วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ เอกลักษณ์ ใบลานอักษรสิงหล

บทความน่าอ่าน
เรื่อง : Tipitaka (DTP)

เอกลักษณ์ ใบลานอักษรสิงหล

    นาฬิกาบอกเวลาใกล้เที่ยงคืน แต่แสงแฟลชที่ใช้ในการถ่ายภาพคัมภีร์ใบลานยังสว่างวาบเป็นระยะ ตามจังหวะการเปลี่ยนชุดใบลานบนแท่นรองแผ่น แม้เจ้าหน้าที่กองพระไตรปิฎก ฉบับวิชาการ และเจ้าหน้าที่ชาวสิงหลจะเร่งมือช่วยกันทำงานมาตั้งแต่ช่วงสายของวัน แต่งานอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานอักษรสิงหล ณ เกาะลังกา ก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แข่งกับตารางเวลาที่ได้วางแผนมาแล้วเป็นอย่างดี เพราะหากงานเสร็จล่าช้ากว่ากำหนดนั้น หมายถึงจำนวนแหล่งใบลานที่คณะจะเดินทางไปสำรวจอาจถูกตัดทอนให้ลดลง คัมภีร์ที่จะได้รับการอนุรักษ์ก็จะน้อยลงตามไปด้วย
 

  การทำงานแข่งกับเวลาเช่นนี้ทำให้คัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานอักษรสิงหลอายุเก่าแก่จำนวนมากได้รับการบันทึกเป็นไฟล์ภาพดิจิทัลแบบหน้าต่อหน้า ด้วยกล้องที่มีความละเอียดคมชัด ชุดอุปกรณ์บันทึกภาพซึ่งประกอบด้วยคอมพิวเตอร์ กล้อง และแฟลช เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลักที่คณะทำงานต้องขนย้ายไปตามวัดต่าง ๆ ในประเทศศรีลังกา ที่ใดมีคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานเก่าแก่ ที่นั้นเจ้าหน้าที่ก็จะลงมือติดตั้งอุปกรณ์อย่างชำนาญ ทำการลงทะเบียนมัดคัมภีร์ และลงมือบันทึกภาพจนเสร็จสมบูรณ์


    ทั้งนี้ คัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานอักษรสิงหลนับว่ามีความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาและภาษาบาลีเป็นอย่างยิ่ง เพราะเกาะสิงหลเป็นจุดเริ่มต้นของการจารพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกเมื่อสองพันกว่าปีก่อน เมื่อคราวกระทำสังคายนาครั้งที่ ๕ (นับตามแบบไทย) และธรรมเนียมการจารใบลานทดแทนฉบับเดิมที่ผุพัง ก็ยังผลให้พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ เกาะแห่งนี้ สืบทอดเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน


     หลักฐานการจารสืบทอดที่มีมายาวนานซึ่งหลงเหลือเป็นคัมภีร์ใบลานภาษาบาลีอักษรสิงหลที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบในขณะนี้คือ พระวินัยปิฎก จุลวรรค ตามบันทึกท้ายคัมภีร์ระบุว่าจารโดยพระเถระนามว่าเมธังคละ (Medhankara Thera) ประกอบด้วยแผ่นลานจำนวน ๑๔๓ แผ่น สร้างในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๒ ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโคลัมโบ
 

ศิลาจารึก ศิลปะยุคโปโลนนารุวะ

ศิลาจารึก ศิลปะยุคโปโลนนารุวะ


คัมภีร์ใบลานของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง

คัมภีร์ใบลานของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง

    และอีกหลักฐานหนึ่งเป็นคัมภีร์ใบลานอักษรสิงหลของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง แต่ไม่มีบันทึกท้ายคัมภีร์ระบุอายุชัดเจนเหมือนหลักฐานชิ้นแรก เมื่อนักวิชาการนำเนื้อความไปศึกษา พบว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรชาดก และเมื่อนำรูปแบบอักษรที่ใช้จารจารึกไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับศิลาจารึกของศิลปะยุคโปโลนนารุวะ (พ.ศ. ๑๕๖๐-๑๗๗๘) ก็พบความคล้ายคลึงกันของรูปแบบอักษรบนจารึกทั้งสอง นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่าคัมภีร์ใบลานของมหาวิทยาลัยปักกิ่งอาจมีอายุเก่าแก่ย้อนไปได้ไกลถึงศตวรรษที่ ๑๑ เลยทีเดียว


แผนที่เกาะสิงหลโบราณจากคัมภีร์มหาวงศ์

แผนที่เกาะสิงหลโบราณจากคัมภีร์มหาวงศ์
ที่มา Geiger, W. (1912). The Mahavamsa or the Great Chronicle of Ceylon. London, Oxford University Press, Amen Corner, E.C.

   นอกจากความเก่าแก่ของคัมภีร์ใบลานแล้ว จากการเดินทางสำรวจและบันทึกภาพคัมภีร์ เพื่อนำมาศึกษาวิเคราะห์ตามหลักภาษาบาลี อักษรศาสตร์ และสัทศาสตร์ โดยโครงการพระไตรปิฎก ฉบับวิชาการ ทำให้พบเอกลักษณ์ของคัมภีร์พระไตรปิฎกสายอักษรสิงหลที่โดดเด่น คือ ไม่ว่าคัมภีร์จะมาจากภูมิภาคใดของประเทศศรีลังกาก็ตาม เนื้อความจะมีความเป็นเอกภาพในด้านสายคัมภีร์ค่อนข้างสูง ทั้งนี้อาจสันนิษฐานได้ว่าสืบเนื่องมาจากลักษณะภูมิศาสตร์ของประเทศศรีลังกาที่มีขนาดพื้นที่ค่อนข้างเล็ก อีกทั้งยังเป็นประเทศเกาะตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ ดังนั้นการจารคัมภีร์ใบลานอักษรสิงหลเพื่อทดแทนฉบับเดิมที่ผุพังจากรุ่นสู่รุ่น จึงอยู่ในวงจำกัดและได้รับอิทธิพลจากภายนอกค่อนข้างน้อย


ใบลานอักษรสิงหลจาร ๘ บรรทัด (บน)  ใบลานอักษรธรรมจาร ๕ บรรทัด (ล่าง)

ใบลานอักษรสิงหลจาร ๘ บรรทัด (บน)  ใบลานอักษรธรรมจาร ๕ บรรทัด (ล่าง)

    ในขณะที่คัมภีร์ใบลานอักษรอื่น ๆ อาทิ อักษรธรรม จะมีการกระจายตัวของการใช้อักษรในพื้นที่ที่กว้างขวางกว่า โดยครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือของไทยและบางส่วนของประเทศลาวซึ่งเคยเป็นอาณาจักรล้านนามาก่อน และในหลายท้องถิ่นก็มีการอ่านออกเสียงอักขระบางตัวแตกต่างกัน ก่อเกิดเป็นความหลากหลายด้านสัทศาสตร์และอักขรวิธี เช่น บางท้องถิ่นมักออกเสียง “ฉ” เพี้ยนเป็นเสียง “ส” เช่นคำว่า “คัจฉามิ” อ่านออกเสียงเป็น “คัจสามิ” สายคัมภีร์อักษรธรรมจึงมีความหลากหลายกว่าอักษรสิงหล

     นอกจากความเก่าแก่และเอกภาพของสายอักษรแล้ว ใบลานอักษรสิงหลที่สำรวจและอนุรักษ์โดยโครงการพระไตรปิฎก ฉบับวิชาการยังมีความโดดเด่นทางกายภาพอีกด้วย คือมีธรรมเนียมการจารเนื้อหาต่อเนื่องทั้งฉบับมีการใช้เครื่องหมายสัญลักษณ์และศิลปะการตกแต่ง


คัมภีร์สังยุตตนิกายอักษรสิงหล ๑ มัด (บน)  มีเนื้อหาเท่ากับคัมภีร์สังยุตตนิกายอักษรธรรม ๕ มัด (ล่าง)

คัมภีร์สังยุตตนิกายอักษรสิงหล ๑ มัด (บน) 
มีเนื้อหาเท่ากับคัมภีร์สังยุตตนิกายอักษรธรรม ๕ มัด (ล่าง)

    ในส่วนของธรรมเนียมการจารเนื้อหาพระไตรปิฎกเมื่อเทียบกับสายจารีตอื่น ๆ คือ สายอักษรธรรม อักษรขอม และอักษรพม่า จะพบว่าคัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกอักษรสิงหลมีขนาดมัดคัมภีร์ใหญ่ที่สุด ขนาดใบลานมีความกว้างและยาวกว่าสายอักษรอื่น โดยเฉลี่ยแผ่นลานมีขนาด ๘๐ ซม. X ๑๒๐ ซม. และจำนวนบรรทัดในหน้าลานมีมากกว่าสายอักษรอื่นในหนึ่งแผ่นลานจะจาร ๘-๑๒ บรรทัด อีกทั้งนิยมจารเนื้อหาทั้งเล่มต่อเนื่องเป็นเรื่องยาวจนครบ เช่น คัมภีร์สังยุตตนิกายอักษรสิงหลในหนึ่งมัดคัมภีร์จะจารครบ ๕ วรรค ได้แก่ สคาถวรรค นิทานวรรค ขันธวารวรรค สฬายตนวรรค และมหาวรรค

     ในขณะที่คัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกอักษรขอมและอักษรธรรมซึ่งมีขนาดแผ่นลานเพียง ๔๘ ซม. X ๙๐ ซม. นิยมจารแผ่นละ ๕ บรรทัด และเนื้อหามีเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้นในแต่ละมัดคัมภีร์ ดังนั้นในขณะที่คัมภีร์สังยุตตนิกายอักษรสิงหลมีเนื้อหาทั้งหมดรวมอยู่ในมัดใหญ่เพียงมัดเดียว คัมภีร์สังยุตตนิกายอักษรขอมและอักษรธรรมจะมีถึง ๕ มัดด้วยกันด้วยเหตุที่เนื้อหามีขนาดยาวนี้เอง คัมภีร์ใบลานสิงหล ๑ มัด จึงมักจารด้วยผู้จารหลายคน ซึ่งหลายครั้งรายชื่อของผู้จารมักปรากฏอยู่ในบันทึกท้ายใบลาน และระบุถึงวัน เดือน ปีที่สร้าง ผู้สร้างและคำอธิษฐานจิตอีกด้วย


ตัวอย่างเครื่องหมายกุณฑลีเป็นลักษณะขีดโค้งต่อ ๆ กัน เป็นเอกลักษณ์ที่ พบเฉพาะในคัมภีร์ใบลานอักษรสิงหล

ตัวอย่างเครื่องหมายกุณฑลีเป็นลักษณะขีดโค้งต่อ ๆ กัน เป็นเอกลักษณ์ที่
พบเฉพาะในคัมภีร์ใบลานอักษรสิงหล

     เอกลักษณ์ทางกายภาพอีกประการหนึ่ง คือการใช้เครื่องหมายกุณฑลี ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นโค้ง ใช้สำหรับการจบบรรทัดสิ้นสุดย่อหน้า หรือตอนจบเรื่อง ซึ่งสัญลักษณ์นี้ไม่มีใช้ในคัมภีร์พระไตรปิฎกอักษรอื่น ๆ และความโดดเด่นประการสุดท้ายก็คือ เอกลักษณ์ทางศิลปะที่ปรากฏอยู่ในไม้ประกับและการวาดภาพตกแต่งแผ่นใบลานเปล่า โดยไม้ประกับจะทำจากวัสดุหลากหลาย ตั้งแต่ไม้ธรรมดาไปจนถึงงาช้างและแผ่นเงินแกะสลักด้วยลวดลายศิลปะของศรีลังกาในแต่ละยุคสมัย


ภาพวาดบนไม้ประกับด้านหน้าเขียนเป็นลวดลายพฤกษา ด้านหลังเขียนเรื่องพุทธประวัติ

ภาพวาดบนไม้ประกับด้านหน้าเขียนเป็นลวดลายพฤกษา ด้านหลังเขียนเรื่องพุทธประวัติ


ลวดลายบนแผ่นใบลานเปล่า

ลวดลายบนแผ่นใบลานเปล่า

    การเดินทางของคณะสำรวจและอนุรักษ์คัมภีร์กองพระไตรปิฎก ฉบับวิชาการข้ามน้ำข้ามทะเลไกลหลายร้อยกิโลเมตรจากประเทศไทยสู่เกาะลังกา รอนแรมไปตามเมืองต่าง ๆ เพื่อเสาะหาและอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานในดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแหล่งที่มีการจารจารึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรก เป็นงานหนักและท้าทาย แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนก็มิได้ย่อท้อต่ออุปสรรคและเดินหน้าทำการอนุรักษ์ต่อไป เพื่อให้คัมภีร์อักษรสิงหลได้สืบทอดไปสู่ชนรุ่นหลังชาวสิงหล และเพื่อให้นักวิชาการวงการต่าง ๆ ที่สนใจได้นำไปศึกษาวิเคราะห์ การทุ่มเทดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ไม่ว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์จะบันทึกไว้ด้วยอักษรใด ณ ที่แห่งใด ในฐานะชาวพุทธถือเป็นหน้าที่ที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกันอนุรักษ์สืบทอด เพื่อความเจริญแห่งพระสัทธรรมให้สว่างไสวไปถ้วนทั่วกัน

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๗๙ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล