วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ หลักฐานธรรมกาย ในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๓)

บทความพิเศษ
เรื่อง : พระครูวิเทศสุธรรมญาณ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม)
และคณะนักวิจัย DIRI

 

 

    สืบเนื่องจากที่ผู้เขียนและคณะนักวิจัยได้ไปปฏิบัติศาสนกิจล่าสุดที่เมืองลั่วหยาง ณ วัดม้าขาว วัดแห่งแรกในแผ่นดินจีน แล้วเดินทางต่อไปที่เมืองซีอาน (ฉางอาน) มณฑลส่านซี แม้เป็นช่วงค่ำคืน ก็ได้รับน้ำใจจากกัลยาณมิตรที่เคยพบกันเมื่อครั้งที่ประเทศจีนรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ครั้งที่ ๒๗ (๑๔-๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๗) ที่วัดฝ่าเหมินซื่อ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตมณฑลเดียวกัน

 

    ท่านศาสตราจารย์เยว้ อวี้ จิตรกรผู้มีชื่อเสียงด้านพุทธศิลป์ และเจ้าอาวาสวัดต้าสิ้งส้านซื่อซึ่งเป็นประธานพุทธสมาคมมณฑลส่านซี เมตตามาให้การต้อนรับคณะของเราอย่างอบอุ่น จากนั้นในวันรุ่งขึ้น ท่านก็นำคณะของเราไปศึกษาดูงานพระพุทธศาสนาที่วัดต้าฉือเอินซื่อ ซึ่งเป็นวัดประวัติศาสตร์สำคัญ มีอายุ ๑,๗๐๐ ปี มีร่องรอยและหลักฐานว่าเป็นวัดที่พระธรรมาจารย์เสวียนจั้ง (พระถังซำจั๋ง) ได้ทำการแปลและชำระพระไตรปิฎกจากภาษาอินเดียมาเป็นภาษาจีนนับเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงแก่พระพุทธศาสนาในประเทศจีน หลังจากที่ท่านเดินทางไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทาอยู่นานถึง ๑๗ ปี จนมีความเชี่ยวชาญแตกฉาน และเห็นสมควรว่าได้รวบรวมพระคัมภีร์ครบถ้วนแล้ว จึงอัญเชิญกลับมาเมืองจีน รวมระยะของการเดินทางไปกลับ ๕๐,๐๐๐ ลี้ สิ้นเวลาในการเดินทาง ๒ ปี ครั้งนั้นจักรพรรดิถังไท่จงผู้มีพระราชศรัทธาเลื่อมใสพระพุทธศาสนาเสด็จนำมหาชนมาคอยต้อนรับการกลับมาของท่าน ทั้งทรงเมตตาให้การแปลและชำระพระไตรปิฎกอยู่ในพระราชูปถัมภ์ ซึ่งสืบต่อเนื่องมาจนถึงรัชสมัยจักรพรรดิถังเกาจง

 

ศาสตราจารย์เยว้ อวี้ ปรมาจารย์ด้านพุทธศิลป์ และท่านประธานพุทธสมาคม
มณฑลส่านซี เจ้าอาวาสวัดต้าสิ้งส้านซื่อ เมตตามาต้อนรับอย่างอบอุ่น

 

   ภาพเขียนขนาดใหญ่วาดโดยศาสตราจารย์เยว้ อวี้ แสดงเหตุการณ์ที่พระภิกษุเสวียนจั้งในวัยหนุ่ม กำลังตั้งใจศึกษาอ่านพระคัมภีร์ต้นฉบับภาษาอินเดีย ณ มหาวิทยาลัยนาลันทา โดยมีพระธรรมาจารย์อินเดียผู้เป็นครูอาจารย์คอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

 

   การทุ่มเทด้วยศรัทธาอย่างมุ่งมั่นพร้อมด้วยลูกศิษย์ของพระธรรมจารย์เสวียนจั้ง ทำให้ผลงานการแปลและชำระพระไตรปิฎก ซึ่งมีพระสูตรที่สำคัญ ๆ ยังคงดำรงอยู่ถึงปัจจุบันและใช้ศึกษามาถึงทุกวันนี้ทั้งมหายานในเกาหลีเวียดนาม และญี่ปุ่น เช่น พระคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร ซึ่งเป็นที่นิยมยอมรับกว้างขวางมากกว่าสำนวนแปลของพระธรรมาจารย์ท่านอื่น แม้จะเป็นคัมภีร์พระสูตรเดียวกัน


พระธรรมาจารย์เสวียนจั้งอยู่ที่วัดนี้นานถึง๑๑ ปี จวบจนมรณภาพในปี พ.ศ. ๑๒๐๗

 

   เจดีย์ห่านป่าใหญ่ อายุกว่า ๑,๗๐๐ ปี ซึ่งเดิมเก็บรักษาคัมภีร์พระไตรปิฎกที่แปลจากภาษาอินเดียมาสู่ภาษาจีนจำนวน ๔,๐๐๐ ผูก ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ ผูกด้านหน้าวัดเป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์ของพระธรรมาจารย์เสวียนจั้ง

 

