วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.

 

ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
 

ตอนที่ ๗ : แนวคิดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดและการหลุดพ้นในยุคอินเดียโบราณ

คนเราเมื่อตายแล้ว...ไปอยู่พระจันทร์ ??

        แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งต่อมาได้ใช้ศัพท์เฉพาะว่า “สังสาระ” (saṃsāra) นั้น มีการทิ้งร่องรอยไว้ในยุคพระเวทบ้าง แต่เริ่มมาปรากฏให้เห็นชัดเจนในช่วงปลายยุคพราหมณะถึงช่วงต้นยุคอุปนิษัท

        ในที่นี้ได้มีการกล่าวถึงว่า เมื่อมนุษย์เราหลับตาลาโลกนี้ไป ดวงวิญญาณจะไปบังเกิดที่ “พระจันทร์” จากนั้น ดวงวิญญาณจะตกลงมายังโลกมนุษย์อีกครั้ง พร้อมกับ “น้ำฝน” และซึมลงไปใน “ผืนดิน” แล้ว “ธัญพืช” ทั้งหลายก็ดูดซึมดวงวิญญาณนั้นเข้าไป และเมื่อ “บุรุษ” กินธัญพืชนั้นเข้าไป ดวงวิญญาณก็จะไปอยู่ในกายของบุรุษ ต่อเมื่อมีการอยู่ร่วมกันกับ “สตรี” ดวงวิญญาณนั้นก็จะเข้าไปสู่ครรภ์ของสตรี นับเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่

       จากแนวคิดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดดังกล่าวนี้ แม้จะตอบโจทย์ในเรื่อง “ตายแล้วไปไหน” ก็ตาม แต่ยังมีคำถามเกี่ยวกับ “เป้าหมายสูงสุดและวิธีการหลุดพ้น” ค้างคาใจให้ผู้คนในยุคนั้นแสวงหาคำตอบกันต่อไป


แนวคิดของพราหมณ์เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด
และการหลุดพ้นในยุคอินเดียโบราณ


โมกษะ...หลุดจากสภาวะหนึ่งไปผูกกับอีกสภาวะหนึ่ง ??

    ด้วยสาเหตุในข้างต้น ส่งผลให้พราหมณ์ต้องตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการหลุดพ้นหรือ “โมกษะ” (mokṣa) ให้ได้ จึงได้เป็นจุดกำเนิดของแนวคิดในเรื่อง “พรหมัน-อาตมัน” (Brahman-Ātman) ในเวลาต่อมา

          ดวงวิญญาณของสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดนี้ เรียกว่า “อาตมัน” ซึ่งบังเกิดจากสภาวะสูงสุดอันเป็นอุดมคติ เรียกว่า “พรหมัน” หรือ “พระพรหม” ตราบเท่าที่สรรพสัตว์ยังต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่นั้น “อาตมัน” หรือสิ่งที่เรียกกันว่า “ดวงวิญญาณ” ก็จะทำหน้าที่ไปเกิดมาเกิดอยู่เรื่อยไป ยังคงวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ต่อเมื่อวันใดที่ “อาตมัน” ได้กลับไปสู่สภาวะสูงสุดดั้งเดิม คือ “พรหมัน” เมื่อนั้นจึงได้ชื่อว่า “หลุดพ้น” หรือ “โมกษะ” นั่นเอง

        แต่ทว่าวิธีการเพื่อให้เข้าถึง “โมกษะ” นั้นควรทำอะไร และจะอธิบายอย่างไร เพื่อจะไม่ให้ขัดแย้งกับหลักการดั้งเดิมในเรื่องของการบูชายัญ เรามาศึกษาร่วมกันในตอนต่อไป...

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๘๗ เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล