บทความน่าอ่าน
เรื่อง : Tipitaka (DTP)
ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
พระมหาธีรราชเจ้าของชาวสยาม
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นชาวไทยคนแรกที่ปฏิญาณตน เป็นพุทธมามกะ เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ทรงผนวช ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระอุปัชฌาย์ เสด็จประทับจําพรรษาศึกษาพระธรรมวินัย ณ วัดบวรนิเวศวิหารเป็นเวลา ๑ พรรษา และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ เสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรี
ด้วยประสบการณ์ที่ทรงศึกษาอยู่ในทวีปยุโรปนานถึง ๙ ปี ทรงมีมโนปณิธานมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ในขณะเดียวกันยังคงรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชาติและพระพุทธศาสนา พระราชกรณียกิจสำคัญ หลายประการที่พระองค์ทรงริเริ่มไว้ยังเป็นคุณูปการต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ดังเช่น การประกาศใช้ “พุทธศักราช” เป็นศักราชทางราชการแทนการใช้รัตนโกสินทร์ศก เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖ ด้วย ทรงเห็นว่า คริสต์ศาสนิกชนใช้คริสต์ศักราช (ค.ศ.)ในประเทศตะวันตก ดังนั้นพุทธศาสนิกชน ในแผ่นดินสยามจึงควรใช้ศักราชที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา เพื่อแสดงถึงความผูกพันระหว่างพระพุทธศาสนาและชาวสยามที่มีมาอย่างช้านาน และเป็นการประกาศให้ทั่วโลกทราบด้วยว่า ประเทศสยามเป็นเมืองพุทธที่มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพุทธมามกะเป็นประมุข ดังพระราชดำริว่า
“...ศักราชรัตนโกสินทร์ที่ใช้อยู่ในราชการเดี๋ยวนี้ มีข้อบกพร่องสำคัญอยู่ คือเปนศักราชที่สั้นนัก จะกล่าวถึงเหตุการณ์ใด ๆ ในอดีตภาคก็ขัดข้อง ด้วยว่าพอกล่าวถึง เรื่องราวที่ก่อนสร้างกรุงขึ้นไปแล้ว ก็ต้องหันไปใช้จุลศักราชบ้าง มหาศักราชบ้างและข้างในวัดใช้พุทธศักราช ฝ่ายคนไทยสมัยที่อยากจะกล่าวถึงเหตุการณ์อันมีมาก่อน สร้างกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ก็มักหันไปใช้คฤสตศักราช ซึ่ง ดูเปนการเสียรัศมีอยู่ จึงเห็นว่าควรใช้พุทธศักราช จะเหมาะดีด้วยประการทั้งปวง เปนศักราชที่คนไทยเราซึมทราบดีอยู่แล้ว ทั้งในประกาศใช้พุทธศักราชอยู่แล้ว และอีกประการ ๑ ในเวลานี้ก็มีแต่เมืองเดียวที่มี พระเจ้าแผ่นดินถือพระพุทธศาสนา...”
ที่มา..หอจดหมายเหตุ
รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) + ๒๓๒๔ = พุทธศักราช (พ.ศ.)
อาทิ ร.ศ. ๑๔๔ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๖๘
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ พระไตรปิฎกบาลีด้วยอักษรไทยพระราชทานทั้งในและต่างประเทศ มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า องค์สกลมหาสังฆปริณายกในเวลานั้น ให้ทรงเป็นแม่กองชำระคัมภีร์อรรถกถา แล้วทรงบริจาคพระราชทรัพย์ให้จัดพิมพ์อรรถกถาพระไตรปิฎกเป็นเล่มสมุดพระราชทานในราชอาณาจักร ๒๐๐ จบ และพระราชทานในนานาประเทศ ๔๐๐ จบ
ทั้งทรงสนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุ-สามเณร โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมขึ้นอีกหลักสูตรหนึ่ง เรียกว่า “นักธรรม” และให้เปลี่ยนการสอบบาลีสนามหลวงจากการสอบปากเปล่ามาเป็นการสอบด้วยวิธีเขียน และให้การเลิกสอบเปรียญตรี โท เอก มาเป็นสอบบาลีตั้งแต่ประโยค ๑-๙ ซึ่งเป็นระบบที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
ส่วนด้านการศึกษาของกุลบุตร พระองค์ทรงเปลี่ยนคตินิยมการสร้างวัดประจำรัชกาลตามราชประเพณีเดิมมาเป็นการสร้างโรงเรียนแทน เพราะทรงเล็งเห็นว่าวัดต่าง ๆ ซึ่ง สร้างในรัชกาลก่อนมีจำนวนมากเกินกำลัง จะทำนุบำรุงดูแลให้ทั่วถึง ประกอบกับการศึกษาและสถานศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ จึงมิได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเพิ่มเติม แต่เปลี่ยนมาสร้างโรงเรียนแทน โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยจึงเปรียบเสมือนวัดประจำรัชกาลของพระองค์ อาคารหลายหลังภายในโรงเรียนจึงมีรูปทรงคล้ายโบสถ์และศาลาวัด ถึงแม้ตลอดช่วง ๑๕ ปี แห่งรัชสมัย ทรงมิได้สร้างวัดขึ้นเพิ่มเติม แต่ทุกปีพระองค์ทรงอุทิศพระราชทรัพย์พระราชทาน เรียกว่า “เงินพระราชอุทิศ” เพื่อใช้ในการบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามที่ชำรุดทรุดโทรม อาทิเช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และวัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม เป็นต้น
ภาพการบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้มีการซ่อมแซมเพิ่มเติม อาทิ ซ่อมบุษบกที่ประดิษฐานพระพุทธมหารัตนปฏิมากร และซ่อมภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ เป็นต้น
ในส่วนพระองค์เองทรงเปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถด้านการประพันธ์ ทรงปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมแก่พสกนิกรผ่านบทพระราชนิพนธ์จำนวนมาก มีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น เทศนาเสือป่า พระราชนิพนธ์ที่รวบรวมพระบรมราโชวาทที่ทรงให้แก่คณะเสือป่า ณ พระราชวังสนามจันทร์ ในวันประชุมไหว้พระเป็นพระราชนิพนธ์ที่สะท้อนถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาอย่างเด่นชัด เนื้อหาในเรื่องทรงมุ่งเน้นถึงความจำเป็นของคนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ให้ทุกคนหวงแหนและช่วยกันปกป้องเมื่อคราวศาสนามีภัย ดังความบางตอนที่กล่าวไว้ว่า
“...พระพุทธศาสนาเปนศาสนาสำหรับชาติเรา เราจำเปนต้องถือด้วยความกตัญญู ต่อบิดามารดา และโคตรวงศ์ของเรา จำเปนต้องถือไม่มีปัญหาอะไร เมื่อข้าพเจ้ารู้ได้แน่นอน จึงได้กล้าลุกขึ้นยืนแสดงเทศนาทางพระพุทธศาสนาแก่ท่านทั้งหลาย เป็นความจำเปนที่เราทั้งหลายผู้เปนไทยจะต้องมั่นอยู่ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเปนศาสนาสำหรับชาติเรา ถ้ามีอันตรายอย่างใดมาถึงพระพุทธศาสนา เราทั้งหลายจะเปนผู้ที่ได้รับความอับอายด้วยกันเปนอันมาก เหตุฉะนี้ เปนหน้าที่ของเราที่จะต้องตั้งใจ ที่จะรักษาความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย อย่าให้มีอันตรายมาถึงได้...”
คุณูปการที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ แสดงถึงความเทิดทูนพระพุทธศาสนา คือ ทรงคิดค้นธงไตรรงค์เป็นธงประจำชาติ และ ทรงให้ความหมายไว้ชัดว่า สีขาว หมายถึง พระรัตนตรัย ธงไตรรงค์นี้ปรากฏสู่สายตา ชาวโลกเป็นครั้งแรก เมื่อทหารอาสาของ ไทยเข้าร่วมการสวนสนามฉลองชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ณ ประเทศฝรั่งเศส แต่ธงที่เชิญไปในครั้งนั้นมีลักษณะพิเศษที่ต่างจากธงไตรรงค์ปัจจุบัน คือ ด้านหน้าเป็นรูปทรง ช้างเผือก ด้านหลังเป็นตราพระปรมาภิไธยย่อ แถบบนและแถบล่างมีพุทธชัยมงคลคาถา บทแรก ในท่อนสุดท้ายโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนข้อความจาก “ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ” (ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน) เป็น “ตนฺเตชสา ภวตุ เม ชยสิทฺธินิจฺจํ” (ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยชนะจงมีแก่ข้าพเจ้าเสมอ) เพื่อเป็นการแสดงชัยชนะของสยามประเทศ เมื่อเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑
พระปรีชาสามารถในด้านต่าง ๆ ของพระองค์ประกอบกับพระราชกรณียกิจอันเป็น คุณประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศนานัปการ พระองค์จึงทรงได้รับการยกย่องเทิดพระเกียรติและถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” ซึ่งหมายถึง มหาราชผู้เป็นจอมปราชญ์