ภายในหอแสดงนิทรรศการประวัติของพระธรรมาจารย์เสวียนจั้ง และคัมภีร์พระไตรปิฎกที่ท่านได้ชำระและแปลถอดความไว้เป็นภาษาจีน

 

    วัดนี้จึงเป็นพุทธสถานโบราณที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีมหาเจดีย์ขนาดใหญ่ ชื่อ “ต้าเอี้ยนถะ”(เจดีย์ห่านป่าใหญ่) ความสูงราว ๗๐ เมตร ซึ่งเดิมเป็นสถานที่เก็บรักษาพระไตรปิฎกทั้งต้นฉบับเดิมจากอินเดียที่ยังไม่มีการแปลและในส่วนที่แปลและชำระเป็นภาษาจีนแล้ว ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนและคณะนักวิจัย DIRI มีความปลื้มปีติอย่างยิ่งที่ทราบว่า เราได้มาพบแหล่งข้อมูลหลักฐานคำสอนดั้งเดิมที่เป็นข้อมูลชั้นปฐมภูมิ แต่คณะของเราจะต้องตั้งใจมั่น มีความเพียรและขันติธรรมอย่างยิ่งเพื่อใช้เวลาทุ่มเทศึกษาดั่งพระมหาเถระเสวียนจั้งและคณะศิษย์ของท่านในกาลก่อน อย่างไรก็ตามผู้เขียนและคณะนักวิจัยขอสงวนเรื่องราวการทำศาสนกิจตรงนี้ไว้ก่อน และจะขอบรรยายเนื้อหาต่อเนื่องจากฉบับที่แล้ว คือ เส้นทางเผยแผ่พระพุทธศาสนา

 

เส้นทางเผยแผ่พระพุทธศาสนา (ต่อ)

 

   พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นจักรพรรคดิแห่งจักรวรรดิโมริยะปกครองแคว้นมคธในช่วงพ.ศ. ๒๗๐ถึง พ.ศ. ๓๑๑ ก่อนที่พระองค์จะทรงเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา ทรงมีความดุร้ายเป็นอย่างยิ่งจนได้รับฉายาว่า “จัณฑาโศก” แปลว่า อโศกผู้ดุร้าย เมื่อเสด็จไปรบที่แคว้นกาลิงคะ (ปัจจุบันคือรัฐโอริสสา ประเทศอินเดีย) มีผู้บาดเจ็บล้มตายจากภัยสงครามเป็นจำนวนมาก ทรงสลดสังเวชในบาปกรรม เมื่อทรงพบกับนิโครธสามเณรผู้มีจริยวัตรสงบเรียบร้อย จึงทรงนิมนต์ให้แสดงธรรม จากนั้นพระองค์ทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนา เช่น ทรงสร้างศาสนสถาน ถาวรวัตถุ และหลักศิลาจารึกมากมาย ทรงเลิกการแผ่อำนาจ หันมาใช้หลักพุทธธรรมหรือธรรมราชาในการปกครอง

 

   พระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จไปยังสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง และทรงสถาปนาให้เป็นสถานที่ที่ควรแก่การสักการบูชาของพุทธศาสนิกชนสืบมา พระองค์ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกอย่างแท้จริงจนมีพระสมญานามว่า “ธรรมาโศก” แปลว่า อโศกผู้ทรงธรรม

 

    สำหรับการทำสังคายนาในอดีตนั้น เป็นการนำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่พระสงฆ์สาวกทรงจำไว้ได้มาแสดงในที่ประชุมสงฆ์ จากนั้นซักถามกันจนกระทั่งที่ประชุมลงมติว่าถูกต้องแน่นอนแล้ว จึงสวดขึ้นพร้อมกันเพื่อแสดงถึงความเป็นเอกฉันท์ พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้รับการถ่ายทอดด้วยการทรงจำหรือที่เรียกกันว่า “มุขปาฐะ” เป็นแบบแผนเดียวกันสืบต่อมาโดยมิได้จดจารเป็นตัวหนังสือ

 

    หลักฐานทางพระพุทธศาสนาในช่วง ๓๐๐ ปี หลังพุทธปรินิพพานที่เหลืออยู่มาถึงปัจจุบันได้แก่ สถูปทางพระพุทธศาสนาอันได้แก่มหาสถูปสาญจี (Sanchi) พุทธศตวรรษที่ ๓-๑๒ ตั้งอยู่ทางตอนกลางค่อนไปทางตะวันตกของอินเดีย และเสาศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ทรงสถาปนาขึ้นในสถานที่สำคัญต่าง ๆ ภายในพระราชอาณาจักรของพระองค์

 

    มหาสถูปสาญจี ๑ รัฐมัธยมประเทศ ประเทศอินเดียพุทธศตวรรษที่ ๓-๑๒ เชื่อกันว่าบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน
ที่มา http://www.buddhiststudies.org.au/Downloads/Bulletins/Sanci.jpg

 

   มหาสถูปสาญจี ๓ รัฐมัธยมประเทศประเทศอินเดีย พุทธศตวรรษที่ ๓-๑๒ เชื่อกันว่าบรรจุพระธาตุพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ
ที่มา https://sladamibuddyzmu.files.wordpress.com/2010/11/sanci-222-res.jpg

 

    จารึกบนเสาศิลาของพระเจ้าอโศกมหาราช(อโสกสดมภ์) ถือเป็นเอกสารทางพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุด ส่วนมากจารึกเป็นภาษาปรากฤตด้วยอักษรพราหมีรุ่นแรก เนื้อหาที่นักวิชาการพบเป็นคำจารึกแสดงความสำคัญของสถานที่ตั้งเสาศิลานั้น หรือประกาศพระบรมราชโองการของพระองค์ว่าด้วยกฎระเบียบในการธำรงพระพุทธศาสนามิให้มีผู้แปลกปลอมเข้ามาอาศัยบวชและทำลายคณะสงฆ์และการออกระเบียบให้มหาอำมาตย์ทุก ๆ คน ร่วมรักษาอุโบสถเป็นประจำ

 

   เสาศิลาพระเจ้าอโศกมหาราช โกลฮูอา(Kolhua Buddha Stupa) สถานที่ปลงอายุสังขาร
ที่มา https://c1.staticflickr.com/9/8199/8163779028_91d44310bd.jpg

 

   จารึกบนเสาศิลาพระเจ้าอโศกมหาราช เมืองเลาลิยะนันทันครห์ (Lauria Nandangarh) จังหวัดจัมปารัน รัฐพิหารประเทศอินเดีย ใกล้เขตแดนประเทศเนปาล
ที่มา http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/613/13613/images/asokpillar7.jpg

 

    อักษรพราหมีบนเสาศิลาพระเจ้าอโศกมหาราชสวนลุมพินี ประเทศเนปาล
ที่มา http://www.christopherculver.com/languages/inscriptions-in-nepal.html/attachment/ashoka-pillar-2

 

    หลังการสังคายนาครั้งนี้ พระเจ้าอโศกมหาราชผู้ทรงเดชานุภาพดุจธรรมราชาของชมพูทวีปได้ทรงอุปถัมภ์และสนับสนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง ทรงส่งสมณทูตออกไปประกาศพระศาสนาทั้งภายในและนอกพระราชอาณาเขตได้ถึง ๙ สาย คือ

 

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พุทธศตวรรษที่ ๓-๔ ภาพโดยชัชวาลย์ เสรีพุกกะณะ

 

สายที่ ๑ มีพระมัชฌันติกเถระเป็นหัวหน้าคณะเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแคว้นกัษมิระ1และแคว้นคันธาระ2
สายที่ ๒ มีพระมหาเทวเถระเป็นหัวหน้าคณะเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแคว้นมหิสสกมณฑล3
สายที่ ๓ มีพระรักขิตเถระเป็นหัวหน้าคณะเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่วนวาสีประเทศ4
สายที่ ๔ มีพระธรรมรักขิตเถระหรือพระโยนกธรรมรักขิตเถระเป็นหัวหน้าคณะเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอปรันตกชนบท5
สายที่ ๕ มีพระมหาธรรมรักขิตเถระเป็นหัวหน้าคณะเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแคว้นมหาราษฎร์6
สายที่ ๖ มีพระมหารักขิตเถระเป็นหัวหน้าคณะเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโยนกประเทศ7
สายที่ ๗ มีพระมัชฌิมเถระพร้อมด้วยพระกัสสปโคตรเถระ พระมูลกเทวเถระ พระทุนทภิสสระเถระและพระเทวเถระไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนแถบหิมวันต์8
สายที่ ๘ พระโสณเถระและพระอุตตรเถระเป็นหัวหน้าคณะเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ
สายที่ ๙ พระมหินทเถระพร้อมด้วยคณะ พระอริฏฐเถระ พระอุทริยเถระ พระสัมพลเถระและพระหัททสารเถระไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลังกาทวีป

 

    ผู้เขียนและคณะนักวิจัยได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงที่ได้จากการเข้าร่วมประชุมทางวิชาการตามวาระต่าง ๆ และจากการสดับฟังจากท่านผู้รู้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นต้นมา และอาศัยร่องรอยของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาดังกล่าวทั้ง ๙ สายนี้ไปศึกษาเพื่อกำหนดพันธกิจวางแผนงานสืบค้นคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังจะได้นำเสนอต่อไปในฉบับหน้า เพื่อเป็นธรรมทานแก่สาธารณชน

 

1ปัจจุบันคือ รัฐแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย
2ปัจจุบันคือ รัฐปัญจาปทั้งในประเทศอินเดียและประเทศปากีสถาน
3ปัจจุบันคือ รัฐไมเซอร์และดินแดนแถบลุ่มแม่น??้ำโคธาวารี ตอนใต้ของประเทศอินเดีย
4ปัจจุบันคือ ดินแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย
5ปัจจุบันเชื่อว่าคือ ดินแดนแถบชายทะเลแถบเมืองบอมเบย์
6ปัจจุบันคือ รัฐมหาราษฎร์ของประเทศอินเดีย
7ปัจจุบันคือ ดินแดนบางส่วนของประเทศอิหร่าน
8ปัจจุบันเชื่อว่าคือ ประเทศเนปาล

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๕๔ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๘

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล