DOU ความรู้สากล
เรื่อง : พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙
เข้าพรรษา
ช่วงเวลาของการเพิ่มพูนความดี
เทศกาลเข้าพรรษาเวียนมาอีกครั้งหนึ่ง ในปีนี้เป็นปีอธิกมาส คือ เป็นปีที่มีเดือน ๘ สองหน วันสำคัญในทางศาสนาของปีนี้จึงเลื่อนไป ๑ เดือน ตามข้อกำหนดของการนับวันของประเทศไทย ทำให้วันมาฆบูชาเลื่อนไปตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ และวันวิสาขบูชาตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ และวันเข้าพรรษาของปีนี้ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘-๘ เป็นเดือน ๘ หนที่สอง คือ วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเดือนในขณะที่ปกติแล้ววันเข้าพรรษาจะอยู่ในช่วงต้นหรือกลางเดือนกรกฎาคม
ในช่วงเข้าพรรษา เป็นช่วงที่พระภิกษุ-สามเณรอธิษฐานจำพรรษาเพื่ออยู่ประจำอาวาสตลอด ๓ เดือนเต็ม อันเป็นไปตามพุทธบัญญัติในครั้งพุทธกาล ซึ่งในครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้พระภิกษุอยู่จำพรรษา เพราะเหตุที่ภิกษุทั้งหลายจาริกไปแล้วเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวบ้าน และทำให้สัตว์ตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อยู่ตามพื้นดินตายลง ทำให้ประชาชนต่างพากันตำหนิติเตียนพระภิกษุ แม้ในกาลปัจจุบัน การจาริกไปตามทุ่งนาซึ่งทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนอาจจะไม่มีดังครั้งพุทธกาลแล้ว แต่การอธิษฐานอยู่จำพรรษา ก็นับเป็นโอกาสดีที่ทำให้พระภิกษุผู้เป็นเถระไม่ต้องรอนแรมไปค้างคืนเพื่อทำกิจธุระโดยไม่จำเป็น เป็นเหตุให้ได้อยู่ประจำอาวาสและมีเวลาในการอบรมสัง่ สอนพระภิกษุ-สามเณร และพระภิกษุผู้บวชใหม่ก็จะได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนธรรมะและฝึกฝนอบรมตนเองอย่างเต็มที่
ในช่วงเข้าพรรษา พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำจะใช้ช่วงเวลานี้เพื่อปรารภการทำสิ่งสำคัญ ๆ ดังเช่นในอดีตที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงที่มีคนไปที่วัดกันมาก พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำท่านให้มีการเทศน์ทุกวัน ซึ่งมีปกิณกะเล่ากันมาว่าเวลาท่านลงเทศน์ ถ้าวันไหนพระลงน้อย ท่านก็จะบอกว่า วันนี้พระแพ้ชี แล้วท่านก็ไม่เทศน์พระต้องรีบไปตามพระมาจนเต็มโบสถ์ และในวันเข้าพรรษา หลวงปู่ท่านก็ใช้ปรารภเหตุเป็นวันของการรวบรวมทีมผู้ได้ธรรมกายเพื่อทำวิชชา ซึ่งเริ่มต้นในวันเข้าพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๗๔
พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) ก็ได้ใช้ช่วงเวลาเข้าพรรษาเพื่อปลีกวิเวก ดังเช่นในปีที่ผ่าน ๆ มา และยังส่งเสริมการปฏิบัติธรรมแก่พระภิกษุ-สามเณรอุบาสก-อุบาสิกา และสาธุชน โดยให้นโยบายว่า เข้าพรรษาให้เป็นพรรษาแห่งการบรรลุธรรมพระเห็นพระ เณรเห็นพระ โยมเห็นพระ และให้กำลังใจว่า การเห็นพระภายในไม่ยากเพราะเรามีพระธรรมกายอยู่ภายในตัวแล้ว ถ้าตั้งใจทำความเพียร และทำให้ถูกหลักวิชชาต้องเข้าถึงอย่างแน่นอน และการเข้าถึงธรรมนี้ก็มีสิทธิ์เข้าถึงได้ทุกวัน ถ้าทำก็เข้าถึง ถ้าไม่ทำก็ไม่เข้าถึง ขึ้นอยู่กับทำหรือไม่ทำ ช่วงเวลา ๙๐ วันนี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้สร้างความปลื้มปีติภาคภูมิใจที่ได้ใช้วันเวลาที่ผ่านไปในแต่ละวันได้อย่างคุ้มค่า
พระภิกษุในพุทธกาลก็ใช้ช่วงเวลาเข้าพรรษาปรารภความเพียร ดังเช่น พระจักขุบาลผู้ได้คิดว่า เราได้เล่าเรียนกัมมัฏฐานจากพระพุทธเจ้าผู้ยังมีพระชนม์อยู่ ควรที่จะบรรลุธรรมสักอย่าง และอบายภูมิทั้ง ๔ ก็ได้เปิดประตูรอท่าสำหรับผู้ประมาท คิดดังนี้จึงถือเนสัชชิกังคะอยู่ด้วยอิริยาบถ ๓ ตลอดทั้งพรรษา ทำความเพียรจนกระทั่งบรรลุธรรม ในปัจจุบันนี้พระภิกษุ-สามเณรหลายรูปก็ได้ใช้ช่วงเวลาเข้าพรรษาปรารภในการทำความดี เช่น บางรูปตั้งจิตอธิษฐานว่าจะปฏิบัติธรรมทุกวัน วันละอย่างน้อย ๒ ชั่วโมงไม่ให้ขาด บางรูปตั้งใจจะทรงจำพระปาฏิโมกข์ให้ได้ บางรูปตั้งใจว่าพรรษานี้จะอ่านพระไตรปิฎกทุกวัน เป็นต้นทั้งหมดนี้ล้วนเป็นไปเพื่อการฝึกฝนอบรมตนเอง และเพิ่มคุณธรรมความดีในตัวให้มากขึ้น
แม้ญาติโยมหลายท่านก็ถือโอกาสช่วงเข้าพรรษาตั้งใจทำความดี เช่น บางท่านตั้งใจเข้าวัดทำบุญ ถวายภัตตาหารทุกวันไม่ให้ขาดตลอดพรรษา บางท่านตั้งใจถือศีล ๘ บางท่านตั้งใจสวดมนต์เช้าเย็นไม่ให้ขาดตลอดทั้งพรรษา นอกจากนี้บางท่านก็ใช้ช่วงเวลานี้ลดละเลิกสิ่งที่ไม่ดี ดังที่เป็นสโลแกนอยู่ทั่วไป เช่น งดเหล้าเข้าพรรษา
นับได้ว่าช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้เหล่าพุทธบริษัท ๔ เกิดความตื่นตัวที่จะบำเพ็ญความดีตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามหลักการของชาวพุทธในโอวาทปาฏิโมกข์ว่า ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส ดังนั้นจึงนับเป็นโอกาสดีที่เทศกาลเข้าพรรษาเวียนมาอีกครั้ง และขอเชิญทุกท่านใช้ช่วงเข้าพรรษาปรารภเหตุละสิ่งที่ไม่ดี ตอกย้ำการทำ ความดี เพื่อเพิ่มพูนคุณธรรมในตัวให้มากขึ้นกว่าทุก ๆ ปีที่ผ่านมา
ข้อมูลอ้างอิง จากหนังสือ GL 305 ปฏิปทามหาปูชนียาจารย์
กิจกรรมประจำภาคฤดูร้อน/๒๕๕๘
รับข้อสอบปลายภาค ระบบ ก ๙-๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๘
สอบปลายภาค ระบบ ข ๑๕-๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๘
ส่งข้อสอบและแบบฝึกหัด ๑๖-๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๘