อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.
ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
ตอนที่ ๒ : “อารยัน” บรรพบุรุษของศากยวงศ์ เป็นใคร มาจากไหน ?
เรื่องราวในตอนนี้ เราจะย้อนหลังกลับไปราว ๑,๐๐๐-๑,๕๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช หรือราว ๓,๕๐๐-๔,๐๐๐ ปีจากนี้ เป็นเรื่องราวการเข้ามาของชนเผ่า “อารยัน” (Aryan) ซึ่งเป็นชนเผ่าที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นบรรพบุรุษของศากยวงศ์ และเป็นผู้วางรากฐาน “ระบบวรรณะ” ที่มีผลมาถึงอินเดียในปัจจุบัน
“อารยัน” เป็นชนเผ่าเชื้อสาย “คอเคซอยด์” (Caucasoid) มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่บริเวณทุ่งราบทางตอนใต้ของรัสเซีย เป็นชนผิวขาว ร่างกายสูงโปร่ง จมูกโด่ง เป็นชนเผ่าที่มีความสามารถในด้านการรบ โดยสามารถนำม้าป่ามาฝึกฝนให้เชื่อง อีกทั้งยังสามารถประดิษฐ์รถศึกเทียมม้า และด้วยเหตุที่เป็นชนเผ่าที่อยู่ไม่ติดที่ เคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปเรื่อย ๆ จึงทำให้เกิดอารยธรรมขึ้น ๒ สาย
อารยธรรมสายที่ ๑ เป็นการเคลื่อนตัวมุ่งไปทางทิศ “ตะวันตก” ซึ่งนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า ต่อมาได้กลายมาเป็นบรรพบุรุษของชาวยุโรป
อารยธรรมสายที่ ๒ เป็นการเคลื่อนตัวมุ่งไปทางทิศ “ตะวันออกเฉียงใต้” เข้าสู่เปอร์เซียและอินเดียในปัจจุบันตามลำดับ ซึ่งอารยธรรมสายที่ ๒ นี้เอง ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของศากยวงศ์ และเป็นผู้วางรากฐานระบบวรรณะ
เป็นธรรมดาของการย้ายถิ่นฐานของผู้มาใหม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพทางการทหารย่อมยากต่อการหลีกเลี่ยงการปะทะกับชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมอย่างชนเผ่า “มิลักขะ”
เมื่อราว ๑,๐๐๐-๑,๕๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช ชนเผ่า “อารยัน” สายที่ ๒ ที่เคลื่อนตัวมุ่งไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามเทือกเขาฮินดูกูช (Hindu Kush) ผ่านช่องแคบไคเบอร์ (Khyber) เข้าสู่อินเดียทางอัฟกานิสถานในปัจจุบัน แล้วเข้าทำการสู้รบกับชนเผ่า “มิลักขะ” จนสามารถครอบครองอินเดียตอนเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตอนกลางไว้ได้ สำหรับผู้พ่ายแพ้ต่อการทำศึกอย่าง “มิลักขะ” จึงถอยร่นลงมาสู่อินเดียตอนใต้ และมีบางส่วนที่ข้ามไปตั้งถิ่นฐานยังเกาะลังกา และถูกชนเผ่า “อารยัน” เรียกว่า “ทาสะ” (ทาส, คนรับใช้) บ้าง หรือ “ทัสยุ” (ผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อพระผู้เป็นเจ้า) บ้าง ซึ่งการกล่าวขานด้วยวาทกรรมเช่นนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็น “จุดกำเนิดของระบบวรรณะ” ในกาลต่อมาก็ว่าได้
แวะข้างทาง : รู้ไหม คำว่า “ฮินดู” “สินธุ” และ “อินเดีย” เป็นคำคำเดียวกัน
หากมีคนมาบอกเราว่า “ฮินดู” “สินธุ” และ “อินเดีย” เป็นคำคำเดียวกัน เราก็อาจจะทำหน้างง ๆ แล้วคิดต่อไปว่า “ฮินดูเป็นชื่อของศาสนา…สินธุเป็นชื่อของแม่น้ำ…อินเดียเป็นชื่อของประเทศไม่ใช่หรือ?” คำตอบคือ “ใช่…แต่ยังไม่หมด” ส่วนว่าทำไมถึงยังไม่หมดนั้น เรามาดูกัน…
เมื่อราวเกือบ ๓,๐๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช อารยธรรมบริเวณพื้นที่ของอินเดียในปัจจุบันถูกเรียกว่า “อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ” ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่ามีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับ “อารยธรรมเมโสโปเตเมีย” (Mesopotamia) ในลุ่มแม่น้ำไทกริส (Tigris) และยูเฟรตีส (Euphrates) รวมถึง “อารยธรรมอียิปต์” (Egypt) ในลุ่มแม่น้ำไนล์ (Nile)
เรามาเริ่มจากคำว่า “สินธุ” กัน คำนี้เป็นคำในภาษาสันสกฤตที่แปลว่า “แม่น้ำ” และเมื่อถูกเขียนด้วยอักษรโรมันจะใช้ว่า “Sindhu” ซึ่งคำคำนี้ในภาษาเปอร์เซียโบราณใช้ว่า “Hindus” (ฮินดุส) เป็นคำที่ยืมมาจากคำว่า “Indos” (อินโดส) ในภาษากรีกโบราณ หรือ “Indus” (อินดุส) ในภาษาละติน ต่อมาเมื่ออังกฤษเข้ามาปกครองอินเดีย จึงได้เลือกคำว่า “Indus” ใช้ในการเรียกชื่อของแม่น้ำสินธุ และใช้คำว่า “India” (อินเดีย) เรียกชื่อประเทศ
คำเหล่านี้ในแต่ละประเทศมีการใช้ที่แตกต่างกันออกไป เช่น ชาวอังกฤษเรียก “แม่น้ำอินดุส”แต่ชาวอินเดียและชาวไทยเรียก “แม่น้ำสินธุ” สำหรับชื่อประเทศ ชาวอังกฤษและชาวไทยเรียก “อินเดีย” แต่ชาวเปอร์เซียเรียก “ฮินดุส” หรือ “ฮินดุสถาน” ชาวญี่ปุ่นเรียก “อินโด” เป็นต้น
ดังนั้น เราจะเห็นได้ถึงความสัมพันธ์ของคำว่า... “สินธุ” “ฮินดุส (ฮินดู)” “อินโดส (อินโด)” “อินดุส” และ “อินเดีย” ว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นคำคำเดียวกัน ต่างกันตรงที่การนำไปใช้นั่นเอง
ในตอนต่อไป เราจะเข้าไปสู่ “ยุคพระเวท” ซึ่งเป็นยุคที่ฝ่ายศาสนจักรเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในสังคมอินเดียโบราณ รวมถึงการก่อเกิด “ระบบวรรณะ” อย่างเป็นรูปธรรม ส่วนรายละเอียดจะเป็นเช่นไร โปรดติดตามตอนต่อไป