วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวิธีบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตรอย่างไร?

หลวงพ่อตอบปัญหา
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

 

วารสาร , อยู่ในบุญธันวาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย ,  หลวงพ่อตอบปัญหา , พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว) , สังคมเปลี่ยนไป แนวทางการใช้ชีวิตเปลี่ยนตามพระพุทธศาสนามีคำแนะนำอย่างไร

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวิธีบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตรอย่างไร?

  ในโลกนี้มีคนที่นับถือศาสนาแตกต่างกันมากมาย สำหรับคนที่ไม่ได้ นับถือพระพุทธศาสนา แต่พื้นฐานเดิมเป็นคนที่มีเหตุผลและรักการแสวงหาความรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวิธีบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตรแก่คนกลุ่มนี้อย่างไร?

  Answer คำตอบ

  การให้คำแนะนำผู้ที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาหรือเพิ่งเริ่มนับถือพระพุทธศาสนา เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น ในเบื้องต้นพระองค์ทรงสอนในลักษณะที่เรียกว่า หัดป้องกันภัยที่จะเกิดแก่ตนเองให้ได้ก่อน หรือจะกล่าวอีกทีก็ได้ว่าสอนให้ลูกศิษย์รู้รักษาตัวรอด (safety first) จากอันตรายใน
วัฏสงสารก่อน

  จากตรงนี้เราก็ได้เรียนรู้ว่า เมื่อจะศึกษาความร้เรื่องโลกและชีวิตใหเข้าใจถูก ใหคิดเป็นคิดถูก สิ่งที่ควรรู้จักคิดเบื้องต้น คือรู้จักรักษาตัวให้รอด เอาตัวรอดให้ได้ก่อน หมายถึงรู้จักป้องกันภัยในวัฏสงสารที่จะเกิดแก่ตัวเองให้ได้ก่อน

  หลักธรรมนี้มีชื่อเรียกว่า อปัณณกธรรม แปลว่า ธรรมะหรือข้อปฏิบัติที่ไม่ผิดหรือข้อปฏิบัติเพื่อป้องกันความผิดพลาด ธรรมะหมวดนี้มี ๓ ประการ ประกอบด้วย 

     อินทรียสังวร
     โภชเน มัตตัญญุตา
     ชาคริยานุโยค

 

 

 

 ประการที่ ๑ อินทรียสังวร

       คำว่า  อินทรียสังวร หมายถึงให้สำรวมระวังความเป็นใหญ่ในอวัยวะซึ่งเป็นประสาทสัมผัสต่างๆให้ดี
       มนุษย์เรานั้นประกอบด้วย ๒ ส่วนใจ ส่วนสของใจควบคุมส่วนของกาย แล้วในการสั่งการควบคุมกายหรือ 
การที่กายจะส่งสื่อต่างๆไปสู่ใจก็ดี จะต้องอาศัยการสื่อสารผ่านประสาทสัมผัสต่าง ๆ
   ประสาทสัมผัสต่าง ๆ นั้น ภาษาพระเรียกว่า อินทรีย์ แปลว่าความเป็นใหญ่ อินทรีย์หรือประสาทสัมผัสทั้งหมดในร่างกายของเรานี้มี ๖ ประการ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ โดยมีตาเป็นใหญ่ในการดูรูป หูเป็นใหญ่
ในการฟังเสียง จมูกเป็นใหญ่ในการดมกลิ่นลิ้นเป็นใหญ่ในการลิ้มรส กายเป็นใหญ่ในการสัมผัส และใจเป็นใหญ่ในด้านของการคิดหรือเรียกว่าธรรมารมณ์ ดังนั้นจึงเรียกประสาทสัมผัสต่าง ๆ ว่าความเป็นใหญ่
       อินทรีย์ทั้ง ๖ นี้ต้องระวังให้ดี ถ้าไม่ระวังให้ดีแล้วจะลุ่มหลงมัวเมา เช่นตาเป็นใหญ่ในเรื่องการดู ไม่ระวังให้ดีไปเจอหน้าหวาน ๆ เข้า กลับมานอนคิด ๗วัน ๗ คืนไม่หลับเลย
       หูเป็นใหญ่ในเรื่องการฟัง ไม่ระวังให้ดีไปฟังเสียงทั้งที่ชอบใจ และไม่ชอบใจเข้าก็นอนไม่หลับ
       จมูกเป็นใหญ่ในเรื่องของการดม ถ้าไม่ระวัง ก็จะหลงไปสารพัด ตั้งแต่ค่าน้ำหอมเดือนละหลายบาท
     ลิ้นเป็นใหญ่ในเรื่องของการกิน บางทีก็มีเรื่องของการพูดเข้าไปด้วย ถ้าไม่ระวังให้ดี ก็จะตกเป็นทาสของมัน กายเป็นใหญ่ในเรื่องของการสัมผัส ไม่ระวังให้ดี ชอบสัมผัสนุ่มๆนิ่มๆไปคลุกเคล้าเข้าเดี๋ยวจะมัวเมา
       แม้ใจก็เหมือนกัน เป็นใหญ่ในเรื่องของการคิด ปล่อยให้คิดเรื่อยเปื่อยเลื่อนเปื้อนไปก็จะฟุ้งซ่าน          
      รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่ระวังให้ดี ก็จะตกเป็นทาสของมัน ถ้าขาดการควบคุม สิ่งเหล่านี้จะพาให้มัวเมา แล้วทำเราเสียผู้เสียคนได้ทั้งนั้น 
     การรู้รักษาตัวรอด รู้จักป้องกันภัย ป้องกันความผิดพลาด ประการแรกต้องรู้จักสำรวมระวังในสิ่งเหล่านี้ อะไรไม่ควรดู อย่าไปดู อะไรไม่ควรฟัง อย่าไปฟัง อะไรไม่ควรดม อย่าไปดมอะไรไม่ควรกิน อย่าไปกิน อะไรไม่ควรไปแตะต้องสัมผัส อย่าไปสัมผัส อะไรไม่ควรคิดอย่าคิด
  สิ่งที่จะทำให้คนเราเมาได้มากที่สุด ก็ไม่เกินอบายมุขทั้งหลาย เพราะฉะนั้นอบายมุขทุกชนิดห้ามเล่นเด็ดขาด ถ้าเล่นแล้วมันติดมันเมา

   ประการที่ ๒ โภชเน มัตตัญญุตา
  โภชเน มัตตัญญุตา คือ รู้จักประมาณในการกิน
   คำว่ารู้ประมาณในการกินนั้น มีความหมายกว้าง ตั้งแต่ไม่กินจุบกินจิบเพราะท้องจะเสีย ไม่กินล้างกิน
ผลาญเพราะว่าจะหมดเนื้อหมดตัว ไม่กินมูมมาม หนึ่งจะสุขภาพเสียสองจะเสียสมบัติ สามจะเสียศักดิ์ศรี ตัวอย่างเช่น
 รถจะวิ่งได้ต้องอาศัยน้ำมัน คนจะใช้กายทำอะไรต่อมิอะไรได้ก็ต้องอาศัยอาหาร ฉะนั้นถ้าไม่รู้จักประมาณเรื่องกินเสียอย่างเดียวทุกอย่างจะล้มหมด สุขภาพก็เสีย สมบัติก็ถูกล้างถูกผลาญ ศักดิ์ศรีก็หมดไป แล้วชีวิตจะ
ไม่เหลืออะไร

   ประการที่ ๓ ชาคริยานุโยค
   ชาคริยานุโยค แปลว่า ทำความเพียรไม่เลิกรา หมายถึงขยันนั่นเอง
 คนเราโดยทั่วไปที่มีลักษณะเกียจคร้านอยู่ในตัว จะมีอาการโรคบิดติดเสื่อ งานการเบื่อ ข้าวกินได้ ใครมีลักษณะอย่างนี้รู้ตัวแล้ว ต้องรีบแก้ไขพฤติกรรมเหล่านี้ จะแก้ไขได้ต้องไปเริ่มที่กำหนดเวลานอน เวลาตื่น ให้ลงตัวให้ได้ ที่สำคัญที่สุดคือเวลาตื่นต้องตรงเวลา ถึงนอนดึกผิดเวลาไปแค่ไหน จะต้องตื่นเวลาเดิมเท่านั้น ถ้าบังคับตัวเองเรื่องเวลาตื่นได้ เดี๋ยวเวลานอนก็จะถูกปรับให้ลงตัวตามมาได้ ถ้าเราไม่บังคับตัวเองเวลาตื่นนอน ปล่อยไปตามอำเภอใจ จะตื่นเวลาไหนก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ เราจะปกครองตนเองไม่ได้ แล้วคงไม่ต้องคิดเรื่องจะปกครองคนอื่น
 ใครได้คนทำงานต่อให้เก่งเฉลียวฉลาดปานใด ถ้านอนตื่นสาย นอนตื่นไม่ตรงเวลาก็ไม่อาจจะบริหารเวลาอย่างอื่นให้ลงตัวได้ การงานก็ยากจะประสบความสำเร็จ เป็นแม่บ้านดูแลบ้านเรือน ถ้านอนตื่นสาย กิจวัตร
กิจกรรมของคนในบ้าน ของคนในปกครองรวนเรเสียการงานหมด
  เด็กบางคนทำไมเถียงแม่เก่งจังเลย ก็เพราะเมื่อคืนนอนดึกเลยไม่อยากตื่นเช้า พอแม่ปลุกให้ไปโรงเรียน เด็กงัวเงียก็เลยงอแง ไม่อยากตื่น ก็เลยต้องหาเรื่องเถียงแม่ หาเรื่องโกหกแม่ เพื่อจะได้นอนตื่นสาย จะได้ไม่ต้องไปโรงเรียน นี้คือผลที่เกิดขึ้น
   นิสัยไม่ดีต่าง ๆ ที่เพาะขึ้นมาในตัวเด็กนอนดึก ตื่นสาย เถียงเก่ง โกหกเก่ง โดดเรียน เรียนไม่ทัน เรียนไม่เก่ง ทำงานไม่เป็น ฯลฯ อีกสารพัดนิสัยที่รังแต่จะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง ชักภัยเข้ามาสู่ตน เริ่มจากบริหารเวลาตื่นนอนไม่ได้
 เมื่อศึกษาธรรมตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เราก็นำมาใคร่ครวญไตร่ตรอง ขั้นแรกฝึกสังเกต จากเหตุไปหาผล เมื่อทำเป็นหนักเข้าก็ฝึกจากผลไปหาเหตุ ย้อนทวนเข้าไปจะเข้าใจลึกซึ้ง กระจ่างในคำสอน
ของพระพุทธองค์แล้ว จะได้มีกำลังใจประพฤติตามคำสอนให้ดี เพื่อจะได้รู้จักรักษาตัวให้รอด
 ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นธรรมเบื้องต้น สำหรับทุกคนที่สามารถนำไปใช้เอาตัวให้รอด จากภัยชั้นต้นในโลกได้ ไม่ใช่แค่เฉพาะชาวพุทธ ที่นับถือพระพุทธศาสนา นอกจากนั้นในพระพุทธศาสนายังมีการปฏิบัติที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อการรู้รักษาตัวรอดจากทุกข์ โทษ ภัยในวัฏสงสาร เพื่อการพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เพื่อสุขอย่างยิ่ง อันเป็นบรมสุข คือการบรรลุมรรคผลนิพพาน ซึ่งผู้นับถือศาสนาอื่นก็สามารถเข้ามาศึกษาเพื่อการปฏิบัติธรรมได้ มิได้ผูกขาดเฉพาะชาวพุทธเท่านั้น
     

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๗๖ เดือนสิงหาคม ๒๕๖๐

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล