บทความพิเศษ
เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ
(ตอนที่ ๒๘)
ก่อนอื่น ผู้เขียนต้องขออนุโมทนาบุญกับพุทธศาสนิกชน ศรัทธาสาธุชน และลูกหลานของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ทั้งภายในและต่างประเทศทุกท่านที่ได้ร่วมกันสั่งสมบุญใหญ่ทอดกฐินสามัคคีเพื่อบำรุงวัดและส่งเสริมกิจการของพระพุทธศาสนากันอย่างกว้างขวาง ลูกหลานหลวงปู่ทุกท่านต่างได้ทำตามหลักวิชชาอย่างถูกต้อง คือ ได้ร่วมกันสั่งสมบุญด้วยจิตใจที่มีความสุข เต็มไปด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ สะอาด กว้างขวาง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลเป็นอานิสงส์ให้ทุกท่านมีความบันเทิงทั้งโลกนี้และโลกหน้าอันจะนับจะประมาณมิได้
ทั้งนี้ ในส่วนของภาคพื้นโอเชียเนียเองก็มีกิจกรรมการทอดกฐินสามัคคีเพื่อสถาปนาอาคาร “สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย” (DIRI) โดยมีเจ้าภาพร่วมจากหลายคณะ เช่น คณะกลุ่มประตูน้ำ ประเทศไทย คณะจากนครซิดนีย์ จากนครโอคแลนด์ นครเวลลิงตัน จากเกาะเหนือ เกาะใต้ และทั้งจากภาคพื้นต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งการร่วมแรงร่วมใจกันของลูกหลานของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ในครั้งนี้ นอกจากเป็นการทอดกฐินสามัคคีแล้ว ยังเป็นการแสดงความกตัญญูบูชาในโอกาสครบ ๑๐๐ ปีวันครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย และเพื่อสนองมโนปณิธานขององค์ผู้สถาปนาก่อตั้งสถาบันฯ ด้วย ซึ่งผู้เขียนก็ขอให้ทุกท่านมีส่วนแห่งบุญใหญ่ที่เปี่ยมด้วยสามัคคีธรรมนี้ไปด้วยกัน
สำหรับความเคลื่อนไหวทางวิชาการของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ในช่วงที่ผ่านมานั้น ทางสถาบันฯ ได้รับเชิญจากทางสมาคมพุทธศาสตร์นานาชาติ หรือ International Association of Buddhist Studies (IABS) ให้เข้าร่วมการนำเสนอผลงานวิชาการด้านพระพุทธศาสนาด้วย ซึ่งการประชุมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนี้จัดขึ้นครั้งล่าสุดในระหว่างวันที่ ๒๐-๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยโตรอนโตประเทศแคนาดา โดยจัดมาเป็นครั้งที่ ๑๘ แล้ว
สมาคมพุทธศาสตร์นานาชาติ (International Association of Buddhist Studies) ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๑๙ โดยการรวมตัวของกลุ่มนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาในสาขาต่าง ๆ ปัจจุบันสมาคมได้รับการยอมรับจากนักวิชาการด้านพุทธศาสตร์ (Buddhist Studies) จากมหาวิทยาลัยชั้นนำให้เป็นเวทีนำเสนอผลงานวิจัยอันดับหนึ่งของโลกในทุกรอบ ๓ ปี โดยจะสลับหมุนเวียนกันจัดในสถาบันการศึกษาชั้นนำ เพื่อให้นักวิชาการด้านพุทธศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลก มารวมตัวพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลผลงานวิจัยใหม่ ๆ ระหว่างกัน โดยในปีนี้ทางสมาคมได้มีการจัดการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๑๘ ขึ้น ณ มหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา ซึ่งมีนักวิชาการร่วมประชุมเกือบพันคน โดยมี ๔๓ วงประชุม (Panels) และอีก ๑๖ กลุ่มย่อย (Sections)
ภาพรวมในการจัดประชุมครั้งนี้ถือว่ามีการจัดประชุมครอบคลุมหัวข้อสำคัญในนิกายต่าง ๆ ครบทั้ง ๓ นิกาย คือ เถรวาทมหายาน และวัชรยาน มีทั้งงานวิจัยด้านพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม ปรัชญาเหตุวาทวรรณกรรมพุทธศาสนา ศาสตร์การตีความคัมภีร์พุทธ พุทธศิลป์ คัมภีร์และจารึกโบราณและอื่น ๆ อีกมากมาย
มหาวิทยาลัยโตรอนโต (credit : University of Toronto) สถานที่จัดประชุมใหญ่สมาคมพุทธศาสตร์นานาชาติ
หนึ่งในงานวิจัยที่น่าสนใจซึ่งได้นำเสนอต่อที่ประชุมนี้ คืองานวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อีริค กรีน (Eric Greene) แห่งมหาวิทยาลัยเยล ดร.อีริคจบการศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านประวัติศาสตร์พุทธศาสนาจีนยุคต้น หนึ่งในงานวิจัยที่สำคัญคือรูปแบบสมาธิของจีนยุคต้นก่อนเกิดนิกายฉาน จากงานวิจัยของดร.อีริคพบว่า มีคัมภีร์จีนยุคต้นราว พ.ศ. ๑๐๐๐ที่บันทึกรูปแบบการสอนสมาธิที่มีความพิเศษเฉพาะตัว จากการตรวจสอบของนักวิจัยดีรีพบว่า วิธีทำสมาธิที่ ดร.อีริคกล่าวถึงนี้ มีส่วนคล้ายคลึงกับวิธีปฏิบัติธรรมที่พระมงคลเทพมุนีสอนไว้ เช่น ครูสมาธิจะสอนลูกศิษย์ให้รวมใจไว้ในกลางนาภี เมื่อศิษย์ทำตามคำแนะนำของอาจารย์แล้ว เกิดประสบการณ์เห็นนิมิตดวงสว่าง เมื่อดูดวงสว่างไปเรื่อย ๆ ก็จะเกิดองค์พระผุดซ้อนเป็นชั้น ๆ ออกมาจากกลางนาภีของผู้ปฏิบัติ หรือการกำหนดนึกนิมิตแบบอสุภภาวนา เมื่อผู้ปฏิบัติใจสงบดีแล้ว กระดูกนิมิตจะแปรสภาพเป็นนิมิตกระดูกใสเป็นแก้ว นอกจากนี้เทคนิคการทำสมาธิแบบพุทธานุสติยังสามารถแบ่งแยกย่อยไปได้ในหลายลักษณะ เช่น การนึกนิมิตเป็นพระพุทธรูป พระรูปกายธรรมกาย เป็นต้น
บรรยากาศภายในหอสมุดมหาวิทยาลัยเยล (credit : bdcnetwork.com)
มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา (credit : yale.edu)
นอกจากนี้ ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนักวิจัยประจำสถาบันดีรี คือ พระอาจารย์เกียรติศักดิ์ กิตติปัญโญ ยังได้มีโอกาสไปร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการอ่านและแปลคัมภีร์จีนที่มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) สหรัฐอเมริกา ร่วมกับคณะนักวิชาการและนักศึกษาด้านพุทธศาสนาจีนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University),มหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago), มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แอลเอ (UCLA), มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) และอื่น ๆกว่า ๓๐ ท่าน โดยมีศาสตราจารย์แจน นาเทียร์ (Jan Nattier) เป็นผู้บรรยายและนำการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อีริค กรีน เป็นผู้จัดการประชุมในหลายสาขาวิชา รวมถึงศาสนาเปรียบเทียบและพระพุทธศาสนา ในอดีตเคยมีพระภิกษุสงฆ์ไทย (ปัจจุบัน คือ ศาสตราจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ) เดินทางไปศึกษาต่อและจบปริญญาโทด้านอุษาคเนย์ที่นั่น
การสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านการแปลคัมภีร์พุทธจีน ณ มหาวิทยาลัยเยล
ในระหว่างการประชุม นักวิจัยดีรี ได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นกับดร.อีริคถึงงานวิจัยที่ท่านทำ โดยเฉพาะเทคนิคการปฏิบัติธรรมในจีนยุคต้น ซึ่งระบุให้ผู้ปฏิบัติรวมใจไว้กลางนาภี แล้วจะทำให้เกิดประสบการณ์เห็นองค์พระผุดซ้อน ซึ่งมีรายละเอียดบางอย่างใกล้เคียงกับการปฏิบัติธรรมในวิชชาธรรมกายด้วย
หอสมุดคัมภีร์มีค่าและสำคัญ (Rare Book) แห่งมหาวิทยาลัยเยล
และการค้นพบข้อมูลคัมภีร์โบราณที่จารึกด้วยอักษรจีนครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดความอัศจรรย์ใจต่อคณะนักวิจัยดีรีเป็นอย่างยิ่งเพราะตรงกับโอวาทของคุณครูไม่ใหญ่ที่ท่านเคยให้ไว้ว่า หลักฐานธรรมกาย (ทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัตินั้น) ได้กระจัดกระจาย ถูกเก็บอยู่ในนิกายต่าง ๆ ภาษาต่าง ๆ และภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่ทีมนักวิจัยดีรีต้องไปสืบค้นและรวบรวมหลักฐานเหล่านั้นกลับคืนมา เพื่อยืนยันถึงการค้นพบคำสอนเรื่องธรรมกายที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อุทิศชีวิตค้นคว้าและนำมาเผยแผ่ให้เป็นที่พึ่งแก่มวลมนุษยชาติทั้งปวง
ดังนั้น เนื่องในวาระครบ ๑๐๐ ปีแห่งการค้นพบวิชชาธรรมกายในปีนี้ ภารกิจการสืบค้นหลักฐานธรรมกายของนักวิจัยดีรีจักยังคงดำเนินการต่อไปอย่างไม่ลดละ แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการศึกษาภาษาโบราณ ภาษาสมัยใหม่ ระเบียบวิธีวิจัยและอื่น ๆ มากมาย ซึ่งลูกหลานทุกคนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ หลวงพ่อ คุณยาย ไม่ควรพลาดโอกาสแห่งการสร้างปัญญาบารมีอันสำคัญนี้ ด้วยการมีส่วนร่วมสนับสนุนการสถาปนาอาคารสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยแห่งประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อเป็นแหล่งผลิตนักวิชาการที่จะทำหน้าที่สืบค้นหลักฐานธรรมกายในภาษาโบราณต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายรอการสืบค้นอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วโลก
อาคารวิจัยสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (ดีรี)
ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอให้ทุกท่านได้รับผลานิสงส์แห่งความดีที่ได้ร่วมกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย กันอย่างถ้วนหน้า ให้ได้เกิดอยู่ในร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกายตลอดไป และขอให้มีดวงปัญญาสว่างไสว มีสติปัญญาแตกฉาน รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเข้าถึงพระธรรมกายภายในเช่นเดียวกับพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และประสบแต่ความสุข ความดีงาม ทุกประการเทอญ ขอเจริญพร
หมายเหตุ : ขอเชิญร่วมสถาปนาอาคารสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ด้วยการเป็นเจ้าภาพกองทุนบูชาธรรม ๑๐๐ ปี วิชชาธรรมกาย โดยสามารถติดต่อร่วมเป็นเจ้าภาพได้ที่
คุณนฤมล ศรีสมนึก (จญ.ถั่วงอก) โทร. ๐๙-๐๖๐๖-๗๑๗๔
คุณวรรณี ปิยะธนะศิริกุล (ใหญ่) โทร. ๐๘-๖๕๖๐-๔๗๒๖