บทความน่าอ่าน
เรื่อง : Tipitaka (DTP)
พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว...
ยุคทองแห่งต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดประจำรัชกาลที่ ๑
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่
จนได้รับยกย่องว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย
แผ่นดินที่ ๓ ของกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรี ถือเป็นยุคทองแห่งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยของพระองค์พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก เนื่องด้วยทรงมีพระราชศรัทธาอย่างมั่นคงในพระพุทธศาสนา ทรงรักษาศีล บำเพ็ญทาน บำรุงคณะสงฆ์ สร้างและปฏิสังขรณ์พระอารามไว้เป็นจำนวนมาก จนมีคำพังเพยกล่าวกันมาว่า “ในรัชกาลที่ ๑ นั้น ถ้าใครเข้มแข็งในการศึกสงคราม ก็เป็นคนโปรด ในรัชกาลที่ ๒ ถ้าใครเป็นจินตกวี ก็เป็นคนโปรด ในรัชกาลที่ ๓ ถ้าใครใจบุญสร้างวัดวาอาราม ก็เป็นคนโปรด”
พระราชศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาปรากฏเด่นชัดในพระราชจริยวัตร ดังเช่น ในปี พ.ศ. ๒๓๘๔ มีพระราชอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงฟังการแปลพระไตรปิฎกติดต่อกัน เป็นเวลา ๒๕ วัน เมื่อทรงเห็นว่ายังไม่มีพระภิกษุสามเณรรูปใดมีความรู้พระไตรปิฎกถึงขั้นเปรียญเอก โท ตรี และจัตวา จึงทรงอาราธนาพระราชาคณะทั้งปวงด้วยความห่วงใยเกรงพระพุทธศาสนา จะเศร้าหมองว่า
“กระทำซึ่งพระพุทธศาสนาให้เหมือน สระโบกขรณี มีดอกปทุมชาติเกิดคอยกันเป็น ชั้น ๆ ชั้นที่มีดอกอันบานแก่ แลชั้นมีดอกอันแก่พึงจะบาน พึงจะแย้มกลีบแลเกสร ที่มีดอกอ่อนพึงจะผุด พระพุทธศาสนาถ้ารุ่งเรืองไปด้วย พระภิกษุสามเณรที่รู้พระไตรปิฎกเป็นชั้น ๆ ดังนี้แล้ว อันว่ากลีบสุคันธรส คือ คุณธรรม ก็จะฟุ้งขจรตลบไปในที่ทวนลม แลตามลม”
ดังนี้แล้วทรงให้การสนับสนุนการเรียนพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณรเป็นพิเศษ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมในพระอาราม มีการสอบพระบาลีสนามหลวงอย่างเคร่งครัด พระราชทานพัดยศและถวายนิตยภัตเป็นประจำทุกเดือนแก่พระมหาเปรียญประโยคต่าง ๆ พระสงฆ์ที่สอบไล่ได้เป็นเปรียญและได้เลื่อนเป็นที่พระราชาคณะแล้ว ถ้าโยมบิดามารดาตกทุกข์หรือเป็นทาสผู้อื่น ก็จะพระราชทานพระราชทรัพย์ไถ่ตัวให้เป็นอิสระ ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงให้การสนับสนุนพระภิกษุสามเณรผู้ทรง ความรู้นี้เอง ทำให้พระสงฆ์สามเณรทั้งในกรุงและตามหัวเมืองตั้งใจเล่าเรียนพระไตรปิฎกมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน
ในรัชสมัยของพระองค์มีการสร้างพระไตรปิฎกมากฉบับกว่าที่ผ่านมา และได้รับการยกย่องว่าอักขระมีความถูกต้องครบถ้วนยิ่งกว่าฉบับที่สร้างในรัชกาลก่อน ๆ เพราะเหตุที่ทรงให้การสนับสนุนทั้งการศึกษาภาษาบาลีและอักขระอื่น ๆ ได้แก่ อักษรสิงหล และอักษรมอญ ควบคู่กันไปเพื่อประโยชน์ในการปริวรรตถ่ายถอดภาษาบาลีที่จารลงในใบลานด้วยอักษรมอญและสิงหลให้เป็นอักษรขอมอย่างถูกต้องแม่นยำ และยังโปรดเกล้าฯ ให้แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยอีกด้วย
ตัวอย่างการปริวรรตถ่ายถอดภาษาบาลี จารคำว่า “เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา”
แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า
เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้า ( คือพระอานนท์ ) ได้ฟังมาแล้วอย่างนี้
เอกํ สมยํ ภควา สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า …..
เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ ขณะนั้นเจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ ๔) ทรงผนวชอยู่ ทรงรับเป็นธุระตรวจสอบคัมภีร์พระไตรปิฎกที่มีในแผ่นดิน เมื่อทรงทราบว่าคัมภีร์ใดมีเนื้อความผิดแปลกหรือ ไม่ครบบริบูรณ์ ก็ทรงให้เสาะหาคัมภีร์จากต่างประเทศมาเทียบเคียงและเสริมส่วนที่ขาดหาย ให้สมบูรณ์
โปรดเกล้าฯ ให้สมณทูตไปอัญเชิญคัมภีร์พระไตรปิฎกจากลังกามาสู่สยามถึง ๒ คราว ครั้งแรกไปกับเรือกำปั่นหลวงชื่อจินดาแก้ว ขอยืมคัมภีร์พระไตรปิฎกกลับมา ๔๐ คัมภีร์ ใช้เวลาคัดลอก ๑ ปี จึงแล้วเสร็จ และครั้งที่ ๒ เป็นการเดินทางเพื่อนำคัมภีร์ชุดแรกไปส่งคืน พร้อมขอยืมคัมภีร์กลับมา จากลังกาอีก ๓๐ คัมภีร์ ขณะเดียวกันหากคัมภีร์ใดไม่มี ในลังกา ก็ทรงให้พระภิกษุสงฆ์ชาวสิงหลแลกเปลี่ยน ไปคัดลอกได้ เป็นการค้นคว้าแลกเปลี่ยนความรู้ทาง พระพุทธศาสนาและเจริญสัมพันธไมตรีระหว่าง ๒ ประเทศ ให้แน่นแฟ้นขึ้น ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้พระสงฆ์มอญ ช่วยเสาะหาและนำคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับรามัญเข้ามาร่วมตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย จึงเป็นเหตุให้มีคัมภีร์พระไตรปิฎกจากต่างประเทศเข้ามาสู่แผ่นดินสยามมากขึ้น
คัมภีร์ใบลานที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ นี้ นอกจากถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ยังถือว่ามีความประณีตงดงามอย่างยิ่ง
ฉบับรดน้ำเอกมีการตกแต่ง หรือเขียนด้วยลวดลายรดน้ำบนพื้นรักดำ ที่ใบลานปกหน้าและปกหลังด้วยความพิถีพิถัน เป็นคัมภีร์ที่งดงามประณีต ยิ่งกว่าคัมภีร์ใด ๆ ตั้งแต่การเลือกใบลานที่เนื้อเนียนอ่อน ช่างจารที่มีฝีมือเป็นเลิศ ตลอดจนผ้าห่อคัมภีร์ ล้วนเป็นของที่บรรจงทำด้วยฝีมืออันวิจิตรทั้งสิ้น
นอกจากนี้ยังทรงสร้างพระไตรปิฎกสำหรับหอหลวง ๕ ฉบับ คือ ฉบับรดน้ำเอก ฉบับรดน้ำโท ฉบับทองน้อย ฉบับชุบย่อ ฉบับอักษรรามัญ และทรงสร้างพระไตรปิฎกจบใหญ่สำหรับพระราชทานพระอารามหลวงอีก ๒ ฉบับ คือ ฉบับเทพชุมนุม พระราชทานไว้ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และฉบับลายกำมะลอ พระราชทานไว้ ณ วัดราชโอรส
คัมภีร์ใบลานหลวงฉบับเทพชุมนุม ฉบับทองทึบ จารด้วยอักษรขอม ปกหน้าตกแต่งลายรดน้ำบนพื้นรักดำ เขียนเป็นภาพเทวดา มาประชุมกันในท่านั่งพนมหัตถ์ มีพัดรูป พุ่มข้าวบิณฑ์คั่นสับหว่าง พื้นหลังเป็นลาย ดอกพุดตานใบเทศ กึ่งกลางปกมีอักษรขอม บอกชื่อคัมภีร์ “พระปาฬีทิฆนิกาย สีลขนฺธวคฺค ผูก ๑” อยู่ภายในกรอบ
ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ การค้าขายเจริญรุ่งเรือง บ้านเมืองปราศจากสงคราม ถือเป็นยุคทองที่จะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้กลับมาสวยงามเหมือนเมื่อครั้งกรุงเก่า ศาสนสถานเป็นสถาปัตยกรรมหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญนั้น ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามเมื่อครั้งต้นแผ่นดินรัชกาลแรก และทรงสร้างวัดขึ้นใหม่ที่วิจิตรงดงามเลอค่าสมกับ เป็นศรีแห่งแผ่นดิน อีกทั้งไม่ละเลยคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา พระไตรปิฎกหลากหลายอักษร ถูกนำมาปริวรรตถ่ายทอดเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ และจัดรวบรวมไว้อย่างเป็นระเบียบสวยงาม ถือเป็นคุณูปการอย่างยิ่งต่อวงการการศึกษาพระบาลีและคณะสงฆ์ไทย สมกับที่ทรงเป็น อัครศาสนูปถัมภก เจริญตามรอยบาทของพระมหากษัตริย์ไทยแต่ครั้งโบราณกาล
กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. กรมการศาสนา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร แห่งประเทศไทย, ๒๕๕๑.
ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และวิรัตน์ อุนนาทรวรางกูร. คัมภีร์ใบลานฉบับหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๖.
สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. คู่มือบทโทรทัศน์ สารคดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ.