วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ๓ แนวคิด สำหรับคนเข้าวัดและไม่เข้าวัด

สัมภาษณ์พิเศษ : ๓ แนวคิด บนข้ออ้างในการไม่เข้าวัดถึง ๑๖ ปีเต็ม จากบุคคลท่านนี้ อาจเป็นแรงบันดาลใจ ให้ท่านผู้อ่านฉุกคิด เพื่อแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับชีวิตตัวเอง หรือทำให้ท่านเปิดใจเพื่อเข้าใจคนรอบข้างมากขึ้น

     หากไม่มีใครใฝ่ฝันว่า อยากเป็นคนเลวที่สุด แล้วล่ะก็.. เราเชื่อว่า ความคิดเห็นที่เกิดจากการพูดคุยกับผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียง มีประสบการณ์ในแวดวงการเงินการธนาคาร ท่านนี้ จะเกิดประโยชน์กับท่านผู้อ่านอย่างมาก เพราะข้อคิดที่ได้จากประสบการณ์ชีวิตจริง และการค้นพบตัวเองของท่าน "อาจารย์สำเริง วิระชะนัง"


      อาจารย์เริ่มต้นชีวิตในวัยเด็กด้วยความยากลำบาก ทั้งอาหารการกินและทุนสำหรับศึกษาเล่าเรียนจึงต้องดิ้นรน และต่อสู้ด้วยตนเองมาตลอด แต่ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน กระทั่งได้เป็นผู้บริหารระดับสูง 


ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนาคาร และสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายแห่ง และยังเป็นที่ยอมรับในด้านสังคม เป็นนายกสโมสรโรตารี่ปทุมวัน (ปี พ.ศ.๒๕๓๔-๓๕) เป็นเลขานุการภาค ๓๓๕๐ โรตารี่สากล (ปี พ.ศ.๒๕๔๓-๔๔) และรับตำแหน่งอื่นๆ หลายตำแหน่งในเวลาเดียวกัน อย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่การเป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย อีกด้วย


      "นิสัยส่วนตัวจริงๆ แล้ว ผมเป็นคนไม่เชื่ออะไรง่ายๆ คือต้องพิสูจน์ก่อน ถ้าเป็นจริงถึงจะเชื่อ และผมก็เป็นคนหนึ่งที่ปฏิเสธการเข้าวัดพระธรรมกายมาตลอด ๑๖ ปีเต็ม ทั้งๆ ที่เพื่อนผม คุณพลกฤษณ์ กิจประชากร ก็ชวนผมเข้าวัดมาตลอด แต่ยินดีร่วมบุญ ซึ่งตอนนั้นเหตุผลของผมคือ ผมงานเยอะ และยังไม่พร้อม"


      ความไม่พร้อมที่จะเข้าวัดของอาจารย์ เกิดจากภาระหน้าที่การงาน ตลอดจนงานสังคมรอบด้านที่เขาให้ความสำคัญ แม้วันหยุดพักผ่อนบางครั้ง ก็ยังต้องขึ้นเครื่องเดินทางไปทำงานต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ เนื่องด้วยภาระความรับผิดชอบที่สูง ประกอบกับการที่ท่านเป็นนักบริหาร ที่มากด้วยความสามารถทำงานโดยมีเป้าหมาย จึงทำให้มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด เป็นคนไทยคนเดียว ที่ดำรงตำแหน่งสูงสุดของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ ซึ่งตำแหน่งนี้โดยทั่วไปจะเป็นชาวต่างชาติ รวมทั้งได้รับรางวัลยอดเยี่ยมของธนาคาร ซึ่งมีจำนวนพนักงานทั่วโลกถึง ๓๒,๐๐๐ คน


      "เนื่องจากงานบริหารเป็นงานที่ต้องอาศัยความรับผิดชอบที่สูงจนบางครั้งเครียด ซึ่งตอนนั้นผมคลายเครียดด้วย การดื่มเหล้าเสียเป็นส่วนใหญ่ ผมดื่มจัดมาก บางทีดื่มทุกวัน ทั้งกับเพื่อนคนไทย และชาวต่างชาติ"


      แต่การเข้าสังคมประกอบกับการดื่มสุราเพื่อคลายเครียดของอาจารย์ กลับมีผลข้างเคียงอย่างใหญ่หลวง จนกระทั่งวันหนึ่ง... เกิดน๊อคคาที่ประชุม เพราะผลจากสุรา จนกระทั่งถูกหามส่งโรงพยาบาลเข้าห้อง ICU คนในครอบครัวต่างร้องไห้เพราะนึกว่า คงจะไม่รอดแล้ว


      "ตอนนั้นผมอยู่ในภาวะเฉียดตาย ในช่วงวิกฤตนั้นเองในใจผมคิดขึ้นมาว่า ผมยังไม่ยอมตาย แล้วก็ยังตายไม่ได้ด้วย เพราะผมต้องการแสวงหาความจริงบางอย่างของชีวิตให้เจอว่า แท้จริงคนเราเกิดมาเพื่ออะไร มีเป้าหมายอะไร แม้ผมจะมีพร้อมทุกอย่าง ทั้งบ้าน รถ หน้าที่การงาน เกียรติยศชื่อเสียง เงินเดือนหลักแสนบาท มีครอบครัวภรรยาและลูกๆ และประพฤติดีทุกคน ผมก็ว่ามันยังไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตมนุษย์ เมื่อคิดได้อย่างนี้ผมก็สามารถตั้งสติได้อย่างมั่นคง สามารถเขียนบอกหมอให้เอาออกซิเจนช่วยชีวิตผมได้ พร้อมกันนั้นก็อธิษฐานจิตขอเลิกเหล้า ถ้ารอดชีวิตได้"


      จากเหตุการณ์ในครั้งนี้เองทำให้อาจารย์ตัดสินใจหักดิบ เลิกสุราอย่างเด็ดขาด ทันที ทั้งที่ดื่มมากว่า ๓๐ ปี แม้เพื่อนสนิทชวนให้กลับไปดื่มอีกก็ไม่ดื่ม แต่กลับแนะนำให้เพื่อนเลิก โดยพูดถึงข้อเสียของการดื่มสุราและให้ข้อคิดกับเพื่อนอีกว่า ในเมื่อดื่มมาทั้งชีวิตแล้ว ไม่เห็นมันจะช่วยให้อะไรดีขึ้น ก็ขอให้เลิกดื่มเถอะอาจจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นก็ได้

      "..ผมตัดสินใจเข้าวัดพระธรรมกาย เมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยที่ผมไปบอกพี่พลกฤษณ์ว่า พี่ผม..พร้อมแล้วนะ ผมจะเข้าวัด ต่อมาก็ได้มีโอกาสขึ้นไปปฏิบัติธรรมที่พนาวัฒน์ จ.เชียงใหม่ ผมได้อะไรกลับมาเยอะมาก จากการฝึกสมาธิ ได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง ได้คิด ได้พิสูจน์ เป็นการคลายเครียดที่ถูกวิธีที่ตรงจุดที่สุด ฝึกแล้วมีความสุข ซึ่งทุกวันนี้ ในภาวะการทำงาน ก็ได้นำสมาธิมาใช้ พบว่า ตัวเองใจเย็นขึ้นทุกอย่างดีขึ้นหมด แม้กระทั่งคำตอบของปัญหาซึ่งมักจะได้มาในระหว่างการนั่งสมาธิ..."


       และเพื่อหาเวลาทำในสิ่งที่เป็นเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตมนุษย์ คือ เกิดมาเพื่อสร้างบารมีและทำพระนิพพานให้แจ้ง อาจารย์จึงตัดสินใจลาออกจากงาน มาตั้งบริษัทที่ปรึกษา ของตัวเอง เพื่อจะได้มีเวลามากขึ้น ท่านอาจารย์ให้แนวคิดในการเข้าวัด ๓ ประการ กล่าวคือ


แนวคิดที่ ๑ คุณค่าที่แท้จริงของชีวิตมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่งานอย่างเดียว
      ผมเป็นคนหนึ่งที่มุมานะและขยันในเรื่องงานมาก โดยเริ่มต้นจากไม่มีอะไร จนกระทั่งประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับมาก แต่ด้วย ภาระความรับผิดชอบที่สูงทำให้ผมไม่มีเวลา จนกระทั่งวันหนึ่งผมได้คิดว่า ทำไมผมต้องเอาทั้งหมดของชีวิตมาแลกกับงาน แลกกับเงินไม่กี่แสนบาท แล้วทำให้ผมไม่มีเวลาแสวงหาความเป็นจริงและความสุขที่แท้จริงของชีวิต ซึ่งถ้าทำแต่งานแล้วมีเพียงเงินเยอะๆ จะทำไปเพื่ออะไร มีเงินเยอะมีทุกอย่างพร้อมก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความสุข เพราะการทำมาหากิน การเลี้ยงชีพเป็นเพียงเป้าหมายเพื่อเลี้ยงชีวิต แต่ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของชีวิตในการเกิดมาเป็นมนุษย์


แนวคิดที่ ๒ การจะตัดสินใจเชื่อหรือไม่เชื่อสิ่งใด ต้องพิสูจน์ และอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง
      ด้วยการที่ผมเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับมากในวงสังคมทำให้ตัวผมถูกถามเสมอว่า ทำไมผมเข้าวัดพระธรรมกาย ซึ่งผมก็ขอยกคำตอบที่ให้ข้อคิดกับลูกศิษย์ในห้องเรียนไปว่า "อาจารย์ไม่เคยสอนให้คุณหลับหูหลับตาเชื่อสื่อ อย่างวิชาการเงินที่อาจารย์สอนก็ไม่เคยสอนให้เชื่อสื่อ ถ้าคุณเล่นหุ้นตามสื่อตามกระแส ผลงานเป็นอย่างไร หลายคนเจ๊งกันมามากแล้ว ที่ผมสอนคุณทั้งเทอมมานี่ ผมสอนให้คุณวิเคราะห์ ให้เป็น ตรวจสอบข้อมูลทุกด้าน และเล่นตามพื้นฐานของความเป็นจริงแล้วให้เชื่อตัวเอง ถ้าคุณเล่นหุ้นตามกระแส เท่ากับคุณตกเป็นเหยื่อของสื่อและกระแสข่าว ดังนั้น สิ่งที่ผมสอนมาทั้งเทอมนี้ก็คงไม่มีประโยชน์ วัดก็เหมือนกัน ถ้าคุณยังไม่เคยลองไปสัมผัส ไม่ลองปฏิบัติธรรม เอาธรรมะมาลองใช้กับตัวเอง แล้วคุณไปหลงเชื่อตามสื่อ ก็เท่ากับว่าคุณได้ตัดโอกาสในชีวิตของคุณไป ซึ่งบางทีสิ่งที่ไม่รู้ ไม่ได้สัมผัส ถ้าคุณลองเข้าไปสัมผัสสิ่งนี้ อาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตคุณเลยก็ได้"


แนวคิดที่ ๓ จะทำให้ศรัทธามั่นคงต้องสร้างพันธสัญญา
      ถ้าเราเกิดศรัทธามีความตั้งใจในการทำความดีอะไรขึ้นมาแล้วละก็ ต้องพาตัวเองเข้ามาในบรรยากาศแห่งการทำความดีนั้นบ่อยๆ เพื่อให้เรามีกำลังใจที่จะรักษาความดีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการสร้างพันธสัญญาให้กับตัวเองเข้ามาร่วมกิจกรรมการทำความดี เป็นผู้นำและส่งเสริมการทำความดีจากกิจกรรมต่างๆ ของหมู่คณะอย่างสม่ำเสมอ แล้วคุณจะพบว่า นอกจากเราจะรักษาความดีของตัวเราเองไว้ได้แล้ว เรายังจะได้พัฒนาความดีของตัวเราเองให้มากยิ่งๆ ขึ้นไปอีกด้วย 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๐ ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล