วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไตรปิฎกพิมพ์อักษรไทย อธิปไตยของแผ่นดิน

บทความน่าอ่าน
เรื่อง : Tipitaka (DTP)

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระไตรปิฎกพิมพ์อักษรไทย อธิปไตยของแผ่นดิน

 

   พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในคัมภีร์ทุกเล่มของพระไตรปิฎกฉบับจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ. ๑๑๒ และตัวอย่างหน้าแรกจากคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก

 

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชหรือพระพุทธเจ้าหลวงผู้เป็นที่รักเทิดทูนของประชาชนชาวไทย ทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรีเมื่อพระชนมายุได้เพียง ๑๕ พรรษา หลังจากครองราชสมบัติได้ ๕ ปี มีพระราชดำรัสต่อที่ประชุม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยว่า “บัดนี้เราได้ดำรงราชสมบัติ มีชนมายุครบถ้วน ๒๐ ปีบริบูรณ์ควรจะรับอุปสมบทได้ ขอลาพระบรมวงศานุวงศ์แลท่านเสนาบดีออกผนวชในบวรพระพุทธศาสนาเพื่อปฏิบัติการสนองพระเดชพระคุณสมดังพระราชประสงค์ในสมเด็จพระบรมชนกนาถ” และในวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๑๖ ได้เสด็จออกผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นเวลา ๑๕ วัน นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่เสด็จออกผนวชขณะครองราชสมบัติ

 

   นัยว่าการออกผนวชในครั้งนี้นอกจากเพื่อทรงอุทิศถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ และเพื่อการสืบทอดพระราชประเพณีแล้ว ยังเป็นกุศโลบายรวบอำนาจการปกครองประเทศที่ตกอยู่ในมือผู้สำเร็จราชการขณะนั้นคืนมาเป็นของพระองค์ เพราะเมื่อทรงลาสิกขาแล้วได้มีการประกอบพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ เท่ากับเป็นการประกาศอย่างชัดเจนว่า พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีอำนาจในการปกครองแผ่นดินสูงสุด

 

 

   ตลอดระยะเวลา ๔๐ กว่าปีแห่งการครองราชสมบัติ เป็นช่วงที่ประเทศสยามต้องเผชิญกับอิทธิพลของชาติมหาอำนาจที่เข้ามาล่าอาณานิคมในทวีปเอเชีย ประเทศต่าง ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ลังกา พม่าหรือเขมร ต่างตกเป็นเมืองขึ้นของชาติยุโรปทั้งสิ้น เหลือเพียงสยามประเทศเท่านั้นที่ยังคงรักษาเอกราชไว้ได้ รัชกาลที่ ๕ทรงเล็งเห็นภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนา และทรงถือเป็นหน้าที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนทุกคนในชาติที่จะร่วมแรงร่วมใจกันรักษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกให้จงได้

 

   แม้ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการสร้างคัมภีร์ใบลานหลวงฉบับทองทึบ จารจารึกพระไตรปิฎกบาลีด้วยอักษรขอม ตามธรรมเนียมปฏิบัติแห่งพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีแล้วก็ตาม แต่ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลทรงเห็นประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีการพิมพ์มาใช้ในการเผยแผ่พระศาสนาด้วย

 

ตัวอย่างคัมภีร์ใบลานหลวงสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จารจารึกพระไตรปิฎกด้วยอักษรขอม

 

รูปสัญลักษณ์ในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแบบต่าง ๆ ที่ปรากฏในคัมภีร์ใบลานฉบับหลวง

 

   ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงอาราธนาพระเถระและทรงเชิญพระบรมวงศานุวงศ์รวมทั้งข้าราชการทุกฝ่ายเข้ามาประชุมกัน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประกาศพระราชประสงค์ที่จะจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรสยามเผยแพร่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้ทันงานเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี (ร.ศ. ๑๑๒หรือ พ.ศ. ๒๔๓๖) โดยโปรดเกล้าฯ อาราธนาฝ่ายคณะสงฆ์อันประกอบด้วยพระสงฆ์ทั้งในเมืองและหัวเมืองรับผิดชอบการตรวจแก้เนื้อความภาษาบาลี และให้ฝ่ายคฤหัสถ์รับผิดชอบเรื่องการจัดพิมพ์ การประชุม และการจัดการอื่น ๆ ให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี ซึ่งหากการดำเนินงานและการจัดพิมพ์เป็นไปตามที่พระองค์ทรงวางไว้ หมายความว่า ในอีก ๗ ปีข้างหน้า สยามประเทศจะสามารถรอดพ้นเงื้อมมือต่างชาติ และยังคงรักษาเอกราชควบคู่ความไพศาลแห่งบวรพระพุทธศาสนาได้สำเร็จ

 

๑. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงผนวช
๒. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร แม่กองตรวจพระสุตตันตปิฎกกอง ๑
๓. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระราชอุปัธยาจารย์ประธานตรวจแบบฉบับพระไตรปิฎก
๔. พระอริยมุนี (พระพรหมมุนี เหมือน สุมิตฺโต) แม่กองตรวจพระสุตตันตปิฎกกอง ๑
๕. พระสาสนโสภณ (สมเด็จพระสังฆราชสา ปุสฺสเทโว) พระกรรมวาจาจารย์ รองอธิบดีจัดการทั้งปวง องค์ที่ ๒

 

   พระราชโองการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรสยามดังกล่าว แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีการบันทึกพระไตรปิฎกจากการจารจารึกลงในใบลานเป็นการพิมพ์ด้วยกระดาษเย็บเข้าเล่มเป็นหนังสือ ส่วนการเปลี่ยนแปลงอักษรที่บันทึกเนื้อความจากอักษรขอมซึ่งถือเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณกาลมาเป็นอักษรสยามนั้น ยังถือเป็นการแสดงอารยธรรมของชาติอีกด้วยในที่สุดพระไตรปิฎกชุดแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาโลก คือ พระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธรรมิกมหาราช ร.ศ. ๑๑๒ จำนวน ๑,๐๐๐ ชุด ชุดละ ๓๙ เล่ม1 ได้เสร็จสมบูรณ์ทันการเฉลิมฉลองพระราชพิธีรัชดาภิเษกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี หลังจากพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสวดมนต์ฉลองพระไตรปิฎกเสร็จสิ้นโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานพระไตรปิฎกและตู้บรรจุไปยังพระอารามหลวงและวัดราษฎร์ทั้งในกรุงและหัวเมือง บางวัดตัวแทนคณะสงฆ์ก็เดินทางมารับพระราชทานพระไตรปิฎกเอง ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม บางวัดพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนแห่หลวงอัญเชิญพระไตรปิฎกไปที่วัดซึ่งมีทั้งกระบวนแห่ทางบกและทางน้ำ โดยแต่ละวัดได้จัดกระบวนแห่เข้าสมทบประกอบด้วยคณะสงฆ์และสาธุชนจำนวนมาก เมื่อประดิษฐานพระไตรปิฎกภายในวัดเรียบร้อยแล้ว วันต่อมาจึงมีการฉลองสมโภชและการจัดพิธีกรรมทางศาสนา อาทิเช่น การเจริญพระพุทธมนต์ การแสดงพระธรรมเทศนา การจัดมหรสพ การสักการะ และการเวียนเทียนบูชาพระไตรปิฎก เป็นต้น

 

1ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ จึงมีการพิมพ์พระไตรปิฎกอีก ๖ เล่มที่ขาดไป จนครบ ๔๕ เล่ม

 

   สำหรับพระไตรปิฎกอีกส่วนโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานแก่สถาบันการศึกษากว่า ๒๖๐สถาบัน ใน ๓๐ ประเทศทั่วโลกทั้งทวีปยุโรป ออสเตรเลีย อเมริกาและเอเชีย พระไตรปิฎกทุกเล่มมตี ราแผน่ ดินประทับบนปกหน้า ภายในเล่มมพี ระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในวโรกาสเฉลิมฉลองครองราชย์ครบ ๒๕ ปี และหน้าแสดงการปริวรรตอักษรสยามเป็นอักษรโรมัน เป็นการประกาศให้โลกรู้ว่า ประเทศไทยเป็นดินแดนที่มีเอกราช โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขปกครองแผ่นดินมาเป็นเวลายาวนานและเป็นดินแดนที่อาณาประชาราษฎร์มีอารยธรรมและความรู้ด้านเทคโนโลยีควบคู่ไปกับศีลธรรมอันไพบูลย์แห่งบวรพระพุทธศาสนา สมดั่งพระราชดำรัสที่พระองค์ทรงให้ไว้ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐) ว่า

 

. “...เมื่อข้าพเจ้าไปถึงประเทศใด ซึ่งได้รับพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์นั้น รักษาไว้ในหอสมุดใหญ่ต่าง ๆ ย่อมมากล่าวสรรเสริญการซึ่งเราได้ทำ แลได้ตั้งสมุดไว้ในที่อันงดงามมั่นคงทั่วทุกแห่งมีนักปราชญ์ทั้งหลายได้อุตสาหะเรียนรู้พระพุทธวะจะนะมาก กิติศัพท์ความสรรเสริญธรรมของพระพุทธเจ้า ย่อมปรากฏฟุ้งไปในประเทศที่ไกลทั้งหลายมากขึ้นโดยลำดับ...”

 

พระไตรปิฎกชุดที่พระราชทานแก่สถานศึกษาต่างประเทศ
มี “ใบพระราชทาน” อยู่หลังปกหน้า

 

- ตราแผ่นดินมีคาถาบาลีว่า สัพเพสํ สํฆภูตานํ แปลว่า“สามัคคีของหมู่ชนทั้งปวงยังความเจริญให้สำเร็จ”

- คำอำนวยพรแปลว่า “ขอความดีงามจงมีแด่ท่าน”

- ปีที่พระราชทาน “พ.ศ ๒๔๓๗”

- ข้อความพระราชทานภาษาบาลีและภาษาไทย

- ชื่อสถาบันที่พระราชทานภาษาไทย

- ข้อความพระราชทาน ๓ ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน

- ชื่อสถาบันที่พระราชทานภาษาต่างประเทศ

 

    เป็นที่น่าสังเกตว่าปีที่พิมพ์พระไตรปิฎกแล้วเสร็จ คือ ร.ศ. ๑๑๒ นั้น ตรงกับวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ที่สยามประเทศเกิดกรณีพิพาทอย่างรุนแรงกับประเทศฝรั่งเศสและถูกบีบให้ต้องเซ็นสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรม จำต้องยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศสและต้องเสียแผ่นดินอีกหลายส่วนในเวลาต่อมา

 

เรือรบเลอ ลูแตง (Le Lutin) ของฝรั่งเศสจอดทอดสมออยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าสถานทูตฝรั่งเศส ช่วงเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒

 

   ความมั่นคงของสยามประเทศอยู่ในภาวะสั่นคลอนและเสี่ยงต่อการตกเป็นเมืองขึ้น การพระราชทานพระไตรปิฎกอันล้ำค่านี้ไปทั่วโลกจึงเป็นการประกาศความเข้มแข็งของชาวสยามให้โลกได้รู้ แม้ไม่ใช่การแสดงแสนยานุภาพทางการทหารหรืออำนาจด้านกำลังรบ แต่พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์เป็นการแสดงอำนาจทางอารยธรรมและภูมิปัญญาของคนในชาติ จนเป็นที่ประจักษ์ได้รับการยอมรับและการสนับสนุนจากนานาอารยประเทศ พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์จึงทรงคุณค่าแห่งการสืบทอดพระพุทธศาสนาและเป็นส่วนหนึ่งแห่งการรักษาอธิปไตยของชาติอย่างเต็มภาคภูมิ

 

   บารมีพระมากพ้น          รำพัน
พระพิทักษ์ยุติธรรม์          ถ่องแท้
บริสุทธิดุจดวงตะวัน         ส่องโลก ไซร้แฮ
ทวยราษฎร์รักบาทแม้      ยิ่งด้วยบิตุรงค์


ลิลิตนิทราชาคริต บทพระราชนิพนธ์
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

ภาพประกอบพระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธรรมิกมหาราช ร.ศ. ๑๑๒ จาก https://standrewsrarebooks.wordpress.com/2012/06/20/cataloguing-efforts-uncover-a-royal-gift-to-the-university-of-st-andrews-from-theking-of-siam-in-1896/

 

ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และวิรัตน์ อุนนาทรวรางกูร. คัมภีร์ใบลานฉบับหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ :
กรมศิลปากร, ๒๕๔๖.


คณะกรรมการจัดทำหนังสือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้ากรุงสยาม. (๒๕๓๔).
สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้ากรุงสยาม. กรุงเทพฯ : แสงศิลป์การพิมพ์.


พระไตรปิฎกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว / แม่ชีวิมุตติยา (สุภาพรรณ ณ บางช้าง). กรุงเทพฯ :
บริษัท คราฟแมนเพรส จำกัด, ๒๕๕๗.


สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. คู่มือบทโทรทัศน์ สารคดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ
พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ.

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๕๔ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๘

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล