วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ หลวงพ่อตอบปัญหา : ปีใหม่ก็อยากจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ให้ดีกว่าเดิม แต่จะทําได้อย่างไร ?

หลวงพ่อตอบปัญหา
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

หลวงพ่อตอบปัญหา

ถาม : ปีใหม่ก็อยากจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ให้ดีกว่าเดิม แต่จะทําได้อย่างไร ?

ตอบ : ชีวิตเราจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับการกระทําของตัวเราเอง การกระทําที่ส่งผลลัพธ์ต่อชีวิตอยู่ที่การทําอะไรจนเป็นนิสัย นิสัยคือการกระทําหรือพฤติกรรมที่เราทําซ้ำ ๆ บ่อย ๆ เนือง ๆ จนกระทั่งเราคุ้น เคย ชิน และทําเป็นปกติ ถ้าเราคิดซ้ำ ๆ พูดซ้ำ ๆ ทําซ้ำ ๆ ในทางที่ดี ก็จะส่งผลให้เกิดอาการกระชุ่มกระชวยและกระฉับกระเฉง และได้นิสัยดี ๆ แต่ถ้าเราคิดซ้ำ ๆ พูดซ้ำ ๆ ทําซ้ำ ๆ ในทางที่ไม่ดีจนคุ้น เคย ชินกับการกระทบกระทั่ง กระแทกกระทั้น จะส่งผลต่อใจให้ชาและด้านต่อความดี นิสัยไม่ดีก็เกิด

        นิสัยนั้นเป็นเหมือนโปรแกรมบุญโปรแกรมบาปในตัวเรา นิสัยดีเป็นโปรแกรมบุญให้เราได้ทําความดี ได้ทําบุญบ่อย ๆ ความสุข ความสําเร็จ ชีวิตที่ดีกว่าเดิมก็เกิดขึ้นได้ง่าย ตรงกันข้ามกับนิสัยไม่ดีที่เป็นโปรแกรมบาปที่จะทําให้ทําความชั่วได้ง่าย ส่งผลให้ความทุกข์ ความเดือดร้อนทุกข์ภัยก็เกิดกับเราได้บ่อย ๆ

       ฉะนั้น เมื่อเราจะเริ่มต้นชีวิตให้ดีกว่าเดิม เราต้องกลับมามองตัวเองก่อนว่าอะไรที่ทําให้เราทําสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ทําซ้ำแล้วซ้ำอีก มองไปทั่วแล้วเราก็จะพบว่าสิ่งแวดล้อมนี้เองที่มีผลกระตุ้นให้เราทําอะไรซ้ำ ๆ อย่างนั้น สิ่งแวดล้อมในที่นี้อาจแยกได้ ๓ ประเภท ได้แก่ ๑. บุคคลที่แวดล้อม ๒. วัตถุที่แวดล้อม และ ๓. วัฒนธรรมที่แวดล้อม

        ยกตัวอย่างสิ่งแวดล้อมทั้ง ๓ ประเภทในโรงเรียน บุคคลที่เป็นสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน มีใครบ้าง เริ่มตั้งแต่ผู้อํานวยการ ครู นักเรียน นักการภารโรง แม้แต่แม่ค้าขายข้าวแกง ในโรงเรียน ต่างก็เป็นบุคคลที่แวดล้อม

        วัตถุที่เป็นสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน เช่น ป้ายชื่อโรงเรียน ถนนหนทางในโรงเรียน ห้องเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวัตถุที่เป็นสิ่งแวดล้อม

        วัฒนธรรมที่เป็นสิ่งแวดล้อมคืออะไร คือ วิธีบริหารจัดการ มารยาทของครูบาอาจารย์ ระบบการเรียนการสอน สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมที่เป็นสิ่งแวดล้อม

        สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เหล่านี้ คือสิ่งที่ได้เห็นบ่อย ๆ ได้ยินบ่อย ๆ ได้ดมกลิ่นบ่อย ๆ ได้ลิ้มรสบ่อย ๆ ได้จับต้องบ่อย ๆ จึงเป็นสิ่งที่เรารับเข้ามาในใจบ่อย ๆ


        ถ้าสิ่งที่เรารับเข้ามาและจดจําได้นั้นเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น เวลาเข้าวัดมาถ้าได้เห็นครูบาอาจารย์ เห็นพระผู้ใหญ่ท่านมีวัตรปฏิบัติที่เรียบร้อย ท่านพูดท่านแนะนําแต่สิ่งที่ดี ๆ เป็นประจํา อีกทั้งวัดก็สะอาด ข้าวปลาอาหารจัดระบบระเบียบเรียบร้อย รสชาติก็พอประทังชีวิตไปได้ ข้าวของทุกสิ่งทุกชิ้นอยู่ในสภาพดี ไม่ผุพังเสียหาย สิ่งเหล่านี้นี่เองที่ใจรับเข้ามาบ่อย ๆ แล้วจดจําเอามาคิดซ้ํา ๆ แล้วเกิดความเข้าใจ เป็นผลให้นํามาพูดซ้ํา ๆ ทําซ้ํา ๆจนกระทั่งเคย คุ้น ชิน แล้วก็เป็นนิสัย

        นิสัยดี ๆ นั้นเกิดจากการรับข้อมูลต่าง ๆ เข้ามาโดยการเห็น จํา คิด รู้ ในสิ่งที่ดี ๆ เมื่อเรานํามาคิด พูด ทําซ้ํา ๆ จนเคย จนคุ้น จนชินแล้ว ก็จะกลายเป็นนิสัยดี ๆ ของเรา


        คําสอนในพระพุทธศาสนาได้แสดงแนวทางปฏิบัติที่สําคัญ    อันจะเป็นหนทางสู่ความสําเร็จของชีวิตอย่างสูงสุด คือ การได้บรรลุมรรค ผล นิพพานเอาไว้ นั่นคือการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ได้แก่ สัมมาทิฐิ ความเห็นถูกหรือความเข้าใจถูก สัมมาสังกัปปะความดําริหรือความคิดถูก สัมมาวาจา การพูดถูก สัมมากัมมันตะ การทําถูก สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพถูก สัมมาวายามะ ความเพียรหรือความพยายามถูก สัมมาสติ ความระลึกถูกและสัมมาสมาธิ ความตั้งใจถูก ข้อปฏิบัติอันประเสริฐทั้ง ๘ ประการนี้ อาจพูดย่อลงเป็นศีล สมาธิ และปัญญา


       ส่วนที่เป็นศีล คือ ส่วนของการพูดถูก ทําถูก เลี้ยงชีพถูก ส่วนที่เป็นสมาธิ คือ ส่วนของความพยายามถูก ระลึกถูก และตั้งใจถูก

       ส่วนที่จัดเป็นปัญญา คือ ส่วนของความเข้าใจถูก ความคิดถูก

       คนจะมีปัญญาได้ต้องมีครูดีและต้องมีความเคารพครู จึงสมควรจะได้รับการถ่ายทอด ความรู้ และมีคุณสมบัติพร้อมที่จะรองรับความรู้ที่ครูถ่ายทอดมาได้ถูกต้อง สมบูรณ์ 


       คนจะมีศีลได้ต้องเริ่มต้นที่มีวินัย และคนจะมีสมาธิ มีใจผ่องใสดีงามได้ ต้องผ่านขันติหรืออดทนมาแล้ว

       เพราะฉะนั้นนิสัยพื้นฐาน ๓ ประการ คือ วินัย เคารพ อดทน จะเป็นรากฐานสําคัญที่จะพัฒนาไปสู่นิสัยดีอื่น ๆ ในระดับกลางและระดับสูง คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ในที่สุด 

       เมื่อเราเข้าใจหลักของการสร้างนิสัยที่ดี เพื่อทําชีวิตของตนให้ดีขึ้นแล้ว ต้องตั้งใจลงมือปฏิบัติด้วยตนเองอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทําชีวิตของตนให้ดีกว่าเดิมได้ทุก ๆ วัน

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๙๓ เดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๖๒

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล