วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ หลักการปูพื้นฐานธรรมะให้ลูกหลาน เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา หลวงพ่อทัตตชีโว

หลักการปูพื้นฐาน ธรรมะให้ลูกหลาน เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ 
(หลวงพ่อทัตตชีโว)
วันอาทิตย์ที่ ๑๒ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๖

ในเรื่องการสอนธรรมะให้กับญาติโยม ถ้าเป็นพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย ท่านจะสอนธรรมะและนำนั่งสมาธิในส่วนที่ละเอียดและลุ่มลึกไปตามลำดับ ส่วนธรรมะขั้นพื้นฐานเบื้องต้นท่านไม่ค่อยมีเวลาสอนพวกเรา แต่จะมอบหมาย มาให้หลวงพ่อสอนแทน
      หลวงพ่อเคยพูดมาแล้วว่า เวลาพวกเราสอนสิ่งต่าง ๆ ให้ลูกหลาน จะสอนแบบไม่ได้ให้หลักการหรือทัศนคติเท่าที่ควรจะเป็น แต่จะสอนแบบให้รายละเอียด เพราะฉะนั้น เมื่อพ่อแม่ ปู่ย่า ตาทวดตายไป ลูกหลานจึงไม่มีแนวทางหรือหลักการที่จะขยายความต่อ วันนี้ หลวงพ่อจึงมีเรื่อง "หลักขั้นต้นในการปูพื้นฐานธรรมะ" มาฝากพวกเรา

มงคลชีวิต พื้นฐานภาคทฤษฎีในพระพุทธศาสนา

ก่อนอื่นหลวงพ่อขอถามพวกเราสักหน่อยว่า ใครฟังเทปธรรมะมงคลชีวิต ๓๘ ประการจบแล้วบ้าง ช่วยยกมือหน่อยให้หลวงพ่อดูหน่อย(สาธุ) ส่วนใครที่ยังไม่เคยฟังขอให้ไปฟังด้วย ที่ต้องให้ฟัง เพราะมงคลชีวิตเป็นความรู้ขั้นพื้นฐานภาคทฤษฎีในพระพุทธศาสนา ศัพท์ธรรมะที่อยู่ในนั้น ถ้าไม่ทำความเข้าใจให้ดี เมื่อถึงคราวที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยท่านสอนธรรมะ หรือนำนั่งสมาธิ จะมีหลายๆ อย่างที่เราเหมือนจะรู้แต่ไม่รู้หรอก เหมือนเข้าใจแต่ไม่เข้าใจหรอก หรือบางทีคิดว่า เข้าใจแล้ว แต่ก็เข้าใจแบบผิวเผิน 
      สมมุติว่า เราไปสอนลูกหลานว่า "ไอ้หนูเอ๊ย ตั้งใจทำความดีนะ อย่าทำความชั่ว" แต่ถ้าลูกหลานกลับย้อนถามว่า "ความดีเป็นอย่างไร ช่วยให้คำจำกัดความมาด้วย" หรือถามว่า"บารมีคืออะไร ทานคืออะไร ธรรมะคืออะไร" เราจะตอบเขาได้ไหม ? 
      คำตอบเหล่านี้มีมากพอในมงคลชีวิต ๓๘ ประการ พอที่จะเป็นพื้นฐานให้เราได้ทำความเข้าใจ โดยเฉพาะท่านที่ชักชวนคนใหม่มาวัด ถ้านำเรื่องราวในมงคลชีวิตมาเล่า เป็นการปูพื้นฐานธรรมะให้กับเขา ยิ่งปูพื้นฐานได้แน่นเร็วเท่าไร การมาวัดของเขาจะได้ประโยชน์เร็วมากขึ้นเท่านั้น เมื่อถึงเวลาที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยท่านเทศน์ จะได้เข้าใจได้ลึกซึ้ง เพราะว่าได้ตีกรอบไว้แล้ว

พื้นฐานหลักการตัดสินดี ชั่ว

 

 พื้นฐานที่จะต้องปูขั้นต่อไป คือหลักการตัดสินดี-ชั่ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักการไว้ตามลำดับสติปัญญาของผู้ฟัง เพราะว่าวัยต่างกันการเรียนรู้ก็แตกต่างกัน จะให้เด็กรู้และเข้าใจเหมือนกับผู้ใหญ่คงเป็นไปไม่ได้ แล้วจะให้รายละเอียดตายตัวนักก็คงไม่ได้ พระองค์จึงให้หลักการตัดสินดี-ชั่ว ไว้ดังนี้ 
      ๑. ตัดสินดี-ชั่วจากผลกระทบที่ทั้งสองฝ่ายได้รับ 
      วิธีการนี้ สำหรับใช้สอนเด็กอายุ ๗-๑๐ ปี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนสามเณรราหุลว่า "ทำสิ่งใดร้อนเขา ร้อนเรา อย่าทำ ไม่ดี" คือ ทำแล้วเขาไม่สบายกายไม่สบายใจ แล้วเราก็ไม่สบายกายไม่สบายใจ สิ่งนี้อย่าทำ เป็นความชั่ว
      "ทำสิ่งใดร้อนเขา แต่เย็นเรา อย่าทำ" คือ ทำแล้วเราเย็นกายเย็นใจ สนุกแน่ แต่คนที่เราไปทำกับเขา กลับเดือดร้อนไม่สนุกด้วยกับเรา อย่าทำ
      "ทำสิ่งใดเย็นเขา แต่ร้อนเรา อย่าทำ" คือ ทำแล้วเขาเย็นกายเย็นใจ แต่คนที่เดือดร้อนเป็นเรา ก็อย่าทำ เพราะจัดว่าเป็นความชั่วอีกอย่างหนึ่ง
      "ทำสิ่งใดเย็นเขา และเย็นเราทำเถิด ดี" คือ ทำแล้วทั้งเขาและเราเย็นกายเย็นใจทั้งคู่ ถ้าอย่างนี้จึงทำ เพราะเป็นความดี
      ๒. ตัดสินโดยมองไปไกล ๆ แล้วดูผลว่าเป็นอย่างไร
      วิธีการนี้เป็นการสอนผู้ใหญ่ พระพุทธองค์ทรงสอนให้มองไปไกลๆ ว่าทำสิ่งใดแล้วต้องร้อนใจในภายหลัง อย่าทำ เป็นความชั่ว แต่ถ้าทำสิ่งใดแล้ว ไม่ต้องร้อนใจในภายหลัง ทำเถิด สิ่งนั้นเป็นความดี
      ยกตัวอย่าง การดื่มเหล้าเป็นสิ่งดีหรือไม่ ให้มองไปไกลๆ แล้วดูผลกระทบว่า เริ่มต้นอาจจะสนุกแต่ปลายทางเสียสุขภาพ เสียสตางค์ เสียมารยาท แล้วยังตกนรกอีก เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ชั่ว อย่าทำ 
      ๓. ตัดสินโดยกุศลกรรมบท
      กรณีนี้เป็นการตัดสินแบบตีกรอบให้ชัด เหมาะสำหรับผู้ที่เข้าวัดเป็นประจำ มีความรู้ธรรมะเป็นพื้นฐานพอสมควร พระพุทธองค์ทรงชี้ลงไปเลยว่า ให้ตัดสินด้วยกุศลกรรมบท ๑๐ ประการ โดยแบ่งเป็นทางกาย วาจา และใจ คือ
      กรอบทางกาย ได้แก่ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม
      กรอบทางวาจา ได้แก่ ไม่พูดปด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ
      กรอบทางใจ ได้แก่ ไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่ผูกพยาบาท ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ

      การที่ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือ มีสัมมาทิฏฐินั่นเอง คือ ความเข้าใจถูกว่า สิ่งใดดี สิ่งใดชั่วในระดับลึกอย่างน้อยตัดสินได้ ๑๐ เรื่อง คือ ทานมีผล การบูชายัญมีผล การเซ่นสรวงมีผล กรรมดีกรรมชั่วที่ทำไว้มีผล โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ที่เกิดแบบโอปปาติกะมี และพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามี 
      ทั้ง ๑๐ ประการนี้ ถ้าใครเข้าใจถูกตามนั้น ถือว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ใครพิจารณาเรื่องนี้ไม่ออกถือว่าง่อนแง่น แต่ถ้าใครเห็นเป็นตรงกันข้ามถือว่าผิด จัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงขีดเส้นตายไว้ระหว่างความดีความชั่วชัดเจน 
      สำหรับผู้ที่เข้าวัด หลวงพ่ออยากจะให้เราสังเกตให้ดีว่า พระพุทธองค์ทรงสอนโดยให้หลักการ ไม่ทรงสอนแบบให้รายละเอียดถี่ยิบ ว่าสิ่งนั้นชั่ว สิ่งนั้นดี เพราะว่าเทคโนโลยีในโลกนี้เปลี่ยนแปลง ไปเรื่อยๆ แต่กิเลสของคนไม่เปลี่ยน ยังคงมีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่เหมือนเดิม เมื่อล้านปีกิเลสนี้มีอยู่ในใจของมนุษย์อย่างไร บัดนี้ก็ยังคงอยู่อย่างนั้นและอีกกี่ล้านปีข้างหน้าก็ยังคงหนีไม่พ้นกิเลส ๓ ตัวนี้ 
      ยกตัวอย่าง เมื่อก่อนนี้มนุษย์ถ้าเกิดความโลภ จะแอบย่องไปขโมยของของเขา แต่ยุคนี้ถ้าเกิดความโลภ เขาก็จะไปล้วงข้อมูลความลับจากคอมพิวเตอร์แทน ถึงแม้เทคโนโลยีเปลี่ยนไปแต่ว่ากิเลสยังคงตัวเดิม เพราะฉะนั้นต้องแก้ไขโดยให้หลักการว่า ถ้าขี้ขโมยต้องสอนให้เขาทำทาน เป็นต้น อย่างนี้จึงเรียกว่า สอนโดยหลักการ วันนี้ 
      ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมองทุกอย่างด้วยหลักการ ซึ่งเป็นทัศนคติที่ชัดเจนจนเป็นหลักการ เราทำแล้วไม่พลาด ลูกหลานเราก็ไม่พลาด บุญทุกอย่างที่เราทำจะได้ไม่เป็นแค่บุญธรรมดา เพราะได้ก้าวไปเป็นขั้นบารมีเสียแล้ว ใครอยากจะให้ตัวเองและลูกหลานฟังเทศน์พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยแล้วตามทัน ก็ต้องปลูกพื้นฐานธรรมะมาเป็นลำดับขั้นอย่างนี้

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๐ ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล