้เป็นขี้เมา ให้มีบาปอกุศลเกิดขึ้น พอมีคำคมนี้ขึ้นมา ร้านก็ไม่ค่อยกล้าจัดเพราะจัดแล้วไม่มีคนซื้อ ก็เลยไปหาอย่างอื่นใส่กระเช้าแทน
ถ้าให้สิ่งที่เป็นสิริมงคล เช่น ถ้าเป็นปฏิทินก็เป็นปฏิทินรูปพระ อันนี้กลายเป็นบวกเลย ให้ปฏิทินโป๊แล้วได้บาป ปฏิทินรูปวิวธรรมชาติทั่วไปก็กลาง ๆ แต่ถ้าเป็นปฏิทินเรื่องการทำความดี มีภาพพระรัตนตรัย ภาพการสร้างบุญสร้างกุศล คนดูแล้วใจสูง ได้บุญทั้งผู้ให้และผู้รับ เราต้องฉลาดในการให้และต้องรู้หลักวิชา ทำทั้งทีต้องได้บุญทั้งตัวเรา ได้สิริมงคลทั้งผู้รับ อย่างนี้ถึงจะถูกต้องและดีงาม
ข้อแนะนำเรื่องปีใหม่สำหรับชาวพุทธตามหลักวิชามีอะไรบ้าง?
อย่างที่บอกไว้เมื่อสักครู่ โดยสรุปคือ ปีใหม่ขอให้เรา ๑. ได้ให้ทาน จะไปทำบุญตักบาตร ปล่อยนก ปล่อยปลาที่ไหนก็เอา ๒. ให้รักษาศีลอย่างน้อยศีล ๕ ช่วงปิดยาวปีใหม่ไม่ดื่มเหล้า ไม่ทำอะไรผิดศีล ๓. ให้ได้สวดมนต์ ทำสมาธิภาวนา ขอให้ได้ทำ ๓ อย่างนี้เป็นทุนประเดิมเริ่มต้น เพราะว่าเราอาศัยปีใหม่มาประมวลงบบุญงบบาป แล้วตั้งผังชีวิตในปีต่อไป จึงต้องตั้งผังเริ่มด้วยบุญกุศล เขาบอกว่า เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ถ้าฉลองปีใหม่ด้วยการสร้างบุญสร้างกุศล ทาน ศีล ภาวนา ปีหน้าโอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จ เป็นปีแห่งชัยชนะที่เราได้สร้างบุญมากกว่าบาป ก็จะเป็นจริง ดีที่สุดก็คือมาอยู่ธุดงค์รับปีใหม่กันเลย อย่างนี้ชัวร์แน่ ๆ ได้ทำทาน รักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนาแน่นอน
เมื่อเราเริ่มต้นศักราชใหม่ด้วยการทำความดีอย่างนี้แล้ว ก็ขอให้ตั้งใจไว้ว่า ปีหน้าเราจะมี เป้าหมายในการพัฒนาตัวเราให้ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างไรบ้าง เช่น ถ้าเป็นนักเรียน ปีหน้าเกรดจะต้องขึ้น จะตั้งอกตั้งใจในการดูหนังสือ ทำการบ้านอย่างดี จะต้องเรียนได้ดีขึ้นกว่าเดิม ตั้งเป้าโดยเอาฐานเดิมของตัวเองแล้วขยับขึ้นไป ให้เป็นเป้าที่ไม่สูงเกินไป ถ้าสูงเกินบางที ก็หมดกำลังใจที่จะไปถึง ต้องเอาเป้าที่เป็นไปได้
ถ้าเป็นคนทำงาน ปีหน้าจะต้องตั้งใจทำงานให้มากขึ้น เพื่อไปสู่เป้าหมายความสำเร็จในหน้าที่การงาน ธุรกิจเราจะประสบความสำเร็จ ไม่ว่าเราจะเป็นพนักงานบริษัท ข้าราชการ หรือเถ้าแก่เจ้าของกิจการก็ตาม ตั้งเป้าเลย แล้วถ้าเราตั้งเป้าก็ต้องทำให้เข้าเป้าด้วยนะ ก็คือต้องแตกจากเป้าหมายมาเป็น Action Plan ว่าจะไปถึงเป้านั้นจะต้องทำอะไรบ้าง ๑, ๒, ๓, ๔, ๕... แล้วก็เดินตามนั้นไป
อาศัยต้นปีมาตั้งเป้าหมายอย่างนี้กัน แล้วเราจะได้ทั้งทางโลกและทางธรรม ทางธรรมเราก็ได้ทั้งบุญและกุศล ทางโลกเราก็ประสบความสำเร็จในชีวิต แล้วขณะเดียวกันเมื่อเราทุกคนอยู่ในบุญในกุศลอย่างนี้แล้ว ก็ให้ปีใหม่พุทธศักราช ๒๕๕๘ นี้ เป็นปีที่ดี เป็นปีแห่งบุญแห่งกุศล ที่เราทุกคนได้ประกอบบุญกุศลพร้อมทั้งทาน ศีล ภาวนา แล้วให้บุญกุศลนี้เป็นพลวปัจจัยให้ทุก ๆ ท่าน ประสบความสุขความสำเร็จในชีวิต พร้อมทั้งอายุ วรรณะ สุข พละ ปฏิบัติธรรมก็ให้มีดวงตาเห็นธรรม เข้าถึงพระธรรมกายโดยเร็วพลันจงทุกท่านเทอญ