สร้างคนให้เป็นคนดี
เรื่อง : โชติวรา
ปลูกฝังศีลธรรม
สู่เยาวชนกับโครงการตอบปัญหาธรรมะ “ทางก้าวหน้า”
โครงการตอบปัญหาธรรมะ “ทางก้าวหน้า” ครั้งแรก จัดพร้อมกับนิทรรศการ “ทางก้าวหน้า” เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๕ โดยนิสิตนักศึกษาชมรมพุทธศาสตร์ ๖ สถาบัน ณ ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเนื่องด้วยเห็นคุณค่าของธรรมะ “มงคลชีวิต ๓๘ ประการ” ที่เข้าใจง่ายและจะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเยาวชน คณะกรรมการผู้เกี่ยวข้องจึงกำหนดให้ใช้หนังสือ มงคลชีวิต ๓๘ ประการฉบับ “ทางก้าวหน้า” เป็นคู่มือในการสอบ ซึ่งการสอบครั้งแรกนั้น จัดเฉพาะโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร ๘๐ โรงเรียน รวมผู้เข้าสอบ ๓๘๒ คน
โครงการตอบปัญหาธรรมะทางก้าวหน้าดำเนินต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันเป็นครั้งที่ ๓๗ ในครั้งนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ ๑,๑๔๘,๗๓๑ คน จากสถานศึกษา ๔,๘๖๕ แห่ง โดยมีการสอบตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยม อุดมศึกษา นักเรียนพยาบาลเหล่าทัพ และระดับครูอาจารย์
การสอบรอบชิงชนะเลิศระดับชาติครั้งที่ ๓๗ จัดเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ และมีพิธีมอบโล่เกียรติยศรวมทั้งสิ้น ๑๘ โล่รางวัลเมื่อวันมาฆบูชาที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๒ ณ สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย
๓๗ ปีที่ผ่านมา เส้นทางแห่งการปลูกฝังคุณธรรมแก่เยาวชนไทยผ่านโครงการนี้มีพัฒนาการขึ้นเป็นลำดับ มีการสอบหลากหลายกลุ่มมากขึ้น และมีพัฒนาการความลุ่มลึกของเนื้อหา เพื่อให้เกิดความเข้าใจและนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ทั้งเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ คุณครู ผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้อง
การตอบปัญหาธรรมะ “ทางก้าวหน้า” ในวันนี้ นอกจากจัดขึ้นในประเทศไทยของเราแล้ว ยังจัดในต่างประเทศอีกด้วย อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น ซึ่งทำให้เราได้เห็นก้าวแห่งความเจริญเติบโตในด้านคุณธรรมของเยาวชนทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ อีกด้วย
คุณครูนัฐชยพชร คำนวน
รางวัลชนะเลิศ ระดับครูอาจารย์
โรงเรียนบ้านจอมปลวกสูงสร้างกุง ต.สองคอน อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี
“ครูเข้าร่วมโครงการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ (ครั้งที่ ๓๒) และเข้าร่วมต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่โครงการส่งหนังสือมาให้ ว่างเมื่อไรก็หยิบมาอ่าน และสวดมนต์ทุกวัน การสวดมนต์ทำให้มีสมาธิในการอ่านหนังสือค่ะ
“แต่ก่อนการสอนจะเน้นวิชาการ พอได้ศึกษาธรรมะก็เพิ่มคุณธรรมควบคู่กับวิชาการค่ะชอบหนังสือที่อ่านสอบทั้ง ๓ เล่มมากค่ะ ทั้ง ศาสตร์และศิลป์แห่งความเป็นครู, ๕ ห้องชีวิต, ความดีสากล ความรู้ในหนังสือความดีสากล สะอาด ระเบียบ สุภาพ ตรงเวลา สมาธิ ก็นำไปใช้ฝึกตัวเองและทำในห้องเรียนก่อนสอน โดยให้นักเรียนสวดมนต์ นั่งสมาธิก่อนค่ะ ที่โรงเรียนสอบตอบปัญหาธรรมะทางก้าวหน้าทั้งโรงเรียน ครูได้ติวให้นักเรียนตลอดค่ะ”
นางสาวกนกอร สายโสม
นักเรียนพยาบาลทหารอากาศ ปี ๓
รางวัลชนะเลิศ ระดับพยาบาล
“ชอบธรรมะข้อการงานไม่คั่งค้างและพหูสูตค่ะ เพราะทำให้บริหารเวลาได้ดีขึ้น ทำให้รู้จักเตรียมการจากที่เป็นคนเรียนไม่ค่อยทัน ก็รู้จักวางแผนการทำงาน ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ชีวิตง่ายขึ้นเลยค่ะ
“คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นคำสอนที่ดี ทำให้มีหลักในการคิดและดำเนินชีวิต หนูเคยได้หนังสือตั้งแต่ตอน ป.๖ ตอนนี้ขึ้นปี ๓ แล้ว ได้อ่านจริงจัง รู้สึกว่าดี หนูว่าคนเราเจอปัญหาได้ทุกช่วงวัยค่ะ ถ้าเราได้หลักคิดดี ๆ แนวทางปฏิบัติดี ๆ แล้วนำมาปรับให้เข้ากับชีวิตของเรา เราน่าจะมีความสุขเร็วกว่าคนอื่นค่ะ
“หนูคิดว่าคนที่มีหลักธรรมในใจดีนะคะ เป็นคนที่มีคุณธรรม อยากฝากถึงเยาวชนทุกคน ว่าธรรมะไม่ใช่เรื่องไกลตัว เป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้ และทุกคนควรจะเข้าถึงค่ะ”
นางสาวชุติมา เจนเจริญ
ผู้ประสานงานโครงการตอบปัญหาธรรมะ
“ทางก้าวหน้า” ภาคภาษาอังกฤษ ในประเทศอินโดนีเซีย
“ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการจัดสอบในอินโดนีเซีย ดิฉันได้ไปเสนอโครงการที่มหาวิทยาลัยศรีวิจายา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยพุทธในประเทศอินโดนีเซีย อธิการบดีเคยมาบวชกับโครงการของวัดเรา พอท่านเห็นหนังสือก็รู้สึกว่าดีมากและตื่นเต้น เพราะเป็นโครงการที่ทำให้เด็กเก่งและดี โดยใช้ธรรมะที่เรียนมาฝึกฝนได้จริงในชีวิตประจำวันและวัดผลได้จริง
“ที่เมืองตังเกอรัง คุณครูบางโรงเรียนขอสอบทั้งโรงเรียนเลย เขาบอกว่าไม่มีโครงการไหนที่ทำให้ภาคภูมิใจในความเป็นพุทธเท่าโครงการนี้
“ที่เมืองจามบี เด็กๆ ขยันมาศูนย์ปฏิบัติธรรมทุกวัน ตั้งใจนั่งสมาธิ กรอกผลการนั่งสมาธิทุกวัน หนังสือที่ใช้มีหนังสือมงคลชีวิต พุทธประวัติ และสมุดบันทึกความดี เด็กจะบันทึกว่าทำความดีอะไรบ้าง นั่งสมาธิกี่นาที มีประสบการณ์นั่งสมาธิอย่างไร ปัจจุบันมีเยาวชนระดับมหาวิทยาลัยมาร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น เลยมีการนิมนต์พระอาจารย์ไปเทศน์ที่มหาวิทยาลัยด้วยค่ะ
“โครงการนี้มีประโยชน์มาก สอนละเอียดมาก เด็ก ๆ ได้ประโยชน์มาก เพราะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง พอเขาอ่านหนังสือ เขาก็มีความรักในพระพุทธศาสนามากขึ้น ดิฉันได้อ่านเรียงความของเด็ก ๆ เขาเขียนว่า โครงการนี้ทำให้ชีวิตเขามีค่าเหลือเกิน เขาได้เรียนรู้ที่จะปฏิบัติตัวเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ได้นั่งสมาธิ ทำให้เข้าใจความเป็นชาวพุทธมากขึ้น เด็กบางคนบันทึกความดีของเขาว่า ได้ทำกับข้าวมาถวายพระ หลายคนบอกว่าเขาต้องการไปวัดจะได้ไปหาพระ เพราะพระเป็นบัณฑิต”