อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.
ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
ตอนที่ ๑๓ : ตัวเลข ๕...พยานในการตรัสรู้ธรรม ณ จังหวะและเวลาที่เหมาะสม
ภายหลังจากพระโพธิสัตว์บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านับว่าเป็นความสําเร็จอันยิ่งใหญ่สูงสุดที่มนุษย์ผู้หนึ่งจะสามารถกระทําได้ แต่ถึงกระนั้น สิ่งนี้นับเป็นเพียงภารกิจ “กึ่งหนึ่ง” ของพระพุทธองค์เท่านั้นเพราะการที่พระพุทธองค์ทรงบําเพ็ญบารมีธรรมมาตลอดกาลยาวนาน หาได้เพียงเพื่อตัวพระองค์เองเท่านั้นไม่ หากเป็นไปเพื่อมนุษยชาติทั้งหลายดังนั้นภารกิจอีก “กึ่งหนึ่ง” ที่เหลืออยู่นั้น จึงได้เริ่มขึ้นนับตั้งแต่วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อ ๒,๖๐๖ ปีที่ผ่านมา
ภารกิจแรกภายหลังจากการตรัสรู้คือ การเข้านิโรธสมาบัติอันเป็นการตระเตรียมความพร้อมในการเผยแผ่อมตธรรมที่ถูกปิดงํามาตลอดกาลยาวนานหลังจากนั้นพระพุทธองค์จึงทรง “เลือกเฟ้นผู้ที่เหมาะสมที่สุดในเวลานั้น” ดาบสทั้งสอง คือ “อาฬารดาบส” และ “อุทกดาบส” ได้เข้ามาสู่ข่ายพระญาณของพระองค์แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าท่านทั้งสองละสังขารไปเสียก่อน ดังนั้นผู้ที่เหมาะสมที่สุดในเวลานั้นจึงมาสู่นักบวชปัญจวัคคีย์โดยมี“ท่านโกณฑัญญะ” เป็นประธานและจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ท่านโกณฑัญญะได้เป็น “พยานในการตรัสรู้ธรรม” ของพระพุทธองค์ โดยมีดวงตาเห็นธรรมเป็นท่านแรก และบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์พร้อมกันทั้ง ๕ ท่าน ในกาลต่อมา
จากเหตุการณ์ดังกล่าวที่ปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนานี้ ทําให้เราได้ข้อคิดที่น่าสนใจ คือ “จังหวะและเวลาที่เหมาะสมเป็นสิ่งสําคัญ” ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของท่าน “อาฬารดาบส” และ “อุทกดาบส” หากยกเรื่องบุญบารมีไว้ จะเห็นได้ว่าคุณสมบัติของดาบสทั้งสองนั้นเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง คือ มีประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมและมีศิษยานุศิษย์อยู่เป็นจํานวนมาก แต่น่าเสียดายว่าจังหวะและเวลาไม่เอื้ออํานวยต่อท่านทั้งสอง เพราะได้กระทํากาละไปเสียก่อนบุคคลต่อมาที่เหมาะสมทั้งจังหวะและเวลา คือท่านโกณฑัญญะและปัญจวัคคีย์อีก๔ท่าน
ดังนั้น ในการทํางานไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม “จังหวะและเวลาที่เหมาะสม” เป็นสิ่งสําคัญยิ่งแต่ทว่าจังหวะและเวลาที่เหมาะสมก็มิใช่ว่าเราจะต้องตั้งตาคอยเสมอไป เพราะในบางครั้งเราก็สามารถสร้างจังหวะและเวลาที่เหมาะสมให้เกิดขึ้นได้ขอเพียงมีโอกาสให้ใจเราได้หยุดนิ่งในกลางความสงบ และสิ่งที่สําคัญ คือ เมื่อโอกาสได้เกิดขึ้นในจังหวะและเวลาที่เหมาะสมแล้ว อย่าได้ผัดวันประกันพรุ่ง จนเป็นเหตุให้โอกาสนั้นหลุดลอยไปเสีย
ขโณ โว มา อุปจฺจคา
ขณะอย่าล่วงท่านทั้งหลายไปเสีย