วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ บาปที่ทำ กรรมที่รับไว้

ข้อคิดรอบตัว
เรื่อง : พระมหาสมชาย ?านวุฑฺโฒ (M.D.; Ph.D.) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC

 

 

การกดไลค์คอมเมนต์ต่าง ๆ ที่มีคนว่าพระ บาปหรือไม่?


    ยุคนี้กรรมติดจรวด มีโอกาสที่เราจะพลาดไปทำกรรมได้โดยง่ายเพราะความคะนอง ความขาดสติ ยิ่งเทคโนโลยีการสื่อสารเร็วเท่าไรก็ตาม เรายิ่งต้องมีสติในการเสพสื่อและการร่วมแสดงความคิดเห็นให้มากไปตามส่วน ไม่อย่างนั้น     เราจะถูกคนพาลชักจูงไปสร้างกรรมหนักโดยไม่รู้ตัว ขอเตือนแบบแรง ๆ ไว้เลยว่า ตั้งสติให้ดี อย่าไปด่าว่าบริภาษพระเด็ดขาด มันเสี่ยงเกินไป เรารู้จักท่านดีพอแล้วหรือ ไม่คุ้มเลย อย่าเสียเวลาไป

 

บาปที่ทำ กรรมที่รับไว้

 

     ด่าพระ ใจเราจะเศร้าหมอง บางคนบอกว่า ถ้าท่านทำไม่ดีจะปล่อยไว้ได้อย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระธรรมวินัยนี้เป็นเหมือนทะเล ทะเลมีธรรมชาติคือจะซัดเอาขยะขึ้นสู่ฝั่งในที่สุด ภิกษุรูปใด   ที่ทำผิด ทำตัวไม่เหมาะสม สุดท้ายความจริงจะปรากฏ แล้วจะอยู่ไม่ได้เอง 


    ไม่ต้องคิดว่า เราจะต้องโจมตีท่านเพื่อปกป้องพระพุทธศาสนา อย่าไปทำ ถ้าเผอิญตีพลาด เราจะเจ็บตัว ไม่ใช่เจ็บธรรมดา แต่จะเจ็บอย่างสาหัสสากรรจ์ ถึงตอนนั้นกว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไป เราจะเศร้าโศกเสียใจอย่างใหญ่หลวง เพราะฉะนั้นเอาเวลามาทำความดีของเราดีกว่า ตั้งใจสวดมนต์ นั่งสมาธิ ทำบุญ รักษาศีล เจริญภาวนา อย่าไปกล่าวร้ายพระภิกษุ โบราณเตือนเอาไว้ว่า ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์  แต่คนยุคนี้บอกว่าไม่ได้ ปล่อยท่านก็แย่สิ เดี๋ยวจะทำให้พระพุทธศาสนาเสียหาย จะต้องจัดการ หารู้ไม่ว่ากำลังจะจับงูพิษที่เขี้ยว 


    การบริภาษกล่าวร้ายพระภิกษุอันตรายยิ่งกว่าจับงูที่เขี้ยวเสียอีก อย่าเสี่ยงดีกว่า หันมาสำรวจตัวเองให้ดี ศีลของเราบริบูรณ์หรือยัง ปรับปรุงศีลของเราให้บริบูรณ์ดีกว่า ตั้งใจนั่งสมาธิดีกว่า และอย่าดูหมิ่นกรรมแม้เพียงเล็กน้อยว่าจะไม่ให้ผล ฝนตกทีละหยดทำให้หม้อน้ำเต็มได้ฉันใด กรรมที่เราทำแม้เพียงเล็กน้อย ถ้าทำเรื่อย ๆ สุดท้ายจะนำกรรมใหญ่มาให้เราได้ฉันนั้น ในทางกลับกัน บุญที่ทำแม้เพียงเล็กน้อย ถ้าตั้งใจทำสม่ำเสมอ จะนำเอาผลบุญที่น่าปีติยินดีมาสู่เราได้ในที่สุด 

 

กรรมมีการแบ่งระดับอย่างไร? และส่งผลในแต่ละระดับต่างกันอย่างไร?


    จำแนกกรรมตามลำดับการให้ผลได้เป็น ๔ ระดับ ดังนี้


    ๑.    ครุกรรม “ครุ” แปลว่า “หนัก” ครุกรรม คือ กรรมหนัก ใครไปทำครุกรรมเข้า กรรมนี้จะให้ผลก่อนเลย จะทำกรรมอื่นอีกมากมายเท่าไรก็ตาม รอไว้ก่อน ครุกรรมให้ผลก่อนทันที เพราะว่าแรงที่สุด ครุกรรมมีทั้งฝ่ายบุญและฝ่ายบาป


    ครุกรรมฝ่ายบาป แบ่งเป็น ๒ อย่าง ได้แก่


    ๑.๑    นิยตมิจฉาทิฐิ “มิจฉาทิฐิ” คือ “ความเห็นผิด” เช่น เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณ นรกสวรรค์ไม่มี บุญบาปไม่มี ไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง ไม่เชื่อว่าผู้ที่หมดกิเลสมีจริง เหล่านี้คือมิจฉาทิฐิ 


    คนที่มีมิจฉาทิฐิบางคนยังไม่ค่อยดิ่งเท่าไร คือ ไม่เชื่อว่านรกสวรรค์มีจริง ไม่เชื่อว่าผีมีจริง แต่สัก ๔-๕ ทุ่ม ให้ไปหยิบของอีกบ้านหนึ่งอยู่กลางทุ่ง เขาบอกไม่ไป กลัวผี คือไม่เชื่อว่ามีการเวียนว่ายตายเกิด แต่กลัวผี อย่างนี้ก็มีอยู่ เป็นประเภทปากกล้าขาสั่น พวกนี้ยังมีโอกาสกลับไปกลับมา ที่ว่าไม่เชื่อ ๆ อีกสักพักอาจจะกลับมาเชื่อก็ได้ แต่ว่าพวกนิยตมิจฉาทิฐิ คือ มิจฉาทิฐิดิ่ง เป็นมิจฉาทิฐิที่ไม่เปลี่ยนแปลง “นิยต” แปลว่าเที่ยงแท้แน่นอน พวกนี้ฝังหัวลึกลงไปเลย ประเภทนี้ตายแล้วไม่ใช่ลงแค่นรกธรรมดา แต่ลงโลกันตมหานรกเลย ลงอเวจีมหานรกว่าหนักแล้ว โลกันต์หนักกว่าเป็นล้านเท่า ใครที่ลงไปโลกันต์ กว่าจะหมดกรรมกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ได้ ยากพอ ๆ กับคนที่อยู่บนโลกมนุษย์แล้วหมดกิเลสเข้าพระนิพพาน ขนาดนั้นเลย 


    เพราะฉะนั้น นิยตมิจฉาทิฐิน่ากลัวที่สุด เราอย่าไปเข้ากลุ่มกับคนที่เป็นมิจฉาทิฐิ อันตรายมาก ถ้าเข้าไปแล้วเราจะค่อย ๆ คล้อยตามเขาไปเรื่อย ๆ ถ้าหนักขึ้น ๆ จนกระทั่งดิ่งเข้าไป เราแย่เลย     ปิดบุญปิดกุศลทุกอย่าง ชีวิตเราจะมีแต่ความทุกข์ชั่วกาลนานเมื่อลงไปสู่โลกันตมหานรก     


    ๑.๒    อนันตริยกรรม ๕ “อนันต” แปลว่า “มากมายมหาศาล” อนันตริยกรรม คือ กรรมที่หนักมหาศาล มี ๕ ข้อ คือ 


        ๑.    ฆ่าบิดา 


        ๒.    ฆ่ามารดา 


        ๓.    ฆ่าพระอรหันต์ 


        ๔.    ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อเลือด พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ไม่มีใครปลงชีวิตได้ หากจะทำร้ายพระองค์ ทำได้อย่างมากที่สุดแค่ห้อเลือด ดังที่พระเทวทัตกลิ้งหินจากภูเขาเพื่อให้ลงไปทับพระพุทธเจ้า แต่มีแง่งหินมาขวางไว้ จนกระทั่งเกิดสะเก็ดหินเล็ก ๆ มากระทบพระบาทจน       ห้อเลือดขนาดเท่าแมลงวันกินอิ่มเดียว แม้จะเล็กน้อยแต่ก็ถือว่าพระเทวทัตทำอนันตริยกรรมแล้ว 


        ๕.    ทำสังฆเภท คือ ยุให้พระแตกกัน 


    ในบรรดาอนันตริยกรรม ๕ ข้อนี้ สังฆเภทหนักที่สุด ใครไปยุให้พระทะเลาะกัน แตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า บาปหนักยิ่งกว่าฆ่าพ่อฆ่าแม่เสียอีก อย่าไปเสี่ยง อย่าคะนองปาก นึกว่าข้าแน่ สามารถยุยงให้พระทะเลาะกันได้ แตกแยกกันได้ แต่ความจริงหารู้ไม่ว่ากำลังสร้างกรรมหนักอยู่ แม้ยังไม่สำเร็จก็มีบาป แบบเดียวกับในทางโลกที่การฆ่าคนตายมีโทษหนัก แต่ถ้ายังไม่ตายข้อหาพยายามฆ่าก็มีโทษ กรรมนี้เป็นกรรมหนักมาก แค่พยายามทำ กรรมก็หนักหน่วงสาหัสสากรรจ์แล้ว อย่าทำเด็ดขาด


    ใครทำผิด ๕ ข้อนี้ แม้เคยทำบุญอะไรมา หรือว่าหลังจากนั้นกลับตัวกลับใจได้ แล้วสร้างบุญใหญ่อย่างไรก็ตาม ตายแล้วตกนรก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ และปิดสวรรค์ ปิดนิพพานด้วย ชาตินั้นไม่มีทางขึ้นสวรรค์ ไม่มีทางบรรลุธรรมเข้าพระนิพพานเด็ดขาด เหมือนอย่างพระเจ้าอชาตศัตรู หลงเชื่อพระเทวทัต ฆ่าพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพ่อ เพื่อแย่งชิงราชสมบัติ ภายหลังกลับตัวกลับใจ หันมาทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาขนานใหญ่ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานก็ยังเป็นองค์เอกอัคร-ศาสนูปถัมภกในการสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ ๑ ทำให้มีพระไตรปิฎกตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน สร้างบุญใหญ่ขนาดนั้น แต่ตายแล้วก็ตกนรก เพราะครุกรรมให้ผลก่อน บุญอย่างอื่นมาขวางไม่อยู่ 


    ครุกรรมฝ่ายบุญ คือ การนั่งสมาธิกระทั่งได้ฌานสมาบัติ ๘ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔  


    ถ้าใครนั่งสมาธิจนได้ฌานสมาบัติก็จะปิดอบาย ถ้ายังไม่หมดกิเลสจะได้ขึ้นสวรรค์หรือขึ้น   ชั้นพรหมแน่นอน แล้วถ้าทำครุกรรมทั้ง ๒ อย่าง คือ ฆ่าพ่อฆ่าแม่ด้วย นั่งสมาธิได้ฌานด้วย        อะไรจะให้ผลก่อน ตอบว่า ถ้าใครไปฆ่าพ่อฆ่าแม่แล้วมานั่งสมาธิ ไม่มีทางได้ฌาน บาปจะมาขวางไว้ จนกระทั่งไม่มีโอกาสบรรลุธรรมในชาตินั้น ต้องไปตกนรกเสียก่อน พอกรรมเบาบางลงกลับมาเกิดเป็นคนถึงจะมีโอกาสบรรลุธรรม แต่ในชาตินั้นไม่มีโอกาสเลย 


    ๒.    อาสันนกรรม “อาสันนะ” แปลว่า “เกือบ, ใกล้” อาสันนกรรม แปลว่า กรรมก่อนตาย คือ ถ้าก่อนตายจิตนึกถึงอะไร นั่นแหละคือ อาสันนกรรม ชั่วเวลาก่อนที่จะจากโลกนี้ไป ตอนนั้น   ถ้าใจนึกถึงเรื่องบุญกุศล ใจก็ผ่องใส เมื่อจิตผ่องใสก็ไปสวรรค์ แต่ถ้าไปนึกถึงเรื่องไม่ดี จิตเศร้าหมองก็จะต้องไปอบาย นั่นคือ อาสันนกรรม บางคนบอกว่าอย่างนี้สบายเลย จะทำอะไรก็ได้ เดี๋ยวก่อนตายก็ “สัมมา อะระหัง ๆ”  นึกถึงพระตลอด รอดแน่นอน 


    ขอบอกว่าโปรดอย่าเสี่ยง เพราะขนาดคนที่นั่งสมาธิบ่อย ๆ บางทียังนึกไม่ค่อยออกเลย ใครไปทำเรื่องไม่ดีไว้มาก ๆ ก่อนตายภาพนั้นจะมาหลอน จะมาให้เห็นเลย อย่างคนที่เคยฆ่าหมูฆ่าไก่เยอะ ๆ ก่อนตายจะร้องเสียงเหมือนหมูบ้าง เหมือนไก่บ้าง บางทีแสดงอาการคล้าย ๆ อย่างนั้น เพราะความคุ้น คตินิมิตมาถึงก็โวยวายไม่ได้สติ แล้วก็วูบไปอบายเลย ดีที่สุดต้องทำความดีสม่ำเสมอจนกระทั่งคุ้น เพราะตอนที่ทุกขเวทนาบีบคั้น ลำบากมาก ๆ จะนึกถึงความดีไม่ออก 


    ถ้าเราเข้าใจหลักนี้แล้ว เราจะรู้ว่าทำไมพระเดชพระคุณหลวงพ่อให้เราสร้างบุญใหญ่ ๆ ที่ท่านเรียกว่าเป็น “ทัสนานุตริยะ” บวชพระรูป ๒ รูป ก็ปลื้มใช่ไหม แต่หลวงพ่อบวชครั้งละเป็นหมื่นเป็นแสนรูป เราเห็นภาพนาคธรรมทายาทชุดขาวเดินเวียนประทักษิณรอบลานธรรม มหาธรรมกายเจดีย์ เห็นพิธีบรรพชาอุปสมบทครองผ้าเหลืองเต็มสภาธรรมกายสากล เต็มลานธรรม ปลื้มไหม? ปลื้มนะ พอจะละโลก ภาพที่ปลื้มอย่างนี้จะประทับแน่น ใจเราก็ผ่องใส ใจที่ผ่องใสจะพาเราไปสู่สุคติเลย ยิ่งปลื้มมากภาพนั้นยิ่งฝังลึกในใจ ถึงคราวก็จะย้อนกลับมาให้เราเห็น แล้วนำเราไปสู่สุคติโลกสวรรค์ แต่ละอย่างที่หลวงพ่อนำเราทำก็เพื่อปกป้องเราไม่ให้พลาดไปสู่อบาย เพราะท่านรู้ว่า ลูก ๆ รู้ว่าอะไรบุญอะไรกุศลก็จริง แต่ก็ยังทำอะไรไม่ค่อยดีกันบ้างเหมือนกัน เพราะกิเลสยังไม่หมด ฉะนั้นต้องไม่ประมาทในการสั่งสมบุญให้เต็มที่ 


    ๓.    อาจิณกรรม คือ กรรมที่ทำเป็นประจำ ถ้าก่อนตายไม่ได้นึกถึงอะไรที่ปลื้มเป็นพิเศษ และไม่ได้นึกถึงเรื่องร้าย ๆ ที่เสียใจเป็นพิเศษ อาจิณกรรมหรือกรรมที่ทำสม่ำเสมอก็จะให้ผล เช่น คนไหนหมั่นตักบาตร สวดมนต์ นั่งสมาธิเป็นประจำสม่ำเสมอ แม้ยังไม่ได้บรรลุธรรมก็ตาม         (ถ้าบรรลุธรรมจะเป็นครุกรรม ข้อแรก) แม้ยังมืดตื้อมืดมิด แต่ทำเรื่อย ๆ ใจก็เป็นบุญเป็นกุศล        บุญจะส่งไปสู่สุคติโลกสวรรค์  


    ๔.    กตัตตากรรม คือ กรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ บางทีไม่ใช่กรรมชาตินี้ด้วย แต่เป็นกรรมที่มาจากอดีตชาติ ที่รอส่งผลอยู่ก็มีเหมือนกัน เปรียบเหมือนกับโคแก่ที่มีกำลังน้อย แต่ยืนอยู่ที่ปากคอก พอเช้ามาประตูคอกเปิด โคแก่ที่อยู่ปากคอกเลยได้ออกไปก่อนโคหนุ่ม ซึ่งมีกำลังเยอะกว่าแต่อยู่ข้างหลัง 


    กรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ แม้จะมีกำลังไม่มาก แต่พอไม่มีกรรมอื่นที่มีกำลังมากกว่ามาขวางก็จะแสดงผลก่อน มีตัวอย่างหนึ่งในช่วงหลังพุทธกาล พระภิกษุคณะหนึ่งตั้งใจดั้นด้นเดินทางไปบูชา  ต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่เคยไปมาก่อน ท่านจึงหลงทางอยู่ในป่า วนไปเวียนมา เผอิญเห็นชาวนาคนหนึ่งกำลังไถนาอยู่ก็ดีใจ แต่ชาวนาคนนี้ตัวใหญ่ ดู    แข็งแรง เขาเอาวัวมาเทียมไถเหล็กทีละ ๔ ตัว แล้วก็ไถนาวนไปเวียนมาตลอด มุ่งมั่นกับการไถนามาก ไม่ได้หยุดเลย 


    พระภิกษุเหล่านั้นพูดกับชาวนาว่า “ช่วยบอกทางไปต้นพระศรีมหาโพธิ์ให้หน่อย” แรก ๆ ชาวนาก็ไม่สนใจ ไถนาไปเรื่อย ๆ พระรู้สึกผิดสังเกต แต่ด้วยความเกรงใจก็รออยู่สักพักจึงพูดซ้ำอีกว่า “โยมช่วยบอกเอาบุญเถิด พวกอาตมาหลงทางมา” ชาวนาหันมา แต่ก็ยังไถนาอยู่ ไถไป ๆ แล้วหันมาพูดว่า “ข้าพเจ้าไถนาอยู่อย่างนี้มาตั้ง ๑ พุทธันดรแล้ว ลำบากกว่าพวกท่านเยอะ”        พุทธันดรหนึ่งก็ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อน คือ สมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มาจนกระทั่งถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ นานมาก ๆ เลย 


    พระภิกษุทั้งหลายตกใจ รู้เลยว่าไม่ใช่มนุษย์ จึงถามว่า “ท่านเป็นใคร? ทำไมถึงไถนานานตั้ง ๑ พุทธันดร?” ชาวนาคนนี้บอกว่า “ข้าพเจ้าเป็นเปรต” “ท่านไปทำกรรมอะไรถึงต้องมาเป็นอย่างนี้?” 


    เปรตเล่าให้ฟังว่า พุทธันดรที่แล้วสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า เขากำลังไถนา มีเพื่อนมาชวนให้ไปเข้าเฝ้าแล้วทำบุญกับพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาบอกว่า “ไม่ไปหรอก เสียเวลาไถนา” เพื่อนก็คะยั้นคะยอว่า “นี้เป็นโอกาสที่หาได้ยาก พระองค์เป็นเนื้อนาบุญ ไปเอาบุญก่อน แล้วค่อยทำตอนหลังก็ได้” ชาวนาตอบกลับด้วยความเหนื่อยและไม่มีศรัทธาว่า “พระพุทธเจ้าไถนาอย่างเราเป็นหรือเปล่า? ถ้ามาช่วยไถนาให้เรา เราถึงจะไปบูชา ถ้ามาไถนาให้เราไม่ได้ เราไม่ไปหรอก” 


    ด้วยวิบากกรรมดูหมิ่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณธรรมสูงยิ่ง ตายแล้วจึงมาเกิดเป็นเปรต ไถนาไม่ได้หยุดเลยตลอด ๑ พุทธันดร ไม่ได้นั่ง ไม่ได้นอน ไม่ได้กินด้วย หิวโหยตลอดเวลา เหนื่อยล้าแต่หยุดไม่ได้ ไถอยู่ตลอดเวลา ๑ พุทธันดร จากวิบากกรรมคะนองปาก ไปล่วงเกินผู้ที่มีคุณธรรมสูง น่ากลัวมาก 


    ยุคปัจจุบัน สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก สื่อออนไลน์มีเยอะ ยิ่งน่ากลัวใหญ่ เพราะคนเราโดยทั่วไปถ้าเจอหน้ากัน เวลาจะพูดอะไรยังมีใจยั้งคิด รู้สึกเกรงใจ พูดไปแล้วเดี๋ยวเขาจะว่าเอา แต่พออยู่ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ในออนไลน์ ไม่รู้ใครเป็นใคร พอเห็นมีใครว่าพระก็ผสมโรงว่าตามเลย บางทียังไม่รู้จักท่านดี ถ้าท่านเป็นพระที่มีคุณธรรมสูง เผอิญคนที่เป็นมิจฉาทิฐิไปว่าท่าน ไปใส่ร้ายป้ายสี   ต่าง ๆ แล้วเราผสมโรงบวกเข้าไป น่ากลัว เสี่ยงมาก ๆ เลย เวลาเราพิมพ์คอมเมนต์เข้าไปก็มีผลเหมือนกับการพูด บางทีหนักกว่าด้วย เพราะเวลาพูดมีคนได้ยินไม่กี่คน แต่พิมพ์ในนั้นมีคนมาอ่านร้อยคน พันคน บาปคูณไปร้อยเท่าพันเท่า มีคนมาอ่านหมื่นคนก็คูณบาปเข้าไปอีกหมื่นเท่า
 
ถ้าเรากระทำความผิดหรือทำกรรมไปแล้ว และอยากให้หนักเป็นเบา เราควรทำอย่างไร? 


    บาปที่เราทำไปแล้วไม่ได้หายไปไหน แต่มีวิธีแก้ไขคือ บาปกรรมใหม่ไม่ทำอีกเด็ดขาด แล้วตั้งใจสร้างบุญเยอะ ๆ ให้บุญไปเจือจางบาปให้อ่อนลง ดังคำเปรียบเทียบที่ว่า ทำบาปเหมือน      เติมเกลือ ทำบุญเหมือนเติมน้ำ บาปที่เราทำไปแล้วก็เหมือนเติมเกลือไปแล้ว จะแก้ก็ต้องเติมน้ำเยอะ ๆ ยิ่งถ้าเราเติมเกลือไว้เยอะ ก็ต้องเอาน้ำเติมลงไปไม่ใช่แค่แก้วสองแก้วหรือคูลเลอร์           สองคูลเลอร์ แต่ต้องขนาดเปิดเขื่อนทะลักทลายเลย เกลือเป็นโอ่งเจอแม่น้ำทั้งสายไหลมา สุดท้ายหมดฤทธิ์ไปเอง มีก็เหมือนไม่มี 


    บาปที่เราทำไว้จะคอยส่งผลเหมือนกับไล่คุกคามเรา ถ้าหากเราสร้างบุญเยอะ ๆ บุญก็จะหนุนส่งให้เราสามารถแคล้วคลาดจากผลแห่งวิบากกรรมหนักที่เราทำเอาไว้ แล้วถ้าหากว่าบาปยังตามเราไม่ทัน เราก็สร้างบุญต่อไปเรื่อย ๆ ยิ่งนานบาปก็ยิ่งอ่อนกำลังลง สุดท้ายอาจจะกลายเป็นอโหสิกรรม หยุดการส่งผลก็ได้ 


    วิบากกรรมที่เราทำเอาไว้ทั้งในชาตินี้และอดีตชาติเป็นเหมือนทุ่นระเบิด เหมือนหินโสโครกในทะเล นาวาชีวิตของเราวิ่งอยู่ดี ๆ อาจเกยหินโสโครกแตก แล้วจมลงได้ แต่ถ้าเราสร้างบุญก็เหมือนทำให้ระดับน้ำขึ้นสูง หินโสโครกในน้ำยังมีอยู่ แต่พอน้ำขึ้นอีก ๕ เมตร เรือวิ่งผ่านฉลุยเลย ไม่มีปัญหา เพราะน้ำที่ขึ้นสูงคอยหนุนส่งให้เรือลอยลำพ้นหินโสโครกเหล่านั้น เช่นเดียวกับ         วิบากกรรมในอดีตที่ตามจะส่งผล ถ้าเราสร้างบุญเยอะ ๆ บุญก็จะส่งผลจนสุดท้ายวิบากกรรมตามไม่ทัน เราก็รอด บางคนบอกว่ามีวิบากกรรมตามกวดอยู่เยอะเลย จึงตั้งใจสร้างบุญอย่างสม่ำเสมอด้วยความไม่ประมาท แล้วเขาก็จะรอด ชีวิตก็จะดีขึ้นด้วยทั้งในชาตินี้และชาติหน้า


 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๕๐ เดือนเมษายน ๒๕๕๘

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล